รู้ไหมว่าความผิดพลาดนั้นไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดกาล

“ถ้าเจออุปสรรคขนาดนี้ ล้มเลิกดีกว่าไหม?” ประสบการณ์เหล่านี้ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า Setbacks หรือ อุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้งานสักงานหนึ่งไปถึงได้ตามเป้าหมาย โดยน่าสนใจว่ามีการทดลองหนึ่งในอดีตเผยว่า “อุปสรรคที่ทำให้งานเชื่องช้าและไม่ก้าวหน้า” ส่งผลต่อการหมดหวังหมดกำลังใจมากกว่า “อุปสรรคที่สร้างความเสียหายโดยตรง”

.

James Beck, Abigail Scholer และ Jeffrey Hughes ได้ทำการวิจัยเพื่อหาข้อมูลมาสนับสนุนความคิดดังกล่าว พวกเขาได้ออกแบบการทดลองขึ้น 2 การทดลอง โดยแยกประเภทของ อุปสรรคเป็น 2 ประเภท คือ

1.อุปสรรคที่ทำให้งานไม่ก้าวหน้า (distance setbacks) ทำให้สูญเสียความก้าวหน้าในการทำงานต่าง ๆ ซึ่งเพื่อน ๆ อาจจะเคยเจอเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น คอมพิวเตอร์ดับหรือเสียระหว่างกำลังทำรายงานที่ต้องส่งภายในวันนี้และงานที่ทำมาทั้งหมดถูกลบหายไป ทำให้เราต้องทำงานใหม่ทั้งหมดในระยะเวลาอันน้อยนิด

2.อุปสรรคที่ฉุดรั้งให้งานช้าลง (velocity setbacks) คือลักษณะของอุปสรรคที่ลดอัตราความก้าวหน้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความคืบหน้าที่เป็นอยู่ของงาน ณ ปัจจุบันยังไม่ได้หายไป แต่จะเกิดความล่าช้าในอนาคตได้ เช่น คอมพิวเตอร์ของเพื่อน ๆ ติดไวรัส ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ช้าลง

ในการทดลองนี้ ผู้เข้าร่วมการทำลองจะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มด้วยการสุ่ม เพื่อจะได้เจอประสบการณ์อุปสรรคที่ทำให้งานไม่ก้าวหน้า หรือ อุปสรรคที่ฉุดรั้งให้งานช้าลง ผลจากการทดลองพบปฏิกิริยาลบในตอนแรก ทั้ง 2 ประเภทของอุปสรรค

.

โดยผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งสองกลุ่มมีความอึดอัดคับข้องใจ นอกจากนี้ยังขาดความกระตือรือร้นที่จะทำงาน แต่ความแตกต่างคือ

>> กลุ่มที่ประสบกับอุปสรรคที่ทำให้งานไม่ก้าวหน้า (distant setbacks) มีแนวโน้มที่จะสามารถกลับมาลุกขึ้นสู้ทำงานจนบรรลุเป้าหมายได้อีกครั้งเมื่อถึงช่วงจบการทดลอง 

>> ส่วนกลุ่มที่ประสบกับอุปสรรคที่ฉุดรั้งให้งานช้าลง (velocity setbacks) มีความอึดอัดคับข้องใจมากขึ้นและมีความกระตือรื้อร้นต่ำเป็นเวลานาน แม้เวลาจะผ่านไปแล้วก็ตาม 

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า อุปสรรคที่ฉุดรั้งให้งานช้าลง (velocity setbacks) เป็นตัว “หน่วงความก้าวหน้า” ได้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอุปสรรคที่ทำให้งานไม่ก้าวหน้า (distant setbacks)

.

แล้วเราจะจัดการกับอุปสรรคที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าของงานนี้ยังไงดีล่ะ? 

แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ได้มีสูตรสำเร็จที่ตายตัวเสียทีเดียว นักจิตวิทยาคลินิกจากอูก้าได้ช่วยให้ข้อมูลต่าง ๆ และคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ ทุกคนสามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน

  1. “เรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้น”

เพราะการที่เราวิ่งหนีปัญหาไม่ว่าจะวิ่งให้ไกลสักเพียงใด ปัญหาเหล่านั้นก็ไม่มีวันหายไปไหนเลย การที่เรายิ่งรับรู้ได้เร็วว่า “ตอนนี้โปรเจกต์มีปัญหาเรื่องนี้อยู่นะ” เราจะยิ่งสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น และถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถทำได้ดี 100% ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะเราได้พยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว ในทางกลับกัน หากเรากลัวที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา ทุกอย่างอาจจะสายเกินแก้ และจะกลายเป็นว่า ทุกอย่างยังอยู่ที่ 0%

.

  1. “เจ้าความผิดพลาดจะไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดกาล”

ทุกความพลาดพลั้งในหน้าที่การงานอาจทำให้เรารู้สึกแย่ หรือไม่กล้าที่จะทำอะไรอีกเลย แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วได้มองย้อนกลับไปในอดีต เราจะค้นพบว่าในเวลานี้ เราจะมีทางลัดที่ง่ายกว่าเดิม เพราะเราได้เรียนรู้และเติบโตจากบทเรียนแห่งความล้มเหลวที่ว่านี้นั่นเอง

.

  1. “ถอดบทเรียนที่ได้ เพื่อนำไว้ใช้ในอนาคต”

ทุกความผิดพลาดกลายเป็นครูของเราได้หากเราถอดบทเรียนจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้น โดยนำมาพิจารณาว่า แผนงานของตนเองมีช่องโหว่ตรงไหนที่เราสามารถอุดรอยรั่วได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำเหมือนในอดีต และยิ่งเข้าใจอดีตที่ผิดพลาดได้มากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เรากล้าเผชิญกับความท้าทายในอนาคตได้มากขึ้น

.

