สารพันปัญหาชีวิต รุมเร้าเข้ามาทดสอบความเข้มแข็งทางจิตใจของเราได้แทบทุกวัน บางวันเราเจอปัญหาเล็กน้อยจุกจิกให้ต้องคอยแก้อยู่บ่อย ๆ แต่กับบางวันเรากลับต้องเจอสิ่งที่ไม่คาดฝัน ปัญหาบางอย่างที่ต้องเผชิญอาจส่งผลกระทบทางจิตใจรุนแรง ทำให้เรารู้สึกหดหู่ เศร้า เสียใจ หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นส่งผลต่อสุขภาพจิต ซึ่งการเจอปัญหารุนแรงถึงระดับนี้ เราจะกลับมาลุกขึ้นสู้ยังไงไหว?

ทุกปัญหาแก้ได้ และชีวิตของเราต้องเดินหน้าต่อ และจริง ๆ แล้ว มนุษย์ทุกคนจะมีพลังแห่งการฮึบสู้อยู่ในตัวแต่เราอาจจะยังไม่เคยทำความรู้จักกับมัน ในทางจิตวิทยาเราเรียกพลังการฮึบนี้ว่า Resilience Quotient (RQ) หรือที่กระทรวงสาธารณะสุขบัญญัติคำเรียกว่า พลังใจ ซึ่งหมายถึง กระบวนการหรือทักษะในการฟื้นฟูสภาพจิตใจหลังจากการเจอกับวิกฤติหนักให้สามารถกลับมาตั้งหลักใช้ชีวิตได้ตามปกติ

RQ เป็นสิ่งที่แสดงออกให้เห็นถึงความเข้มแข็งทางจิตใจ เมื่อเราสามารถรับมือและปรับตัวได้ดีเมื่อชีวิตต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติ “อาจารย์ฉันท์ธนิตถ์ สิมะวรางกูร” ผู้เชี่ยวชาญจากอูก้า ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจกับเราว่า RQ นั้นมีทั้งในระดับบุคคลที่หมายถึงตัวเราเอง และมาจากระดับสังคม คือ ครอบครัว เพื่อน ชุมชน ที่สามารถดึงเราก้าวข้ามปัญหาต่าง ๆ ได้

จากการพูดคุยครั้งนี้ทำให้เราเข้าใจภาพของ RQ ได้มากขึ้น คราวนี้เราเลยลองถามต่อไปว่าเราจะสามารถพัฒนาตัวเองให้มี RQ พร้อมสู้รบปรบมือกับทุกปัญหาได้อย่างไร? ซึ่งอาจารย์ฉันท์ธนิตถ์ได้ให้คำตอบที่น่าสนใจ

“สิ่งที่จะเข้ามาสนับสนุนให้เกิด RQ ได้ดี จะมาคู่กับการเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-Esteem) และการรับรู้ความสามารถในตัวเอง (Self-Efficacy)”

ดังนั้นสิ่งที่เราจะทำได้ก่อนคือการหาสิ่งเหล่านั้นในตัวเองให้เจอ ซึ่งเป็นการพัฒนาในมิติด้านจิตใจให้เข้มแข็ง แล้วเราจะสร้าง Self-Esteem กับ Self-Efficacy ได้อย่างไร? อาจารย์ฉันท์ธนิตถ์มีคำแนะนำง่าย ๆ ให้เราทำตาม ดังนี้ค่ะ

  1. การไปค้นหาว่าเรามีความสามารถอะไร  เรามีประสบการณ์อะไรมาบ้าง
  2. การลงมือทำจริงกับสิ่งนั้น ทำซ้ำ ๆ ทำให้รู้ว่าตัวเราทำได้
  3. ถ้าไม่มีเวทีให้ทำจริง ให้เราหลับตาแล้วจินตนาการว่าเราทำสิ่งนั้นอยู่ สมองจะจดจำทำให้เกิดความเชื่อว่าเราทำได้
  4. ฝึกสมองให้เรามองโลกในแง่ดี การคาดเดาถึงผลลัพท์ของสิ่งที่เราทำในทิศทางบวก สมองจะสื่อสารให้เราเชื่อว่าเราจะทำสิ่งนั้นได้

