โรคซึมเศร้าคือหนึ่งในปัญหาสุขภาพใจที่คนจำนวนมากกำลังเผชิญอยู่ เพื่อน ๆ เองก็อาจจะมีคนใกล้ชิดหรือเพื่อนสนิทที่กำลังต่อสู้กับโรคนี้อยู่เช่นกัน ปัจจุบันการตระหนักถึงปัญหาและความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้ากระจายออกไปอย่างกว้างขวาง เราจึงมักจะคุ้นเคยกับวิธีรับมือกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นอย่างดี แต่แม้เราจะเข้าใจอาการของเพื่อนมากแค่ไหน หลายครั้งก็รู้สึกว่าใจของเราเริ่มจะรับต่อไปไม่ไหวแล้วเช่นกัน ยิ่งในสภาพสังคมที่มีแต่พลังงานลบรอบด้าน ยิ่งทำให้หวั่นใจว่าเราเองจะเป็นโรคซึมเศร้าไปด้วยหรือเปล่า ?
ที่เป็นอยู่คืออะไร ใช่โรคซึมเศร้าไหมนะ?
คนส่วนมากมักจะสับสนระหว่างความรู้สึกเศร้ากับโรคซึมเศร้า เส้นแบ่งที่สำคัญของสองสิ่งนี้คือระยะเวลาของความเศร้าและผลกระทบกับชีวิตประจำวัน ใครที่รู้สึกซึมเศร้ามากกว่า “สองสัปดาห์ติดต่อกัน” ให้ลองสังเกตตนเองมากขึ้นกว่าเดิมอีกสักหน่อยว่าพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเราต่างไปจากเดิมไหม ทานเยอะเกินไปหรือไม่ อยากอาหารหรือเปล่า มีอาการนอนไม่หลับหรือนอนหลับมากกว่าปกติหรือไม่
หากคำตอบคือไม่ใช่ บางทีเราต้องการใครสักคนมาคอยรับฟัง การพูดคุยกับนักจิตวิทยาก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ แต่หากตอบว่าใช่ ก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไรถ้าจะลองปรึกษาจิตแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียดอีกครั้ง
อาการของโรคซึมเศร้า ที่ทำให้เราเฉาตามไปด้วย
คนที่มีเพื่อนสนิทหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้าอาจจะเคยรู้สึกเช่นเดียวกัน ทั้งที่รู้ว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ทำไมเราถึงรู้สึกว่าจะเป็นซึมเศร้าไปด้วยทุกครั้งที่รับฟังเพื่อนของเรา คำตอบคือเป็นเพราะเราหวังดียังไงล่ะ
ในฐานะเพื่อนที่หวังดี เรามักจะรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะ “ช่วยรักษา” เพื่อนที่เป็นโรคซึมเศร้าให้เขา “หาย” จากความรู้สึกแย่ ๆ ที่คอยกัดกินหัวใจของพวกเขาอยู่ แต่เจ้าโรคซึมเศร้านี้ก็มักจะพาเพื่อนรักให้กลับไปติดอยู่ในวังวนของความรู้สึกนึกคิดแง่ลบอยู่บ่อย ๆ เราจึงมักจะเผชิญกับสถานการณ์ที่เพื่อนมาระบายเรื่องเดิมที่เคยเข้าใจให้ฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แรงกดดันจากความคาดหวังว่าตนเองจะต้องช่วยเพื่อนจากโรคซึมเศร้าตัวร้าย ทำให้เรารู้สึกล้มเหลวเมื่อเพื่อนรักกลับมาสู่วังวนซึมเศร้าอีกครั้ง จนเผลอคิดไปว่า “ถ้าฉันเป็นกำลังใจให้เขาได้จริง เขาคงไม่กลับมาซึมเศร้าอีกครั้งหรอก” และแล้วความคิดดังกล่าวก็เข้าโจมตีทำให้คุณรู้สึกยอมแพ้และถอยห่างออกจากความสัมพันธ์กับเพื่อนที่คุณรัก
