Paranoia จัด ๆ เห็นข่าวโควิด “นี่เราติดหรือยังนะ?”

เจ็บคอนิด ๆ เราติดโควิดหรือยังนะ ?

เพื่อนเพิ่งตรวจเจอแล้วเราเพิ่งเจอมัน ทำยังไงดี ?

หันไปทางไหนก็มีแต่เรื่องโควิด เบื่อที่ตัวเองกังวลอะไรแบบนี้ทุกวัน อยากรู้นักว่าทำไมโควิดถึงทำให้เรานอยด์ง่ายนอยด์เก่งแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ☹️

จะบอกว่าจริง ๆ อาการนอยด์หรือหวาดระแวง (Paranoia) เกิดขึ้นได้กับทุกคน เป็นภาวะผิดปกติทางความคิดที่ทำให้ระแวงสงสัยโดยไม่มีเหตุผล ส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น มีนิสัยไม่เป็นมิตรเข้าสังคมลำบาก ถ้านอยด์ในระดับทั่ว ๆ ไป เราอาจจะมีความกังวล หวาดกลัว รู้สึกคิดมากเครียดง่าย ไม่ไว้ใจใคร แต่ถ้ามีอาการระแวงในระดับสูงอาจถึงขั้นหลงผิดคิดไปว่ามีคนประสงค์ร้ายกับเรา ทำให้มองโลกในแง่ร้าย ชอบแยกตัว บางคนอาจมีชุดความคิดที่บิดเบือนไป เช่น เชื่อบางสิ่งที่ไม่มีเหตุผลและไม่เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่รู้สึกนอยด์จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางจิตเวช เช่น บุคลิกภาพผิดปกติแบบหวาดระแวง (Paranoid personality disorder) โรคจิตเภทแบบหวาดระแวง (Paranoid Schizophrenia) แต่ “นอยด์” เป็นศัพท์ที่คนใช้กล่าวถึงอารมณ์เบื่อหน่าย คิดมาก ไม่พอใจ ไปจนถึงเหนื่อย เครียด กังวล ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเวลาที่ต้องปรับตัวต่อสถานการณ์ที่คุกคามเราในแง่ของการใช้ชีวิตหรือจิตใจ

😰 ทำไมต้องนอยด์กับโควิด คิดว่าเราติดหรือยัง ?

“นอยด์” เป็นความรู้สึกธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ อย่างที่บอกว่าโควิดไม่ใช่สถานการณ์ปกติแต่มันทำให้ความปลอดภัยในชีวิตเราหายไป จิตใจก็เลยไม่มั่นคง โดยเฉพาะการใช้ชีวิตประจำวันที่เราต้องเดินทาง ต้องพบปะผู้คน การเสพข่าวหรือรับรู้ว่ามีคนมากมายติดโควิด แล้ววงนั้นก็ตีแคบเข้ามาจนเป็นเพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิทหรือแม้แต่คนในครอบครัวที่ติด แล้วเราจะรอดไปอีกนานแค่ไหน ?

ความกังวลก็แผ่ขยายเป็นความระแวง คิดไปว่าเราอาจจะไม่รอด บ้างก็คิดไปว่าเราติดโควิดไปแล้ว จนสิ่งเหล่านี้กระทบต่อสุขภาพกายและใจ ทำให้เราเครียด นอนไม่หลับ ไม่อยากเจอใคร ไร้ซึ่งพลังบวกในชีวิต จะให้เพื่อนช่วยกระตุ้นดึงความสดใสก็อดระแวงไม่ได้ว่าเพื่อนติดหรือเปล่า บางคนเป็นแล้วรักษาหายแล้วเรายังไม่กล้าไปเจอมันเลย พูดแล้วก็นอยด์ขึ้นมาจนจัดการความรู้สึกนี้ไม่ได้สักที

จะบอกว่าการแยกแยะความจริงไม่จริงนั้นสำคัญมาก ไม่ผิดเลยที่เราห่วงความปลอดภัยของตัวเองและคนที่เรารัก แต่อย่าลืม “ตั้งสติ” อาการนอยด์ เกิดจากความคิดล้วน ๆ จะคิดถูกคิดผิดคิดเยอะก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ลองสังเกตดูจะเห็นว่า ยิ่งช่วงโควิดบังคับให้เราต้องแยกตัวจากสังคมยิ่งทำให้ความคิดเตลิดได้ง่าย เพราะเราจะคิดเยอะเวลาที่ความรู้สึกโดดเดี่ยวเพิ่มขึ้น

😢 ใจเรามีแค่นี้ จะทำให้นอยด์ไปถึงไหน ?

