พ่อ แม่ ไม่เชื่อว่าเป็นซึมเศร้า

OOCAstory เมื่อพ่อแม่ไม่ยอมรับว่า “ฉันป่วย”

ครั้งล่าสุดพูดกับพ่อแม่เรื่องปัญหาสุขภาพจิตเขาตอบว่ายังไงกันบ้าง?

“คิดไปเองหรือเปล่า?”

“ต้องไปหาหมอเลยเหรอ? ไปหาหมอแล้วประวัติมันติดตัวนะ”

บางคนเลือกหูทวนลมแล้วเปลี่ยนเรื่อง

บางคนก็ร้องไห้ราวกับว่าโลกทั้งใบของเขาแตกสลายไป

เจอคำตอบแบบนี้เข้าไป เป็นใครก็ไม่กล้าไปพูดเรื่องสุขภาพจิตให้คนในบ้านได้ยิน

เมื่อได้ยินอะไรแบบนี้มันเหมือนผลักให้เราโดดเดี่ยวในการต่อสู้กับโรคทางสุขภาพจิตเลยจริงไหม? เราทุกคนต่างคาดหวังให้บ้านเป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกสบายใจที่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ครอบครัวฟังได้ แต่ตอนนี้เรากลับรู้สึกไม่อยากพูดเรื่องที่ส่งผลต่อชีวิตเรามากที่สุดหนึ่งเรื่องให้ใครฟังเลย

เราตั้งคำถามบ่อย ๆ ว่าทำไมผู้ใหญ่มองว่ามันเป็นเรื่องน่าอายขนาดนั้นเวลาพูดว่าเราต้องไปหาจิตแพทย์ คำตอบที่เรานึกได้ก็น่าจะเป็นธรรมชาติของการเรียนรู้เรื่องปัญหาสุขภาพจิตในสมัยของเขายังไม่มีการทำความเข้าใจว่ามันเป็นโรคที่หายได้ผ่านการใช้ยาและการพบแพทย์ ในขณะที่ในสายตาของคนรุ่นเรามองว่าโรคทางสุขภาพจิตไม่ได้ใหญ่โตไปกว่าการเป็นหวัดแล้วเข้าไปโรงพยาบาลมากเท่าไรเลย ซึ่งความเข้าใจที่แตกต่างกันนี้คือ Mental Illness Literacy ที่แตกต่างกัน โดยความต่างกันนี้เกิดจากสิ่งที่ถูกปลูกฝังตั้งแต่ตอนเด็กและจากการศึกษา

แล้วจะทำยังไงดีถ้าพ่อกับแม่ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับเรื่องนี้? ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนก็คือการคุยกันนั่นแหละเพียงแต่การคุยนั้นอาจต้องมีกลวิธีมากกว่าการเดินเข้าไปคุยเฉย ๆ

อย่างแรกคือเรื่อง คุยเมื่อไร เรื่องการคุยกับพ่อแม่แล้วเกิดความเห็นที่ไม่ตรงกันนั้นมีอยู่สองสามอย่างที่เราต้องทำ คือเราต้องปล่อยให้เวลาผ่านไปสักพัก การพยายามเคลียร์กันเลยเมื่อทั้งสองฝั่งมีความไม่เห็นด้วยกันทั้งคู่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเพราะตอนนี้สิ่งที่เป็นตัวนำบทสนทนาจะเป็นความรู้สึก การทิ้งเวลาผ่านสักพักคือการปล่อยให้พ่อแม่เก็บข้อมูลใหม่ที่เราเพิ่งให้ไปคิดทบทวน และเราก็เก็บคำพูดของเขาเพื่อมาทำความเข้าใจกับเขาเพื่อคิดว่าเมื่อเรากลับไปคุยกับเขาเราต้องอธิบายในแง่มุมไหนถึงดีที่สุด