อีกหนึ่งลักษณะของโรคซึมเศร้าที่ทำให้เรารู้สึกหม่นตามไปด้วยคือพฤติกรรมการผลักไสของเพื่อนที่มักจะเอาแต่ถอยห่างยามที่เราต้องการเป็นพลังให้ ทำให้เรารู้สึกว่าเข้าหาเพื่อนที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ยาก เพื่อนอาจจะไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือจากเรา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว พฤติกรรมผลักไสเหล่านั้นเกิดมาจากเจ้าโรคซึมเศร้าที่คอยเล่นตลก ย้ำเตือนให้เพื่อนของเรารู้สึกว่ากำลังรบกวนเราอยู่ หรือแม้กระทั่งทำให้เพื่อนที่เรารักรู้สึกว่าตนเองด้อยค่าเกินกว่าจะมีมิตรภาพหรือได้รับการช่วยเหลือ
วิธีรับมือกับเพื่อนซึมเศร้า แบบที่เราจะไม่หม่นตาม
แม้หลายครั้งการกระทำของเพื่อนจะแสดงออกในทางผลักไสหรือถอยห่าง แต่เชื่อเถอะว่าภายในใจพวกเขาต้องการคนอยู่เคียงข้างมากเกินกว่าที่ใครจะจินตนาการได้ เรียกได้ว่าการผลักไสหรือถอยห่างก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการขอความช่วยเหลือของเพื่อนที่เป็นโรคซึมเศร้านั่นเอง เพราะฉะนั้นยิ่งเพื่อนเราผลักไสมากเท่าไร ก็หมายความว่าพวกเขาต้องการคนคอยอยู่ข้าง ๆ มากเท่านั้น
อยู่ข้างหมายถึงอะไร ? เพื่อนที่กำลังซึมเศร้าไม่ได้ต้องการคำแนะนำหรือคำตอบของชีวิต ด้วยเหตุนี้เองหลายครั้งเราจะเจอกับสถานการณ์ที่ว่า ไม่ว่าเราจะให้คำแนะนำเรื่องนี้ไปกี่ครั้ง พวกเขาก็ยังจะกลับมาโศกเศร้ากับมันเหมือนเดิม จนทำให้เราเผลอคิดไปว่าพวกเขาไม่ได้กำลังพยายามที่จะหลุดออกจากวังวนนี้อยู่ แต่นั่นไม่ใช่เพราะว่าเพื่อนของเราไม่ได้สนใจคำพูดของเรา เพียงแต่ในภาวะซึมเศร้า ความต้องการเพียงหนึ่งเดียวของพวกเขาคือพื้นที่ให้ได้ปล่อยก้อนความรู้สึกที่ไม่น่าอภิรมย์นี้ออกไปจากอกที่อึดอัดเหมือนกำลังจะแตกออก
เพราะฉะนั้นการช่วยเหลือที่ดีที่สุดสำหรับเพื่อนที่เป็นโรคซึมเศร้าคือการรับฟังความรู้สึกของพวกเขาโดยไม่ต้องแสดงความคิดเห็น ไม่ต้องพูดขัดหรือให้คำแนะนำอะไร เพียงแค่ฟังและคอยถามความรู้สึกของพวกเขา คอยย้ำเตือนให้เพื่อนของเรารับรู้ว่าตัวตนของพวกเขาก็สำคัญกับเราเช่นกัน
“เธอเหนื่อยไหม ?”
“มีอะไรที่เราจะทำให้เธอได้บ้างไหม ?”
