คิดไม่เหมือนกัน คิดต่าง จิตวิทยา

OOCAknowledge ป้า vs เด็ก การปะทะของความคิดต่างและการมี Self-awareness

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าว “ป้าตบเด็ก” กลายเป็นที่พูดถึงอยู่หลายวัน ว่าด้วยเรื่องการใช้อารมณ์ ความรุนแรง เราอยากให้ทุกคนลองทบทวนดูว่าจริงๆ แล้วสาเหตุที่คุณป้าทำพฤติกรรมนั้นเป็นเพราะอะไร เป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบหรือเขากำลังคิดอะไรอยู่

ที่ต้องหยิบยกประเด็นนี้มาเล่าเพราะในทุกคนกำลังให้ความสำคัญกับ “ความเห็นต่างทางการเมือง” เราอาจเผลอทำร้ายอื่นโดยไม่รู้ตัว เป็นไปได้ไหมที่เราจะหันหน้ามาพูดคุยกันแล้วทำความเข้าใจคนที่คิดต่างให้มากขึ้น เริ่มต้นที่การตระหนักรู้ในตัวเอง (Self-awareness)

ก่อนอื่นมองตัวเองให้ดีว่าเราเป็นใคร? และเรามองโลกอย่างไร?

นักจิตวิทยาชื่อ Shelley Duval และ Robert Wicklund’s อธิบายว่า “Self-awareness คือ เมื่อเรารู้จักตัวเองเราจะเข้าใจสิ่งที่ทำ รู้ว่าให้ความสำคัญกับอะไรอยู่ ช่วยให้มีสติและมีความเป็นกลางในตัวเองมากขึ้น”

เวลาที่เราขาด Self-awareness เราอาจจะมองไม่เห็น “อารมณ์” ของตัวเอง กลายเป็นทำทุกอย่างตามความเชื่อ…เชื่อว่าสิ่งนั้นดีและถูกต้องโดยลืมไปว่าคนเราได้พัฒนาความเชื่อ ค่านิยม หรือทัศนคติขึ้นมาจากประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน จึงไม่ควรมองคนอื่นในลักษณะเหมารวมหรือคิดว่าทั้งกลุ่มนั้นจะต้องมีนิสัยหรือทัศนคติที่เหมือนกัน แต่เราจะย้ำเตือนตัวเองได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าตัวเองกำลังคิดหรือทำอะไรอยู่

แล้วจะทำอย่างไรให้เรามี Self-awareness มากขึ้น

– Mindfulness เพราะสติช่วยทำให้เกิดรับรู้ได้ว่าร่างกายและจิตใจของเราเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนและทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น

– Take a note สังเกตสิ่งที่เกิดรอบตัวแล้วเขียนบันทึก เป็นการทบทวนความคิดและความรู้สึก เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้แล้วเรารู้สึกอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร

– Deep-listening การฟังที่ไม่ใช่แค่การได้ยิน เราสามารถเพิ่ม self-awareness ได้ผ่านพูดคุยกับคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนอื่นๆ เทคนิคสำคัญคือให้เราโฟกัสที่การฟังและพยายามเข้าใจสิ่งที่คนตรงหน้ากำลังบอกเราให้ดี

– Share การสอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นบ้าง ทำให้เราได้เปิดกว้างทางความคิดและสิ่งที่เกิดขึ้นอาจทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ช่วยให้เราออกจาก comfort zone และเลิกยึดติดกับความคิดของตัวเอง

– Reflection ลองย้อนกลับไปหาคำตอบของสิ่งที่เห็นหรือได้ยินอีกครั้ง ช่วยให้เราไม่ตัดสินอะไรแบบผิวเผิน นอกจากได้เรียนรู้แล้วยังถือเป็นการทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมา แล้วยังนำไปแบ่งปันให้คนอื่นได้อีกด้วย

ที่สำคัญมากๆ เลยคือ Self-awareness ทำให้เราเข้าใจร่างกาย อารมณ์ ประสบการณ์ ความคิดและความสามารถของตัวเอง ช่วยให้เราอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดีขึ้น รู้ว่าจะต้องจัดการความคิดและอารมณ์อย่างไรต่อไป เราจะคอยมองหาสิ่งดีๆ ที่ทำให้ตัวเองมีความสุข ดังนั้นถึงจะเป็นผู้ใหญ่แล้วก็อาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้หากเราขาด Self-awareness

เป็นไปได้ไหมถ้าคุณป้าจะใช้วิธีอื่นเพื่อทำความเข้าใจกับเด็กนักเรียนอย่างการเข้าไปพูดคุย หรือรอให้ใจเย็นอีกนิด คุณป้าอาจจะเกิด Self-awareness และรับรู้ได้ว่าตัวเองกำลังไม่พอใจ ควรหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์นั้นแทน

นอกจากจะรู้ตัวเองแล้ว เราต้องรับรู้ความเป็นไปของโลกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ คนที่ต้องยอมรับว่าสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไป เราอาจสูญเสีย “ความเป็นกลาง” ในการมองโลก เมื่อเราเพิกเฉยหรือปิดรับข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเชื่อของเรา การที่เราเลือก “รับ” แค่บางอย่าง เปรียบเหมือนปิดประตูตั้งแต่ด่านแรก ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงเรากับคนอื่นก็ถูกปิดด้วย

อย่าลืมว่าความเชื่อ ค่านิยมและทัศนคติไม่เกี่ยวกับอายุหรือสถานะ “การยอมรับความแตกต่างง่ายกว่าการคาดหวังให้คนอื่นเปลี่ยนแปลง” โลกของความเป็นจริงคือโลกที่ทุกคนคิดต่าง แต่วิธีสื่อสารและความเข้าใจต่างหากที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้

อูก้ายินดีจะรับฟังทุกมุมมองและเข้าใจในสิ่งที่คุณเชื่อ ไม่ว่าปัญหาจะหนักแค่ไหนเราก็จะผ่านไปได้แน่นอนสามารถทักมาพูดคุยกับพี่ๆนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของอูก้าได้นะคะ

อ้างอิง

https://hbr.org/2018/01/what-self-awareness-really-is-and-how-to-cultivate-it

https://positivepsychology.com/self-awareness-matters-how-you-can-be-more-self-aware/

https://www.urbinner.com/post/self-awareness

Read More
เลิกล้อ เลิกบูลลี่ ทุกคนมีค่า มีความพิเศษ

OOCAknowledge: #เลิกเมกฟันกับโรคต่างๆ เพราะทุกความต่างคือความพิเศษ

#เลิกเอาโรคต่างๆ มา make fun ได้แล้ว

“ดูจากหน้าและท่าทางแล้ว เป็นออทิสติกใช่ไหม?”

“ตอบแบบนี้ ปัญญาอ่อนหรือไง?”

“เธอบ้าเปล่าเนี่ย? ประสาท!”

