Dopamine Detox : เมื่อเสพสุขมากไปจนเป็นทุกข์ ถึงเวลาต้องกำจัดความสุขส่วนเกิน

“Dopamine” หนึ่งในฮอร์โมนความสุขที่ร่างกายจะหลั่งออกมาเมื่อมีความสุข แต่ในบางครั้งความสุขเดิม ๆ ที่เคยมีอาจกลับกลายเป็นสิ่งน่าเบื่อเพราะเราโหยหาความสุขมากเกินไป อูก้าจึงอยากชวนให้ทุกคนหันมาเสพความสุขอย่างพอดีด้วยการรีเซ็ตระบบตอบสนองความสุขโดยวิธี “Dopamine Detox”

หลายคนอาจจะเคยรู้สึกเคยเบื่อสิ่งที่ชอบทำเป็นประจำ เช่นเราอาจจะเคยชอบอ่านหนังสือมากๆ อ่านทั้งวันก็ยังได้แต่อ่านไปนานๆ ก็รู้สึกเบื่อจนไม่อยากอ่าน หรือแม้แต่เพลงเดิมๆ ที่เคยชอบฟัง เปิดทุกวันจนตอนนี้ไม่อยากจะฟังมันอีกต่อไปแล้ว ทั้งๆ ที่เคยเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขมาก ๆ แต่ทำไมตอนนี้กลับไม่เป็นแบบนั้นแล้ว?

ในช่วงที่เรากำลังทำกิจกรรมที่ชอบ สมองจะหลั่งสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า “โดปามีน (Dopamine)” ออกมาทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนคอยกระตุ้นให้รู้สึกตื่นตัวกับสิ่งที่ทำอยู่ ซึ่งความพึงพอใจจากการทำสิ่งที่ชอบทำให้สมองคิดว่าสิ่งนั้นดีต่อตัวเราจึงสั่งการให้หลั่งโดปามีนออกมาจนเรามีความสุข เพื่อกระตุ้นให้เราทำกิจกรรมนั้น ๆ ต่อไป

แต่การทำกิจกรรมที่สร้างความสุขมากๆ จะทำให้เกิดอาการเสพติดได้ และเมื่อทำบ่อยๆ จะเกิดเป็นความเคยชินขึ้นมา ส่งผลให้กิจกรรมเหล่านั้นจึงไม่น่าดึงดูดให้ทำอีกต่อไป โดยในช่วงที่เรากำลังเสพติด การตอบสนองของโดปามีนได้ทำงานอย่างหนักจนเสียสมดุล หลังจากนั้นไม่ว่าจะทำอะไรโดปามีนก็ไม่มีการตอบสนองให้มีความสุข เหมือนเครื่องจักรที่ถูกใช้งานหนักจนพัง นี่จึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมบางทีเราเกิดเบื่อสิ่งที่เคยชอบมากๆอย่างไม่มีเหตุผลขึ้นมาซะงั้น

เราสามารถซ่อมแซมเครื่องจักรที่พังนี้ได้ด้วยการงดใช้มัน งดกระทำการสิ่งใดที่เป็นการกระตุ้นให้โดปามีนตอบสนอง วิธีการนี้เรียกว่า “โดปามีน ดีท็อกซ์ (Dopamine Detox)” ขั้นตอนการทำคล้ายกับการทำโซเชียล ดีท็อกซ์ (Social Detox) แต่มีขอบเขตที่กว้างกว่า โดยโดปามีน ดีท็อกซ์จะหลีกเลี่ยงกิจกรรมทุกอย่างที่สร้างความพึงพอใจให้เราเป็นพิเศษ โดยเป็นสิ่งที่เรามักจะทำเป็นประจำจนเสพติด อย่างเช่นการให้รางวัลตัวเองเล็กน้อยจนก่อให้เกิดความพึงพอใจบ่อย ๆ การทำสิ่งที่ชอบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ  และรวมไปถึงการเล่นโซเชียล

โดปามีน ดีท็อกซ์สามารถทำได้ทุกที่ สิ่งแวดล้อมไม่มีผลต่อการบำบัด สิ่งสำคัญคือ การงดทำกิจกรรมที่เสพติด ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่เคยทำแล้วมีความสุขจนต้องใช้เวลากับสิ่งนั้นนาน ๆ ทั้งการเล่นโซเชี่ยล การดูซีรีส์ หรือการอ่านหนังสือ ระยะเวลาในการดีท็อกซ์เลือกทำได้ตามความสะดวก จะใช้เวลาเพียง 3-4 ชั่วโมง หรือลากยาวไปจนถึง 4-5 วันก็ได้  ด้วยความที่เป็นวิธีการที่ทำง่ายและใช้เวลาไม่นาน จึงเป็นวิธีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย

แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีความสุขเลยในช่วงดีท็อกซ์ เพราะเราไม่สามารถบังคับให้ร่างกายหลั่งโดปามีนได้ตามใจชอบ ดังนั้นแม้ว่าจะไม่ได้ทำสิ่งที่ชอบแล้วเราก็สามารถมีความสุขได้ตามความพึงพอใจที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และความสงบก็สามารถสร้างความสุขได้เช่นกัน เพียงแค่รู้จักแบ่งเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ เท่ากัน พักผ่อนให้มากพอกับช่วงเวลาที่ทำงานหนัก ก็จะสร้างสมดุลให้กับอารมณ์และความรู้สึกของเราได้ ลองใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายไปสักพัก โดปามีนในร่างกายก็จะเคยชินกับความเรียบง่ายอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อกลับไปใช้ชีวิตปกติและกลับไปทำสิ่งที่ชอบ หากได้รับสิ่งเร้ากระตุ้นแล้ว โดปามีนก็จะมีการตอบสนองก่อให้เกิดความสุขกับสิ่งที่ทำอีกครั้ง

