ชวนมารู้จักภาวะที่เริ่มส่งสัญญาณเตือนปัญหาใจ ว่าด้วย “ภาวะสิ้นยินดี” หรือ Anhedonia เป็นปัญหาสุขภาวะทางจิตอย่างหนึ่ง ที่มีลักษณะเฉพาะคือ บุคคลที่ตกอยู่ในภาวะนี้จะเกิดความรู้สึกขาดความสนใจหรือขาดความเพลิดเพลิน อันเป็นอาการที่สะท้อนถึงการขาดดุลของสารโดปามีน (Dopamine) ในสมองที่ทำหน้าควบคุมอารมณ์และความรู้สึกพึงพอใจ 

ผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าว อาจลืมตาตื่นขึ้นมาพร้อมกับความว่างเปล่า ไม่ยินดียินร้าย จนถึงขนาดเฉื่อยชากับทุกสรรพสิ่งรอบตัว อาการเหล่านี้หลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงความเบื่อหน่ายชีวิตปกติทั่วไป จึงเลือกละเลยที่จะให้ความสนใจจนรู้ตัวอีกทีกลับพบว่าตัวเองใช้ชีวิตกับภาวะนี้จนชินชาเป็นเวลานาน โดยคาดไม่ถึงว่าสิ่งที่เป็นอยู่คืออาการบ่งชี้ของปัญหาสุขภาพใจ

ภาวะดังกล่าวจะส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการประเมินคุณค่า การตัดสินใจ การคาดหวัง และการมีแรงจูงใจ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะสิ้นยินดีของแต่ละบุคคลย่อมมีหลายปัจจัยประกอบแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นผลจากความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ความวิตกกังวล ความเครียดสะสม ตลอดจนเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ซึมเศร้า อารมณ์สองขั้ว พาร์กินสัน เบาหวาน บุคคลผู้มีประวัติการใช้สารเสพติด เป็นต้น 

อาการของภาวะสิ้นยินดีอาจมีความคล้ายคลึงกับอารมณ์ความเบื่อหน่าย หรือแม้กระทั่งบางครั้งอาจเกิดความสับสนกับการมีบุคลิกภาพเก็บตัว (Introvert) จากการพูดคุยกับ อาจารย์นงนุช จําปารัตน์ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของ OOCA ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวว่า

“อาการนี้มันจะต้องมีความผิดปกติ หมายถึงเราไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน หรือมีระยะเวลานาน โดยปกติคนทั่วไปจะอยู่ในสภาวะอารมณ์ไม่สุขไม่ทุกข์ ว่างเปล่า แต่ภาวะนี้จะดิ่งลงไปเรื่อย ๆ และไม่สามารถที่จะมีความสุข ยินดียินร้ายได้ ไม่สุขไม่ทุกข์ เจ็บปวดในความว่างเปล่า…

…บางคนอาจหงุดหงิดง่าย แปรปรวนง่าย บางคนอาจจะฝืนในการแสดงอารมณ์ ไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์หรือการกระทำ เฉยชา… ”

อาจารย์นงนุชยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า ภาวะสิ้นยินดีไม่เพียงแต่เป็นอาการไร้ความรู้สึกทุกข์หรือสุข แต่ยังรวมถึงการปฏิเสธการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนหรือการเข้าสังคม มีความรู้สึกหมดไฟในการทำงานอดิเรกที่ชอบ ไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมที่สนใจ 

อาการในลักษณะดังกล่าวจะมีความแตกต่างจากบุคลิกภาพเก็บตัว ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ชอบการเข้าสังคม แต่คนที่มีบุคลิกภาพดังกล่าวจะยังคงหลงไหลในกิจกรรมที่ตนเองชอบอยู่ ขณะเดียวกันภาวะนี้จะกินระยะเวลายาวนานติดต่อกันเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ซึ่งจะแตกต่างกับอารมณ์เบื่อหน่ายที่ผ่านไประยะหนึ่งก็จะสามารถหลุดจากอารมณ์นั้นได้ด้วยการหากิจกรรมอื่นมาทดแทน

อย่างไรก็ตามภาวะดังกล่าวในแต่ละบุคคลจะมีอาการแตกต่างกันออกไป แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองกำลังตกอยู่ในภาวะสิ้นยินดี และอยู่ในขั้นที่ต้องการความช่วยเหลือจากนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์? จากการค้นคว้าข้อมูลเอกสารร่วมกับการพูดคุยกับอาจารย์นงนุชสามารถสรุปได้ว่า เราสามารถสังเกตอาการของภาวะสิ้นยินดีได้สองส่วน

1) ด้านลักษณะทางร่างกาย เช่น ไม่รับรู้รสชาติของอาหาร สีหน้าไม่สามารถแสดงออกความรู้สึกใด ๆ ได้ การสัมผัสทางกายไม่ส่งผลต่อความรู้สึกที่ดีขึ้น รวมถึงการเฉยชาต่อความสุขบนเตียงกับคู่รัก 

2) ด้านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น การปลีกตัวออกจากสังคม ไม่สนใจการพัฒนาความสัมพันธ์ใหม่ ๆ เริ่มตีตัวออกห่างจากเพื่อฝูงที่มีอยู่ หลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจ รวมถึงการขาดแรงจูงใจที่จะใช้ชีวิตกับผู้คน

ลักษณะอาการดังกล่าวคือข้อสังเกตง่าย ๆ ที่เราสามารถสำรวจตนเองหรือคนรอบข้างได้ นอกจากนี้อาจารย์นงนุชยังให้คำแนะนำทิ้งท้ายว่า

“ถ้าหากเราพบว่ามีอาการติดต่อกันเป็นเวลานานในทุก ๆ วัน ประมาณสองสัปดาห์ หรือเป็นเดือนขึ้นไป เราควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ แต่ถ้ารู้สึกว่ายังไม่พร้อมเราอาจจะปรึกษาเพื่อน หรือคนรอบข้างที่ใกล้ชิดที่เราไว้วางใจ เพื่อให้เขาช่วยสังเกตเราถึงความผิดปกติหรือความเปลี่ยนแปลง หรืออาจจะพูดคุยระบายกับเขาก่อนก็ได้ แต่หากพบว่ามีอาการกินระยะนานมากกว่าหนึ่งเดือนแนะนำว่าต้องไปพบนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ค่ะ”

ภาวะสิ้นยินดีถือเป็นสัญญาณเตือนภัยของการเกิดโรคซึมเศร้าที่หากปล่อยไว้นานอาจส่งผลเสีย ดังนั้นหากคุณลองสำรวจดูตามคำแนะนำแล้วพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น ไม่สดใส ไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกใด ๆ ทั้งยังปลีกตัวจากสังคมล่ะก็ งานนี้ต้องรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อจะได้หาแนวทางในการรักษาเยียวยาได้เร็วขึ้น และป้องกันการทำร้ายตัวเองอนาคตได้อีกด้วย – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

.⠀

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

.

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #mentalhealth #depression #Andohenia #introvert #Dopamine #หมดไฟ #OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

Sources:

  1. https://www.dovepress.com/anhedonia-in-depression-and-schizophrenia-brain-reward-and-aversion-ci-peer-reviewed-fulltext-article-NDT
  2. https://solaramentalhealth.com/anhedonia-symptoms-treatment/
  3. https://www.health.com/mind-body/anhedonia
  4. https://www.talkspace.com/blog/anhedonia-symptoms-signs-causes-what-is/