คำพูดพวกนี้เป็นมุกตลกล้อเลียนที่เราได้ยินกันจนชิน บางครั้งก็ถูกนำมาเป็นคำด่า คำต่อว่า โดยที่เราอาจลืมนึกไปว่ามีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากคำพูดเหล่านี้ ถ้าเลือกได้เชื่อว่าทุกคนอยากเกิดมาเป็นคนปกติ มีร่างกายและสติปัญญาสมบูรณ์พร้อม แล้วถ้าอะไรบางอย่างที่ทำให้เราแตกต่างออกไปถูกนำมาพูดถึงเป็นเรื่องตลกร้าย เราจะรู้สึกอย่างไร?

อูก้าเคยเขียนบทความ “#เลิกเมกฟันกับโรคทางจิตเวช” เพื่อให้ทุกคนเข้าใจมากขึ้นว่าบางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับเรา แต่เป็นปัญหาหรือความทุกข์สำหรับคนอื่น นอกจากโรคที่เราได้ยินชื่อบ่อยๆ เช่น โรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ โรควิตกกังวลหรือโรคย้ำคิดย้ำทำ ยังมีอาการป่วยกายและป่วยใจมากมายที่เรายังไม่รู้จักหรือไม่ได้มีความเข้าใจในสิ่งๆ นั้นมากพอ แต่กลับนำไปพูดในทางขบขัน สร้าง joke ในวงสนทนา ทั้งที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้น

การถูก make fun ในสิ่งที่เราเป็นนั้นน่าเจ็บปวด ไม่ใช่ไม่ยอมรับว่าเราเป็นอะไร แต่สิ่งที่เรากำลังเผชิญหรือสิ่งที่เราเกิดมาพร้อมๆ กับมัน ไม่ควรกลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจสำหรับใคร ความพิการหรือโรคต่างๆ กลายเป็นคำด่าทอกันตั้งแต่เมื่อไร อะไรที่ไม่ดี ไม่สวยงาม ไม่น่าชอบพอ มักถูกนำมาเปรียบเทียบกับความผิดปกติ

หลายคนชอบบอกว่าเพื่อนที่รสนิยมต่างจากคนอื่นว่า “เขาเพี้ยน เอ๋อ ปัญญาอ่อน”

บ่อยครั้งก็ชอบบอกว่าคนที่พูดไม่รู้เรื่องเป็น “โรคประสาท เป็นบ้า”

เดาเอาเองว่าคนที่เรียกร้องความสนใจเป็น “โรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์”

หรืออย่างล่าสุดที่มีดาราท่านหนึ่งถูกเปรียบเทียบหน้าตาความน่ารักด้วยคำว่า “ออทิสติก”

แล้วจริงๆ เราทราบกันหรือไม่ว่า ออทิสติก (Autistic) มีสาเหตุมาจากอะไร ลักษณะอาการเป็นอย่างไร? ซึ่งออทิสติกจัดอยู่ในกลุ่ม PDD (Pervasive Developmental Disorders) หรือความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน แสดงอาการอย่างชัดเจนตั้งแต่วัยเด็ก จะมีพัฒนาการทางด้านความสัมพันธ์ทางสังคมและการสื่อสารไม่เป็นไปตามปกติ โดยทั่วไปพวกเขาจะชอบอยู่ในโลกของตัวเองมาก ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ไม่ค่อยสบตา เล่นไม่เหมือนเด็กทั่วไป ชอบทำอะไรซ้ำๆ ขาดความยืดหยุ่น แต่จะสนใจบางอย่างถึงขั้นหมกมุ่นในเรื่องนั้นและด้วยความจริงจังนี้เองสามารถทำให้พวกเขากลายเป็นคนที่เชี่ยวชาญในบางสิ่งบางอย่างได้

ยกตัวอย่างคุณหมอพัคชีอน (นำแสดงโดยจูวอน) ในเรื่อง Good Doctor (2013) ที่มีภาวะออทิสติกและความอัจฉริยะแฝงอยู่และได้กลายเป็นคนหมอที่ทุกคนรัก เรื่องนี้โด่งดังจนถูกนำไปสร้างต่ออีกในต่างประเทศเพราะซีรี่ส์ได้นำเสนอภาพที่ช่วยสร้างทัศนคติด้านบวกในสังคมให้กับคนที่เป็นออทิสติก นอกจากนี้ในชีวิตจริงก็ยังมีบุคคลเช่น Kim Peek อัจฉริยะด้านความจำที่ได้ฉายาว่า “คิมคอมพิวเตอร์” เขาใช้เวลาประมาณ 8-10 วินาทีในการอ่านหนังสือ 1 หน้าและจดจำเนื้อหาหนังสือที่อ่านได้อย่างละเอียดถึง 12,000 เล่ม นอกจากนี้เขายังคำนวณปฏิทินในใจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ อีกคนหนึ่งคือ Stephen Wiltshire อัจฉริยะด้านการวาดภาพ ฉายา “มนุษย์กล้องถ่ายรูป” เขาวาดภาพจากความทรงจำ เขาสามารถวาดภาพกรุงโรมได้จากการนั่งเฮลิคอปเตอร์ชมวิวแค่ 45 นาที โดยเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นแสงหรือเงา วิหาร โคลอสเซียม ถนน ไปจนถึงตึกรามบ้านช่องหลังเล็กๆ

จากตัวอย่างที่เรายกมาจะเห็นได้ว่าพวกเขามีความสามารถที่โดดเด่นและน่าชื่นชม เราจึงไม่อยากให้ทุกคนเหมารวมหรือตีตราว่าคนที่เป็นออทิสติกทุกคนจะเป็นแบบใดแบบหนึ่งหรือมีพัฒนาการที่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรคและปัจจัยอื่นๆ แต่อยากให้เชื่อว่าเขาเป็นคนที่สามารถพัฒนาได้เหมือนเรานี่แหละ

อย่างที่บอกว่าคนที่เป็นออทิสติกจะมีอาการแตกต่างกันไปสารพัดรูปแบบ เรียกว่าเด็กร้อยคนก็ร้อยแบบ ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว จะนำวิธีสอนแบบเดียวกันไปใช้กับพวกเขายังไม่ได้ด้วยซ้ำ ต้องปรับไปตามลักษณะของแต่ละคน ซึ่งถ้าลองมองดูแล้วก็เหมือนเวลาเราสอนเด็กคนอื่นนั่นแหละ ไม่มีเด็กที่เหมือนกันทุกคนต่างเติบโตในแบบของตัวเอง ฉะนั้นก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการที่เราจะดูแลและใส่ใจเด็กคนหนึ่งเลย การจะเข้าใจพวกเขาอาจไม่ง่าย แต่ถ้าส่งเสริมให้ถูกทางและตั้งใจเลี้ยงดูก็สามารถพัฒนาได้

พอเรามีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นแล้วการจะมองว่าชื่อโรคหรืออาการต่างๆ เป็นมุกตลกก็คงไม่ใช่ น่าดีใจที่ปัจจุบันเราเห็นหลายคนในโลกออนไลน์พยายามช่วยกันหยุดการใช้คำพูดสร้างเรื่องตลกที่ไม่ตลก หันมาระมัดระวังและตักเตือนกันเรื่องการใช้คำพูดบูลลี่กันมากขึ้น เพราะความเคยชินที่สั่งสมมานาน การจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคมกับเรื่องล้อเลียนเสียดสีจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยทั้งเวลาและความเข้าใจเป็นตัวตั้ง

สุดท้ายเราหวังว่าเหตุผลและข้อมูลที่เป็นประโยชน์จะช่วยให้การหยิบยกคำๆ หนึ่งไปพูดต่อได้รับการตระหนักและเอาใจใส่มากขึ้น ไม่รู้ไม่เป็นไรแต่เราเริ่มต้นที่จะเรียนรู้ได้ ถ้าเราไม่รู้ความหมายก่อนที่จะใช้มัน ให้ลองศึกษาดูก่อนแล้วจึงทบทวนว่าควรสื่อสารออกไปไหม เพื่อลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นได้ อย่างที่รู้ว่าโลกโซเชียลนั้นไปไว อย่าทำร้ายใจใครด้วยความประมาทของเราเลยนะ นอกจากนี้ทุกคนยังสามารถไปตาม #เลิกเมกฟันกับโรคทางจิตเวช ในทวิตเตอร์ได้เลย มีข้อมูลดีๆ ที่คนในสังคมนำมาแบ่งปันกันมากมาย

หากเพื่อนๆ คนไหนกำลังอึดอัดใจ ไม่มีความสุขกับมุกตลกที่คนอื่น make fun เกี่ยวกับเราหรือคนที่เรารัก อูก้าอยากชวนให้เข้ามาพูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาของเรา ช่วยกันดูแลจิตใจและข้ามผ่านปัญหาไปพร้อมกับเราได้ อูก้ายินดีรับฟังคุณเสมอนะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://th.rajanukul.go.th/preview-4005.html

https://teen.mthai.com/variety/57036.html

Read More
โดนบูลลี่ โดนแกล้ง จิตวิทยา

OOCAstory: จะเลิกบูลลี่คนอื่นด้วยคำพวกนี้ ได้หรือยัง?

เข้าใจว่าหลายคนกำลังเผชิญกับการถูกบูลลี่ด้วยคำพูดแบบต่างๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของรูปร่างหน้าตา ความสามารถ อุปนิสัย หรือแม้แต่เรื่องส่วนตัว จนกลายเป็นบาดแผลในใจที่ไม่มีวันลืม ในขณะที่บางคนอาจรู้สึกว่าเป็นแค่คำพูดธรรมดาๆ ไม่ได้เจตนาให้รู้สึกไม่ดี แต่สำหรับคนฟังคำพูดเหล่านั้นกลับทิ่มแทงใจ ทำให้เจ็บปวดทุกครั้งที่นึกถึง

น่าเศร้าที่บางครั้งเราก็ทำได้แค่ยิ้มตอบเวลามีคนมาพูดจาแย่ๆใส่เรา บ้างไม่รู้จะตอบโต้ยังไง บ้างไม่อยากให้เขามองว่าเราคิดมาก หรือไม่อยากทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นใหญ่  ทั้งที่จริงๆ มันเป็นเรื่องใหญ่และมีผลต่อใจเรามาก กลับกลายเป็นตัวเราเองที่รับเอาคำพูดพวกนั้นมาแล้วต้องพยายามกล้ำกลืนมันลงไป

แน่นอนว่าการเจอคำพูดที่คอยบั่นทอนเรานั้น มันทั้งฝังใจและน่าอึดอัดที่ต้องวนเวียนอยู่กับคำพูดล้อเลียน ดูถูก ถากถางกัน คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เรื่องการบูลลี่ทางคำพูดหมดไป แต่หากเริ่มต้นที่ตัวเราที่พยายามระมัดระวังคำพูดไม่ให้สร้างบาดแผลให้คนอื่นและช่วยกันทำให้คนตระหนักมากขึ้น เรื่องพวกนี้ก็จะค่อยๆ น้อยลงไป

ต้องขอขอบคุณทุกๆ คนที่ช่วยแชร์คำพูดบูลลี่ที่เคยเจอมา ทำให้คนอื่นได้เห็นว่าคำพูดที่เอ่ยออกมาสั้นๆ แต่ก็มีพลังรุนแรงมากกว่าที่คิด หวังว่าเราจะมีสังคมที่มีความสุข ให้เกียรติกันและรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากขึ้นนะคะ อูก้าอยากเห็นทุกคนมีรอยยิ้ม ได้รับฟังคำพูดดีๆ ที่เยียวยาใจคุณได้ สามารถทักมาพูดคุยกับพี่ๆ นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของเราได้เสมอ รับรองว่าทุกคนอ่อนโยนน่ารักและพร้อมรับฟังด้วยความเข้าใจแน่นอนค่ะ

Read More
บูลลี่คืออะไร

OOCAknowledge: อย่างนี้เรียกว่าบูลลี่ไหมนะ?

ลองสังเกตง่ายๆ ว่าถ้าเรารู้สึกถูกคุกคาม อึดอัด เจ็บปวดกับสิ่งที่คนอื่นพูดหรือทำกับเรา นั่นอาจแสดงว่าเรากำลังถูกบูลลี่อยู่ แม้เขาจะพูดเพื่อหยอกล้อหรือทำเพราะหวังดี แต่หากเราไม่สบายใจและต้องการให้เขาหยุด ไม่ต้องรู้สึกผิดที่จะพาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้น เพราะเรามีสิทธิ์ที่จะปกป้องตัวเองเสมอ

สำหรับบางคนการกลั่นแกล้งหรือที่เราเรียกว่า “บูลลี่” เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ต้องเก็บมาใส่ใจ แต่กับบางคนมันสร้างความเจ็บปวดและบาดแผลที่ไม่มีทางลืม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจหรือไม่ การทำให้คนอื่นรู้สึกไร้ค่านับว่าเป็นการบูลลี่ทั้งนั้น

การสื่อสารที่ดีคือทั้งสองฝ่ายต้องเห็นพ้องในสิ่งเดียวกัน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกอึดอัดลำบากใจ ให้ระวังว่าคำพูดหรือการกระทำดังกล่าวอาจละเมิดสิทธิของคนอื่นในเรื่องของค่านิยม ความหลากหลายและการแสดงออก

ไม่มีใครสนุกที่ได้เป็นตัวตลกหรอก ถ้าเราเผลอทำร้ายใครสักคนและเรารู้แล้วว่าการกระทำนั้นสร้างความเจ็บปวดให้เขา เราจะหยุดมันไหม แล้วถ้าเราถูกกระทำเราจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์นี้หรือไม่ แล้วรู้ไหมว่าการบูลลี่นั้นมีทั้งหมดกี่ประเภท