ถึงแม้ว่าโดปามีน ดีท็อกซ์จะมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับแน่ชัดว่าวิธีการนี้ช่วยรีเซ็ตการตอบสนองของการหลั่งโดปามีน เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าร่างกายหลั่งโดปามีนออกมาอัตโนมัติตามที่สมองสั่งการ จิตใจของเราไม่สามารถสั่งการได้ อย่างไรก็ตามวิธีการนี้กลับส่งผลดีจนเกิดการนำไปใช้กันอย่างกว้างขวาง

พญ.ศิริลักษณ์ ลอดทอน นักจิตวิทยาจากอูก้า อธิบายว่าวิธีการนี้มีหลักการคล้ายกับ CBT (Cognitive Behavioral Therapy) การบำบัดจิตรูปแบบหนึ่งที่เชื่อว่าความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมมีความสำพันธ์กัน หากปรับเปลี่ยนความคิดจะส่งผลให้อารมณ์และพฤติกรรมของคนเราเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้บำบัดผู้ป่วยที่มีอาการเสพติด 

โดปามีน ดีท็อกซ์ อาศัยความสัมพันธ์ของความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม มาเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยวิธีการนี้จะเลือกเปลี่ยนพฤติกรรมแทนความคิด และให้การเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลไปยังอารมณ์และความคิด การปรับพฤติกรรมเสพติดความสุข โดยการงดรับความสุข จึงมีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่ทำการดีท็อกซ์

แต่โดปามีน ดีท็อกซ์ก็ยังมีข้อเสียอยู่บ้าง พญ.ศิริลักษณ์กล่าวว่าบางคนอาจเข้าใจคอนเซปต์ของการดีท็อกซ์นี้ผิดไปว่าเป็นการหลีกเลี่ยงทุกอย่างที่สร้างความสุขไปเลย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราไม่มีทางตั้งค่าระบบการหลั่งโดปามีนได้อยู่แล้ว คอนเซปต์ของวิธีการนี้คือ รีเซ็ตให้เป็นปกติ ไม่ใช่การ set zero ที่สำคัญการหลีกเลี่ยงความสุขจนเกินไป แทนที่จะทำให้เรากำจัดความสุขส่วนเกิน จะกลายเป็นสร้างความทุกข์ขึ้นมาแทน จึงต้องควบคุมระยะเวลาและพฤติกรรมในช่วงดีท็อกซืให้พอดี           

ดังนั้นแล้วใครที่รู้สึกว่าอารมณ์ของตนเองกำลังไม่คงที่ รู้สึกเบื่อหน่ายไปกับสิ่งที่เคยทำเป็นประจำ หรือกำลังเสพติดสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกินไป แนะนำให้หันมาปรับพฤติกรรมของตัวเองง่าย ๆ โดยการทำโดปามีน ดีท็อกซ์ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ใช้เวลาไม่นาน และไม่ต้องออกไปไหนไกล 

เพื่อประโยชน์ในระยะยาว พญ.ศิริลักษณ์ แนะนำว่าให้ทำควบคู่ไปกับการทำสมาธิ เพื่อช่วยฝึกเราให้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ได้นาน ๆ ไม่เป็นคนเบื่อง่าย สามารถทำสิ่งชอบได้บ่อย ๆ และที่สำคัญยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อีกด้วย   

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความทุกข์ อะไรที่มันมากเกินไปมักจะไม่ดีเสมอ ปรับให้ทุกอย่างอยู่ในความพอดี ไม่มากไม่น้อย เมื่อความสุขเสมอความทุกข์ เราก็ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อให้อารมณ์คงที่ เพราะความสุขและความทุกข์ได้คานอำนาจกันโดยสมบูรณ์แล้ว

อูก้าเป็นกำลังใจเพื่อนๆเสมอนะ!

– แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #mentalhealth #อกหัก #heartbreak #ความสำเร็จ #ฮีลใจ #OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

อ้างอิง

https://my.clevelandclinic.org/health/articles/22581-dopamine

https://www.medicalnewstoday.com/articles/dopamine-detox#health-benefits

https://timesofindia.indiatimes.com/life-style/health-fitness/de-stress/heard-about-dopamine-fasting-it-could-be-the-way-to-make-your-brain-work-hard/articleshow/77392150.cms

https://www.health.harvard.edu/blog/dopamine-fasting-misunderstanding-science-spawns-a-maladaptive-fad-2020022618917

https://www.bamae.com/blogs/mindful-thoughts/everything-you-need-to-know-about-a-dopamine-detox

https://www.deprocrastination.co/blog/how-to-do-dopamine-detox-the-right-way

https://www.pobpad.com/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81-cognitive-behavioral-therapy-%E0%B8%9A%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%9B

Read More

Resilience: พลังแห่งนักสู้! ฮึบได้ไว ปะทะปัญหาหนักแค่ไหนก็พร้อมรับมือ

สารพันปัญหาชีวิต รุมเร้าเข้ามาทดสอบความเข้มแข็งทางจิตใจของเราได้แทบทุกวัน บางวันเราเจอปัญหาเล็กน้อยจุกจิกให้ต้องคอยแก้อยู่บ่อย ๆ แต่กับบางวันเรากลับต้องเจอสิ่งที่ไม่คาดฝัน ปัญหาบางอย่างที่ต้องเผชิญอาจส่งผลกระทบทางจิตใจรุนแรง ทำให้เรารู้สึกหดหู่ เศร้า เสียใจ หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นส่งผลต่อสุขภาพจิต ซึ่งการเจอปัญหารุนแรงถึงระดับนี้ เราจะกลับมาลุกขึ้นสู้ยังไงไหว?