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์โควิดมาไกลเหลือเกินและการจัดการปัญหาในตอนนี้ก็ไม่ได้สร้างความมั่นคงทางใจให้เรามากพอ สิ่งที่เราทำได้คือการโฟกัสสุขภาพใจตัวเอง ไม่ให้พลังลบติดค้างใจจนต้องนอยด์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ากังวลว่าจะติดโควิดไหม ? เราทำดีที่สุดคือลดความเสี่ยงเท่าที่ทำได้หรือถ้ารู้ว่าเพื่อนติดเราก็อาจจะเลี่ยงการพบกันไปสักระยะจนกว่าตัวเราจะสบายใจ

หลายคนกลัวแต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธเมื่อถูกเพื่อนชักชวนหรือจำเป็นต้องเดินทาง ซึ่งเรารับรู้ว่ามันเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด อย่ากดดันหรือรู้สึกไม่ดีที่เราจะปฏิเสธบางอย่างเพื่อความสบายใจ เพราะเราแค่กำลัง “ดูแลตัวเอง” หากเลี่ยงไม่ได้ให้เราทำดีที่สุดเท่าที่เราไหวและดูแลใจตัวเองให้ดี ยึดความจริงและเสพข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง หากมองในแง่ดีอาการนอยด์ก็ช่วยให้เราระมัดระวังตัวมากขึ้นและพยายามดูแลตัวเองเช่นกัน

อย่างที่ได้ยินกันเสมอ โควิดอยู่เหนือการควบคุมของเรา เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเองที่เราใช้ชีวิตในแบบปกติไม่ได้ แต่อาการนอยด์ก็มีแต่จะบั่นทอนใจเราให้ยิ่งบอบช้ำในสถานการณ์แบบนี้ ดังนั้นให้เชื่อใจตัวเองไว้และจัดการกับความรู้สึกนอยด์ที่มันควบคุมเรา เพราะสุขภาพใจสำคัญที่สุดเสมอ 💙

หากนอยด์หนัก คิดลำพังไม่ไหว ใจไม่นิ่งสักที อย่าปล่อยอารมณ์นอยด์กดทับใจคุณ ในเมื่อคุณมีอูก้า บริการปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่พร้อมช่วยรับฟังและแบ่งเบาความนอยด์ของคุณ ไม่ว่าจะปัญหาอะไรก็สามารถพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญของอูก้าได้เสมอ เรื่องของใจให้เรารับฟังนะ 🙂

#OOCAstory

________________________________⠀⠀⠀⠀

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/dtvL
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ > https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > http://bit.ly/msgfbooca.⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

Read More

“เพื่อนหาย อยากได้คืน” ไม่เจอตัว มองแต่จอ มิตรภาพจะจืดจางไหม ?

“เข้าลิงก์นี้เลย เจอกันทุ่มนึง”

“คืนนี้ beer night หน่อยมั๊ยเพื่อน ?”

“ไม่อยากดูหนังคนเดียว ขอ movie night กับพวกแกหน่อย”

จากที่เคยบอกว่าเจอกันร้านไหน ทุกวันนี้กลับเปลี่ยนไปกลายเป็นเปิดจอเพื่อคุยกันแทน เพราะช่วงโควิดที่ยาวนานสุดแสนจะเบื่อ อยากไปชิลกับเพื่อนตามคาเฟ่ร้านอาหารแต่ดันปิดแล้วปิดอีก ไม่รู้รอบนี้จะยาวแค่ไหน กลายเป็นนัดเจอเพื่อนที่ไหนก็ไม่สะดวก กี่ครั้งกี่ทริปมีแต่ล่ม แถมบางช่วงต้องกักตัวยาว สุดท้ายได้แต่ส่งไลน์ไปทัก ส่องเฟสบุ๊กไอจีกันและกันวนไป 😰