  1. “อย่าคิดลบกับตัวเอง”

ถ้าเพื่อน ๆ คิดว่า “ฉันไม่เก่งเอาเสียเลย” “ทำไมฉันถึงทำได้แย่ขนาดนี้” จะยิ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานแย่ลงตามความคิดที่เราบอกกับตัวเองในหัว เสียงวิจารณ์ภายในตัวเราทำให้เรากลัวที่จะ “ลองดูอีกสักครั้ง” หรือกลัวที่จะ “ลุกขึ้นสู้อีกสักหน่อย” ถ้าเราลองเปลี่ยนเสียงวิจารณ์ภายในให้กลายเป็นคำชื่นชมปลอบประโลมหัวใจของเราให้กลับมาสดใส และมี energy ที่จะฝ่าฟันทุกอุปสรรคที่เข้ามา การทำงานโดยภาพรวมก็จะดีขึ้นด้วย

  1. “ปรับความคาดหวังให้เหมาะกับสถานการณ์”

เมื่อเกิดอุปสรรคขึ้น โดยเฉพาะในแบบที่ฉุดรั้งให้งานช้าลง หากเรามองเห็นว่าอุปสรรนั้นมาจากภายนอกตัวเราที่เหนือการควบคุม การปรับความคาดหวังใหม่ หรือ การปรับแผนงานใหม่ ให้สอดคล้องกับสถการณ์ที่เกิดขึ้นจะช่วยลดกดดัน ความเครียดที่จะต้องทำงานให้เสร็จภายในกำหนดเส้นตาย และเพิ่มไฟในการทำงานให้กลับขึ้นมาได้เร็วขึ้น หากพยามฝืนทำตามแผนเดิมต่อไปจะยิ่งทำให้กำลังในการทำงานลดลงลงเรื่อยๆ  

  1. “ขอความช่วยเหลือเมื่อคุณต้องการ”

หากต้องการความช่วยเหลือ ให้ส่งเสียงออกมา เพราะเพื่อน ๆ ไม่ได้เผชิญหน้ากับความท้าทายอยู่คนเดียว อย่าลืมว่ายังมีเพื่อนร่วมงานที่คอยช่วยกันนำพาโปรเจกต์ต่าง ๆ ไปสู่ความสำเร็จ ยังมีครอบครัว หรือคนที่คุณรักคอยเป็นกำลังใจอยู่ข้าง ๆ และท้ายที่สุด ยังมีอูก้าที่อยู่ตรงนี้เสมอ คอยรับฟังทุกเรื่องราว และคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจให้ทุก ๆ คนเพื่อให้จัดการอุปสรรคไปได้

.

หากเพื่อน ๆ หกล้มระหว่างทางแห่งความสำเร็จจนได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะแผลเล็ก หรือแผลใหญ่ อูก้าก็จะคอยเป็นยาใจรักษาแผลให้เพื่อน ๆ จนหายดี มูฟออนและกลับมาลุกขึ้นเดินหน้าต่อไป…อีกครั้ง

ติดตามสิทธิพิเศษมากมายที่เราคัดมาให้ทุกคนเลือกสรร พร้อมไม่พลาดเนื้อหาสาระสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องจิตวิทยา – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

.⠀

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

#OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues

#นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

Sources:

Read More

ต้องโตแค่ไหน ถึงเป็นผู้ใหญ่ในสายตาพ่อแม่

เคยไหม?

“อายุ 30 แล้ว จะไปทำงานที่ต่างประเทศแต่แม่ไม่ให้”

“จะไปไหนมาไหน ก็ต้องรายงานพ่อแม่ตลอดเวลา”

.

เพื่อน ๆ เคยรู้สึกแบบนี้ก็บ้างหรือเปล่า? รู้สึกอึดอัดกับการที่ต่อให้เราอายุ 30 40 แล้วก็ยังดูเป็นเด็ก 3 ขวบที่ทำอะไรไม่เป็นในสายตาของผู้(เคย)ปกครอง ทั้งที่ตอนอยู่ที่ทำงานก็ทำงานเหมือนคนทั่วไป เป็นเจ้าคนนายคนแบบที่พ่อแม่อยากให้เป็น แต่กลับบ้านทีไรก็รู้สึกตัวเล็กลีบแบน จะตัดสินใจเรื่องอะไรแต่ละทีก็ต้องมาปวดหัวว่าพ่อแม่จะว่ายังไง

.

“พ่อแม่เป็นห่วงนะเข้าใจไหม”

“งานบ้านปกติยังไม่ค่อยยอมทำเลยแล้วจะอยู่ยังไง”

“เป็นผู้หญิงอยู่คนเดียวได้ไง มันอันตราย”

พอโดนพูดแบบนี้บ่อย ๆ เข้าจากความเป็นห่วงก็กลายเป็นความอึดอัดใจ อย่างนั้นก็ไม่ได้ อย่างนี้ก็ไม่ดี พอปรึกษาใครก็บอกว่าอดทนหน่อย เขารัก เขาหวังดี ไม่งั้นเขาไม่พูดหรอก ด้วยแนวคิดและวัฒนธรรมแบบเอเชียทำให้เราต้องเป็นเด็กที่เชื่อฟังพ่อแม่ไปจนโต

.

ความรู้สึกเหล่านี้ยิ่งนานวันก็อาจกลายเป็นปัญหารบกวนจิตใจ ทั้งที่แค่อยากให้ไว้ใจกัน แต่ถ้าพูดออกไปก็กลัวว่าจะทำให้เสียใจจนกลายเป็นทะเลาะกัน

.

👩🏻‍⚕️💙

คุณ มณฑิตา พิศเพ็ง นักจิตวิทยาคลินิกที่ให้บริการในอูก้า ยังสะท้อนว่า ได้เล่าถึงกรณีทั่ว ๆ ไปที่มาปรึกษาในเรื่องนี้ว่า หากเราอยากเป็นอิสระจากทางบ้าน บางทีก็อาจจะต้องรวบรวมความกล้าแล้วพูดออกไป ซึ่งมีวิธีการรับมือที่แตกต่างกันตามแต่ละบุคคล เช่น

.