การบูลลี่มี 4 ประเภท

1. ทางร่างกาย (Physical) เช่น การผลัก ตบตี เตะต่อย ไปจนถึงการทารุณทางร่างกาย ทำให้เกิดบาดแผลและความเจ็บปวดต่อร่างกาย

2. ทางสังคมและอารมณ์ (Social and emotional) เป็นการกดดันทางสังคมที่ส่งผลต่อจิตใจ เช่น การยั่วยุ การกีดกันให้ออกจากกลุ่ม ทำให้รู้สึกแปลกประหลาดและสูญเสียความมั่นใจ

3. ทางวาจา (Verbal) เช่น การล้อเลียน ตั้งฉายา การเหยียดหยาม ดูถูก การด่าทอ การนินทา รวมถึงใส่ร้ายป้ายสีให้เสียชื่อเสียง

4. ทางไซเบอร์ (Cyberbullying) เป็นการบูลลี่ที่ทำกันมาในปัจจุบัน โดยบูลลี่กันผ่านโลกออนไลน์ เช่น การเผยแพร่ข่าวลือ การโพสต์ข้อความโจมตี การหลอกลวง การส่งข้อความคุกคาม ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ทำให้รู้สึกอับอายและรู้สึกเจ็บปวด

โดยการบูลลี่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง คนเราสามารถถูกบูลลี่ได้จากรูปร่างหน้าตา สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา ฐานะ การศึกษา รสนิยม เพศ ฯลฯ จึงยากที่จะนิยามว่าแบบใดนับเป็นการบูลลี่

แล้วเราเป็นใครในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ?

คนที่ทำ (Bullies) เราอาจเริ่มรังแกคนอื่นเพื่อให้ได้รับการยอมรับหรือสถานะบางอย่างในสังคม เมื่อการบูลลี่ได้รับความสนใจและมีคนอื่นเข้าร่วม คนที่ทำจะยิ่งรู้สึกเหมือนได้รับการสนับสนุนให้ทำต่อไป

คนที่ถูกบูลลี่ (Targets/Victims) เป้าหมายมักจะเป็นคนที่ขาดความมั่นใจ เพื่อนน้อยหรือมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างจากคนอื่น

คนที่เห็นเหตุการณ์ (Bystanders) นับว่าเป็นคนที่สำคัญที่สุดในเหตุการณ์นี้เพราะเป็นตัวกำหนดว่าการบูลลี่จะหยุดลงหรือรุนแรงขึ้น

หาก Bystanders ไม่เข้ามามีส่วนร่วมหรือยืนดูอยู่ห่างๆ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะได้ไม่เก่ียวข้องกับเรื่องนี้ เพราะการเมินเฉยต่อความรุนแรงก็ไม่ต่างจาก “พลังเงียบ” ซึ่งสามารถสนับสนุนการบูลลี่ได้เช่นกัน

สำคัญที่สุด ถ้าเราพบเห็นหรือรับรู้ว่ามีการบูลลี่เกิดขึ้น เราจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือหรือหยุดยั้งวงจรเลวร้ายไหม หรือเราจะปล่อยให้มันเป็นไปเพียงเพราะวันนี้เราไม่ใช่คนที่ถูก “บูลลี่”

อูก้าเป็นกำลังใจให้ทุกคนเคยผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับการบูลลี่และหวังว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข หากใครรู้สึกเป็นกังวล เครียดหรือได้รับผลกระทบจากการบูลลี่ ลองทักมาปรึกษานักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของอูก้าได้เลยนะคะ

อ้างอิงจาก

https://www.bullyingfree.nz/about-bullying/who-is-involved/

https://www.amnesty.or.th/latest/blog/733/

Read More
ล่าแม่มดคืออะไร

OOCAknowledge : เรา “ล่าแม่มด” กันไปทำไม

“ฉันคือคนถูก และ เธอคือคนผิด” ความคิดลักษณะนี้เกิดจากการเอาบรรทัดฐานของตัวเองไปตัดสินคนอื่น เราจะวัดได้อย่างไรว่าใครดีกว่าใคร ความรู้สึกที่อยู่ข้างในสามารถวัดได้จริงๆ หรือไม่? การที่เราแสดงออกทางความคิดและการกระทำในแบบที่ต่างออกไป ไม่สมควรถูกตำหนิหรือล่าแม่มดเลย

“การล่าแม่มด” เกิดขึ้นในยุโรป เพื่อกำจัดคนที่คิดต่าง มีพฤติกรรมต่อต้าน มีอิทธิพลทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องศาสนา ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ต่อมาการล่าแม่มดเริ่มลามไปถึงเรื่องผลประโยชน์ เศรษฐกิจและการเมือง เช่น หากเราขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน เราอาจรวมตัวคนที่คิดเหมือนเราแล้วใส่ร้ายว่าอีกฝ่ายเป็นแม่มดแล้วหาทางกำจัดออกไปโดยการทำร้ายร่างกายหรือเผาทั้งเป็น

เมื่อคนที่คิดเหมือนกันมาอยู่รวมกันก็พยายามที่จะสร้างบรรทัดฐานของกลุ่มขึ้นมา ใครที่ไม่เข้าพวกจะต้องถูก “ล่าแม่มด” และถ้าเราไม่อยากถูกล่าให้เริ่มล่าคนอื่นก่อน โดยการแสดงตัวว่า “ฉันนี่แหละถูก คนส่วนใหญ่ก็คิดเหมือนฉัน” จริงๆ มันอาจเริ่มมาจากอคติในใจเรา เช่น ลึกๆ เราไม่ชอบดาราคนนั้นเลยแต่เขาดังมาก คนเป็นคนธรรมดาที่ไม่สามารถทำอะไรเขาได้ แต่เมื่อเขาอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบ เราจึงใช้โอกาสนี้ไล่แม่มดออกไปโดยมีอีกหลายๆ คนที่เห็นด้วยกับเรา ดังนั้นไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำ

โดยเฉพาะตอนนี้ที่เรามีสื่ออยู่ในมือกันแทบทุกคน การกดไลค์ กดแชร์หรือคอมเมนต์ด้วยอารมณ์ บางครั้งเราไม่รู้ตัวหรอกว่ากำลังเสพติดความรู้สึกอิ่มใจหลังจากล่าแม่มดสำเร็จ แล้วเผลอคิดไปว่าตัวเองทำสิ่งที่ดีมากๆ ในการออกมาพูดหรือสร้างกระแสบางอย่างให้ไวรัล แต่ไม่รู้เลยว่าคนที่ถูกล่า “เขาทำผิดจริงๆ หรือเปล่า?”

“การล่าแม่มด” รุนแรงขึ้นทุกวัน ทำไมเรายังขาดความตระหนัก ?

1. ความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาและระดับความเห็นอกเห็นใจที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน จึงตีความได้ยากว่าการกระทำแบบไหนนับว่าเป็นการล่าแม่มด ไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจนว่าปัญหาต้องรุนแรงขนาดไหน ยกตัวอย่างเคสของ Mallory Grossman นักเรียนชั้นป.6 ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ที่ฆ่าตัวตายเพราะ Cyber-Bullying แม่ของเธอได้พูดคุยกับพ่อแม่ของนักเรียนที่บูลลี่ Mallory เพื่อบอกให้รู้ถึงปัญหา แต่พวกเขาคิดว่ามันเป็นแค่เรื่องหยอกล้อกันและไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้น Mallory ต้องเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จากการถูกบูลลี่และยังได้รับข้อความหยาบคายจากเพื่อนร่วมชั้นนานกว่าครึ่งปีก่อนจะตัดสินใจฆ่าตัวตาย ซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่าทุกคนไม่ยื่นมือเข้าไปพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่และไม่ใช่ปัญหาของตัวเอง

2. เรากำลังแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คนในสังคมพยายามลดความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่และพยายามจะช่วยให้คนที่ถูกแกล้งเอาชนะปัญหาเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้ แต่ทำไมถึงไม่เริ่มที่การป้องกันปัญหาตั้งแต่แรก เราควรให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ (Bystander) ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากๆ เพราะพวกเขาสามารถช่วยเหลือเหยื่อหรือเลือกสนับสนุนผู้ล่าด้วยมือที่มองไม่เห็น (invisible hand) การที่ไม่ทำอะไรเลยไม่ได้หมายความว่า Bystander จะไม่เกี่ยวข้องกับการบูลลี่เพราะสิ่งนี้อาจทำให้เกิดบาดแผลในใจของเหยื่อ

3. ประเทศไทยยังไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมายโดยเฉพาะในเรื่องของ Cyber-Bullying เป็นการยากที่จะลงโทษคนที่ทำผิดหรือปกป้องเหยื่อ กฎหมายหมิ่นประมาทและพรบ.คอมพิวเตอร์สามารถปรับใช้ได้แค่ในบางกรณี ทำให้ยังเกิดปัญหาการลักพาตัว ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจจากการล่าแม่มดและมีคนจำนวนมากซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังจากคีย์บอร์ดเพื่อทำร้ายคนอื่น

“everything goes online, always online” แม้เราอยากจะลบหรือลืมมัน แต่สิ่งที่เคยอยู่ในโลกออนไลน์จะยังคงอยู่เสมอ ในประเทศไทยมีผู้คนจำนวนมากถูกล่าแม่มดแล้วลงเอยด้วยอาการเจ็บป่วยทางใจ ในทางกลับกันเราไม่ได้ตระหนักมากพออย่างที่ควรจะเป็น

จากนี้เราควรใส่ใจกับปัญหานี้มากขึ้นหรือไม่? ไม่ว่าเราจะเป็นคนถูกล่าแม่มด เป็น Bystander หรือยืนอยู่ในจุดใดก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องไม่เป็นคนที่ทำความผิดหรือผลักใครเข้าไปในมุมมืด เราอยากให้ทุกคนพยายามยืนหยัดในความถูกต้อง ไม่เพิกเฉยต่อปัญหาการบูลลี่และช่วย raise awareness เพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมเหล่านี้

อูก้าเป็นกำลังใจให้ทุกคนเคยผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับการบูลลี่และหวังว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข หากใครรู้สึกเป็นกังวล เครียดหรือได้รับผลกระทบจากการบูลลี่ ลองทักมาปรึกษานักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของอูก้าได้เลยนะคะ

อ้างอิงจาก

https://themomentum.co/momentum-feature-witch-hunt-anusorn-tipayanon/

https://potterstoryweb.com/162/การล่าแม่มด-ยุคกลาง

https://www.nbcnews.com/storyline/harvey-weinstein-scandal/weinstein-company-investigated-possible-civil-rights-violations-n813356

Read More
ทำไมคนรอบข้างไม่เข้าใจเรา

OOCAstory ทำไมเราถึงไม่อ่อนโยน กับเขาให้มากกว่านี้

“ฉันเริ่มคิดเกี่ยวกับสิ่งที่คนอื่นมองฉันแล้วก็เริ่มกลัว ฉันสู้ด้วยตัวเอง ขนาดฉันบอกออกไปว่ากำลังต่อสู้ดิ้นรนอยู่ แต่กลับไม่มีใครฟังเลย ฉันยื่นมือออกมาขอความช่วยเหลือแล้ว แต่ไม่มีใคร…สักคนที่จะมาช่วยฉัน นั่นคือตอนที่ข้างในฉันแตกเป็นเสี่ยงๆ” บทสัมภาษณ์ของซอลลี่ที่เล่าถึงความเจ็ปปวดจากการถูกบูลลี่มาเป็นระยะเวลาหลายปี

พูดถึง “การฆ่าตัวตาย” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาประเทศเกาหลีใต้สูญเสียคนในวงการไปหลายคน สำหรับคนที่เติบโตมาพร้อมกับกระแส kpop ฟีเวอร์ต้องรู้จักจงฮยอน วง SHINee , คูฮารา วง KARA และซอลลี่ เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีคนอื่นๆ อีก เช่น โซจิน ศิลปินฝึกหัดของ DSP Entertainment นักแสดงตลกพัคจีซอน

ท่ามกลาง spotlight ที่สวยงาม พวกเขาถูกประเมินคุณค่าแทบจะตลอดเวลา ทั้งเรื่องหน้าตา ความสามารถ นิสัย การแสดงออก เรียกได้ว่ามีคนจับตามองทุกฝีก้าว ต่อให้มีแฟนคลับมากมาย แต่หากทำผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย คุณก็อาจจะถูกตำหนิจากชาวเน็ตเกาหลี (เรียกว่า เนติเซน) หรือ “แอนตี้แฟน” ได้ เมื่อไรก็ตามที่กระแสตกลง ค่ายจะกดดันศิลปินอย่างมากและคุณอาจถูกลอยแพได้ง่ายๆ

เมื่อความเจ็บปวดรุมเร้าอาการป่วยทางใจจึงเกิดขึ้น เช่น โรคซึมเศร้า โรคตื่นตระหนก โรควิตกกังวล โรคบูลิเมีย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันที่คนดังจำนวนมากที่ออกมาเปิดเผยถึงสุขภาพใจของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น IU , ซูจี , แทยอน SNSD , ฮยอนอา , G-dragon Bigbang , มินะ TWICE , คังแดเนียล และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้ามองภายนอกพวกเราไม่มีทางรู้เลยว่าพวกเขาทุกข์ทรมาณขนาดไหน เพราะพวกเขาต่างยิ้มแย้มและทำงานอย่างต่อเนื่อง