การฝึกความคิดตัวเองในเชิงบวกทำให้ระบบสมองของเราจดจำในเรื่องดี ๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถเรียก RQ กลับคืนมาได้ในทันที หรืออาจจะแทบไม่รู้สึกสะทกสะท้านกับปัญหา นอกจากการฝึกในมิติทางความคิดของเราแล้วอีกมิติหนึ่งที่จะช่วยผลักดัน RQ ได้คือการดูแลร่างกาย โดยอาจารย์ฉันท์ธนิตถ์ได้พูดถึงแนวคิดของ Andrew D. Huberman นักประสาทวิทยาศาสตร์ ชาวอเมริกา ที่บอกวิธีการพัฒนา RQ ผ่านการดูแลร่างกายของเราด้วยวิธีแสนง่าย ดังนี้

  1. นอนให้พอ ถ้าร่างกายพักผ่อนเพียงพอสารสื่อประสาทในร่างกายจะอยู่ในระดับสมดุล 
  2. การฝึกลมหายใจ ค่อย ๆ สูดลมหายใจให้ลึกยาว สบาย… จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของร่างกาย 
  3. การกินอาหารที่มีประโยชน์  
  4. ตื่นเช้ามารับวิตามิน D จากแสงแดด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นโดปามีน
  5. รู้สึกดีกับสิ่งรอบข้าง และขอบคุณกับมัน 

อาจารย์ฉันท์ธนิตถ์ยังให้แนวทางวิธีการรับมือกับปัญหาโดยสรุปได้ว่า เมื่อเราเผชิญหน้ากับปัญหาให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ปล่อยให้มันเป็นไปไม่ต้องฝืน ต่อมาให้เราทบทวนกับตัวเองว่าอะไรในวิกฤติที่แขวนให้เราจมอยู่กับมัน เมื่อเราได้คำตอบเราจะหาทางออกให้ตัวเองได้ค่ะ แต่ถ้าหากไม่ไหวก็ไม่เป็นไรนะรีบหาตัวช่วย คนที่เราไว้วางใจเราลองไปปรึกษาพูดคุยกับเขาได้ทันที ส่วนใครถ้ารู้ตัวว่าตนเองมีปัจจัยความเสี่ยงทางสุขภาพร่างกาย สุขภาพใจให้พบผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟู Resilience ให้คืนกลับมา

RQ เป็นพลังด้านบวกที่เราทุกคนมีอยู่ในตัวเอง แม้ว่าแต่ละคนจะมีความเข้มแข็งทางจิตใจในการรับมือกับปัญหาได้มากน้อยไม่เหมือนกัน หรือแม้กระทั้งการเผชิญกับปัญหาของแต่ละคนจะเล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่ถึงอย่างนั้นไม่ว่าเราจะเป็นใครในโลกใบนี้ เราก็สามารถปลุกพลังการเป็นนักสู้ในตัวเอง อาจารย์ฉันท์ธนิตถ์ได้ทิ้งท้ายข้อคิดดี ๆ ไว้ว่า

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อย่ารอให้ถึงตอนที่เจอวิกฤต แนะนำให้ฝึกตั้งแต่ตัวเรายังไม่พบวิกฤต เพราะการฝึกจะทำให้ระบบในสมองจดจำความคิดในเชิงบวก เมื่อเราเจอวิกฤติจึงทำให้เราฟื้นคืนกลับมาได้ไว”

ปัญหาทุกอย่างมีทางออกเสมอและมันจะผ่านพ้นไปได้ขึ้นอยู่กับตัวเรา ในวันนี้หากใครที่กำลังเจอปัญหาอยู่จะเล็กหรือใหญ่ขอให้เชื่อว่าเราจะไม่เป็นไร 

อูก้าเป็นกำลังใจให้นะ! – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #mentalhealth #อกหัก #heartbreak #ความสำเร็จ #ฮีลใจ #OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

แหล่งอ้างอิง

https://www.verywellmind.com/what-is-resilience-2795059

ดูจาก Resilience Quotient : RQ (tci-thaijo.org)