ทุกปัญหาแก้ได้ และชีวิตของเราต้องเดินหน้าต่อ และจริง ๆ แล้ว มนุษย์ทุกคนจะมีพลังแห่งการฮึบสู้อยู่ในตัวแต่เราอาจจะยังไม่เคยทำความรู้จักกับมัน ในทางจิตวิทยาเราเรียกพลังการฮึบนี้ว่า Resilience Quotient (RQ) หรือที่กระทรวงสาธารณะสุขบัญญัติคำเรียกว่า พลังใจ ซึ่งหมายถึง กระบวนการหรือทักษะในการฟื้นฟูสภาพจิตใจหลังจากการเจอกับวิกฤติหนักให้สามารถกลับมาตั้งหลักใช้ชีวิตได้ตามปกติ

RQ เป็นสิ่งที่แสดงออกให้เห็นถึงความเข้มแข็งทางจิตใจ เมื่อเราสามารถรับมือและปรับตัวได้ดีเมื่อชีวิตต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติ “อาจารย์ฉันท์ธนิตถ์ สิมะวรางกูร” ผู้เชี่ยวชาญจากอูก้า ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจกับเราว่า RQ นั้นมีทั้งในระดับบุคคลที่หมายถึงตัวเราเอง และมาจากระดับสังคม คือ ครอบครัว เพื่อน ชุมชน ที่สามารถดึงเราก้าวข้ามปัญหาต่าง ๆ ได้

จากการพูดคุยครั้งนี้ทำให้เราเข้าใจภาพของ RQ ได้มากขึ้น คราวนี้เราเลยลองถามต่อไปว่าเราจะสามารถพัฒนาตัวเองให้มี RQ พร้อมสู้รบปรบมือกับทุกปัญหาได้อย่างไร? ซึ่งอาจารย์ฉันท์ธนิตถ์ได้ให้คำตอบที่น่าสนใจ

“สิ่งที่จะเข้ามาสนับสนุนให้เกิด RQ ได้ดี จะมาคู่กับการเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-Esteem) และการรับรู้ความสามารถในตัวเอง (Self-Efficacy)”

ดังนั้นสิ่งที่เราจะทำได้ก่อนคือการหาสิ่งเหล่านั้นในตัวเองให้เจอ ซึ่งเป็นการพัฒนาในมิติด้านจิตใจให้เข้มแข็ง แล้วเราจะสร้าง Self-Esteem กับ Self-Efficacy ได้อย่างไร? อาจารย์ฉันท์ธนิตถ์มีคำแนะนำง่าย ๆ ให้เราทำตาม ดังนี้ค่ะ

  1. การไปค้นหาว่าเรามีความสามารถอะไร  เรามีประสบการณ์อะไรมาบ้าง
  2. การลงมือทำจริงกับสิ่งนั้น ทำซ้ำ ๆ ทำให้รู้ว่าตัวเราทำได้
  3. ถ้าไม่มีเวทีให้ทำจริง ให้เราหลับตาแล้วจินตนาการว่าเราทำสิ่งนั้นอยู่ สมองจะจดจำทำให้เกิดความเชื่อว่าเราทำได้
  4. ฝึกสมองให้เรามองโลกในแง่ดี การคาดเดาถึงผลลัพท์ของสิ่งที่เราทำในทิศทางบวก สมองจะสื่อสารให้เราเชื่อว่าเราจะทำสิ่งนั้นได้

การฝึกความคิดตัวเองในเชิงบวกทำให้ระบบสมองของเราจดจำในเรื่องดี ๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถเรียก RQ กลับคืนมาได้ในทันที หรืออาจจะแทบไม่รู้สึกสะทกสะท้านกับปัญหา นอกจากการฝึกในมิติทางความคิดของเราแล้วอีกมิติหนึ่งที่จะช่วยผลักดัน RQ ได้คือการดูแลร่างกาย โดยอาจารย์ฉันท์ธนิตถ์ได้พูดถึงแนวคิดของ Andrew D. Huberman นักประสาทวิทยาศาสตร์ ชาวอเมริกา ที่บอกวิธีการพัฒนา RQ ผ่านการดูแลร่างกายของเราด้วยวิธีแสนง่าย ดังนี้

  1. นอนให้พอ ถ้าร่างกายพักผ่อนเพียงพอสารสื่อประสาทในร่างกายจะอยู่ในระดับสมดุล 
  2. การฝึกลมหายใจ ค่อย ๆ สูดลมหายใจให้ลึกยาว สบาย… จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของร่างกาย 
  3. การกินอาหารที่มีประโยชน์  
  4. ตื่นเช้ามารับวิตามิน D จากแสงแดด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นโดปามีน
  5. รู้สึกดีกับสิ่งรอบข้าง และขอบคุณกับมัน 

อาจารย์ฉันท์ธนิตถ์ยังให้แนวทางวิธีการรับมือกับปัญหาโดยสรุปได้ว่า เมื่อเราเผชิญหน้ากับปัญหาให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ปล่อยให้มันเป็นไปไม่ต้องฝืน ต่อมาให้เราทบทวนกับตัวเองว่าอะไรในวิกฤติที่แขวนให้เราจมอยู่กับมัน เมื่อเราได้คำตอบเราจะหาทางออกให้ตัวเองได้ค่ะ แต่ถ้าหากไม่ไหวก็ไม่เป็นไรนะรีบหาตัวช่วย คนที่เราไว้วางใจเราลองไปปรึกษาพูดคุยกับเขาได้ทันที ส่วนใครถ้ารู้ตัวว่าตนเองมีปัจจัยความเสี่ยงทางสุขภาพร่างกาย สุขภาพใจให้พบผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟู Resilience ให้คืนกลับมา