Cyber-bullying ที่เกาหลีน่ากลัวขนาดไหน

เนติเซนส่วนหนึ่งเชื่อว่าการจะเป็นคนดังต้องทนรับกับความคิดเห็นได้ทุกแบบ “คุณจะดังได้ยังไง ถ้ามีจิตใจที่อ่อนแอขนาดนั้น คุณต้องแสดงต่อหน้าผู้คนตั้งมากมาย”

ทำไมเราถึงต้องทดสอบความแข็งแรงของจิตใจคนอื่นด้วยล่ะ จำเป็นด้วยหรือที่จะต้องพูดจาร้ายๆ กับใครสักคนเพียงเพราะเราคิดว่าอีกฝ่ายควรได้รับมัน “เวลาที่ได้รับข้อความ ฉันไม่รู้อารมณ์ของพวกคุณมันเลยน่ากลัว ถ้าอ่อนโยนกับฉันอีกสักหน่อยก็คงดีนะ” นี่คือสิ่งที่ซอลลี่เคยพูดขณะไลฟ์คุยกับแฟนๆ

และเมื่อทราบข่าวการจากไปของคนดังเนติเซนได้ออกมาพูดว่า “ผมไม่คิดว่าเธอจะมีช่วงเวลาที่แย่จากคอมเมนต์คุกคามทางเพศ ผมคิดว่าคนดังต้องเข้าใจว่าไม่ได้จะมีแต่คนรักและชื่นชม พวกเขาต้องทนต่อคอมเมนต์แย่ๆ ให้ได้เหมือนกัน เพราะพวกเขาก็ได้สิ่งแลกเปลี่ยนเป็นชีวิตดีๆ ไม่ใช่เหรอ พวกเขามีเสื้อผ้าดีๆ ใส่ มีรถแพงๆ ขับ แล้วก็มีทุกอย่างที่ดูดี” เรียกได้ว่าคนทั่วไปยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการถูกบูลลี่

การถูกบูลลี่เป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความเจ็บปวดให้คนดังมากมาย นอกจากนี้พวกเขายังเติบโตมาในสังคมและระบบฝึกหัดที่เข้มงวด การแบกความฝันและความคาดหวังตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้พวกเขาสะสมความเครียดเอาไว้ กว่าจะเป็นคนดังที่ประสบความสำเร็จ ข้างใจก็ถูกทำลายจนเปราะบางเสียแล้ว

หลังจากต่อสู้มาอย่างยาวนาน พวกเขาได้เลือกที่จะไปอยู่ในที่ที่สงบกว่าเดิม คงโทษพวกเขาไม่ได้ที่ตัดสินใจแบบนั้น ซอลลี่อธิบายถึงความสับสนในใจที่เธอเฝ้าถามตัวเอง “ฉันเป็นใครกัน แล้วฉันทำอะไรผิดนะ ‘อยากจบทุกอย่าง’ นั่นเป็นสิ่งที่เข้ามาให้หัวบ่อยมาก” มันคงจะดีถ้าก่อนหน้านี้หัวใจที่บอบช้ำของพวกเขาได้รับการเยียวยา “ได้โปรดเอ็นดูฉันด้วย ช่วยอ่อนโยนกับฉันหน่อยนะคะทุกคน”

แม้จะยากแต่เชื่อเถอะว่าเราจะอยู่ได้ด้วความเข้าใจ ชูก้าวง BTS เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมวิตกกังวลและอยู่อย่างโดดเดี่ยวตลอดมา และการที่คุณเลือกจะเป็นเพื่อนกับมัน ก็ต้องการทั้งชีวิตในการทำความเข้าใจ”

อย่าลืมว่าเรื่องของ “ชีวิต” ไม่ใช่สิ่งที่จะวิพากษ์วิจารณ์กันเพื่อความสนุก

ขอมอบบทความนี้ให้ดาวทุกดวงที่ลอยกลับขึ้นไปอยู่บนฟ้าและหวังว่าโลกใบนี้จะอ่อนโยนมากกว่าเดิม

เพราะเราอยากทุกคนรู้สึกสบายใจ หากคุณได้รับความเจ็บปวดจากการถูกบูลลี่หรือมีปัญหาที่อยากเล่าให้เราฟัง อูก้ายินดีเคียงข้างคุณเสมอ สามารถปรึกษาพี่ๆ นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของเราได้ทั้งทางแอปพลิเคชันและเว็บไซต์เลยนะคะ

Read More
Iron girl นักกีฬาโดนบูลลี่

OOCAstory ด้านมืดของระบบที่กดทับ และจบชีวิต Iron Girl

“ถามจริงเถอะ รูปร่างแบบนี้เธอแปลงเพศมาหรือไง” หรือ “เธอเป็นกระเทยหรือเปล่า” ถ้อยคำดูถูกเหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งต้องเจอแทบทุกวัน ในสภาพสังคมที่ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) และเคร่งครัดเรื่องระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง (Seniorism) อย่างประเทศเกาหลีใต้ ด้วยความฝันที่จะคว้าเหรียญทอง นักกีฬาต้องเผชิญความเครียดจากการฝึกซ้อมและการถูกบูลลี่อย่างรุนแรง มันคุ้มค่าหรือไม่กับความสำเร็จที่ได้มา

.

ชเวซุกฮยอนว่าที่นักกีฬาโอลิมปิกวัย 22 ปีตัดสินใจฆ่าตัวตายหลังจากถูกบูลลี่มานานกว่า 4 ปี ตอน 11 ขวบ เธอลงแข่งไตรกีฬาเยาวชนแห่งชาติและคว้าเหรียญทองมาได้จนได้ฉายาว่า “Iron Girl” เธอเล่าว่า ตัวเองฝันไว้ว่าอยากลงแข่งไตรกีฬาชิงแชมป์โลกและดูแลครอบครัวที่มีฐานะยากจนให้สุขสบาย

.

หากอยากติดทีมชาตินักกีฬาต้องเข้าไปอยู่ในสังกัดของสโมสรใหญ่ๆ ที่มีอุปกรณ์ ตารางซ้อมและเงินทุนที่พร้อม ซุกฮยอนจึงเข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของกวางจู ซิตี้ฮอลล์ ที่มีนักไตรกีฬาหญิงเจ้าของเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2010 อย่างจางยุนยองอยู่ด้วย

.

ซุกฮยอนที่เป็นความหวังใหม่ในวัย 19 ปีกับตัวเต็งวัย 28 ปีที่พยายามรักษาตำแหน่งอย่างยุนยอง ท่ามกลางคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นทุกวันแต่ทางเลือกกลับน้อยลง ยิ่งในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ การสร้างชื่อเสียงให้ประเทศก็เหมือนมีใบเบิกทางดีๆ นี่เอง แน่นอนว่ารุ่นพี่ใช้วิธีกดซุกฮยอนเอาไว้ด้วย “การบูลลี่” อย่างรุนแรงทั้งทางร่างกายและคำพูด บางครั้งก็ตบหัว ต่อย ผลัก เรียกคนอื่นให้มาร่วมวงด้วยและทุกคนก็ดูสนุกกับทำแบบนี้

.

