4 เทคนิคจัดชีวิตให้มี Work Life Balance

หากช่วงนี้คุณรู้สึกว่า อยู่ๆงานที่เคยทำเสร็จเร็วกลับเสร็จช้าลง, อยากทำงานให้เสร็จ ๆ ไปมากกว่าผลิตงานที่มีคุณภาพ หรืองานที่เคยชอบกลับกลายเป็นงานที่เราไม่อยากแม้แต่จะเริ่มต้น – อาจแปลได้ว่าตอนนี้สมดุลการทำงาน การใช้ชีวิต และการพักผ่อนของเราไม่ได้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม และอาจก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าหรือบ่อนทำลาย self esteem ได้ ถ้าหากเรายังคงใช้ชีวิตแบบเดิมโดยไม่แก้ไข วันนี้อูก้าเลยอยากชวนเพื่อนๆ มาเติมเพลิงแห่งความสุขกับการทำงานของเรากันอีกครั้งผ่าน tips เล็กๆ น้อยๆ ที่จะสร้างสมดุลในชีวิตการทำงานของเรา

.

ก่อนอื่นเรามาลองจัดการปัญหานี้ด้วยวิธีการจด  to do list โดยการเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ อะไรที่ต้องใช้เวลาทำมาก อะไรที่ต้องใช้เวลาทำน้อย จากนั้นเราขอชวนให้เพื่อนๆ ทุกคนมาลองฝึกการบาลานซ์ชีวิตเพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้น โดยอูก้าได้ลองรวบรวมวิธีการเซ็ตสมดุลย์ชีวิตที่น่าจะเป็นประโยชน์มาฝากทุกคนกัน 

หาจุดที่พอดีให้กับตัวเราเอง

ก่อนอื่นอาจต้องปรับเปลี่ยน mind set ของตัวเรากันก่อนว่าการที่เราไม่ได้ทำงานหามรุ่งหามค่ำหรือพักดูหนังสัก 1-2 ชั่วโมงไม่ได้แปลว่าเราไม่ขยัน เช่นเดียวกับการที่เราตอบอีเมล 2-3 รายการในวันหยุดพักผ่อนก็ไม่ถือว่า Work-life Balance ของเราพังลง  ทุกคนสามารถหาจุดที่พอดีของตัวเองได้ตามขอบเขตการรับได้ และไม่ทำให้เรารู้สึกว่ากำลังรบกวนเวลาพักผ่อน ถึงแม้ว่าในความพอดีของเราในวันนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เพราะเราเติบโตขึ้น กิจวัตรบางอย่างอาจทำได้ไม่เหมือนเดิม  ซึ่งเวลาที่เหลือจากการทำงานนั้นขึ้นอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญในเรื่องต่าง ๆ ของตัวเราเองนะ

ทำงานเมื่ออยู่ในเวลางานและให้เวลากับตัวเองเต็มที่เมื่อหมดเวลางาน

หลายคนอาจจะเคยนำเรื่องงานกลับมาคิดที่บ้านซ้ำไปซ้ำมา ทำให้สมองของเราเกิดการหลั่งฮอร์โมนความเครียด และพาลทำให้ทั้งสภาพจิตใจและร่างกายของเรารู้สึกเหมือนไม่ได้รับการพักผ่อน  ดังนั้นเราจึงควรแยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวออกจากกันให้ชัดเจนผ่านการวางขอบเขตการทำงานในแต่ละช่วงเวลาของเรา โดยตั้งใจทำงานเมื่ออยู่ในเวลางาน ขอความช่วยเหลือเมื่อไม่สามารถทำงานนั้นได้ และให้เวลากับตัวเองเยอะ ๆ เพราะร่างกายของเราต้องการพักผ่อนเพื่อเสริมสร้างพลังใจเหมือนกัน