“คิดว่าพอคุยกับพ่อแม่ได้อยู่”

ลองค่อย ๆ อธิบายให้เข้าใจว่าเราโตแล้ว เช่น ถ้ากังวลเรื่องที่พักที่ต้องแยกตัวออกไป ก็ลองพาไปดูสถานที่ พยายามแสดงให้เห็นว่าเราทำได้ ไม่ได้มีอะไรน่ากลัวอย่างที่กังวล แม้ในช่วงแรกอาจจะมีปะทะหรือทะเลาะกันบ้าง ก็อย่าเพิ่งเสียกำลังใจ เพราะหากไม่เริ่มหลุดจากกรอบที่พ่อกับแม่วางไว้ ก็คงไม่มีวันเห็นว่าลูกโตจนอยู่เลยระดับที่ชินสายตา

.

“ทำอย่างไร พ่อแม่ก็ไม่ยอมรับฟัง”

กรณีนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องดูเบื้องหลังของผู้ที่อยากได้รับคำปรึกษา อูก้าขอแนะนำให้คุณพักใจด้วยการมาปรึกษาใครสักคน คนนั้นอาจจะเป็นเพื่อนที่ไว้ใจได้ คนที่กำลังเจอปัญหาเหมือนกัน หรือจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะยิ่งเก็บไว้นาน ความอึดอัดก็อาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้ ไม่ต้องกลัวว่าเราจะไม่เข้าใจ เรารู้ว่าคุณไม่ใช่ลูกอกตัญญู คุณแค่เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่อยากเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง

.

ใครที่กำลังเผชิญกับความรู้สึกแบบนี้แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอธิบายให้พ่อแม่เข้าใจอย่างไร หรือแรงปะทะมันเกินรับไหวจนใจพัง ลองแวะมาคุยกับอูก้าเพื่อมารับพลังบวกไปด้วยกันกับเราได้นะ

.

.

ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเข้าใจ

พวกเราก็พร้อมจะรับฟังเพื่อทำให้คุณเบาใจมากขึ้นนะ

.

.

รับพลังบวกในแต่ละวันและนัดคุยกับผู้เชี่ยวชาญผ่านแอปพลิเคชันอูก้า

ดาวน์โหลดเลย: https://ooca.page.link/ZHMD

หรือติดตามสิทธิพิเศษมากมายที่เราคัดมาให้ทุกคนเลือกสรร

แอดเลย Line Official: https://lin.ee/6bnyEvy

#OOCAitsOK#WeWillListen#เรื่องของใจให้เรารับฟัง
#mentalhealth#stigma#selflove#depression
#สุขภาพ#เครียด#รักตัวเอง#ซึมเศร้า#ความคาดหวัง#ความสัมพันธ์#ครอบครัว

Read More

ไขข้อข้องใจ ทำไมคนเราถึงเกลียดตัวเอง?

“ทุกคนคงเคยมีวันที่ไม่ชอบตัวเองกันบ้าง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ปกติมากๆ เเต่ถ้าไม่มีสักวันที่เรารู้สึกชอบตัวเองเลยล่ะจะเกิดอะไรขึ้น?”

.
*ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายคนอาจสงสัยว่า สิ่งมีชีวิตโดยทั่วๆ ไป ควรจะมีสัญชาติญาณเอาชีวิตรอด ควรจะรักและปกป้องตัวเอง แต่ทำไมมนุษย์ถึงมีพฤติกรรมโกรธ เกลียดตัวเอง ไปจนถึงทำสิ่งต่างๆ ที่อาจเป็นภัยต่อตัวเองได้ ดังนั้น* วันนี้อูก้าจะมาเล่าเรื่อง **ความโกรธเกลียดตนเอง** (Self Hatred) ซึ่งหมายถึง *ความรู้สึกที่ว่าตัวเองไม่ดีพอ ไม่ควรค่าเเก่การได้รับความรักหรือสิ่งดีๆ จากสังคม*

เเต่เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมเราถึงมีความรู้สึกเเบบนั้นกัน?

การเกลียดตัวเองอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น บาดแผลทางใจในอดีต (Past Trauma), การเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น, การไม่ได้รับความรักหรือการยอมรับจากครอบครัวเเละเพื่อน ฯลฯ นอกจากนี้ ความเกลียดโกรธตัวเองนี้ยังขับเคลื่อนโดยเจ้าสิ่งที่เรียกว่า “Critical Inner Voice” คือ เสียงที่เกิดจากจิตใต้สำนึกลึกๆของเรา เสียงเหล่านี้จะสร้างมุมมองเเละทัศนคติของเราที่มีต่อตัวเองในเเง่ลบ เช่น “เราโง่จังเลย” “เราพูดไม่เก่ง” “เราคิดมากจัง” ซึ่งเสียงเหล่านี้อาจเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
.

#1 **ความทรงจำเเละประสบการณ์เลวร้ายที่เราพบเจอในอดีต:** ความทรงจำเเละประสบการณ์สร้างความเชื่อเเละความคิดของเรา (Values) เช่นคนที่เคยถูกบูลลี่ก็อาจกลัวการเข้าสังคมเเละรู้สึกไร้คุณค่า หรือคนที่เคยถูกคนรักทิ้งก็อาจคิดว่าตนเองดีไม่พอที่จะได้รับความรักเเละไม่กล้ามีความรักครั้งใหม่
.

#2 **ครอบครัวเเละการเลี้ยงดู:** ครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ วิธีการเลี้ยงดูของพ่อเเม่ก็มีผลต่อตัวเรา เช่นถ้าพ่อเเม่เป็น “Perfectionist” มีความคาดหวังในตัวลูกสูง เด็กก็จะเกิดความกดดัน เเละ กลัวว่าตนเองจะสร้างความผิดหวังให้กับผู้อื่น เมื่อทำผิดพลาดก็จะโทษตัวเอง หรือถ้าเด็กๆ อยู่ในสภาพเเวดล้อมที่คุกคามและควบคุม หรือไม่ได้รับความรักจากพ่อเเม่ ความรู้สึกนั้นก็จะสะสมไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นความรู้สึกเกลียดตัวเอง
.