หลายคนเลยเปลี่ยนวิธีนัดหมายหันมาคุยกันผ่านจอ เจอเพื่อนแบบเสมือนจริง (Virtual meeting) แทน เพราะไม่อยากจะห่างหายกันไป แต่จริงๆ แล้วเรารู้สึกห่างเหินกับเพื่อนบ้างหรือเปล่า ? หรือก็ยังรู้สึกว่าแนบแน่นดี บางคนรู้สึกว่าถ้าไม่นัดกันแบบออนไลน์ก็คงไม่มีทางได้ใช้เวลากับเพื่อนเลย ในช่วงที่ทุกคนอยู่แต่บ้านไม่ก็ work from home กันเป็นเดือน ๆ 😓

เจอกันผ่านจอยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

แน่นอนว่าคุยไลน์ก็ไม่เหมือนเจอหน้า สังสรรค์ผ่านจอก็อาจไม่สนุกเท่าเจอตัวจริง แต่การที่เรายังพยายามหากิจกรรมอะไรทำร่วมกัน ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าเราให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับอีกฝ่าย อย่างน้อยในช่วงที่ห่างกันต่างคนต่างยังหาเวลาเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะด้วยคิดถึงหรือห่วงใย เชื่อว่าการเจอกันผ่านจอก็ยังช่วยกระชับมิตรภาพได้และทำให้รู้สึก feel good ไม่มากก็น้อย ถือเป็นวิถีใหม่สำหรับใช้เวลาร่วมกับคนสำคัญ

รักษาความสัมพันธ์กันด้วย ‘ความสม่ำเสมอ’

เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนมีเพื่อนที่ไม่เจอกันเป็นปี ๆ แต่พอได้นัดกี่ที ๆ ก็รู้สึกสนิทใจเหมือนเดิม เราอาจลองจินตนาการว่านี่คือความรู้สึกเดียวกัน ถึงแม้ว่าตัวจะอยู่ห่างไกลกันคนละที่ ก็ใช่ว่าเราจะต้องคุยกันทั้งวันทั้งคืน หรือนัดเจอกันในจอเป็นมีตติ้งอะไรจริงจัง เพราะการอยู่บ้านนาน ๆ อาจทำให้หลายคนคุ้นชินกับการอยู่คนเดียว จนเหนื่อยล้าเวลาเจอคนได้

ถ้าต้องบังคับตัวเองให้เปิดคอม เข้าลิงก์ เพื่อที่จะคุยกับเพื่อนอีก อาจรู้สึกเบื่อหน่ายกับการสังสรรค์เข้าไปใหญ่ ดังนั้นการหมั่นคุยด้วยความสม่ำเสมอจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับทุกคน ถามไถ่กันวันละนิดวันละหน่อย คุยกันในเวลาที่สบายใจและแลกเปลี่ยนในเรื่องราวที่ได้พบเจอมา น่าจะทำให้เรามีบทสนทนาใหม่ๆ และไม่ห่างหายกันไปไหน

เหมือนที่เราชอบพูดกันว่า “ไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นคุณภาพ” การสื่อสารกับเพื่อน หรือคนอื่นเพื่อรักษาความสัมพันธ์ก็น่าจะเป็นไปในรูปแบบนั้นเช่นกัน แค่ทุก ๆ ครั้งที่คุยกันแล้วได้ส่งต่อความรู้สึกเชิงบวกก็ดีต่อใจแล้ว ต่อไปคือการรักษาสมดุลระหว่าง Virtual meeting และ Face-to-Face meeting เมื่อมีโอกาส ถึงแม้การเจอกันต่อหน้าจะดูยั่งยืนและดูมั่นคงต่อความสัมพันธ์มากกว่า แต่มันก็คือการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่างเพื่อที่จะคงความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างไว้ 🙂

ข้อดีของความห่างคือรู้จักหาเวลาให้กันและกัน

จากที่เราเจอหน้าเพื่อนง่าย ๆ วันนี้สถานการณ์อาจทำให้เราได้ฉุกคิดถึงความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบที่อยู่ในชีวิตและประเมินดูว่าที่ผ่านมา เราให้น้ำหนักกับความสัมพันธ์ต่าง ๆ เหมาะสมดีหรือไม่ ? เพราะการเจอแบบ Virtual meeting นั้นเราสามารถทำได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นครอบครัว แฟน เพื่อนสนิท หรือแม้แต่ในเรื่องงาน