นอกจากนี้ การจัดโต๊ะทำงานหลังเลิกงานยังช่วยให้แยกพื้นที่การทำงานกับการพักผ่อนออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้เราไม่รู้สึกเหมือนต้องทำงานตลอดเวลา สำหรับเพื่อน ๆ ที่ต้อง Work From Home เรามาลองจัดมุมใดมุมหนึ่งของห้องให้เป็นสถานที่ทำงาน โดยพยายามเลือกที่สงบ จัดโต๊ะให้เหมือนกับโต๊ะที่ออฟฟิศและใช้มุมนี้ตลอด หากเปลี่ยนมุมไปเรื่อย ๆ จะทำให้ชีวิตส่วนตัวและชีวิตในการทำงานปะปนกัน เมื่อถึงเวลาเลิกงานแล้ว ก็ชัตดาวน์คอมพิวเตอร์ ยืดเส้นยืดสายสักเล็กน้อย หาของอร่อย ๆ กิน ดูซีรี่ส์ที่ยังดูค้างไว้บนที่นอนของเรากันดีกว่า นอกจากนี้อย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง และทานอาหารให้ให้ครบ 5 หมู่ กันด้วยนะ

พูดปฏิเสธในเรื่องที่ไม่สามารถทำได้

เป็นเรื่องปกติที่เราอาจถูกไหว้วานจากเพื่อนร่วมงานและงานบางอย่างที่ได้รับการไหว้วานอาจเป็นงานที่เราไม่ได้อยากทำ ซึ่งการปฏิเสธที่จะช่วยไม่ใช่เรื่องผิด ในทางกลับกัน เราสามารถลองชั่งน้ำหนักดูว่าสิ่งนั้นอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบเรามากเกินไปไหม จะทำให้เรากดดันหรือเครียดหรือเปล่า เราสามารถปฏิเสธอย่างนุ่มนวลได้ เพื่อไม่ให้มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานในภายหลัง และเพื่อดูแลจิตใจไม่ให้ต้องแบกรับความเหนื่อยล้ามากเกินไปของเราได้พร้อมๆ กัน

ใจดีกับตัวเองบ้าง

สิ่งสำคัญที่ควรปกป้องและรักษาไว้คือใจของตัวเราเอง เวลาที่รู้สึกว่าไม่ไหวควรฟังเสียงในใจตัวเองและหยุดพัก พยายามไม่ฝืน มันไม่ใช่เรื่องผิดอะไรถ้าเราจะหยุดพักทำในสิ่งที่ชอบ ถึงแม้ว่าการทำงานหนักในตอนนี้อาจยังไม่ส่งผลต่อสุขภาพกายและใจมากนัก แต่ถ้าสะสมนาน ๆ ไปก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาวได้เช่นกัน ทั้งนี้ เราสามารถหาแหล่งเพิ่มพลังงานให้ตัวเอง จากกิจกรรมเล็ก ๆ ที่เราชอบได้  เช่น การอยู่คนเดียวในที่เงียบ ๆ เพื่อทำให้ใจสงบ การขับรถชมวิวหลังเลิกงาน เป็นต้น

👩🏻‍⚕️💙

นอกจากนี้ อ.สลิลทิพย์ มาตรา นักจิตวิทยาคลินิกจากอูก้าก็อยากจะฝากกำลังใจเล็กน้อย ๆ ให้เพื่อน ๆ ทุกคนว่า “ของขวัญที่ดีที่สุดที่เราสามารถให้ตัวเองได้คือความสุขจากการพักผ่อนอย่างเพียงพอ มาเริ่มต้นมีความสุขด้วยการบาลานซ์ชีวิตของเรากันนะคะ”

.

ถ้าเพื่อน ๆ รู้สึกว่าปัญหาแต่ละอย่างมันหนักเกินจะรับไหว  รู้สึกว่ามีเรื่องราวอื่น ๆ ที่อยากระบาย หรือต้องการเพื่อนไว้รับฟังและคอยปลอบโยนอยู่ข้าง ๆ เวลาเหนื่อยและสับสน ทางอูก้ายินดีให้คำปรึกษาและพร้อมรับฟังเสมอ เพราะทุก ๆ เรื่องจากคุณสำคัญที่สุดสำหรับเรานะคะ

.

รับพลังบวกในแต่ละวันและนัดคุยกับผู้เชี่ยวชาญผ่านแอปพลิเคชันอูก้า

ดาวน์โหลดเลย: https://ooca.page.link/ZHMD

หรือติดตามสิทธิพิเศษมากมายที่เราคัดมาให้ทุกคนเลือกสรร

.

แอดเลย Line Official:

https://lin.ee/6bnyEvy

.