#3 **การเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น:** การเปรียบเทียบทำให้เรารู้สึกต่ำต้อยเช่น “ทำไมเราทำงานไม่เก่งเท่าเพื่อน” “ทำไมเราไม่สวยเหมือนอย่างคนนั้น ไม่เป็นอย่างคนนี้ “ เมื่อเราสร้างภาพลักษณ์ที่เราคาดหวังไว้สูง เเต่ตัวตนจริงๆ เราไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง เราก็จะรู้สึกผิดหวังในตัวเอง เเละไม่รู้สึกชื่นชมในสิ่งที่เรามีหรือสิ่งที่เราเป็น

.

ทั้งหมดนี้รวมตัวกันกลายเป็น ภาพที่เรามองตัวเองโดยมี “เสียงวิจารณ์ภายใน” เหล่านี้วนเวียนซ้ำๆตอกย้ำเราจนเราเชื่อว่า “เสียงวิจารณ์ภายใน” เป็นความจริงเเละทำลายความมั่นใจของเราลงเรื่อยๆ จนเรากลายเป็นคนที่มี Self Esteem หรือความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ เเละจบลงด้วยการ “เกลียดตัวเอง” เพื่อเป็นการลงโทษตัวเองในท้ายที่สุด

.

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเราจะต้องศิโรราบต่อ “เสียงวิจารณ์ภายใน” ตลอดไปกันสักหน่อย โดยคุณ มณฑิตา พิศเพ็ง นักจิตวิทยาคลินิกที่ให้บริการในอูก้า เล่าให้เราฟังเกี่ยวกับเคสที่มาหาจิตแพทย์ด้วยความรู้สึกเกลียดตัวเองว่า …

.
👩‍⚕️
“การเกลียดตนเองเกิดจากความคิดเเง่ลบกับตัวเอง ความคิดมันเยอะท่วมท้น จนไม่สามารถจัดการกับมันได้ เเละรู้สึกว่าไม่มีใครอีกเเล้วที่ช่วยเราได้ – เมื่อเกิดความรู้สึกว่าเราทำอะไรไม่ได้สักอย่าง อยู่ไปก็มีเเต่เป็นภาระให้คนอื่น เราก็จะรู้สึกไม่เป็นที่ต้องการ บางคนมีปมในอดีตที่ฝังลึกในจิตใต้สำนึก เช่น คนที่เคยอกหัก อาจไม่กล้ามีความรักครั้งใหม่ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ เอาเเต่โทษตัวเองกับเรื่องเก่าๆที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกนี้สามารถเปลี่ยนไปได้ ถ้าเราเท่าทันความคิดตัวเอง หรือลองคุยกับตัวเอง ซึ่งการจัดการอย่างละเอียด ไม่เร่งรีบลงโทษตัวเอง ก็จะเปิดมุมมองเเละเปิดโอกาสให้ตัวเรามากขึ้น”

.

ในวันไหนที่เรารู้สึกท้อเเท้ หมดกำลังใจหรือรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง เเละไม่รู้จะระบายให้ใครฟัง อูก้ายินดีเป็นที่พักพิงใจ ให้คำเเนะนำเเละเป็นเพื่อนที่เข้าใจ เพราะเพื่อนๆ ไม่ได้เป็นคนเดียวที่คิดแบบนั้น

.

มารับพลังใจในแต่ละวันและนัดคุยกับผู้เชี่ยวชาญผ่านแอปพลิเคชันอูก้า

ดาวน์โหลดเลย:

https://ooca.page.link/ZHMD

หรือติดตามสิทธิพิเศษมากมายที่เราคัดมาให้ทุกคนเลือกสรร

แอดเลย Line Official:

https://lin.ee/6bnyEvy

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง
#mentalhealth #stigma #selflove #depression #SelfCare
#OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues 

Read More

#OOCAhowto วันศุกร์ที่โดนกองงานทับตาย เมื่อไหร่จะได้ THANK GOD IT’S FRIDAY

วันศุกร์แล้วหรอ? นี่คือวันศุกร์จริงๆ ไหม? เป็นวันศุกร์หลังวันหยุดยาวที่ไม่ได้รู้สึกสุขสมชื่อแม้แต่น้อย หันไปทางไหนก็เจอแต่ความเครียดเพราะงานมากมายที่กำลังรอให้เราจัดการ จะมีไหมที่จะได้สัมผัสกับวันสุขจริงๆ สักที

.

และเราก็ไม่ใช่ยอดมนุษย์สุดแกร่งที่จะรู้สึกยินดีกับกองงานมากมายในวันศุกร์แบบนี้

.

มีบทความดีๆ จาก Harvard Business ได้แนะนำวิธีที่มนุษย์ธรรมดาอย่างเราสามารถพูดขอบคุณอะไรก็ตามที่ทำให้เรามีวันศุกร์ที่แสนสุขได้เหมือนกัน

.

เริ่มต้นด้วยการตามหาสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเครียด โดยการตั้งคำถามกับตัวเองว่าในกองงานนี้ มีงานอะไรที่ไม่ทำแล้วจะช่วยลดความเครียดได้ 80%  ถึงความจริงเราจะหนีมันไม่พ้นแต่การตั้งคำถามจะช่วยให้มองเห็นที่มาของความเครียดและทำให้เราตระหนักว่าเราควรทำอะไรต่อจากนี้ ถ้าเป็นงานชิ้นใหญ่จำเป็นต้องแบ่งและจัดลำดับความสำคัญจะช่วยให้เราเห็นว่าในตอนนี้ควรลงมือทำอะไรและมีใครที่จะพอช่วยลดภาระงานนี้บ้าง 

.

เมื่อเรารู้ว่าอะไรควรทำในตอนนี้และหลักจากนี้ต้องทำอะไรต่อ สิ่งต่อมาคือการเคารพเวลาที่เรากำหนดและหัด ‘ปฏิเสธ’ งานที่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเราให้เป็น

.