“เธอสำคัญกับเรานะ ถ้ามีอะไรที่เราให้เธอทำได้ก็บอกเราได้เสมอ”
การสังเกตพฤติกรรมของเขาเป็นประจำ หรือการถามอย่างตรงไปตรงมาว่าพวกเขาเริ่มรู้สึกแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไรจะทำให้เราเข้าใจวังวนภาวะซึมเศร้าของพวกเขามากขึ้น นอกจากนี้การเป็นกำลังใจให้เขาเข้ารับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือโน้มน้าวให้เพื่อนที่เราสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคซึมเศร้าเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับจิตแพทย์ ก็เป็นการช่วยเหลือที่สำคัญอีกประการที่เราจะทำให้เพื่อนที่เรารักคลายความหนักอึ้งได้บ้าง เพราะ “โรคซึมเศร้ารักษาหายได้” เราจึงต้องคอยย้ำให้เพื่อนของเรารับรู้ความจริงข้อนี้เพื่อมีกำลังใจในการรับการรักษาอย่างถูกวิธี
ข้อสำคัญที่สุดเราต้องจำให้ขึ้นใจเมื่อมีเพื่อนเป็นโรคซึมเศร้าคือ “ตัวตนของคุณมีค่ากับเพื่อนมากกว่าที่คิด” คนที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้ต้องการให้เราเข้าใจความรู้สึกหรือเจ็บปวดเช่นเดียวกับสิ่งที่เขากำลังเผชิญ เพื่อนเราไม่ได้อยากให้ความซึมเศร้าลากคุณลงไปพร้อมกับพวกเขาแต่อย่างใด เขาต้องการแค่ความเห็นอกเห็นใจ เพียงแค่มีคนรับรู้ว่าพวกเขากำลังรู้สึกแย่ เพียงแค่นี้ก็มีค่ามากพอสำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าแล้ว
เพราะเราเองก็สำคัญกับเพื่อนเช่นกัน เพื่อนที่เป็นโรคซึมเศร้าของเราจึงไม่โกรธและยินดีหากเราจะถอยออกสักนิดเพื่อดูแลใจของตนเองก่อน เราไม่ได้กำลังหักหลังหรือทิ้งเพื่อนแต่อย่างใด พร้อมเมื่อไรค่อยกลับไปเป็นที่พึ่งให้พวกเขาอีกครั้ง ทุกคนพร้อมจะเข้าใจเสมอ เมื่อใดที่เรารู้สึกว่าเริ่มจะหลงทางหรือไม่เป็นตัวของตัวเอง หรือรู้สึกว่าความหม่นหมองเริ่มคลืบคลานเข้ามาหา ไม่เป็นไรเลยที่เราจะกลับมาอยู่กับตัวเองสักหน่อย และเมื่อเรากลับมาตั้งตัวได้อีกครั้ง เมื่อนั้นเราจะกลายเป็นที่พึ่งที่มั่นคงให้กับเพื่อนของเราได้อย่างแน่นอน
แด่เพื่อนผู้แสนดีและคอยเป็นที่พึ่งให้คนอื่นเสมอมา อย่าลืมว่าทุกคนย่อมมีช่วงเวลาที่ต้องการพึ่งพาหรือซบบ่าใครสักคนเสมอ ขณะที่คุณกำลังเป็นห่วงคนอื่น ระลึกไว้เสมอว่ายังมีเราที่แคร์คุณอยู่เช่นกัน เมื่อใดที่คุณอ่อนล้าจากการเป็นที่พึ่ง อูก้ายังอยู่ตรงนี้และพร้อมจะเป็นเพื่อน เป็นที่พึ่งให้คุณเอนกายพิงพักผ่อนเสมอ ไม่ว่าเมื่อไรก็ติดต่อมาได้เสมอนะ 😊
________________________________⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/c6HE
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ > https://ooca.page.link/oocaservice
พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > http://bit.ly/msgfbooca
#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์
อ้างอิง
Psycom: https://bit.ly/3xtKvVB
Helpguide: https://bit.ly/3dWM6eP
MetroUK: https://bit.ly/3jTnlnz
Mind: https://bit.ly/2Uz8V1d
Recent Comments