อ้างอิง

https://experience.dropbox.com/th-th/resources/work-life-balance

https://medium.com/the-logician/work-to-live-or-live-to-work-c8a1f6761e

#OOCAitsOK#WeWillListen#เรื่องของใจให้เรารับฟัง #OOCAissues

#mentalhealth #stigma #selflove #expectation #WORKLIFEBALANCE #OOCAfeelings #OOCAreminder #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

Read More
สื่อและจิตวิทยา

OOCAstory ความรู้สึกของคนที่ถูกจี้ปมผ่านสื่อ

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำคอนเทนต์ที่เสนอเรื่องดราม่า ความยากลำบาก ความน่าสงสารนั้น ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เพราะแทบทุกครั้งเนื้อหาประเภทนี้มักได้เสียงตอบรับที่ดี ไปจนถึงได้รับความช่วยเหลือต่างๆ จนกลายเป็นว่าความสงสารถูกนำมาเล่นกับความรู้สึกของคนดูครั้งแล้วครั้งเล่า

เรื่องบางเรื่องแม้เราจะรู้ทั้งรู้ว่าความเป็นจริงคืออะไร แต่ก็ยังทำใจได้ยากอยู่ดี สุดท้ายการไม่เอ่ยถึงมันเลยอาจจะดีที่สุด แล้วถ้าเราต้องพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่เราเซนซิทีฟหรือเจอคำถามที่รู้สึกลำบากใจที่จะตอบ ความเจ็บปวดที่เราพยายามเก็บไว้จะถูกกระตุ้นหรือเปล่า

จากการที่ได้ดูรายการหนึ่งที่แขกรับเชิญเป็นเด็กผู้หญิงวัย 11 ปี ซึ่งป่วยด้วยโรคชราในเด็ก น้องถูกถามตั้งแต่เด็กว่าเป็นคนแก่เหรอ ซึ่งทำให้น้องรู้สึกเจ็บปวด ด้วยสภาพร่างกายที่มีผลต่ออายุขัย แพทย์เคยวินิจฉัยว่าน้องอาจมีอายุถึงแค่ 14-15 ปี ซึ่งแน่นอนว่าน้องอยากมีชีวิตอยู่นานกว่านั้นและอยากให้ทุกคนมองว่าน้องก็เป็นคนปกติทั่วไปเหมือนคนอื่นๆ

ในรายการมีอยู่หลายจุดที่ทำให้คนดูไม่สบายใจ ด้วยคำถามที่ค่อนข้างกระทบจิตใจน้อง พูดถึงเรื่องความตายอยู่หลายครั้ง ซึ่งคนดูส่วนใหญ่มองว่าต่อให้เป็นคนทั่วๆ ไป หากมีคนมาบอกว่าเราจะอยู่ได้อีกไม่นานยังทำใจได้ยากเลย นี่น้องเพิ่งอายุแค่นี้เองเป็นธรรมดาที่ต้องเสียใจอยู่แล้ว แถมยังให้น้องและแม่ยืนเปรียบเทียบกัน ทำให้คนภายนอกมองมาเกิดคำถามมากมาย จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของการนำเสนอเนื้อหาแบบนี้ โดยเฉพาะบาดแผลที่น้องอาจจะได้รับจากการมาออกรายการครั้งนี้

สิ่งที่น้องต้องการไม่ใช่เรื่องอะไรใหญ่โต เพียงแค่ “ไม่อยากให้ใครเรียกว่าคนแก่” ที่ผ่านมาก็โดนล้อ โดนตอกย้ำเรื่องนี้อยู่ตลอด เราอาจต้องกลับมามองดูว่าเวลาที่เราพูดเล่นหยอกล้อกับคนอื่น เราได้พูดคำที่จี้ใจเขาหรือตอกย้ำปมบางอย่างที่ไม่สมควรไปแตะหรือเปล่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนถูกจี้ปมผ่านสื่อ แต่มันเกินขึ้นมานานนับสิบๆ ปี ที่สำคัญคือการคอมเมนต์หรือกดแชร์อาจเพิ่มปมปัญหาให้ใหญ่ขึ้นและทำร้ายความรู้สึกของเขามากขึ้น