หลายครั้งที่เราดองงานเอาไว้จนถึงวันสุดท้ายของสัปดาห์อาจเกิดจากการความต้องการให้งานนี้สมบูรณ์แบบที่สุด แต่เราไม่สามารถทำให้งานเพอร์เฟกต์ได้ตลอดเวลา บางครั้งการทำให้เสร็จอาจดีกว่าการรอให้ครบ 100 % เพราะช่วงเวลาที่เราผัดงานออกไปก็ไม่ได้ทำให้งานเสร็จ

.

หรือเราอาจลองชาเลนจ์ตัวเองเพิ่มว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้วันศุกร์ของเราเต็มไปด้วยงาน หากมันเกิดจากปัจจัยภายนอกเช่นหัวหน้าที่ชอบเร่งงานหรือเปลี่ยนเดดไลน์กระทันหัน หากเป็นแบบนี้บ่อยๆ อาจต้องมีการพูดคุยและสร้างข้อตกลงร่วมกัน แต่หากเกิดจากปัจจัยภายในอย่างความรู้สึกติดขัดภายในใจที่เราเอง อาจลองหาเวลาคุยกับผู้เชียวชาญเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น

.

เพราะเป็นวันศุกร์หลังวันหยุดยาว เพื่อนๆ หลายคนอาจจะยังปรับตัวไม่ทันทำให้การทำงานในช่วงนี้อาจติดขัดกันบ้าง ลองทำวิธีที่อูก้าแนะนำมาไปปรับใช้กันดูนะ อูก้าเชื่อว่าวันศุกร์อื่น ๆ จะทำให้เพื่อนๆ ยิ้มได้และสามารถพูดได้เต็มปากว่า Thank God It’s Friday 😁

อ้างอิง

Zucker, R. (2019, October 10). How to deal with constantly feeling overwhelmed. Harvard Business Review. Retrieved April 16, 2022, from https://bit.ly/3JH7OAA

Read More
จิตวิทยา หนังให้กำลังใจ

OOCAinsights : เธอมีพร้อมทุกอย่างแล้ว เหลือแค่สู้และลงมือทำ

ทุกคนคงจะต้องเคยผ่านเหตุการณ์ร้าย ๆ หรือวันแย่ ๆ กันมาใช่หรือเปล่าคะ แน่นอนว่าวันเหล่านั้นคงทำให้เกิดผลกระทบกับจิตใจของเราไม่มากก็น้อย บางคนก็รับมือไหว แต่ก็มีอีกหลายคนที่ผ่านมันไปไม่ได้และทำให้สภาพจิตใจถดถอยลง หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เราผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นไปไม่ได้ ก็เพราะว่าเรามองข้ามบางสิ่งที่เรามีอยู่กับตัวเอง สงสัยใช่มั้ยว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร ?

ยกตัวอย่างจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวละครชื่อ เบบี้ดอล ในภาพยนตร์เรื่อง Sucker Punch เธอลุกขึ้นมาต่อสู้แทนที่จะยอมแพ้ให้กับโชคชะตาอันเลวร้าย และสามารถเอาชนะมันได้ด้วยสิ่งที่เธอมีอยู่กับตัว เราได้เรียนรู้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยบทพูดในตอนสุดท้ายของเรื่องราว

“Your fight for survival starts right now.

You don’t want to be judged? You won’t be.

You don’t think you’re strong enough? You are.

You’re afraid. Don’t be.

You have all the weapons you need. Now fight!”

“การดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดมันเริ่มแล้ว

เธอไม่อยากโดนตัดสินใช่ไหม? เธอไม่โดนแน่

เธอคิดว่าเธอไม่แข็งแกร่งพอเหรอ? เธอแกร่งแน่

เธอหวาดกลัว.. อย่ากลัว

เธอมีอาวุธทุกอย่างพร้อมอยู่แล้ว เธอต้องสู้”

ในบางครั้งที่เราเจอปัญหาและเหตุการณ์ร้าย ๆ มากมาย เราอาจจะลืมไปว่าสุดท้ายแล้ว “ตัวเราเองนี่แหละ ที่จะพาเราผ่านพ้นทุกอย่างไปได้ด้วยสิ่งที่เรามี” เรามีอะไรล่ะ ? เรามีความกล้า เรามีความสามารถ เรามีความเชื่อมั่น และที่สำคัญ เรามีกำลังใจอีกมากมายจากผู้คนรอบตัวที่คอยช่วยเหลือเรา สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือน “อาวุธ” ให้เราต่อสู้กับอุปสรรคที่เข้ามาในชีวิต เมื่อเราผ่านมันมาได้เราจะกลายเป็นคนที่แข็งแกร่งขึ้น ขอเพียงแค่เชื่อมั่นอาวุธในมือของตัวเอง แล้วจงสู้

อูก้าขอเป็นกำลังให้กับทุกคนที่กำลังเผชิญปัญหาที่เข้ามาในชีวิต ใครที่อยากได้คำปรึกษาสามารถติดต่อพวกเรามาได้เลย เราพร้อมที่จะรับฟังทุกปัญหาเลยนะ

Read More
ซีรี่ย์เน็ทฟลิกและจิตวิทยา Bridgerton

OOCAinsight: “ถ้าไม่ได้แต่งงาน ฉันก็ไม่มีค่าอะไรเลย” Bridgerton กับยุคที่ผู้หญิงห้ามขึ้นคาน

ฉากที่สะเทือนใจเรามากๆ คือตอนที่ดาฟนี่คุยกับพี่ชายของเธอว่า “พี่ไม่เข้าใจหรอกว่าผู้หญิงรู้สึกยังไงที่ทั้งชีวิตเราเหลือความสำคัญแค่เพียงช่วงเวลาเดียว หนูถูกเลี้ยงดูมาเพื่อสิ่งนี้ นี่คือสิ่งเดียวที่หนูเป็น หนูไม่มีคุณค่าอย่างอื่นแล้ว ถ้าหนูหาสามีไม่ได้ หนูก็จะไร้ค่า” เป็นฉากพูดคุยธรรมดาๆ ระหว่างพี่น้อง แต่คำพูดของดาฟนี่ที่คุยกับพี่ชายกลับทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจเรามากๆ ทำไมคุณค่าของผู้หญิงถึงอยู่ที่การแต่งงาน

.