RQ เป็นพลังด้านบวกที่เราทุกคนมีอยู่ในตัวเอง แม้ว่าแต่ละคนจะมีความเข้มแข็งทางจิตใจในการรับมือกับปัญหาได้มากน้อยไม่เหมือนกัน หรือแม้กระทั้งการเผชิญกับปัญหาของแต่ละคนจะเล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่ถึงอย่างนั้นไม่ว่าเราจะเป็นใครในโลกใบนี้ เราก็สามารถปลุกพลังการเป็นนักสู้ในตัวเอง อาจารย์ฉันท์ธนิตถ์ได้ทิ้งท้ายข้อคิดดี ๆ ไว้ว่า

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อย่ารอให้ถึงตอนที่เจอวิกฤต แนะนำให้ฝึกตั้งแต่ตัวเรายังไม่พบวิกฤต เพราะการฝึกจะทำให้ระบบในสมองจดจำความคิดในเชิงบวก เมื่อเราเจอวิกฤติจึงทำให้เราฟื้นคืนกลับมาได้ไว”

ปัญหาทุกอย่างมีทางออกเสมอและมันจะผ่านพ้นไปได้ขึ้นอยู่กับตัวเรา ในวันนี้หากใครที่กำลังเจอปัญหาอยู่จะเล็กหรือใหญ่ขอให้เชื่อว่าเราจะไม่เป็นไร 

อูก้าเป็นกำลังใจให้นะ! – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #mentalhealth #อกหัก #heartbreak #ความสำเร็จ #ฮีลใจ #OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

แหล่งอ้างอิง

https://www.verywellmind.com/what-is-resilience-2795059

ดูจาก Resilience Quotient : RQ (tci-thaijo.org)

Read More

“Headline Stress Disorder” ภาวะเครียดยุคดิจิทัล…  เสพข่าวเด็ดคดีดัง! อาจทำใจพังไม่รู้ตัว 

เคยรู้สึกกันหรือเปล่า? นั่งติดตามข่าวเด่นประเด็นร้อนบนโซเชียล จู่ ๆ กลับรู้สึกเครียด หดหู่ เหมือนตัวเองตกอยู่ในห้วงความเศร้าไม่อยากทำอะไร ทั้ง ๆ ที่ข่าวนั้นไม่ใช่เรื่องของตัวเองแต่ทำไมเราถึงอินจนแยกตัวเองออกมาไม่ได้… อาการเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นแล้วหายไป แต่ถึงอย่างนั้นมันเป็นสัญญาณบอกว่าใจเรากำลังไม่ไหว ตกอยู่ในภาวะ “Headline Stress Disorder” 

“Headline Stress Disorder” เป็นภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลที่สื่อออนไลน์ ที่ข่าวสารหรือข้อมูลความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของสังคมเผยแพร่ได้ง่ายดาย ซึ่งข้อดีของมันนอกจากความรวดเร็วทันใจในการเสนอข่าวแล้ว ยังเป็นพื้นที่ไร้ข้อจำกัดทั้งในเรื่องของพื้นที่และเวลา ทำให้เราสามารถรับข่าวสารในแต่ละวันได้จำนวนมหาศาล ภาวะดังกล่าวเป็นความรู้สึกเกิดจากพติกรรมการรับข้อมูลมากเกินไปจนก่อให้เกิดผลกระทบในระดับจิตใจ ทำให้รู้สึกเครียด หดหู่ กังวล ฯลฯ 

จากการพูดคุยกับ กอบุญ เกล้าตะกาญ นักจิตวิทยาของ OOCA ได้ให้คำอธิบายในถึงภาวะดังกล่าวเพิ่มเติมโดยสรุปได้ว่า

“ภาวะ Headline Stress Disorder มาจากการรับ ‘ชุดคำบางคำ’ ที่ทำให้เรารู้สึก trigger หรือกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกในเชิงลบซ้ำ ๆ จนมันส่งผลที่ทำให้เราเครียด หดหู่ ไม่สบายใจ ที่เราพบเห็นบนหน้าสื่อออนไลน์ หรือสื่ออื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยชุดคำเหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็นสองแบบ คือ

  1. ชุดคำในเชิงบวก เช่น โพสต์ซื้อรถยนตร์คันใหม่ของเพื่อนใน Facebook, โพสต์ข้อความเล่าความสำเร็จ ชีวิตความเป็นอยู่หรูหรา 
  2. ชุดคำในเชิงลบ เช่น ข่าวภัยธรรมชาติ ข่าวการระบาดของภาวะ Covid-19 เรื่องราวโศกนาฏกรรม ”

จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่า ภาวะ Headline Stress Disorder เป็นภาวะที่ยากเกินจะหลีกเลี่ยง เพราะในวิถีชีวิตของเราในปัจจุบัน ต้องยอมรับกันตามตรงว่าเราแทบจะแยกตัวเองออกจากโลกออนไลน์ไม่ได้ อย่างไรก็ตามเราอาจจะสงสัยว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราตกอยู่ในภาวะดังกล่าว อาการบ่งชี้ที่แน่ชัดมีข้อสังเกตอะไรบ้าง? ซึ่งนักจิตวิทยาจากแอปพลิเคชัน OOCA ได้ให้คำตอบกับเราไว้ว่า