สุดท้ายซุกฮยอนเลือกที่จะบอกโค้ช คาดไม่ถึงว่าสิ่งที่โค้ชทำคือเรียกทั้งสองคนมาแล้วให้ซุกฮยอนคุกเข่าขอโทษรุ่นพี่ หลังจากนั้นโค้ชก็บูลลี่เธอด้วย ทั้งตบตี ด่าทอ บังคับให้เธอกินอาหารจนอาเจียน ซุกฮยอนรู้สึกโดดเดี่ยวมาก แม้จะมีคนเห็นใจเธออยู่บ้างแต่ไม่มีใครกล้าพอจะยื่นมือมาช่วยเธอเลย

.

จิตใจที่บอบช้ำทำให้ฟอร์มตกอย่างน่าใจหาย ซึ่งเป็นช่วงที่ยุนยองกวาดเหรียญแทบทุกรายการทั้งในและนอกประเทศ จนขึ้นเป็นเบอร์ต้นๆ ของสโมสรเลยทีเดียว หลังจากพักไป 1 ปี ซุกฮยอนรวบรวมความกล้าเพื่อกลับมาแต่วัฒนธรรมการซ้อมที่เข้มงวดแต่ไหนแต่ไร นักกีฬามีหน้าที่ทำตามคำสั่งของโค้ชและระบบรุ่นพี่รุ่นน้องที่เข้มงวดมาก ทำให้เธอติดอยู่ในวังวนเดิมๆ

.

ไม่ใช่แค่ยุนยองและโค้ช แต่รอบนี้ยังมีแพทย์ประจำทีมอย่างอันจูยุน และนักกีฬาชายคิมโดฮวานที่บูลลี่เธอด้วย นอกจากร่างกายที่โดนเตะตีสารพัด โค้ชและหมอยังบอกว่า ซุกฮยอนเป็นโรคทางจิตและชอบทำตัวมีปัญหา เมื่อเสียกำลังกายและใจในการฝึกซ้อม เธอค่อยๆ ห่างไกลจากการติดทีมชาติ ซุกฮยอนตัดสินใจส่งเรื่องไปแจ้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมไตรกีฬาของเกาหลีใต้ สถานีตำรวจกวางจู เพื่อที่จะหยุดความรุนแรงทั้งหมดนี้ แต่เรื่องกลับเงียบหายไป ซ้ำตำรวจยังบอกว่าเธอไม่มีความอดทนมากพอ การซ้อมกีฬาก็เหนื่อยแบบนี้แหละ

.

ซุกฮยอนเริ่มรวบรวมหลักฐาน ทั้งภาพ คลิปที่เธอโดนทำร้ายสารพัด เธอบันทึกลงไดอารี่ว่า “ฉันอยากตาย จะโดนรถชน โดนโจรเอามีดแทงหรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น ฉันไม่อยากอยู่ในโลกนี้แล้ว” เรื่องราวเลวร้ายลงจนวันหนึ่ง โค้ชเรียกแม่ของเธอมาและบังคับให้แม่ตบหน้าลูกตัวเอง โค้ชขู่ว่าจะไล่ออกจากสโมสรถ้าแม่ไม่ทำ จนซุกฮยอนต้องบอกให้แม่ตบเธอ สุดท้ายสองแม่ลูกได้แต่กอดกันร้องไห้

.

ในที่สุดซุกฮยอนตัดสินใจลาออกจากกวางจู ซิตี้ฮอลล์ แต่ด้วยทัศนคติที่คนเกาหลีเชื่อว่านักกีฬาต้องอดทน ทำให้เธอหมดหวังที่จะติดทีมชาติ มองย้อนกลับไปเธอเคยเป็นดาวรุ่งในวงการกีฬา มีทั้งความฝันและความหวัง รวมถึงอยู่ในช่วงวัยที่กำลังเปล่งประกายที่สุด แต่ความกลัวทำให้เธอไม่มีแรงจะพัฒนาตัวเองอีกแล้ว

สายตาที่ทุกคนตัดสินเธอ ทำให้ซุกฮยอนสับสนว่าการบูลลี่นั้นเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอหรือ ?

.

การจากไปของซุกฮยอนทำให้เรื่องราวถูกเปิดเผย แต่โค้ชก็ไม่ได้รู้สึกผิดและยังส่งข้อความไปย้ำกับคนในสโมสรว่า “ซุกฮยอนไม่สามารถเอาชนะปัญหาได้เอง อย่าบอกคนนอกเด็ดขาดว่ามันเกิดอะไรขึ้นในทีม” ด้วยความระแวงว่าตัวเองอาจเป็นเหยี่อเช่นเดียวกับซุกฮยอน คนในทีมจึงเริ่มออกมาพูดเรื่องนี้ จนสังคมเริ่มถกเถียงกันในวงกว้าง

.

ประธานาธิบดีมุนแจอินได้ออกมาพูดถึงประเด็นนี้ว่า ความรุนแรงและฝึกซ้อมอย่างโหดร้ายต้องไม่เกิดขึ้นอีก มันน่าเศร้าที่ทุกคนรับรู้แต่ปล่อยผ่าน หน่วยงานรัฐก็ไม่ทำอะไรเลยทั้งที่มีเรื่องร้องเรียนมานานแล้ว มุนแจอินสั่งให้สืบสวนทันที ซึ่งหลักฐานที่ซุกฮยอนรวบรวมไว้นั้นชัดเจนทุกอย่าง ทำให้โค้ชและยุนยองถูกคณะกรรมการโอลิมปิกเกาหลีใต้และสมาคมไตรกีฬาแห่งชาติ สั่งแบนตลอดชีวิต คนอื่นๆ ถูกตัดสินโทษไปตามสมควร ที่น่าตกใจกว่านั้นคืออันจูยุนเป็นแพทย์ปลอมที่ไม่มีใบประกอบด้วยซ้ำ

.

การฝึกซ้อมด้วยวิธีล้าหลังแบบนี้ยังคงมีอยู่เพราะที่ผ่านมาผลงานเป็นที่น่าพอใจและจับต้องได้ เหมือนเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ผิดๆ ความเครียดและการแข่งขันที่สูงขึ้นทุกวันเหมือนผลักให้คนเข้าใกล้ปากเหวขึ้นทุกที แน่นอนว่าทุกคนอยากดี อยากเก่ง อยากเป็นที่จดจำ แต่บางคนกลับโดดเดี่ยวและรู้สึกว่าไม่เป็นที่ต้องการของใครเลย

.

การสูญเสียแต่ละครั้งมักมีเรื่องราวซ่อนอยู่ คนที่เจ็บป่วยทางใจมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อโดยเฉพาะวัยรุ่นที่เป็นความหวังของประเทศ หลายๆ คนอยากมีชีวิตหรือเติบโตไปเป็นคนดังในเกาหลีใต้ แต่ใครจะรู้ว่าภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้น ทิ้งเบื้องหลังที่แสนเจ็บปวดไว้มากมายขนาดไหน

.