ม่านประเพณีที่บดบังคุณค่าที่แท้จริงของผู้หญิง ถูกนำมาสะท้อนผ่าน Bridgerton ซีรีส์จาก netflix ที่ดัดแปลงมาจากนิยายของ Julia Quinn กล่าวถึงค่านิยมการออกเรือนได้ครบเครื่องและโรแมนติกมาก แกนหลักของเราอยู่ที่ตัวละคร “ดาฟนี่ บริดเจอร์ตัน” ลูกสาวคนสวยจากพี่น้องทั้งแปดของตระกูลไฮโซแห่งกรุงลอนดอน ทุกสายตาที่จ้องมองมา ราวกับจับผิดชีวิตผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ว่าเธอจะเดินบนเส้นทางที่คู่ควรกับชาติตระกูลหรือไม่ นี่อาจเป็นราคาที่สาวๆ จากวงสังคมชั้นสูงต้องจ่าย เพื่อแลกกับหลักประกันในชีวิต

.

(โปรดระวังมีการสปอยล์เนื้อหาเล็กน้อย)

ในอังกฤษตามธรรมเนียมแล้วแวดวงชนชั้นสูงจะมีการเข้าเฝ้าฯ พระราชินี หญิงสาววัยแรกรุ่นที่เพียบพร้อมทั้งกิริยาและฐานะทางสังคมจะได้เปิดตัวในงานเต้นรำ หรือที่เรียกว่าเดบูตองต์ (Debutante) บรรดาแม่ๆ ของแต่ละตระกูลก็จะพยายามชิงดีชิงเด่นและทำทุกวิถีทางให้ลูกสาวสวยโดดเด่นสะดุดตามากที่สุด เพื่อให้ลูกสาวได้รับการทาบทามจากชายหนุ่มสูงศักดิ์ ลูกสาวบ้านไหนได้แต่งงานออกเรือนจะถือว่าเป็นหน้าเป็นตาของครอบครัว เรียกว่าแค่แต่งงานกับคนที่เหมาะสมก็เป็นที่เชิดหน้าชูตาของวงศ์ตระกูล

.

ซึ่งในงานเต้นรำปีนี้ก็เป็นหน้าที่ของดาฟนี่ที่ต้องรับบทบาทสำคัญ จากการปลูกฝังเลี้ยงดูให้เป็นกุลสตรีที่เพียบพร้อมในทุกๆ ด้าน รวมถึงหน้าตาที่สวยงามไร้ที่ติ ใครๆ ต่างมองว่าเธอเป็นตัวเต็งของสาวรุ่นราวคราวเดียวกันที่น่าจะได้ออกเรือนก่อนใคร แต่แล้วเหตุการณ์ดันไม่เป็นดั่งใจ ทำให้ดาฟนี่เจออุปสรรคในการหาคู่ จนต้องไปขอความช่วยเหลือจากพระเอกของเรา “ไซม่อน บาสเซ็ต” ท่านดยุกแห่งเฮสติ้งส์ที่ขึ้นชื่อว่าเจ้าชู้และเป็นที่หมายปองของสาวชั้นสูงทั่วอังกฤษ

.

จุดที่น่าสนใจอยู่ที่ช่วงต้นเรื่อง เราจะได้เห็นภาพสาวๆ ที่เอาจริงเอาจังกับการหาคู่ครอง และแม่ๆ ที่พยายามดันลูกสาวเต็มที่ เป็นภาพที่ยากจะจินตนาการสำหรับผู้หญิงสมัยใหม่ ว่าทำไมเป้าหมายเดียวในชีวิตเราถึงเป็นการแต่งงานและเป็นแม่คน ต้องรักษาภาพลักษณ์ที่มีคุณค่าสูงส่ง แต่ขณะเดียวกันเมื่อมองมาแล้วก็ควรต้องตาต้องใจผู้อื่นด้วย ทั้งเสื้อผ้าการแต่งกายที่ไม่ได้สะดวกสบายเอาเสียเลย อย่างในเรื่องเราจะเห็นสาวๆ ขยันออกงานสังคมและแวะเวียนไปตัดชุดที่ร้านดังอยู่เป็นประจำ เหล่าคุณแม่มักจะพิถีพิถันเลือกชุดที่สวยที่สุดแพงที่สุดเพื่อให้ลูกสาวตัวเองมีโอกาสมากขึ้นอีกสักนิด

.

สิ่งที่สะท้อนใจเราอย่างมากคือฉากที่ดาฟนี่คุยกับเอโลอีส น้องสาวที่จะเปิดตัวต่อจากเธอ เอโลอีสไม่เข้าใจเลยว่าทำไมดาฟนี่ถึงต้องพยายามแทบเป็นแทบตายกับการหาคู่ขนาดนี้ “ความสำเร็จในการหาคู่ครองของพี่จะส่งผลดีกับพวกเธอทุกคนนะ” ดาฟนี่บอกน้องๆ แม่พร่ำสอนมาตลอดว่าการดูแลครอบครัวคือหน้าที่ เธอจะพบความสุขและความสะดวกสบายเมื่อได้แต่งงาน ดูแลบ้านให้น่าอยู่และมีลูกๆ ที่น่ารัก ตั้งแต่เด็กดาฟนี่จึงไม่เคยมีเป้าหมายอย่างอื่นในชีวิตเลย

.

ส่วนหนึ่งเพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ดีในยุคนั้นไม่ได้ทำงาน แต่เป็นหน้าเป็นตาให้สามีแทน หน้าที่หลักคือดูแลบ้านช่องและปูทางให้ลูกๆ อย่างที่แม่ของดาฟนี่ทำ เมื่อผู้เป็นพ่อจากไปหน้าที่ผู้นำครอบครัวก็ตกเป็นของลูกชายคนโตที่มีหน้าที่ตัดสินใจเรื่องสำคัญในบ้าน แม้แต่เรื่องคู่ครองของน้องสาว

.