แล้วจะคุยยังไงดี? หลังจากทั้งสองฝั่งใจเย็นลงแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือเราต้องคิดว่าจะเริ่มคุยเรื่องนี้อีกครั้งยังไงไม่ให้ซ้ำรอยเดิม เราคิดวิธีที่สร้างสรรค์ ๆ มาอย่าง เช่น เริ่มบทสนทนาจากการเขียนโน๊ตถึงกันถ้าไม่กล้าพูดตรง ๆ วิธีนี้อาจเป็นวิธีที่ดีสำหรับคนที่มีเสียงดุหรือหน้าดุเพื่อเริ่มบทสนทนาให้นุ่มนวลมากขึ้น หรือบทสนทนาอาจเกิดขึ้นได้จากการเปิดหนังที่มีเรื่องสุขภาพจิตดูด้วยกันเพื่อเริ่มบทสนทนาก็เป็นความคิดที่ไม่เลวเลย โดยเฉพาะหนังที่ตัวเอกมีปัญหาสุขภาพจิต เพราะตัวหนังมักมีการสร้างให้เราเข้าใจตัวละครแต่แรก และเมื่อพ่อแม่เข้าใจตัวละคร เมื่อเราคุยกับเขาเขาก็จะเข้าใจเราได้ง่ายขึ้น

ในประสบการณ์ตรงของเรา ครั้งหนึ่งหลังจากไม่ได้คุยกันเรื่องสุขภาพจิตนาน แม่เราเข้ามาหาเราด้วยเรื่องนี้เอง แต่ด้วยท่าทีที่นิ่งและไม่ตกใจเท่าคราวที่แล้ว หลังจากนั้นเขาจึงถามด้วยน้ำเสียงที่อยากจะเข้าใจว่าสิ่งที่เรากำลังผ่านอยู่นั้นเป็นยังไงและเขาทำอะไรได้บ้าง แม้ว่าในคำพูดอาจมีความเข้าใจผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ด้วยการค่อย ๆ อธิบายให้กันและกันฟัง เพราะเหมือนกับที่ค่านิยมของยุคก่อนบดบังความเข้าใจเขาต่อสุขภาพจิต ความผิดหวังของเราก็บังเราไม่ให้เห็นความเป็นห่วงของเขาด้วยเช่นกัน

ฉะนั้นสำหรับพ่อแม่ที่กำลังพยายามเข้าใจลูก ๆ ในเรื่องสุขภาพจิต เราอยากบอกว่าแม้ว่าการทำความเข้าใจคนที่เกิดกันคนละยุคสมัยในเรื่องที่ไม่คุ้นเคยอาจเป็นเรื่องยาก แต่เราเชื่อว่าหากทั้งสองฝั่งค่อย ๆ ฟังและทำความเข้าใจการเข้าใจกันนั้นอยู่ไม่ห่างไกลเลย ส่วนลูก ๆ เองก็ต้องไม่ลืมที่จะให้เวลาพ่อแม่ที่จะทำความเข้าใจเรื่องที่ใหม่มาก ๆ สำหรับพวกเขาด้วย และถ้ายังไม่รู้ว่าเริ่มปรับตัวเข้าหากันยังไงอูก้าจะอยู่ตรงนี้คอยเป็นคนให้คำปรึกษาได้เสมอเลย

Read More
ซานต้ากับการพัฒนาเด็ก จิตวิทยาเด็ก

OOCAknowledge: Santa ที่หายไป ส่งผลยังไงกับใจเด็ก

ถ้าวันหนึ่งมีคนบอกว่าซานต้าไม่ได้มีอยู่จริง เราจะรู้สึกอย่างไร?

วันแล้ววันเล่าที่เราเดินอยู่รอบๆ ต้นคริสต์มาส เฝ้ารอว่าจะมีของขวัญมาวางไว้ กล่องเล็กหรือใหญ่ ใช่สิ่งที่เราอธิษฐานขอไว้หรือเปล่า ลุงซานต้าจะรับรู้ไหมว่าเราทำตัวเป็นเด็กดีนะ วันคริสต์มาสใกล้เข้ามาเด็กทั่วโลกต่างก็รอคอยที่จะได้รับของขวัญ แล้วรู้หรือไม่ว่าเรื่องเล่าต่างๆ ส่งผลต่อจิตใจคนเราในระยะยาวและมีผลกับสุขภาพใจด้วยนะ