“วิธีการสังเกตตัวเองเราสมารถแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือทางร่างกาย เราอาจจะรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่สดใส ไม่อยากกิน ไม่อยากนอน ไปจนถึงการเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่อยากเข้าสังคม สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากความเครียด และเชื่อมโยงมาในส่วนที่สองคือ ทางจิตใจ ที่อาจมีความวิตกกังวลเกินจำเป็น ไม่มีสมาธิทำงาน ความเศร้า หดหู่ เป็นต้น ซึ่งภาวะนี้จะเกิดได้ในช่วงประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้ามากเกินกว่านี้อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่นำไปสู่โรคซึมเศร้าได้”

แล้วเราจะทำอย่างไร? หากไม่อยากใจพังจากการเสพข่าว จนตกอยู่ในภาวะ Headline Stress Disorder นักจิตวิทยาจากอูก้าได้ให้แนวทางการป้องกันการเกิดภาวะนี้ไว้ว่า

“เรารู้แล้วว่าภาวะนี้มาจากอะไร ดังนั้นจุดเริ่มต้นอย่างแรกเลยคือ 

1) การงดหรือรับชุดข้อมูลที่เราอ่านแล้วรู้สึกไม่สบายใจในระดับพอดี 

2) ให้เลือก Platform ช่องทางกับรับข่าวสารที่มีคุณภาพ 

3) เข้าใจความจริง ตระหนักคุณค่าของตัวเองหากเจอ Headline ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับตัวเอง 

และ 4) การพาตัวเองไปอยู่ในสังคมดี ๆ หรือหากิจกรรมอื่น ๆ ทำเพื่อเอาตัวเองห่างออกจากการรับสื่อมากเกินความจำเป็น”

ทราบวิธีการปกป้องดูแลใจตัวเองแล้ว ไม่ได้แปลว่าเราจะรอดพ้นหรือหลีกเลี่ยงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะภาวะดังกล่าวถือเป็นเรื่องใกล้ตัวและอาจเกิดขึ้นเมื่อได้เมื่อเราเผลอรับข่าวสารจากโลกออนไลน์มากเกินไป ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลพร้อมกับการพูดคุยกับนักจิตวิทยา ได้แนะนำแนวทางในการเยียวยารักษาใจสำหรับบุคคลที่รู้แล้วว่าตนเองตกอยู่ในภาวะดังกล่าว โดยมีวิธีการดังนี้

  1. รู้เท่าทันตัวเอง ให้รู้ตัวว่าชุดข้อมูลแบบไหนยิ่งกระตุ้นให้ไม่มีความสุข ให้ถอยออกมา และรับให้น้อยที่สุด
  2. สร้าง Self-esteem หาจุดยืนของตัวเอง ชุดข้อมูลบางอย่างอาจทำให้เราเกิดความรู้สึกด้อยค่าตัวเอง พยายามหาคุณค่าของตัวเองจากสิ่งที่เราทำได้ และสร้างความเข้าใจกับตัวเองว่า เส้นทางความสำเร็จหรือความสามารถของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน
  3. การตีความข้อมูลอย่างมีวิจารณญาน พยายามรับข้อมูลอย่างมีสติมากที่สุด บางครั้งความคิดของเราอาจนำไปก่อนในยามที่เผชิญกับภาวะนี้ อาจลองถอยสักหนึ่งก้าวและตีความให้รู้เท่าทันว่าชุดข้อมูลนั้นมีเจตนาอะไรในการนำเสนอ
  4. อยู่กับความเครียดให้เป็น การมีภาวะเครียดหลังรับข้อมูลวิกฤติต่าง ๆ ที่อาจกระทบกับตัวเรานั้นเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นหากรู้สึกเครียด ให้รับรู้มันตามที่ควรเป็น และไม่จมกับมันนานเกินไป
  5. หาพื้นที่ปลอดภัยทันที หากรู้สึกไม่สบายจนรับมือเองไม่ไหวควรที่ปรึกษาที่สมารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยกับเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พ่อ-แม่ คนรัก หรือนักจิตบำบัด

สื่อออนไลน์มีทั้งประโยชน์และโทษ และในยุคดิจิทัลที่ข่าวสารต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายอยู่แค่ปลายนิ้วของเรา นอกจากคลังข้อมูลมหาศาลอาจยังนำพาภาวะความเครียดต่าง ๆ มาสู่ใจเราได้ สำหรับภาวะ  Headline Stress Disorder ถือเป็นภาวะความเครียดที่มาจากบริบทของสังคมที่สื่อออนไลน์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เพราะฉะนั้นก่อนสุขภาพใจเราจะพัง การรับข่าวสารอย่างมีสติจะช่วยเราได้ แต่ถ้าหากรู้ตัวว่าไม่ไหว การปรึกษาพูดคุยกับนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ยังคงเป็นทางออกที่จะช่วยเยียวยาจิตใจของเราได้เสมอค่ะ

อูก้าเป็นกำลังใจให้นะ! – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #mentalhealth #อกหัก #heartbreak #ความสำเร็จ #ฮีลใจ #OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