อย่างไรก็ตามเมื่อได้ชมแล้วเราจะเห็นว่าผู้หญิงมีส่วนอย่างมากในการผลักดันครอบครัวให้ประสบความสำเร็จ ซีรีส์ได้ตอกย้ำให้เราเห็นความปราดเปรื่องของผู้หญิง การเป็นแม่และเป็นเมียที่ดีนั้นเป็นเรื่องยาก ซึ่งบางครั้งเราก็ได้หลงลืมจุดนี้ไป ทำให้คุณค่าของผู้หญิงถูกลดทอนอย่างน่าเสียดาย

.

น่าดีใจที่ทุกวันนี้ค่านิยมเราเปลี่ยนไปมากและเริ่มส่งผลในทางตรงกันข้าม ผู้หญิงเราไม่ได้เคร่งเครียดกับเรื่องการแต่งงานมีลูกเท่าเมื่อก่อน หรือเรื่องของงานบ้านงานเรือนก็ไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิงฝ่ายเดียวอีกต่อไป ความเท่าเทียมกันค่อยๆ ฉายชัดขึ้นตามวันเวลา รวมถึงผู้หญิงสามารถที่จะมีอาชีพที่รัก มีโอกาสที่จะเลือกสิ่งดีๆ ให้ตัวเองพอๆ กับผู้ชาย แต่ไม่ว่าค่านิยมหรือประเพณีจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าตัวเราจะเป็นใคร เพศอะไร หรือตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่สำคัญมากๆ ที่ต้องจำให้ขึ้นใจเสมอคือ “คุณค่าในตัวเราไม่เคยหายไปไหนเลย”

.

เพราะอูก้าเชื่อว่าทุกๆ คนมีคุณค่าที่ไม่ควรถูกตัดสิน เหมือนชีวิตของดาฟนี่ที่แม้จะเติบโตมาด้วยความตั้งใจเพียงอย่างเดียว แต่สุดท้ายเธอได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่าเธอมีคุณค่าและดีพอที่จะได้รับความรัก พวกคุณเองก็เหมือนกันนะ ถ้าวันไหนรู้สึกท้อแท้ใจ ลองดูซีรีส์สักเรื่องที่ช่วยส่งพลังให้เราดู แล้วอย่าลืมคิดถึงอูก้า เพื่อนแท้ที่จะคอยดูแลใจคุณนะ

Read More
Empathy การรับฟังผู้อื่น

Empathy กับการรับฟังผู้อื่น

อยากฟังเพื่อนแบบจริงจัง ไม่ใช่ฟังผ่านๆ หูไป อยากให้เพื่อนรู้ว่ายังมีเรานะที่อยู่ตรงนี้เพื่อนรับฟังเธอ เราจะทำอย่างไรได้บ้าง ??

Read More
cover gender fluidity

Gender Fluidity จะเป็นเพศไหน ก็แสดงออกแบบไหนก็ได้

ทำไมผู้ชายห้ามชอบสีชมพู เป็นผู้ชายต้องเข้มแข็ง กล้าเสี่ยง กล้าลอง ต้องเอาชนะ ต้องประสบความสำเร็จ เราจะอ่อนแอให้ใครเห็นไม่ได้เด็ดขาด ห้ามให้ใครเห็นน้ำตา ทำตัวแมนๆ หน่อยสิ! นี่คือสิ่งที่สังคมเราสั่งสอนกันมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะคนในครอบครัวหรือคุณครูที่โรงเรียน

Read More
cover - self love

Self-Love ไม่มีใครรักเรา ได้มากเท่าเรารักตัวเอง

เวลาได้ช่วยเหลือ ได้ดูแลคนรอบข้าง คุณรู้สึกอย่างไร ?
ร้อยทั้งร้อยก็คงจะ “รู้สึกดี” มีความสุขที่ได้ดูแลคนที่เรารัก เราห่วงใยเขามากก็เลยยิ่งอยาก take care มากขึ้นไปอีก คุณอยากให้เขามีความสุขและสบาย คุณจึงเลือกที่จะรักและทำทุกทางเพื่อช่วยเหลือเขาอย่างเต็มใจ

Read More
cover - insecure love

ยอมตามเขาตลอดเวลา กลัวเขาจะไม่รักเรา ความสัมพันธ์ของคน Insecure

ถ้าพูดถึงเรื่องเรื่องความรักแล้ว เมื่อใครคนหนึ่งอ่อนแรงลง ก็ย่อมจะต้องมีอีกคนที่มั่นคงกว่า มาประคองความรักนี้ไว้ เพื่อให้ความสัมพันธ์ไปต่อได้
.
นี่คือหนึ่งในรูปแบบความสัมพันธ์หนึ่งในทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “ความผูกพันแบบมั่นคง (Secure)” หรือ ความสัมพันธ์ที่ใครคนหนึ่งจะรู้สึกสบายใจเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เห็นคุณค่าในตนเองและให้ความสำคัญกับการเป็นตัวของตัวเอง
.
แล้วแบบนี้ถ้าในทางกลับกันเราไม่สบายใจกับรักครั้งนี้ จะทำอย่างไรดี? เรื่องนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของความรู้สึกที่ไม่มั่นคง (Insecure) ในจิตใจ ซึ่งแน่นอนว่าเกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็ก หรือระหว่างการเติบโตมา เจอเรื่องราวที่กระทบกระเทือนจิตใจ
.
รูปแบบความสัมพันธ์ของคน Insecure คือต้องการความรักและอยากให้คนรักตอบแทนเราด้วยสิ่งเดียวกัน บุคคลจะมองหาพื้นที่ปลอดภัยจากคนรัก และกลัวการถูกทอดทิ้ง หลายๆ ครั้งจึงยอมทำตามใจคนรักตลอด เพื่อให้เขารักเราตอบ ไม่กล้าบอกความในใจเพราะกลัวเขาหนีเราไป หรือถ้ามีอะไรที่ผิดพลาด เราจะเริ่มต้นด้วยการโทษตัวเองก่อนเป็นอย่างแรก
.
ทั้งนี้ทั้งนั้น เรากลับมาดูเรื่อง “ความสัมพันธ์” กันก่อนดีกว่า
.