ลองหาวิธีการสื่อสารใหม่ ๆ ที่ช่วยซัพพอร์ตให้ความสัมพันธ์ยังคงมีความหมายในระยะเวลาที่ต้องห่างกัน ปกติเราก็พลาดงานสังสรรค์หรือเจอเหตุการณ์ ‘นัดล่ม’ อยู่บ่อย ๆ เราอยากบอกว่า Virtual meeting ก็ช่วยได้ เพราะไม่ใช่แค่ทักทายแต่การพูดคุยถึงเรื่องราวดี ๆ การเล่นเกมหรือดูหนังด้วยกัน ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องรอให้เจอหน้ากันถึงทำได้ เพราะเทคโนโลยีได้คิดค้นมาเพื่อเราแล้ว เหลือแค่ต้องนำไปใช้เพื่อสร้างความทรงจำดี ๆ กับคนที่เราคิดถึง

อย่าเพิ่งโอดครวญว่าการไม่เจอหน้าทำให้มิตรภาพจืดจางไป หากความใส่ใจยังคงอยู่ เชื่อว่าทุกคนจะมีวิธีรักษาความสัมพันธ์ในแบบที่เหมาะกับตัวเองแน่นอน และหากรู้สึกไม่สบายใจหรือเหงาเพราะการรักษาระยะห่าง ก็สามารถเลือกอูก้าเป็นเพื่อนรู้ใจไว้พูดคุยได้นะ จิตแพทย์และนักจิตวิทยาของเราพร้อมรับฟังทุกปัญหาใจของทุกคนเสมอ 💙💚

#OOCAstory

________________________________⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/qYhz
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ > https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > http://bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

Read More

การตีตราที่สวนทางกับประโยค “สมัยนี้เราควรมองข้ามเรื่องเพศกันได้แล้ว”

ทำไมการตีตราหรือคำดูถูกถึงชอบมาพร้อมกับ ‘เพศ’ ? 🤔

ไม่ว่าจะของเล่นในวัยเด็ก เสื้อผ้าที่เราใส่ ไปจนถึงภาษาที่ใช้ ชีวิตประจำวันเราถูกสอดแทรกด้วยการแบ่งเพศ การจะถอดถอนวิถีปฏิบัติที่ฝังอยู่ในสังคมวัฒนธรรมหรือแม้แต่ศาสนาย่อมเป็นเรื่องยาก แม้ homosexuality หรือ ‘รักเพศเดียวกัน’ จะถูกตัดออกจากกลุ่ม ‘ความผิดปกติทางจิต’ ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders-DSM) ไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1974 แล้ว แต่ความหลากหลายทางเพศก็ยังผูกติดกับ ‘ความผิดปกติ’ เพียงเพราะเราไม่สามารถจำแนกออกเป็นชายหรือหญิงได้

แน่นอนว่าความแตกต่างก็นำไปสู่ ‘ความแตกแยกทางความคิด’ ขณะเดียวกันมนุษย์เราก็ไม่อยากเป็นคนใจแคบในยุคที่สังคมเปิดกว้าง กลายเป็นพฤติกรรม ‘เหยียดหยาม’ ที่สวนทางกับคำพูดว่า ‘ยอมรับ’ ไปจนถึงการนำเสนอแบบผิด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนิยาม ‘เพศ’ ในเชิงเพศสภาพ (gender) เพศวิถี (sexuality) หรือเพศสรีระ (sex) สุดท้ายก็วกกลับมาที่ประเด็น “คุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนเราเท่ากันจริงหรือไม่ ?”

สมัยนี้ (ที่อาจยังมาไม่ถึง) เราควรมองข้ามเรื่องเพศกันได้แล้ว 🙂

เราได้ยินประโยคนี้จนชินแต่สุดท้ายก็เผลอปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไม่เหมาะสม เพราะอะไร ? ส่วนหนึ่งมันคือการไหลตามของกระแสสังคม มีการวิจัยในหัวข้อการศึกษาเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศสถานะ และการแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศในสื่อ นำทีมโดยอาจารย์กังวาฬ ฟองแก้ว ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ใช้เวลา 1 ปีในการเก็บตัวอย่างข่าวที่เกี่ยวกับคนหลากหลายทางเพศ จากการสุ่มเลือกตัวอย่างสื่อทั้งหนังสือพิมพ์ และสื่อโทรทัศน์มาทั้งหมดราว 870 ข่าว พบว่า 65% มีการเผยแพร่ข่าวในเชิงกระตุ้นอารมณ์แต่เนื้อหาไม่ได้ก่อให้เกิดความสำคัญใด ๆ ต่อสังคม โดยเฉพาะหมวดบันเทิง มีเพียง 1 ใน 3 ของข่าวที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ศิลปวัฒนธรรม และการศึกษา ซึ่งล้วนเป็นข่าวต่างประเทศทั้งสิ้น

