เรียนมาหลายปี พอถึงวันที่ได้เป็นบัณฑิตป้ายแดงแทนที่จะดีใจ กลับต้องมานั่งกลุ้มกับการหางานที่ชอบ องค์กรที่ใช่ ไป ๆ มา ๆ เครียดยิ่งกว่าตอนเรียน จากที่จบใหม่ไฟแรงก็ค่อย ๆ ถูกสภาพเศรษฐกิจในยุคนี้กดทับ จำยอมต้องอยู่ในสภาวะคนตกงานตั้งแต่ยังไม่ออกเดิน คิดแล้วก็เหนื่อยจนไม่มีใจจะไปหางานที่ไหนอีก แล้วแบบนี้เด็กจบใหม่จะทำยังไง เมื่อต้องแบกรักความคาดหวังของตัวเองและครอบครัว ในวันที่การหางานเป็นไปได้ยากเหลือเกิน

เพิ่งจบใหม่แต่ไร้งาน ? หรือตรงนั้นไม่มีที่ว่างสำหรับเด็กจบใหม่ 😥

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่าทำให้กระทบการจ้างงานในหลายภาคส่วน ทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คนที่มีงานทำก็กลายเป็นตกงาน เด็กจบใหม่ต้องหางานไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2563 เด็กจบใหม่ แรงงานอายุน้อยและมีการศึกษาสูงเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาการว่างงานมากที่สุดถึงร้อยละ 3.15 ข้อมูลของปี 2564 จากเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยว่ามีคนว่างงานมากถึง 760,000 คน

“อนาคตของเด็กเจนเนอเรชัน Z น่าเป็นห่วงอย่างมาก” ศูนย์วิจัย Pew และมูลนิธิการแก้ปัญหาการว่างงานกังวลเกี่ยวกับเด็กจบใหม่เพราะเป็นช่วงวัยที่ก้ำกึ่งระหว่างเรียนกับทำงาน ยังไม่มีรายได้ที่แน่นอน ประกอบกับการจ้างงานที่ชะลอตัวไปด้วย ถึงแม้จะคาดการณ์ไว้ว่าประเทศไทยจะใช้เวลาฟื้นตัวภายใน 4-5 ปี แต่การขยายขนาดองค์กรดูจะเป็นภาระที่หนักเกินไป

ตำแหน่งงานจึงไม่เพียงพอกับจำนวนนักศึกษาจบใหม่กว่า 490,000 คนที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน การว่างงานของเด็กจบใหม่นี้ทำให้หลาย ๆ คนขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะอาชีพช่วงแรกเริ่มของการเข้าสู่โลกของการทำงาน จากผลสำรวจระบุว่าประชาชนในวัย 15-24 ปี กว่าร้อยละ 14% และวัยทำงานเกือบ 20% ต้องเผชิญกับการว่างงานแบบไม่เต็มใจ

ไม่ใช่แค่หางาน แต่ทุกอย่างหลับจบใหม่ช่างหดหู่ 👨🏻‍🎓

ภาพความสำเร็จและอาชีพการงานที่มั่นคงที่วาดไว้ทำให้ทุ่มเทเรียนมาตลอดหลายปี แต่ทำไมวันแล้ววันเล่าเราก็ยังไม่เจองานที่ใช่ จนต้องถามตัวเองว่า “ทำไมเป็นเราที่ยังว่างเปล่าอยู่แบบนี้” พ่อแม่เอาแต่ถามว่าเมื่อไหร่จะได้งาน ไม่มีใครเข้าใจว่าเราคาดหวังไว้แค่ไหน เราก็เครียดกับการอยู่บ้านเฉย ๆ เหมือนกัน ทั้งกังวล กดดัน ซึมเศร้า สับสน กลัวไปหมดทุกอย่าง

ภาวะแบบนี้เป็นสิ่งที่เด็กเจ็บใหม่หลายคนกำลังเผชิญอยู่ เรียกว่าภาวะซึมเศร้าของเด็กจบใหม่ (Post-Graduation Depression หรือ Post-Graduate Blues)  ข้อมูลจาก City Mental Health Alliance  ประเทศอเมริกาพบว่าเกือบครึ่งของบัณฑิตจบใหม่มีสภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบ ดร.เบอร์นาร์ด ลัสกิน (Bernard Luskin) นักจิตบำบัดชาวอเมริกัน เสริมว่าภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลนั้น สามารถเกิดได้ทั้งก่อนและหลังเรียนจบ