Cute couple in a city. Lady in a white dress. Pair sitting on a cafe


John Bowlby จิตแพทย์ชาวอังกฤษ เจ้าของทฤษฏี Attachment theory กล่าวว่า ในวัยเด็ก ความสัมพันธ์นั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เหมือนเป็นสิ่งปลอดภัยสิ่งเดียวที่จะทำให้ดำรงชีวิตต่อไปได้ การตอบสนองจากผู้เลี้ยงดูจะสร้างให้เด็กเกิดความคาดหวังในความสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู และสุดท้ายจะกลายเป็นความคาดหวังต่อบุคคลที่ผูกพันด้วยอย่างคงทนไปตลอดชีวิต
.
และ Kim Bartholomew ก็ได้พัฒนารูปแบบความผูกพันออกมาได้ 4 แบบ ได้แก่
1. รูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง (Secure) บุคคลจะรู้สึกสบายใจเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เห็นคุณค่าในตนเองและให้ความสำคัญกับการเป็นตัวของตัวเอง
2. รูปแบบความผูกพันแบบหมกมุ่น (Preoccupied) บุคคลจะมีความรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า วิตกกังวลในความสัมพันธ์ และจะพยายามอย่างมากที่จะเข้าหารวมถึงการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้อื่น และอยากได้การยอมรับจากคนที่ใกล้ชิดด้วย ซึ่งรูปแบบความผูกพันแบบหมกมุ่นนี้แหละ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง ที่เรากำลังพูดถึง
3. รูปแบบความผูกพันแบบหมางเมิน (Dismissing) บุคคลจะปฏิเสธและหลีกเลี่ยงที่จะใกล้ชิดกับผู้อื่น ให้คุณค่ากับความอิสระ และคิดว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดมันไม่จำเป็น
4. รูปแบบความผูกพันแบบหวาดกลัว (Fearful) บุคคลจะมีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ หวาดกลัวที่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเพราะกลัวจะถูกปฏิเสธ มีความวิตกกังวลในความสัมพันธ์อย่างมาก

Couple having an argument at the cafe


.
อย่างที่เกริ่นไปในตอนต้นว่า เมื่อใครคนหนึ่งอ่อนแรงลงในความสัมพันธ์ ก็ย่อมจะต้องมีอีกคนที่มั่นคงกว่า มาประคองความรักเอาไว้ เพื่อให้เดินหน้าไปต่อได้ แต่ปัญหาที่เกิดคือ คนที่ Insecure อาจจะเผลอทำให้คน Secure เริ่มไม่มั่นคงได้ ไม่ได้การซะแล้วแบบนี้!
.
• สร้าง Self-esteem ให้กับตัวเอง เพราะงานวิจัยต่างๆ บอกว่า คนที่ Insecure มักจะมีการเห็นคุณค่าในตนเองที่ต่ำ วิธีเพิ่ม Self-esteem ง่ายๆ อูก้าเคยนำเสนอไปบ้างแล้ว ลองมาอ่านโพสต์นี้กันดูนะ (มาเพิ่ม Self-Esteem กันเถอะ)
.
• ดูแลตัวเองให้ดี ทำให้ตัวเองมีสุขภาพทั้งกายและใจที่ดี ดูแลและใส่ใจความต้องการของตนเอง ไม่ใช่ว่าเราจะดูแลแต่คนรักแล้วไม่สนใจตัวเอง ทำให้ตัวเองดึงดูดและน่าสนใจโดยการหากิจกรรมอื่นๆ ทำ นอกจากการตามติดคนรักไปตลอด ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง กับกิจกรรมที่อยากทำ
.
• เชื่อมั่นในตัวเอง ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์แบบ Secure จะต้องเชื่อมั่น เชื่อใจในตัวคนรัก แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือเชื่อในตัวเราเอง รู้ว่าลึกๆ ความต้องการของตัวเองคืออะไร ไม่ลืมว่าเราเป็นใคร เชื่อมั่นในความรู้สึกที่ตัวเองมี อย่าหนีหรือเก็บมันไว้
.
• ให้อิสระกับคนรักบ้าง เราไม่จำเป็นจะต้องตามคนรักไปทุกๆ ที่ ตัวติดกันเป็นปาท่องโก๋ แต่ละคนย่อมมีชีวิตและสังคมของตัวเอง เราเองก็เช่นกัน การที่เราปล่อยคนรักไปพบปะเพื่อนฝูง ไม่ได้แปลว่าเขาจะไปมีคนอื่นจนทำให้เราคิดมาก เขาไม่ได้ทำร้ายจิตใจเรา อย่าให้ความคิดลบๆ มาอยู่เหนือความจริงเลยนะ
.
• อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ถ้าเรารู้สึกว่าใช้เวลาในโซเชียลมีเดียมากเกินไปแล้ว พยายามตามส่องดูคนรักเก่าของแฟน หรือเพื่อนๆ ที่เขาไปสังสรรค์ด้วยมากเกินไป จะทำให้เราวิตกกังวลมากขึ้นจนกระทบจิตใจเรา คุณคือคนที่ดีในแบบของตัวคุณเอง ไม่ต้องไปเทียบกับคนเก่าๆ หรือเพื่อนๆ ของเขาหรอกนะ
.
หากใครยังมีความรู้สึกกังวลในความสัมพันธ์ เครียด วิตกกับสิ่งต่างๆ รอบตัวจนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เราอยากลองให้เข้ามาพูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านแอปพลิเคชัน ooca นะ อูก้ายินดีที่จะรับฟังทุกคนเสมอ

Read More