ทั้งนี้เราคิดว่ารายการไม่ได้มีเจตนาจะโจมตีใครหรือทำให้น้องเสียใจ เพียงแต่คนดูที่รู้สึกอินกับเรื่องราวอยากเห็นแขกรับเชิญมีความสุขและได้ใช้ชีวิตเท่านั้นเอง ต่อไปนี้ก็เป็นหน้าที่ของคนที่เสพสื่ออย่างเราแล้วแหละว่าจะทำอย่างไรต่อไป ลองเอาตัวเองไปนั่งอยู่ในใจเขาบ้าง แล้วเราจะตัดสินใจได้ดีกว่าเดิม

ถ้าคุณรู้สึกไม่สบายใจกับเรื่องบางเรื่อง อึดอัดกับคำพูดที่ไม่อยากได้ยิน ทักมาพูดคุยกับพี่ๆ นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของอูก้าได้เสมอเลยนะ เรื่องของใจให้เรารับฟัง

Read More
cover - depression

ซึมเศร้า หรือ นิสัยไม่ดี

เมื่อไม่ตัดสินทุกคนก็ Win-Win แบบพึ่งพาอาศัย

“อย่าทำตัวมีปัญหาให้มากเลยนะ, รู้จักทำตัวให้เหมือนคนธรรมดาเขาบ้างสิ, แกมันแย่, อย่าหวังว่าจะมีใครคบเลยนะเป็นคนแบบนี้” คำพูดพวกนี้มันฟังดูทิ่มแทงใจยิ่งกว่าอะไร เพราะไม่ว่าเราจะเป็นคนที่มีความคิดเป็นของตัวเอง เป็นคนที่มั่นใจในตัวเองแค่ไหน สุดท้ายก็คงรับไม่ได้ที่จะมีใครมาตราหน้าหรือนินทาลับหลังว่าเรามัน ‘นิสัยไม่ดี’ อย่างแน่นอน

Read More
cover - insecure love

ยอมตามเขาตลอดเวลา กลัวเขาจะไม่รักเรา ความสัมพันธ์ของคน Insecure

ถ้าพูดถึงเรื่องเรื่องความรักแล้ว เมื่อใครคนหนึ่งอ่อนแรงลง ก็ย่อมจะต้องมีอีกคนที่มั่นคงกว่า มาประคองความรักนี้ไว้ เพื่อให้ความสัมพันธ์ไปต่อได้
.
นี่คือหนึ่งในรูปแบบความสัมพันธ์หนึ่งในทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “ความผูกพันแบบมั่นคง (Secure)” หรือ ความสัมพันธ์ที่ใครคนหนึ่งจะรู้สึกสบายใจเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เห็นคุณค่าในตนเองและให้ความสำคัญกับการเป็นตัวของตัวเอง
.
แล้วแบบนี้ถ้าในทางกลับกันเราไม่สบายใจกับรักครั้งนี้ จะทำอย่างไรดี? เรื่องนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของความรู้สึกที่ไม่มั่นคง (Insecure) ในจิตใจ ซึ่งแน่นอนว่าเกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็ก หรือระหว่างการเติบโตมา เจอเรื่องราวที่กระทบกระเทือนจิตใจ
.
รูปแบบความสัมพันธ์ของคน Insecure คือต้องการความรักและอยากให้คนรักตอบแทนเราด้วยสิ่งเดียวกัน บุคคลจะมองหาพื้นที่ปลอดภัยจากคนรัก และกลัวการถูกทอดทิ้ง หลายๆ ครั้งจึงยอมทำตามใจคนรักตลอด เพื่อให้เขารักเราตอบ ไม่กล้าบอกความในใจเพราะกลัวเขาหนีเราไป หรือถ้ามีอะไรที่ผิดพลาด เราจะเริ่มต้นด้วยการโทษตัวเองก่อนเป็นอย่างแรก
.
ทั้งนี้ทั้งนั้น เรากลับมาดูเรื่อง “ความสัมพันธ์” กันก่อนดีกว่า
.