Huffington Post พูดถึงความเครียดกังวลของเด็กจบใหม่ว่า “พวกเขามีความกดดันตัวเองสูง รู้สึกว่าจำเป็นจะต้องหางานทำทันที จนละเลยที่จะให้เวลากับตัวเอง ส่วนหนึ่งเพราะว่าปัญหา ‘เศรษฐกิจ’ และความคาดหวังของ ‘สังคม’ ที่บีบบังคับพวกเขาอยู่” ฉะนั้นการที่พวกเขาหางานไม่ได้ในยุคนี้ก็มีแต่จะทำให้เครียดมากยิ่งขึ้น ไม่รู้ “จะเอายังไงดีกับชีวิต ?” แล้วตอนนี้ทุกอย่างก็ดูมืดมนลงไปอีกเพราะสถานการณ์โควิดที่เหมือนมาหยุดเวลาของเด็กจบใหม่ในยุคนี้

เกิด ‘วิกฤตสองต่อ’ (Double Crises) จากโควิด สู่การมีต่อที่สาม 😰

“คนรุ่นล็อกดาวน์” (lockdown generation) คือนิยามที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เรียกเด็กจบใหม่และกำลังเข้าสู่โลกของการทำงานในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด พวกเขาอาจกลายเป็น “รุ่นที่สาบสูญ” เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ราวกับถูกลืมในตลาดแรงงานเพราะทุกคนมุ่งเน้นที่ปัญหาการตกงาน การรักษาธุรกิจให้ไปต่อ แต่จริง ๆ แล้วกลุ่มเด็กจบใหม่ก็กำลังเครียดและต่อสู้ไม่แพ้กัน มี 3 เรื่องหลัก ๆ ที่เด็กจบใหม่และวัยเริ่มทำงานกังวล ได้แก่ 1) การตกงาน 2) การเรียน การอบรมฝึกงานที่ถูกระงับไป 3) ความยากในการหางานหรือเปลี่ยนงาน

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช กล่าวถึงปรากฏการณ์ ‘วิกฤตสองต่อ’ (Double Crises) คือวิกฤตโควิด-19 ตามด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ หน้าที่ของรัฐฯในการดำเนินการฝ่าวิกฤตสำคัญมาก ทั้งนี้ไทยอาจเจอกับวิกฤตที่สามพ่วงด้วยคือ “การบริหารงานที่ผิดพลาด” เพราะเราไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ดีพอ แถมยังปล่อยให้เศรษฐกิจซบเซาจนเกินเยียวยา ประชาชนก็ตกงาน ขาดความเชื่อมั่น เครียด ซึมเศร้า เพราะหมดหวังในการใช้ชีวิต

แล้วเด็กจบใหม่กังวลกับอะไร แล้วต้องทำอย่างไรต่อ ? 🤔

จากแบบสอบถามของ JobThai ที่สำรวจความคิดเห็นของเด็กจบใหม่ในยุคนี้ พบว่าความกังวลสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. จะหางานไม่ได้

แทบทุกคนที่เพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ เคยประสบปัญหานี้เพราะไม่รู้ว่าตัวเองเหมาะกับสายงานไหน หรือมีทักษะอะไรที่นำไปใช้กับงานได้ ตัวเลือกที่มีอยู่ก็ดูจะน้อยนิด เลยยากที่จะหางานได้ตรงกับความต้องการจริง ๆ

  1. เศรษฐกิจไม่ดี ชีวิตเราก็แย่

ภาพรวมของประเทศสั่นคลอนความมั่นคงของคนวัยทำงานได้ ยิ่งจบใหม่ยังไม่มีประสบการณ์การมากนัก ยิ่งอยู่ใกล้คำว่า “หางาน” และ “ตกงาน” ทำให้ต้องใช้ชีวิตแบบพยายามเซฟ ๆ ตัวเองไว้ก่อน

  1. รายได้ไม่เพียงพอ

แม้โควิดจะรุนแรง แต่ค่าครองชีพก็มีแต่จะสูงขึ้น ดูแล้วสวนทางกันเหลือเกิน ทั้งอาหาร ค่าเดินทาง หรือของใช้ทั่วไป ทำให้เด็กจบใหม่รู้สึกเครียด หางานว่ายากแล้วแต่หารายได้ให้เพียงพอที่จะรับผิดชอบตัวเองนั้นยากกว่า ลำพังเงินเดือนเด็กจบใหม่ก็น้อยนิดอยู่แล้ว ถ้าต้องเตะฝุ่นหางานไปยาว ๆ ก็มีแต่เครียด