อ้างอิง

https://theconversation.com/is-headline-stress-disorder-real-yes-but-those-who-thrive-on-the-news-often-lose-sight-of-it-178251

https://www.nm.org/healthbeat/healthy-tips/5-ways-to-cope-with-the-news

https://www.bangkokbiznews.com/health/992195

Read More

เมื่อฤดูกาลส่งผลต่อใจ ช่วงปลายปีจึงน่าเศร้าสำหรับใครหลายคน

เวลามีคนถามว่าชอบฤดูไหนที่สุด อูก้าเชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนน่าจะมีคำตอบในใจอยู่แล้วว่า “ก็ฤดูหนาวยังไงล่ะ!” เพราะนอกจากอากาศจะเย็นสบายแล้ว ยังมีแต่เทศกาลเฉลิมฉลองน่าสนุกต่างๆ เต็มไปหมด แต่ทำไมพอถึงช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนเป็นฤดูหนาวที่หลายคนรอมาทั้งปีเข้าจริงๆ แล้ว เราบางคนถึงกลับรู้สึกเศร้าและเหงาอยู่ในใจลึกๆ กันนะ

หากใครกำลังรู้สึกแบบนี้กับหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึงอยู่ล่ะก็ ตามหลักจิตวิทยาแล้วอาจกำลังตกอยู่ในภาวะ “SAD” (Seasonal Affective Disorder) ก็ได้นะ วันนี้อูก้าจึงอยากจะพาเพื่อนๆ มาทำความรู้จักและหาวิธีรับมือกับภาวะนี้กัน หน้าหนาวปีนี้เราจะได้ไม่ซึมจนเกินไป!

ดร. แพทริเชีย ธอร์นตัน นักจิตวิทยาผู้จบการศึกษาจาก New York University ได้ระบุกับเว็บไซต์ Healthline ว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมทำให้เกิดภาวะวิตกกังวลเป็นเรื่องธรรมดา รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางฤดูกาลที่อาจนำไปสู่ภาวะที่เรียกกันว่าภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล (SAD) ได้เช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วภาวะนี้มักเกิดในช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนเป็นฤดูหนาว เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของปีที่อากาศเย็นลงและท้องฟ้ามืดเร็วขึ้น การที่เราได้รับความอบอุ่นจากแสงอาทิตย์น้อยลงในแต่ละวันจะทำให้ร่างกายหันมาผลิต “เมลาโทนิน” หรือที่รู้จักกันว่า “ฮอร์โมนแห่งการนอนหลับ” มากขึ้น เพราะแบบนี้เราถึงรู้สึกขี้เกียจขึ้นเมื่อหน้าหนาวมาเยือน และความรู้สึกอยากอยู่เฉยๆ นี้นั่นเองที่เป็นต้นเหตุของภาวะ SAD

นอกจากปัจจัยทางสภาพอากาศแล้ว ยังมีปัจจัยทางอารมณ์อย่างการคาดหวังว่า “เราควรมีความสุข” ในช่วงเทศกาลฉลองท้ายปีด้วยเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหน สื่อต่างๆ ก็ล้วนแต่สร้างภาพจำว่าหน้าหนาวเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและการเฉลิมฉลอง หากสุดท้ายแล้วเราไม่มีความสุขเท่าที่คาดไว้ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องหน้าที่การงาน การเรียน คนรอบตัว หรือภาวะสิ้นยินดีของตัวเราเองก็ตาม เหตุผลเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะส่งผลให้เรารู้สึกเศร้าอยู่ลึกๆ ในช่วงเวลานี้ของปี

อย่างไรก็ตาม อูก้ายังไม่อยากให้เพื่อนๆ ตกใจกัน เพราะเป็นเรื่องปกติที่เราต่างอาจต้องพบเจอความเศร้าบ้างเป็นครั้งครา แต่หากใครรู้สึกได้ว่าตัวเองกำลัง “เศร้า เหงา ซึม” เพราะอากาศหนาวที่กำลังจะมาถึงจนไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรในแต่ละวัน คล้ายกับอาการของภาวะซึมเศร้า เช่น การไม่อยากพบเจอผู้คน รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่อยากอาหาร อยากนอนตลอดเวลา เป็นต้น อูก้าอยากให้ลองสังเกตตัวเองกันดูก่อนว่าพบเจออาการตามที่กล่าวมามากน้อยแค่ไหน เพื่อที่เราจะตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและป้องกันไม่ให้ความรู้สึกเหล่านี้อยู่กับเพื่อนๆ นานเกินไปนั่นเอง เพราะว่ากันตามอาการแล้ว เว็บไซต์ของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (NHS) ได้ระบุไว้ว่าภาวะ SAD ก็เป็นภาวะซึมเศร้าประเภทหนึ่งเหมือนกัน

ดังนั้น ถ้าเกิดเศร้าขึ้นมาแล้วทำยังไงดีล่ะ? อาจารย์มณฑิตา พิศเพ็ง นักจิตวิทยาการปรึกษา ooca ได้บอกกับเราถึงวิธีดูแลใจด้วยตัวเอง 5 วิธีง่ายๆ ที่จะสามารถทำให้เพื่อนๆ รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นได้ในช่วงเวลานี้ของทุกปีที่หน้าหนาวใกล้มาเยือน จะมีอะไรบ้างเราลองมาดูกัน

1. รับแสงแดดอ่อนๆ ในแต่ละวัน ช่วยกระตุ้นการสร้างเซโรโทนิน ฮอร์โมนแห่งความสุข

2. กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบตามหลักโภชนาการ แถมผลไม้หน้าหนาวยังอร่อยด้วยนะ

3. ออกไปเดินเล่นหรือออกกำลังกายข้างนอก ใช้อากาศเย็นให้เป็นประโยชน์!