Cute couple in a city. Lady in a white dress. Pair sitting on a cafe


John Bowlby จิตแพทย์ชาวอังกฤษ เจ้าของทฤษฏี Attachment theory กล่าวว่า ในวัยเด็ก ความสัมพันธ์นั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เหมือนเป็นสิ่งปลอดภัยสิ่งเดียวที่จะทำให้ดำรงชีวิตต่อไปได้ การตอบสนองจากผู้เลี้ยงดูจะสร้างให้เด็กเกิดความคาดหวังในความสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู และสุดท้ายจะกลายเป็นความคาดหวังต่อบุคคลที่ผูกพันด้วยอย่างคงทนไปตลอดชีวิต
.
และ Kim Bartholomew ก็ได้พัฒนารูปแบบความผูกพันออกมาได้ 4 แบบ ได้แก่
1. รูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง (Secure) บุคคลจะรู้สึกสบายใจเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เห็นคุณค่าในตนเองและให้ความสำคัญกับการเป็นตัวของตัวเอง
2. รูปแบบความผูกพันแบบหมกมุ่น (Preoccupied) บุคคลจะมีความรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า วิตกกังวลในความสัมพันธ์ และจะพยายามอย่างมากที่จะเข้าหารวมถึงการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้อื่น และอยากได้การยอมรับจากคนที่ใกล้ชิดด้วย ซึ่งรูปแบบความผูกพันแบบหมกมุ่นนี้แหละ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง ที่เรากำลังพูดถึง
3. รูปแบบความผูกพันแบบหมางเมิน (Dismissing) บุคคลจะปฏิเสธและหลีกเลี่ยงที่จะใกล้ชิดกับผู้อื่น ให้คุณค่ากับความอิสระ และคิดว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดมันไม่จำเป็น
4. รูปแบบความผูกพันแบบหวาดกลัว (Fearful) บุคคลจะมีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ หวาดกลัวที่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเพราะกลัวจะถูกปฏิเสธ มีความวิตกกังวลในความสัมพันธ์อย่างมาก

Couple having an argument at the cafe


.
อย่างที่เกริ่นไปในตอนต้นว่า เมื่อใครคนหนึ่งอ่อนแรงลงในความสัมพันธ์ ก็ย่อมจะต้องมีอีกคนที่มั่นคงกว่า มาประคองความรักเอาไว้ เพื่อให้เดินหน้าไปต่อได้ แต่ปัญหาที่เกิดคือ คนที่ Insecure อาจจะเผลอทำให้คน Secure เริ่มไม่มั่นคงได้ ไม่ได้การซะแล้วแบบนี้!
.
• สร้าง Self-esteem ให้กับตัวเอง เพราะงานวิจัยต่างๆ บอกว่า คนที่ Insecure มักจะมีการเห็นคุณค่าในตนเองที่ต่ำ วิธีเพิ่ม Self-esteem ง่ายๆ อูก้าเคยนำเสนอไปบ้างแล้ว ลองมาอ่านโพสต์นี้กันดูนะ (มาเพิ่ม Self-Esteem กันเถอะ)
.
• ดูแลตัวเองให้ดี ทำให้ตัวเองมีสุขภาพทั้งกายและใจที่ดี ดูแลและใส่ใจความต้องการของตนเอง ไม่ใช่ว่าเราจะดูแลแต่คนรักแล้วไม่สนใจตัวเอง ทำให้ตัวเองดึงดูดและน่าสนใจโดยการหากิจกรรมอื่นๆ ทำ นอกจากการตามติดคนรักไปตลอด ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง กับกิจกรรมที่อยากทำ
.
• เชื่อมั่นในตัวเอง ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์แบบ Secure จะต้องเชื่อมั่น เชื่อใจในตัวคนรัก แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือเชื่อในตัวเราเอง รู้ว่าลึกๆ ความต้องการของตัวเองคืออะไร ไม่ลืมว่าเราเป็นใคร เชื่อมั่นในความรู้สึกที่ตัวเองมี อย่าหนีหรือเก็บมันไว้
.
• ให้อิสระกับคนรักบ้าง เราไม่จำเป็นจะต้องตามคนรักไปทุกๆ ที่ ตัวติดกันเป็นปาท่องโก๋ แต่ละคนย่อมมีชีวิตและสังคมของตัวเอง เราเองก็เช่นกัน การที่เราปล่อยคนรักไปพบปะเพื่อนฝูง ไม่ได้แปลว่าเขาจะไปมีคนอื่นจนทำให้เราคิดมาก เขาไม่ได้ทำร้ายจิตใจเรา อย่าให้ความคิดลบๆ มาอยู่เหนือความจริงเลยนะ
.
• อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ถ้าเรารู้สึกว่าใช้เวลาในโซเชียลมีเดียมากเกินไปแล้ว พยายามตามส่องดูคนรักเก่าของแฟน หรือเพื่อนๆ ที่เขาไปสังสรรค์ด้วยมากเกินไป จะทำให้เราวิตกกังวลมากขึ้นจนกระทบจิตใจเรา คุณคือคนที่ดีในแบบของตัวคุณเอง ไม่ต้องไปเทียบกับคนเก่าๆ หรือเพื่อนๆ ของเขาหรอกนะ
.
หากใครยังมีความรู้สึกกังวลในความสัมพันธ์ เครียด วิตกกับสิ่งต่างๆ รอบตัวจนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เราอยากลองให้เข้ามาพูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านแอปพลิเคชัน ooca นะ อูก้ายินดีที่จะรับฟังทุกคนเสมอ