แล้วตัวเราเป็นใครในเรื่องนี้ เป็นคนลงมือ เป็นคนต่อต้าน เป็นคนซ้ำเติมผู้ที่ถูกกระทำ หรือเป็นคนที่ชี้นิ้วหาคนผิด หรือเราเป็นแค่ bystanders ที่รับรู้ แต่ไม่ลงมือทำอะไรเลย เรื่องราวอาจไม่บานปลายขนานี้ หากมีใครสักคนช่วยรับฟังและปกป้องเธอ

.

เรามาทำความเข้าใจกับปัญหาการบูลลี่ให้มากขึ้นเถอะนะ อูก้าอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าของตัวเองและกล้าที่จะขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ คุณสามารถพูดคุยนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ของอูก้าได้เสมอนะคะ เรื่องของใจให้เรารับฟัง

อ้างอิงจาก

https://www.facebook.com/jingjungfootball/photos/a.1763433500538559/2566322330249668/

Read More
ไซเบอร์บูลลี่ คืออะไร

OOCAknowledge: อีกกี่ชีวิตที่ต้องเสียไปเพราะ Cyber-bullying

เรื่องของ Amanda Todd วัย 15 ปี จากบริติชโคลัมเบียที่ตัดสินใจหนีจากหลุมดำในชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายหลังจากที่ทิ้งเรื่องราวของเธอไว้บน youtube

ชายคนหนึ่งเข้ามาทำความรู้จัก Amanda ทางออนไลน์เมื่อไม่กี่ปีก่อน จากนั้นเขาได้ขอให้เธอถ่ายรูปวาบหวิว ด้วยความที่ยังเด็ก เธอเชื่อใจและส่งรูปเขาอย่างง่ายดาย ทั้งคู่ได้ติดต่อกันทางอินเทอร์เน็ตเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปีจน Amanda เริ่มรู้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นอันตรายและเขาเป็นเพียงคนแปลกหน้า เธอจึงพยายามถอยห่างจากเขา แต่ดูเหมือนจะสายเกินไปเพราะเขาได้ติดต่อเพื่อนร่วมชั้นของ Amanda ใน Facebook แล้วส่งรูปถ่ายให้เพื่อน ๆ 

เพื่อหลีกหนีจากความเจ็บปวดและจัดการกับความวิตกกังวลของเธอ Amanda หันไปพึ่งยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อนร่วมชั้นของเธอก็บูลลี่และร่วมกันบอยคอตต์ นำไปสู่การพยายามฆ่าตัวตายสองสามครั้งก่อนที่เธอจะจากโลกนี้ไปตลอดกาล

เราสามารถเรียกกรณีนี้ว่า “Cyber-bullying” ได้หรือไม่

ผลการวิจัยจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่ทำการสำรวจเด็กวัยรุ่นใน 14 ประเทศทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าเด็กไทยเกิน 80% เคยถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต โดย 66% ถูกรังแกสัปดาห์ละครั้งและ 12% โดนมากกว่าสัปดาห์ละครั้ง น่าแปลกใจที่ 45% ของนักเรียนไทยเคยถูกกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งสูงกว่าจำนวนที่รายงานในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นถึง 4 เท่า การอ้างถึงสถิติยังคงสูงมาก สวนทางกับการอภิปรายหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าที่ควร อย่างไรก็ตามเหตุใดคนไทยจึงไม่ตระหนักว่าควรระวังเรื่อง Cyber-bullying

Cyber-bullying คืออะไร?

Cyber-bullying หมายถึงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตเพื่อกลั่นแกล้งคนอื่น ซึ่งรวมทั้งการปล่อยข่าวลือ โพสต์หลอกลวง ใช้คำหยาบคายหรืออัปโหลดข้อความและวิดีโอโดยไม่ได้รับอนุญาต ในโลกออนไลน์ที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน Cyber-bullying จึงกลายเป็นการกลั่นแกล้งประเภทหนึ่งที่แพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบันและเกิดขึ้นกับคนทั่วโลก

Cyber-bullying มีผลต่อเราอย่างไร?

Cyber-bullying เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความนับถือตนเองลดลงและมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กวัยรุ่น Cyber-bullying อาจเป็นสาเหตุหลักของพฤติกรรมต่อต้านสังคมและสร้างความยากลำบากในการสร้าง relationship ที่น่าตกใจกว่านั้น Cyber-bullying อาจเป็นสาเหตุของการคุกคามทางเพศ

เราจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันตัวเองจาก Cyber Bullying?

– ระวังการกระทำในโลกดิจิทัลเช่นเดียวกับที่เราทำในโลกแห่งความเป็นจริง
– กำหนดระยะเวลาในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต คอยสังเกตตัวเองไม่ให้อินกับมันมากเกินไป
– เก็บข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นส่วนตัวและกรองข้อมูลก่อนโพสต์และแชร์
– รู้ว่าถ้าถูกรังแกจะ report อย่างไร สามารถพูดคุยขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้าง

หากคุณกำลังเผชิญกับ Cyber Bullying อยู่ แล้วไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร ให้อูก้าคอยอยู่เคียงข้างคุณ สามารถทักมาพูดคุยกับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของเราได้ตลอด เรื่องของใจให้เราช่วยรับฟังนะคะ

อ้างอิงจาก

https://www.nbcnews.com/storyline/harvey-weinstein-scandal/weinstein-company-investigated-possible-civil-rights-violations-n813356

https://www.newyorker.com/culture/culture-desk/the-story-of-amanda-todd

https://brandinside.asia/stop-bullying-thailand-top5/

(สามารถรับชมวิดีโอต้นฉบับได้ที่นี่ ****https://www.youtube.com/watch?v=vOHXGNx-E7E&bpctr=1597307886)

Read More
cover สอนลูก

สอนลูกยังไง ให้ไม่บูลลี่คนอื่น

#จะดูแลลูกไม่ให้บูลลี่ผู้อื่นได้อย่างไร
.
โดยสัญชาตญาณ​แล้วพ่อแม่มักจะปกป้องลูกของตนเองเสมอ จึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินคำพูดทำนองที่ว่า “ลูกฉันเป็นเด็กดี” หรือ​ “ลูกฉันไม่ทำอะไรแบบนั้นแน่” ซึ่งในหลายครั้งพ่อแม่อาจไม่เคยรู้ว่าพฤติกรรมของลูกตอนอยู่ที่โรงเรียนนั้นต่างจากตอนที่อยู่บ้านมากแค่ไหน ซึ่งการให้ท้ายปกป้องทั้งที่ผิด หรือการเข้าข้างจนเกินพอดี สามารถส่งผลให้ลูกมีนิสัยไม่ดีติดตัว และเติบโตไปเป็นคนที่ก่อปัญหาของสังคมได้ในอนาคต

Read More