4. ลองหางานอดิเรกใหม่ๆ ทำเพื่อไม่ให้รู้สึกซึม หรือจะนัดสังสรรค์กับคนสนิทของเพื่อนๆ ก็ได้

5. พูดคุยปรึกษากับนักจิตวิทยา เพราะการมีผู้เชี่ยวชาญที่คอยรับฟัง ช่วยคิด ช่วยคุย และพร้อมจะก้าวผ่านหน้าหนาวนี้ไปกับเรานั้นเป็นสิ่งที่ดีเสมอ

วิธีเหล่านี้ไม่เพียงจะช่วยเยียวยาผู้ที่กำลังประสบภาวะ SAD เท่านั้น แต่ยังรวมถึงใครก็ตามที่รู้สึกว่าหลอดพลังงานของตัวเองลดลงเมื่อลมหนาวมาเยือนด้วยเช่นกัน สุดท้ายนี้อาจารย์มณฑิตายังขอฝากข้อความมาบอกเพื่อนๆ ที่รู้สึกไม่ร่าเริงเท่าช่วงที่ผ่านมาของปีว่า

“หากคุณได้พยายามจัดการกับความรู้สึกเศร้าโดยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ทำกิจกรรมใหม่ๆ แต่ก็ยังพบว่าความรู้สึกเศร้านั้นยังคงอยู่และเริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อยากให้คุณพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อช่วยวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกเศร้า จะทำให้คุณเข้าใจตัวเองมากขึ้น สิ่งที่รู้สึกไม่สบายใจนั้นจะได้เบาบางลงค่ะ”

เพราะฉะนั้นแล้ว อูก้าจึงอยากให้หน้าหนาวปีนี้ของเพื่อนๆ ทุกคนเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสุข ความรัก และการเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ และปล่อยให้ลมเย็นที่กำลังจะมาถึงช่วยผ่อนคลายสุขภาพใจเราจากความเครียดที่สะสมมาทั้งปีกันเถอะ

อูก้าเป็นกำลังใจให้นะ! – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #mentalhealth #อกหัก #heartbreak #ความสำเร็จ #ฮีลใจ #OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

อ้างอิง

[1] https://www.healthline.com/health-news/autumn-anxiety#What-can-you-do?

[2] https://www.nhs.uk/mental-health/conditions/seasonal-affective-disorder-sad/overview

[3] https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/seasonal-affective-disorder/symptoms-causes/syc-20364651

Read More

Imposter Syndrome: นั่งๆ ทำงานไป ใจดันบอกว่าเราเก่งไม่พอ

🖐️ มีใครเคยสงสัยบ้างมั้ย? ทำไมนั่งทำงานอยู่ดีๆ เราถึงรู้สึกว่าตัวเองยังเก่งไม่พอ หรือกลัวว่าสักวันเพื่อนร่วมงานจะมองว่าเราพยายามไม่พอ ทั้งที่งานก็สำเร็จตามเป้าหมายไปได้ด้วยดี

เนื่องในโอกาสวันตระหนักรู้ความเครียดสากล (International Stress Awareness Day) อูก้าจึงอยากชวนเพื่อนๆ มาทำความรู้จักเจ้า Imposter Syndrome ต้นเหตุของความไม่มั่นใจที่ว่านี้กัน เพราะอูก้าเชื่อเลยว่ามีเพื่อนๆ ที่กำลังทำงานหลายคนเคยหรือกำลังประสบภาวะดังกล่าวอยู่ในปัจจุบัน แอบกระซิบด้วยว่าคนทำงานกว่า 70% ต่างก็เคยรู้สึกว่าตัวเอง “เก่งไม่พอ” แบบนี้แหละ แล้วเราจะทำให้ตัวเองหายเครียดจากภาวะที่เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้เก่งอะไรเลยนี้ได้ยังไงกันนะ

มารู้จัก “Imposter Syndrome” กัน

ผู้ที่ประสบภาวะ Imposter Syndrome นั้นมักกังวลว่าตัวเองไม่มีความสามารถมากพอ รวมไปถึงไม่คู่ควรกับตำแหน่งทางการงานที่ได้รับ ถึงแม้จะมีทั้งผลงานและคำชมที่คอยพิสูจน์ความสำเร็จมากแค่ไหนก็ตาม ที่สำคัญคือสมาชิกขององค์กรทุกระดับชั้นสามารถเกิดความกังวลดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เพิ่งเข้าทำงานมาใหม่ หรือคนที่ประจำตำแหน่งมานานแล้วก็ตาม

อาจารย์ธีระ เพ็ชรภา นักจิตวิทยาจากอูก้าเล่าให้เราฟังว่า คนทำงานที่ประสบภาวะ Imposter Syndrome ในประเทศไทยส่วนใหญ่มักคิดอยู่เสมอว่า “ต้องทำยังไงก็ได้ให้ไม่ถูกเพื่อนร่วมงานตำหนิ” เนื่องจากกังวลเรื่องกฎระเบียบขององค์กร สาเหตุนี้เองที่ส่งผลให้เพื่อนๆ หลายๆ คนกลายเป็น Perfectionist ทั้งในเรื่องการทำงานและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในที่ทำงานอย่างไม่รู้ตัว เนื่องจากต้องการสร้างเซฟโซนเอาไว้ จะได้ไม่มีใครว่าเราได้ แถมเวลาทำงานเสร็จก็ไม่ยอมชื่นชมตัวเองหรืออินกับคำชมของคนอื่น เพราะเลือกที่จะเชื่อว่าเรายังไม่มีความสามารถมากพอ

ถึงแม้ Imposter Syndrome จะไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไร แต่หากคอยคิดกังวลแบบนี้อยู่บ่อยๆ ก็อาจส่งผลลบต่อร่างกายและใจของเราได้ อย่างการเกิดภาวะเครียดเรื้อรังหรือภาวะซึมเศร้า รวมไปถึงอาจเป็นสาเหตุของการตัดโอกาสทางด้านการงานในอนาคตอีกด้วย เพราะเรามัวแต่ “กลัว” ว่าจะไม่มีความสามารถมากพอสำหรับงานนั้นๆ

5 สัญญาณหลักของ Imposter Syndrome ในที่ทำงานมีอะไรบ้าง?