Read More
cover อยู่กับปัจจุบันอย่างมีสติ

อยู่กับปัจจุบันอย่างมีสติ ช่วยลดความกังวลในอนาคตได้

“อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน”
.
เราคิดมากเกินไปมาตลอด โดยเฉพาะกับเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ความกังวลที่มีมันค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเมื่อเราคิดถึงอนาคต บางทีมันก็ทำให้เราไม่มีมีสมาธิที่จะทำอะไรในปัจจุบันเลย อยากจะโยนความคิดในหัวทิ้งให้โล่งๆ แต่เราก็ทำไม่ได้ หลายครั้งเราเห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดีมากๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย เรายิ่งอดคิดไม่ได้ว่า อนาคตเราจะต้องทำให้ได้ดีเหมือนเขา มีชีวิตที่ดี ที่น่าพอใจ

Read More
cover - โรคดึงผม

Trichotillomania โรคดึงผม

เคยไหม… รู้สึกเครียด กังวล มือว่างๆ ก็เอามาจับผมตัวเอง จับไปจับมาก็เริ่มดึงออก ดึงไปดึงมานานๆ เข้า อ้าว! ผมหายไปแล้ว ดึงจนแหว่งเลยเรา หากคุณกำลังตกอยู่ในสถานการณ์นี้ อูก้าอยากชวนให้มาทำความรู้จักกับโรคดึงผม หรือ Trichotillomania กัน

Read More
cover - see doctor

สัญญาณเตือนที่บอกว่า คุณควรพบจิตแพทย์

เคยสงสัยกันไหมว่า เราต้องมีอาการอย่างไร เป็นแค่ไหน ถึงควรจะไปพบจิตแพทย์ วันนี้อูก้าอยากชวนเพื่อนๆ กลับมาสังเกตตัวเองว่า เรายังไหวอยู่มั้ย หรือเราต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือเปล่า

Read More
cover expectations

บางทีเราก็เหนื่อยกับความคาดหวัง

เหนื่อยมั้ยกับความคิดของคนอื่นที่มามีอิทธิพลกับตัวเรา จนบางครั้งเราก็กดดันมากจนทำอะไรไม่ถูก
.
หลายๆ ครั้งที่เราเองสูญเสียความมั่นใจในการกระทำสิ่งต่างๆ เพียงเพราะคำพูดของคนรอบข้าง ความคิดเห็นของพวกเขาล้วนเกิดจากกรอบประสบการณ์ที่แต่ละคนมี ซึ่งก็มีไม่เหมือนกัน เขาไม่รู้หรอกว่าเราคิดหรือรู้สึกยังไง เราอาจจะทำดีที่สุดแล้ว แต่มันคงไม่ดีสำหรับคนอื่นๆ

Read More
cover atelophobia

Atelophobia โรคกลัวตัวเองดีไม่พอ

ในสังคมปัจจุบันการแข่งขันที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนเราต้องพยายามทำให้ตนเองพัฒนาและเอาชนะคนอื่นอยู่เสมอ สิ่งนี้เองทำให้หลายคนกดดันตัวเองและอยากทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ รู้สึกว่าตัวเองจะล้มเหลวไม่ได้ ทุกอย่างต้องเพอร์เฟค เมื่อเราคาดหวังกับความสมบูรณ์แบบ แต่สิ่งที่ได้กลับมามันไม่ใช่ เราจะเริ่มกังวล รู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ดีพอ คอยโทษตัวเอง เราเรียกอาการนี้ว่า Atelophobia (โรคกลัวตัวเองดีไม่พอ) หรืออาการกลัวความไม่สมบูรณ์แบบ

Read More
  • 1
  • 2