สิ่งที่น่ากังวลคือการนำเสนอข่าวได้สร้างภาพบางอย่างหรือการตีตราที่ติดตัวกลุ่ม LQBTQ+ ไปด้วย ผลวิจัยของอาจารย์กังวาฬ มองว่า ถ้อยคำที่รุนแรงที่ใช้คือการคุกคามและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยกตัวอย่างกลุ่มหญิงรักหญิง (Lesbian) มักมีคำว่า ดนตรีไทย ลดตัวคบทอม กลิ่นเลสเบี้ยนโชย ฯลฯ พร้อมทั้งภาพที่แฝงนัยยะทางเพศให้คนไปตีความต่อหรือวิจารณ์กันสนุกปาก ทางด้านเกย์ (Gay) ก็ต้องเจอกับการพ่วงด้วยภาพของกลุ่มที่หมกมุ่นเรื่องเพศ มีโรคเอดส์ การเสพยาและอาชญากรรม หรือเป็นการตีตราเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของคนที่เป็นข่าวด้วย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) และอีกมากมายที่ถูกตั้งฉายาจนเราเคยชินและลืมไปว่านี่คือการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน

เพราะเราขาดความรู้ความเข้าใจ หรือลึก ๆ แล้วเราต่างมีอคติอยู่ ? 🤭

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จัดทำงานวิจัยที่ชื่อว่า ‘รับได้แต่ไม่อยากสุงสิง: การสำรวจระดับชาติเกี่ยวกับประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ และทัศนคติของสังคมที่มีต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย’ ผลลัพธ์น่าสนใจมาก ๆ ตรงนี้คนส่วนใหญ่บอกว่าการยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่นอกครอบครัวมากกว่าที่จะยอมรับคนในครอบครัวตัวเอง และถึงแม้ทัศนคติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจะเป็นบวก รวมถึงเข้าใจและอยากผลักดันให้เกิดความเท่าเทียม แต่การยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังเป็นเรื่องยากสำหรับคนใกล้ตัว อย่างครอบครัว กลุ่มเพื่อน และในชนบท

เรอโนด์ เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทยพูดถึงประเด็นนี้ว่า “ถึงแม้สังคมไทยจะมีการยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และเป็นที่รู้จักมากขึ้นในพื้นที่สื่อและสังคม แต่ยังมีคนที่มีความหลากหลายทางเพศอีกไม่น้อยที่ถูกคุกคามเพียงเพราะตัวตนของพวกเขา”

คุณเต้-ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก ผู้อำนวยการบริษัท กันตนา กรุ๊ปและนักผลิตรายการชื่อดังมากมายเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเขาถูกจัดอยู่ในกลุ่ม L, G, B, หรือ T มาหมดแล้วแต่หากถามใจแล้วก็ไม่ได้อยากถูกจำกัดอยู่ในคำไหนเลย เพราะมองตัวเองเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าจะเพศใด มีไลฟ์สไตล์แบบไหนก็มีความสามารถ มีคุณค่าความเป็นมนุษย์และควรมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน 🌈

นี่อาจจะถึงเวลาที่เราต้องมองข้ามเรื่องเพศ แล้วหันมามองกันที่ความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น 🙂

ไม่ว่าเราจะเป็นอย่างไร ใครจะตัดสินเราแบบไหน สิ่งที่ห้ามลืมก็คือการรับรู้ตัวตนและคุณค่าของตัวเองคือสำคัญที่สุด บางครั้งแค่เราชอบตัวเองและพร้อมจะโอบกอดมันเอาไว้ก็เพียงพอแล้ว อูก้าเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังต่อสู้กับเสียงรอบตัว หากมีเรื่องราวอยากพูดคุยปรึกษาก็สามารถดาวน์โหลดแอปฯหรือเข้าเว็บไซต์ของอูก้าได้เพื่อนัดกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาของเราได้เลย สะดวกทุกที่ทุกเวลา พร้อมดูแลสุขภาพใจให้คุณเสมอ ❤️🧡💛💚💙💜