⛅ห่วงกรอบแห่งความสมบูรณ์แบบจนทำงานชิ้นหนึ่งนานเกินความจำเป็น

⛅พยายามพิสูจน์ตัวเองด้วยการรับงานมาเยอะๆ ทำให้เข้างานเร็ว-เลิกงานช้าอยู่บ่อยๆ

⛅ระแวงจะโดนตำหนิตลอดเวลา และไม่คิดว่าตัวเองเก่งพอที่จะได้รับคำชม

⛅ไม่กล้าปฏิเสธใคร เพราะกลัวว่าเพื่อนร่วมงานจะไม่ชอบ

⛅โฟกัสกับการทำตัวไม่เด่นมากในที่ทำงาน

หากลองประเมินตัวเองดูแล้วว่าเรารู้สึกกดดันแบบนี้เวลาอยู่ในที่ทำงานอยู่บ่อยๆ อาจารย์ธีระก็ได้ขอฝากแนวทางการรับมือกับ Imposter Syndrome ฉบับเบื้องต้นมา 4 ข้อ ที่จะช่วยให้เพื่อนๆ ได้ลองฝึกใจดีกับตัวเองมากขึ้น

1. ให้อภัยตัวเองหากผิดพลาดไปบ้าง – แทนที่จะคิดวนเรื่องข้อผิดพลาด ลองมองว่าเราพยายามอย่างถึงที่สุดแล้ว อูก้าเชื่อว่างานทุกชิ้นเต็มไปด้วยความตั้งใจของเพื่อนๆ แน่นอน

2. รู้ทันใจตัวเอง – ยอมรับหากรู้ตัวว่ากำลังคิดในแง่ลบ และทบทวนว่าสิ่งที่เราคิดนั้นเป็นจริงหรือไม่

3. พูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน – ถามเพื่อนร่วมงานอย่างตรงไปตรงมาหากกลัวว่าทำอะไรผิดไป และไม่คอยโทษตัวเอง

4. ภูมิใจในความสำเร็จของตัวเอง – ลองชื่นชมตัวเองเป็นประจำ โดยไม่ต้องเก็บมาคิดว่าเราสามารถทำได้ดีกว่านี้หรือเปล่า และน้อมรับคำชมจากเพื่อนร่วมงานด้วยความภูมิใจ

อาจารย์ธีระและอูก้าเข้าใจดีว่าการขจัดความคิดแง่ลบในหัวออกไม่ใช่เรื่องง่าย ในหลายๆ ครั้ง เราอาจไม่สามารถดึงตัวเองขึ้นมาจากความรู้สึกไม่ดีเหล่านั้นได้ด้วยตัวคนเดียว ฉะนั้นการระบายความรู้สึกกับบุคคนที่ไว้ใจหรือผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด หากเพื่อนๆ ยังไม่รู้จะเล่าเรื่องราวให้ใครฟัง ก็ยังมีทีมจิตแพทย์และนักจิตวิทยาจากแอปพลิเคชันอูก้าที่ยินดีที่จะจับมือเดินไปข้างหน้าด้วยกันกับเพื่อนๆ เสมอนะ

สุดท้ายนี้ อาจารย์ธีระยังขอฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “คนเราสามารถพัฒนาตัวเองได้เรื่อยๆ อยู่แล้วหากรู้สึกว่ายังเก่งไม่พอ แต่สิ่งที่สำคัญคืออยากให้หาความสุขให้เจอในแต่ละวัน อยากให้ชมตัวเองที่ผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้ขนาดนี้ พอเรามีความสุขแล้วเราจะพัฒนาตัวเองได้อย่างสนุกและมีประสิทธิภาพจนเราคาดไม่ถึงเลย”

เพราะแค่งานที่ได้รับมอบหมายในแต่ละวันก็ชวนปวดหัวมากพอแล้ว อูก้าจึงอยากให้เพื่อนๆ ใจดีกับตัวเองเยอะๆ คอยพูดคุยสื่อสารกับคนในที่ทำงานเพื่อเรียกความมั่นใจกลับมา และมองว่า “เรานี่แหละ เก่งพอสำหรับตำแหน่งที่ทำอยู่แล้ว” รวมถึงไม่ลืมให้รางวัลตัวเองในช่วงเวลาหลังเลิกงานเป็นประจำไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายแล้ว คนที่เป็นแรงใจที่ดีที่สุดในการทำงานในวันต่อๆ ไปก็คือตัวของเพื่อนๆ เอง เพราะฉะนั้น เชื่ออูก้าเถอะนะว่าเราน่ะสุดยอดที่สุดแล้ว!

อูก้าเป็นกำลังใจให้นะ! – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #mentalhealth #อกหัก #heartbreak #ความสำเร็จ #ฮีลใจ #OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

อ้างอิง

*ข้อมูลจากวารสาร International Journal of Behavioral Science

[1] https://newviewpsychology.com.au/imposter-syndrome-in-the-workplace/

[2] https://www.forbes.com/sites/forbescoachescouncil/2019/06/07/15-ways-to-overcome-imposter-syndrome-in-the-workplace/?sh=3183fbad30cc

[3] https://www.welovesalt.com/news/2022/07/imposter-syndrome/

Read More