  1. เจองานไม่ตรงใจ

ใคร ๆ ก็บอกว่า “มีงานดีกว่าไม่มี” แต่ถ้าได้งานไม่ตรงใจฝืนไปก็เสียสุขภาพ สุดท้ายเด็กจบใหม่กลายเป็นกลุ่มที่ต้องต่อสู้กับความเครียดและความอ้างว้างในใจมากที่สุด เพราะเหมือนอยู่ในสถานะที่เลือกอะไรไม่ค่อยได้ ทั้งที่ความชอบ ความต้องการหรือแม้แต่ทางเลือก เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้และทุกคนก็ควรได้รับโอกาสนั้น สุดท้ายจะตกงานหรือมีงานก็อาจประสบกับภาวะซึมเศร้าได้

  1. เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้

ไม่ว่างานไหน ๆ ก็เจอปัญหาเรื่องคน การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ แต่ละคนก็ใช้เวลามากน้อยแตกต่างกัน เมื่อการทำงานไม่ได้มีแต่เรื่องงาน การปฏิสัมพันธ์กับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานเป็นสาเหตุหลัก ๆ ของความสุขในการทำงานเลยด้วยซ้ำ หมั่นสังเกตบรรยากาศโดยรอบ อาจพิจารณาตั้งแต่ขั้นตอนในการสมัครงานเลยก็ได้ว่าเรารู้สึกถึงความเข้ากันได้กับที่นี่หรือเปล่า เพื่อช่วยเราในการตัดสินใจ

ที่นั่งน้อยลงแต่คู่แข่งเพิ่มขึ้น ทำอย่างไรให้องค์กรเตะตาเรซูเม่ของเด็กจบใหม่อย่างเรา หรือรู้สึกว่าเรานี่แหละคือคนที่เขากำลังตามหา ผลสำรวจบอกว่าโดยเฉลี่ยคนหางานจะส่งใบสมัครครั้งละ 16 บริษัท ซึ่งจำนวนมากน้อยไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราต้องใส่ใจทุก ๆ ใบสมัครที่เรายื่นไป แสดงตัวตนให้ชัดเจนและไม่ลืมชูจุดเด่นขององค์กรที่เรายื่นไปด้วย

จากสถิติยังบอกอีกกว่า กว่า 36.2% ไม่เคยได้รับการเรียกสัมภาษณ์งาน และอีก 35.4% ถูกเรียกไปสัมภาษณ์แต่ไม่ผ่าน ซึ่งแบบแรกคือเราต้องปรับที่เอกสารหรือการหางานให้ตรงกับคุณสมบัติของเรา แบบที่สองคือเอกสารเราอาจจะดีแล้ว แต่ติดขัดในขั้นการสื่อสาร การนำเสนอความคิดอย่างเป็นระบบ วัฒนธรรมองค์กร หรือไหวพริบในการตอบคำถาม

วิธีการลดภาวะเครียดและซึมเศร้าของเด็กจบใหม่ที่สำนักข่าว ABS ของประเทศฟิลิปปินส์ ได้แนะนำ คือ “การปล่อยวาง” และ “เตรียมพร้อม” อาจจะฟังดูเหมือนง่ายแต่เรารู้ดีว่าทำได้ยาก อย่างไรก็ตามเราต้องฝึกใจให้มีสติ ท่ามกลางความเครียดทั้งหลาย แล้วเริ่มวางแผนชีวิตให้ตัวเอง

Tips สำหรับเด็กจบใหม่ที่กำลังหางาน 💡

  • อย่าเพิ่งไปโฟกัสว่าเราต้องเจองานที่ถูกใจใช่เลยตั้งแต่งานแรก แม้จะมีสิ่งที่ไม่ตรงใจเราบ้าง แต่อย่างน้อยทุกโอกาสก็แปรเปลี่ยนเป็นประสบการณ์และช่วยพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้เราได้
  • เรามีโอกาสใหม่ ๆ เสมอ การไม่ผ่านสัมภาษณ์หรือไม่ได้รับคัดเลือก ไม่ได้แปลว่าเราไม่มีความสามารถหรือทักษะไม่ดี แต่อาจยังไม่เจอที่ที่เหมาะสมกับเรา
  • วิเคราะห์เรซูเม่และใบสมัครของตัวเอง เอกสารที่ใช้ต้องมีความโดดเด่น เรามีจุดแข็งอะไรที่น่าสนใจ คุณสมบัติของเราตรงกับ Job Description หรือไม่ คุณสมบัติของเราจึงต้องแตกต่างและตอบโจทย์
  • ไม่หยุดพัฒนาทักษะในช่วงหางาน ยังไม่ได้งานที่ไหนก็สามารถหาอะไรทำไปก่อนได้ ทั้งเรียนออนไลน์ อ่านหนังสือ ฝึกทักษะใหม่ ๆ หรือจะลองหางานชั่วคราว งานพาร์ทไทม์ เพื่อสะสมประสบการณ์ไปก่อนก็ดีเช่นกัน
  • วางแผนชีวิตไว้หลาย ๆ ทาง ตั้งเป้าหมายโดยแบ่งเป็นระยะสั้น กลาง ยาว ถ้าไม่ได้งานจะทำอย่างไร ช่วงที่หางานจะทำอะไรต่อ ถ้าได้งานแล้วจะมองอนาคตไว้ว่ายังไง
  • การตกงานอาจน่ากลัว แต่เป็นประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเราอาจได้เจอ ไม่ต้องโทษตัวเองจนเกินไปแต่เรียนรู้ว่าเราจะเอาตัวรอดได้อย่างไรหากต้องเจอกับการตกงานจริง ๆ