#OOCAknowledge

—————————————————

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/WS1i
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

อ้างอิงจาก

https://www.posttoday.com/politic/report/402619

https://thematter.co/thinkers/homophobia-with-in-words/68832

https://www.facebook.com/watch/?v=10157883620684848

https://www.thaipbspodcast.com/podcast/genderfocus/EP61-สังคมตีตรา_ร้ายกว่า_เอชไอวี

https://www.undp.org/content/undp/en/home/librarypage/democratic-governance/tolerance-but-not-inclusion.html

Read More

เลิกใช้คำว่าวิปริตผิดเพศ เพราะ “คุณค่าของฉัน” ไม่ได้อยู่ที่เพศ

“ผิดเพศหน่ะมันเป็นเรื่องของบาปกรรม”

“สับสนทางเพศแบบนี้ แก่ตัวไปจะอยู่กับใคร”

“โชคดีนะที่ลูกเราปกติ ไม่เป็นเหมือนคนนั้น”

สารพัดอคติที่หลั่งไหล่เข้ามา จะกี่เดือนกี่ปี ก็ยังมีความข้อความเหล่านี้ให้ได้เห็นกันอยู่ แม้เราจะคิดว่าปัจจุบันโลกของเราก้าวหน้ามาไกลแล้ว รวมถึงเรื่องเพศหรืออัตลักษณ์ก็เปิดกว้างกว่าหลายปีก่อนมาก มีการ come out และมีบุคคลมีชื่อเสียงมากมายที่ออกมาพูดถึงเรื่อง LQBTQ+ ในสังคม ถึงแม้จะสามารถสร้างความตระหนักได้มากขึ้น แต่แน่นอนว่าอคติก็ไม่ได้หมดไป 😢

เพื่อนเราหลายคนเล่าให้ฟังว่าการพูดคุยกับที่บ้านก็ยังเป็นเรื่องยาก ความเชื่อหรือค่านิยมบางอย่าง ยังคงตอกย้ำอยู่เสมอว่าสังคมควรมีแค่ “เพศชาย” และ “เพศหญิง” ส่วนบุคคลที่นอกเหนือจากนี้ กลับถูกมองว่า “แปลก” อาจถูกเรียกด้วยคำจำกัดความต่าง ๆ ไปจนถึงตีตราว่า “วิปริตผิดเพศ” หรือถูกกีดกันให้อยู่ในกลุ่ม “อื่นๆ”

มันสำคัญมากแค่ไหนกับการแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ตาม “เพศ”

เพศ (Gender) เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าโลกนี้มีชายและหญิง การกำหนดเพศสภาพขึ้นมาเกิดจากหลายเหตุปัจจัย ถ้าพูดในแง่ของวิทยาศาสตร์ เราอาจแยกตามโครงสร้างร่างกาย หากพูดในเชิงสังคมก็คือการแบ่งกลุ่ม กำหนดบทบาท หน้าที่ สิ่งที่ตามมาจากการแบ่งเพศคือ เรามีคำศัพท์เฉพาะสำหรับชายหญิง เช่น “ค่ะ/ครับ” มีการตั้งชื่อที่รู้กันว่าชื่อนี้เหมาะกับเด็กผู้ชาย ชื่อนั้นเหมาะกับผู้หญิง  มีการใช้สัญลักษณ์หรือสีแทนเพศ อย่างสีฟ้าสีชมพู ฯลฯ 😅

เพศไม่ได้จบแค่การแบ่งมนุษย์ออกเป็นกลุ่ม แต่เกี่ยวพันไปถึงการปลูกฝังค่านิยมและทัศนคติบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงต้องอ่อนหวาน รู้จักดูแลบ้าน ได้รับการอบรมให้เป็นแม่และภรรยาที่ดี ส่วนผู้ชายจะต้องปกป้องครอบครัว มีความเข้มแข็ง ห้ามร้องไห้ต่อหน้าคนอื่น สุดท้ายก็นำไปสู่ความคาดหวังต่อบุคคลหนึ่งตามเพศของเขา เมื่อเขาไม่เป็นไปตามสิ่งที่สังคมหรือคนรอบตัวคาดหวัง เรากลับมองว่าเขาล้มเหลวหรือผิดแปลกจากคนอื่น