บรรยากาศแห่งการปาร์ตี้แลกของขวัญเป็นภาพที่เราจำติดตา ใครๆ ต่างก็นึกถึงซานตาคลอส (Santa Claus) คุณลุงหนวดขาวชุดแดงที่ถือถุงของขวัญใบใหญ่ไปแจกของขวัญให้เด็กทั่วโลก เป็นสัญลักษณ์ที่มาพร้อมกับเทศกาล เรื่องเล่าของซานต้าส่งต่อกันมาอย่างยาวนาน เด็กทั่วโลกต่างรู้จักและเชื่อว่าลุงซานต้าใจดีมีตัวตนอยู่จริงๆ เด็กๆ ที่ทำตัวน่ารัก ลุงซานต้าจะให้ของขวัญโดยการเอาไปวางไว้ใต้ต้นคริสต์มาสหรือใส่ในถุงเท้าที่เด็กน้อยแขวนเอาไว้

แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าต้นกำเนิดจริงๆ ของซานต้ามาจากเซนต์ นิโคลัส ผู้เป็นสังฆราชแห่งเมืองไมรา ท่านเป็นคนใจบุญ ชอบช่วยเหลือเด็กยากไร้ วันหนึ่งท่านได้มอบของขวัญให้เด็กคนหนึ่งโดยแอบเอาของขวัญไปหย่อนทางปล่องไฟ ทำให้เด็กน้อยดีใจมาก หลังจากท่านมรณภาพชาวเมืองฝรั่งเศสได้กำหนดให้วันที่ 6 ธันวาคม เป็น “วันเซนต์นิโคลัส” และเอาถุงเท้าไปแขวนไว้ตามหน้าบ้านของคนยากไร้ ซึ่งประเพณีนี้ได้นิยมไปทั่วและมีการฉลองรวมกับวันคริสต์มาส ต่อมาโธมัส นาสต์ (Thomas Nast) ได้วาดภาพซานตาคลอสเป็นชายแก่ร่างอ้วนใส่ชุดสีแดง มีเลื่อนเป็นยานพาหนะ ออกมาแจกของขวัญในคืนวันคริสต์มาสให้เด็กๆ

แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล่าที่ฟังดูมีความสุข แต่ก็อาจมีข้อเสียอยู่บ้าง เชื่อว่าเด็กหลายคนเคยเถียงกับเพื่อนว่า ซานต้ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่มีจริง ซึ่งต่างคนก็พูดในมุมที่ตัวเองได้รับรู้และปลูกฝังความเชื่อมา ซึ่งจริงๆ มันมีอีกหลายวิธีที่เราจะส่งเสริม “ความคิดสร้างสรรค์” ของเด็ก ผ่านเทศกาลและตำนานต่างๆ โดยไม่ต้องโกหกหรือเชื่อในซานตาคลอสก็ได้ การสอนเด็กให้ชั่งน้ำหนักข้อเท็จจริงตั้งแต่อายุยังน้อยจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาในอนาคต

การที่เราไม่ได้อธิบายให้เขาเข้าใจว่านี่คือเรื่องจริงหรือเป็นเรื่องเล่า อาจมาจากจินตนาการ ตำนาน ฯลฯ อาจส่งผลต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์และแยกแยะของเด็ก ทั้งนี้หลายคนก็เชื่อว่า “สิ่งที่เราไม่เห็น ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอยู่จริง” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันในเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา ในหลายๆ สังคมวัฒนธรรมไม่ได้เติบโตมากับการให้ความสำคัญในวันคริสต์มาสทำให้เด็กๆ เกิดความสับสนได้

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ใช้ตำนานนี้ในการฝึกวินัยเด็ก ถ้าซนหรือทำตัวไม่ดีก็จะถูกลงโทษ จะไม่ได้ของขวัญ การจะให้ของขวัญคริสต์มาสจึงมาพร้อมเงื่อนไขของแต่ละบ้าน สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ “ความรู้สึกของเด็กที่ได้รับของขวัญ” เด็กที่เฝ้ารอของขวัญอาจจะเกิดคำถามว่า “ทำไมเขาไม่ได้ของขวัญที่อยากได้” หรือ “ซานต้าชอบเด็กคนอื่นมากกว่าเขาหรือเปล่า” ทั้งๆ ที่เขาก็พยายามทำตัวเป็นเด็กดีแล้วนะ ดูเหมือนว่าซานต้าจะมองไม่เห็น