จริงอยู่ท่ีการหางานหรือตกงานก่อให้เกิดความเครียดอย่างมาก ยิ่งอยู่กับมันยาวนานเรายิ่งเครียดและซึมเศร้า หลาย ๆ คนรู้สึกไม่ดี สูญเสียความมั่นใจ กล่าวโทษตัวเอง ไปจนถึงรู้สึกผิดกับคนรอบตัว การฝึกคิดเป็นวิธีที่จะช่วยให้เราอยู่กับสิ่งที่ตัวเองควรจะโฟกัสจริง ๆ มากกว่าคิดฟุ้งซ่านว่า “ทำไมฉันหางานไม่ได้สักที” “ไม่อยากเป็นภาระให้คนอื่นเลย” หรือ “ฉันไม่ดีตรงไหนทำไมถึงตกงาน”

หากใครรู้สึกเครียด กังวล หรือมีความคิดในเชิงลบอย่างมาก ขอแนะนำให้เข้ารับการปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อดูแลสุขภาพจิตใจให้แข็งแรง จะได้พร้อมรับมือกับการหางาน ในขณะเดียวกันถ้ารู้สึกทุกข์ใจกับงานที่ทำอยู่ก็สามารถพูดคุยได้เช่นกัน อย่าทิ้งให้ตัวเองรู้สึกซึมเศร้าหรือวิตกกังวลนานจนเกินไป ไม่รู้จะเริ่มเข้ารับการช่วยเหลืออย่างไร #อูก้ามีทางออก

อูก้าเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่พร้อมดูแลสุขภาพใจของทุกคน โดยเรามีจำนวนผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 90 ท่าน ที่มีวุฒิการศึกษารับรองและผ่านการคัดเลือกมาอย่างดี ใช้รูปแบบของวิดีโอคอล ในการพูดคุย ทั้งสะดวกและมีความเป็นส่วนตัวสูง นัดหมายช่วงเวลาได้ง่าย ๆ ไม่ต้องรอคิว ที่สำคัญทุกอย่างเก็บไว้เป็นความลับเสมอ เรามีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น

🤯 ความเครียดในองค์กร

🥵 ภาวะหมดไฟ หางาน เลิกจ้าง

😰 ปัญหาการปรับตัวในที่ทำงาน

😓 ปัญหาด้านจิตใจและอารมณ์

😥 ซึมเศร้า วิตกกังวล

😭 ความรัก ความสัมพันธ์

เพราะปัญหาใจเป็นเรื่องสำคัญ ความเครียด วิตกกังวลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แต่เราก็ต้องพยายามหาทางอยู่ร่วมกับมันอย่างถูกวิธีด้วย ใจที่พร้อมจะนำเราไปสู่ผลลัพธ์และการรักตัวเองมากกว่าท่ี หากไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัดอย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยาของอูก้านะคะ 💙

.________________________________

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/kKnn
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ > https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > http://bit.ly/msgfbooca

.⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

อ้างอิงจาก

https://www.artefactmagazine.com/2019/02/04/graduate-blues/

https://www.bbc.com/thai/thailand-53068272

https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6332412

https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/125822?

https://bottomlineis.co/Social_Pressure_on_New_Graduates

https://thestandard.co/kittiratt-say-take-4-years-to-recover-from-coronavirus/

https://blog.jobthai.com/career-tips/oh-my-job-podcast-ep-9- เด็กจบใหม่ตอนนี้เป็นยังไง-หางานยากไหมในยุคโควิด