กระแสต่าง ๆ มากมายในโซเชียลมีเดียที่ผ่านหน้าไทม์ไลน์ของเราไม่เว้นแต่ละวัน เดี๋ยวก็มีข่าวดีบ้าง เดี๋ยวก็มีข่าวร้ายบ้าง ผสมปนเปกันไปจนเปลี่ยนอารมณ์กันแทบไม่ทัน ทำให้หลายคนสงสัยกันว่านี่เรากำลังเป็นไบโพลาร์หรือเปล่านะ? เพราะดูเหมือนว่าพอเจอข่าวดีเราก็สุขไปสักพักหนึ่ง แต่พอมีข่าวร้ายตามมาติด ๆ กันก็กลับเศร้าขึ้นมาทันที และไม่ใช่แค่อารมณ์แปรปรวนเท่านั้นนะ แต่สุขภาพใจของเราก็พังไม่เป็นท่าจนเสี่ยงที่จะป่วยใจด้วยเมื่อต้องคอยตามเสพข่าวที่ไม่เคยหยุดนิ่งในโซเชียลมีเดียแบบนี้ ถ้าไม่ได้เป็นไบโพลาร์แล้วจะเป็นอะไรได้หล่ะ?
โซเชียลมีเดียส่งผลให้อารมณ์แปรปรวนก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเป็น ‘ไบโพลาร์’
เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) เป็นโรคทางจิตเวชที่มีอาการที่เป็น ๆ หาย ๆ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก โดยมีอาการของ Manic Episode หรือ Hypomanic Episode ที่มีอาการคลั่ง คึกคักกว่าปกติสลับกับ Major Depressive Episode หรืออาการเศร้าที่มีลักษณะเหมือนกับโรคซึมเศร้า หรือมีแค่อาการคึกอย่างเดียวไม่ตัดสลับกับเศร้าก็ได้ ทั้งนี้ ไบโพลาร์จะมีอาการที่แสดงออกมาได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น
😜 ด้านอารมณ์ เช่น คึกคะนอง ขาดความยับยั้งชั่งใจ หงุดหงิดง่าย เป็นต้น
🗨 ด้านความคิด เช่น เชื่อมั่นในตนเองมากจนเกินไป ไม่ยอมรับฟังผู้อื่น เปลี่ยนใจง่าย หลงผิด เป็นต้น
🔎 ด้านพฤติกรรม เช่น ขยันมากกว่าปกติ พูดคุยมากขึ้นกว่าปกติ พูดเร็ว ใช้จ่ายสิ้นเปลือง เป็นต้น
ซึ่งอาการดังกล่าวนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน โดยแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันออกไป แต่อาการเหล่านี้ต้องมีช่วงเวลาแสดงอาการคึกคักเป็นเวลานานติดต่อกัน 1 สัปดาห์ ถึงจะบ่งชี้ได้ว่าเรามีความเสี่ยงที่จะเป็น ‘โรคไบโพลาร์’
อย่างไรก็ตาม การที่เราอารมณ์แปรปรวนบ่อย ๆ จากการเสพข่าวในโซเชียลมีเดีย ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเป็นไบโพลาร์เสมอไป เพราะอาการที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้หลายคนพอที่จะตัดสินได้ว่าเราเองยังไม่เข้าเกณฑ์วินิจฉัยของโรคนี้ แต่ถ้าหากเรารู้สึกว่ามีอารมณ์แปรปรวนเกิดขึ้นกับตัวเราเองเมื่อไหร่ การไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพใจอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็เป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดในการคลายข้อสงสัยว่าเรากำลังเป็นไบโพลาร์หรือไม่
แต่อะไรที่จะมาอธิบายอารมณ์แปรปรวนจากการเสพข่าวในโซเชียลมีเดียของเราได้บ้างหล่ะ?
องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ให้เห็นว่าแม้ว่าคนรอบตัว ครอบครัว เพื่อน ที่เรากำลังติดตามในโซเชียลมีเดียก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวนจากโซเชียลมีเดียได้เหมือนกัน เมื่อเรายิ่งติดตามผู้ใช้เหล่านี้ในโซเชียลมีเดียของเรามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มข้อมูลในการรับรู้ของเรามากยิ่งขึ้นเท่านั้น ทำให้เกิดการแสดงออกทางอารมณ์ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านลบและด้านบวกจนนำไปสู่ความเครียดสะสมแทนที่จะเป็นไบโพลาร์อย่างที่ทุกคนเข้าใจกัน
เมื่อโซเชียลมีเดียทำสุขภาพใจพังไม่เป็นท่า ลองหาอะไรที่ไม่ใช่โซเชียลมีเดียมาฮีลใจแทนกัน
อย่างที่รู้กันว่า ปัญหาความเป็นอยู่ในประเทศไทย ไหนจะเป็นสถานการณ์โควิด-19 ภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่าง #น้ำท่วม และอีกมากมาย ทำให้ข้อมูลข่าวสารที่แล่นในโซเชียลมีเดียไม่มีวันหมดไป ซึ่งการรับข่าวสารที่ค่อนข้างรวดเร็วผ่านโซเชียลมีเดียส่งผลต่อสภาพจิตใจของเราไม่น้อยเลยทีเดียว
หากจะให้เลิกติดตามไปเลยก็คงเป็นการแยกตัวเองออกจากสังคมไปหน่อย ต้องยอมรับว่าการใช้ชีวิตโดยไม่มีโซเชียลมีเดียในยุคนี้แทบจะไม่ต่างอะไรจากการโดดเดี่ยวตัวเองออกจากผู้คน ทำให้หลายคนยังต้องเจอกับสถานการณ์เดิม ๆ หรือข่าวสารที่ไม่หยุดนิ่งแบบนี้ และยังต้องรู้สึกเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายอยู่ตลอดเวลาจนนำไปสู่ความเครียดสะสม หากใครก็ลังเป็นเช่นนั้น การหาตัวช่วยในการให้ผ่อนคลายความเครียดก่อนหรือหลังจากที่จัดการกับปัญหาแล้ว อย่าง ‘กิจกรรมผ่อนคลายความเครียด’ ก็ช่วยให้ความเครียดที่สะสมอยู่สลายหายไปได้ ทำให้เรากลับมาใช้ชีวิตและทำอะไรตามความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การแบ่งเวลาในการเสพข่าวในโซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสมก็ช่วยให้ความเครียดสะสมที่เกิดจากการรับรู้ข่าวสารผ่านโซเชียลซ้ำแล้วซ้ำเล่าลดลงได้เป็นอย่างมาก แต่ในปัจจุบันโซเชียลมีเดียเองก็แทบจะเป็นสื่อหลักของทุกคนไปแล้ว ทำให้กลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับหลาย ๆ คนที่จะแบ่งเวลาไม่เล่นโซเชียลมีเดียได้ แต่ถ้าหากเราลองโฟกัสกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่ไม่ใช่การไถหน้าจอโทรศัพท์ และใช้เวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้สำรวจว่าอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ช่วยให้เข้าใจตนเองได้ว่าข่าวสารบ้านเมือง และสิ่งรอบตัวของเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่เราเองต่างหากที่จะสามารถจัดการกับอารมณ์ของเราได้มากน้อยแค่ไหน
สุดท้ายนี้ ถ้าความคิด ความเครียดหรือภาวะอารมณ์ที่กำลังเป็นอยู่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเรา หรือหากสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงจะเป็นไบโพลาร์ การไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพใจอย่างจิตแพทย์และนักจิตวิทยาก็เป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดในการจัดการกับภาวะเหล่านี้ได้ และเพื่อน ๆ คนไหนต้องการพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อช่วยจัดการกับความเครียดหรือภาวะอารมณ์ต่าง ๆ ที่กำลังรบกวนจิตใจของคุณ อย่าลืมให้อูก้าเป็นผู้ช่วยในการดูแลสุขภาพใจของคุณนะ 😊💙
________________________________⠀⠀⠀⠀⠀
ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/L7UQ
อ้างอิงข้อมูลจาก:
มาโนช หล่อตระกูล และ ปราโมทย์ สุคนิชย์ บรรณาธิการ (2558). จิตเวชศาสตร์รามาธิบดี. พิมพ์ครั้งที่ 4 (เรียบเรียงใหม่). กรุงเทพมหานคร. ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.
PLOS ONE: https://bit.ly/2WfEQVJ
Recent Comments