พ่อแม่ต้องพยายามหาของขวัญที่จะทำให้ลูกมีความสุข ซึ่งแต่ละครอบครัวก็มีกำลังทรัพย์ต่างกัน ต้องแน่ใจว่าเด็ก ๆ จะเข้าใจว่าความรักจากพ่อแม่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมที่ดีเท่านั้นและไม่ได้เกี่ยวกับของขวัญที่มอบให้ หากรู้ว่าเป็นของขวัญที่พ่อแม่ตั้งใจเตรียมให้ เด็กๆ จะรู้สึกซาบซึ้งมากยิ่งขึ้นกับความใส่ใจและห่วงใยของคนในครอบครัว

เมื่อความสำคัญของคริสต์มาสที่อยู่ในภาพจำของเด็ก ๆ คือซานต้าและของขวัญ นี่เลยเป็นมิชชั่นของครอบครัวว่าจะสอนให้เด็กๆ เข้าใจและมีจินตนาการที่สวยงามได้อย่างไร แม้ว่าการบอกเล่าเรื่องซานต้าจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็ส่งผลต่อสุขภาพใจในระยะยาวและลึกซึ้งเกินกว่าจะละเลยได้ แต่ละครอบครัวควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และมีวิธีที่จะดีลกับเด็กๆ อย่างเหมาะสมด้วย

ขอให้ทุกครอบครัวมีวันคริสมาสต์ที่ดีและรักษาความสวยงามของเทศกาลนี้ไว้ ถ้าได้รับประสบการณ์ดีๆ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ใจแข็งแรงเมื่อโตขึ้นได้นะ เพราะอูก้าอยากช่วยดูแลใจให้คุณ สามารถนัดเข้ามาพูดคุยกับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของเราได้ตลอดเลย เรายินดีรับฟังคุณเสมอ

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.educatepark.com/วันคริสต์มาส/ซานตาคลอส/

https://dailytitan.com/opinion/perspective-the-negative-repercussions-of-santa-claus/article_0105424d-b0dd-5738-b7bd-61a881a07778.html

Read More
เมื่อพ่อแม่เผลอรังแกฉัน

เมื่อพ่อแม่ เผลอรังแกฉัน

พ่อแม่เผลอรังแกฉัน
.

หมอเพิ่งเห็นข่าวจากเว็บไซต์หนึ่งว่ามีเด็กเลือกคณะที่จะเรียนต่อมหาวิทยาลัย จาก TCAS ปรากฏว่าถูกเปลี่ยนคณะโดยไม่ทันตั้งตัว​ โดยแม่เป็นคนเลือกคณะที่เด็กไม่ชอบให้ พอเห็นข่าวแล้วหมอรู้สึกสงสารเด็กจับใจ เพราะหมอมีประสบการณ์ตรงที่พบเพื่อน​ รุ่นน้อง​ นักศึกษา​ และคนไข้มากมายที่ต้องเรียนคณะที่ตนเองไม่ได้เลือกและไม่ได้ชอบ แล้วต้องฝืนเรียนจนจบ เพื่อตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ แต่ตนเองก็เกิดความเครียดจนเป็นโรคซึมเศร้า เสียโอกาสในชีวิตไปนานหลายปีในการค้นหาตัวเองเพื่อเลือกอาชีพใหม่

Read More
cover เด็กที่มีปัญหาการเรียน

เด็กที่มีปัญหาการเรียน คุณช่วยได้ถ้าเข้าใจ

#เด็กที่มีปัญหาการเรียน #คุณช่วยได้ถ้าเข้าใจ

“คุณครูจ๋า พ่อแม่จ๋า หนูไม่ได้โง่ ไม่ใช่เด็กไม่รับผิดชอบ หนูไม่ได้จงใจดื้อที่ทำการบ้านไม่ได้​ หนูพยายามแล้ว หนูอยากเก่งขึ้น อย่าดุด่าหนู ช่วยเข้าใจหนูที”

Read More