เป็นเรื่องยากที่ต้องรับมือกับคำพูดและการกระทำที่สื่อไปในทางลบ ไม่ว่าจะคำล้อเลียนจากเพื่อน ความคาดหวังจากครอบครัว ไหนจะความกดดันในสังคมที่เราเติบโตมา ยิ่งต่างเชื้อชาติ วัฒนธรรม ทุกอย่างก็ยิ่งซับซ้อนไปหมด บางคนอาจถึงขั้นถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อกลับมาเป็นอย่างที่สังคมบอกว่าเรา ‘ควร’ เป็น มิฉะนั้นเราก็อาจถูกตีตราว่าเป็นคนโรคจิต วิปริตหรือครอบครัวอาจจะต้องอับอาย ทั้งที่ตัวตนข้างในเขาอาจมีคุณค่าอื่น ๆ ซ่อนอยู่มากมาย ถ้าเรามองเขาในฐานะ ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง

เลิกเถอะ…การใช้คำพูดตีตราคนอื่น เพราะ ‘คุณค่าของมนุษย์คนหนึ่ง’ ไม่ควรถูกกำหนดด้วยอะไรเลย

หลายคนหันมาสนับสนุนแนวคิด ‘Post Genderism’ หรือ ‘โลกหลังการมีเพศ’ ✨

อธิบายง่าย ๆ คือ การมองมนุษย์แบบไม่มีเพศ ไม่ใช่แค่ชายหญิงแต่รวมถึงการไม่ LGBTQ+ ด้วย อย่างที่ George Dvorsky เคยกล่าวในบทความวิชาการว่า “Post-genderist เชื่อว่าเพศสภาพนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและเป็นขีดจำกัดที่ไม่จำเป็นต่อการพัฒนาของมนุษย์” ซึ่งก็มีกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดนี้เพราะมองว่าการห้ามหรือบังคับให้กระทำบางสิ่งบางอย่าง เพียงเพราะเขาเป็นเพศนั้นเพศนี้ควรจะยุติเสียที รวมถึงอคติที่มองกลุ่ม LGBTQ+ ด้วย stereotype ที่ฝังรากลึกในสังคมก็ควรถูกแก้ไขด้วย 🤔

ในขณะเดียวกันก็ยังมีคนจำนวนมากที่เชื่อว่าคำว่า ‘เพศ’ ไม่มีทางหายไป เพราะจุดเริ่มต้นของมนุษย์ยังถูกกำหนดด้วยโครโมโซมและสภาพร่างกายตามที่ธรรมชาติให้มา รวมถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่าง คนที่เกิดมามีสองเพศหรือคนที่เกิดมาไม่มีเพศ ไปจนถึงความแตกต่างระหว่าง Sex และ Gender และที่ถกเถียงกันมาตลอดอย่างเรื่อง “รสนิยมทางเพศ” หากจะพูดทั้งหมดนี้เชื่อว่าเราคงไม่มีทางหาข้อสรุปได้ รวมถึงไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจในแนวคิดในแนวคิดหนึ่งได้

แต่สิ่งที่เราอยากสร้างความตระหนักมากที่สุดคือ “คุณค่าของมนุษย์” หรือ “ตัวเรา” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นใดเลย ไม่ว่าจะเป็น เพศ เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ฯลฯ แม้การแบ่งแยกจะยังไม่หมดไป แต่การใช้คำพูดรุนแรงเพื่อต่อว่าหรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ต่างหากที่สามารถแก้ไขได้

แน่นอนการต่อสู้กับอคติจะเป็นเรื่องเลวร้าย แต่เราเชื่อว่าความคิดและการกระทำของคนอื่นจะไม่มีผลกับใจ ถ้าวันนี้ “คุณยังชอบตัวเองอยู่” เริ่มต้นที่การยอมรับตัวเองอย่างไม่มีเงื่อนไข มอบความอ่อนโยนและอ้อมกอดให้ตัวเองบ้าง ความรู้สึกลบ ๆ ที่รบกวนใจจะได้เบาบางลง ไม่ต้องคาดหวังให้ทุกคนยอมรับ ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเอง เราสามารถเป็นตัวเราที่สร้างสิ่งดี ๆ และมีความสุขได้เหมือนคนอื่น 🙂

อูก้าขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังค้นหาคุณค่าของตัวเองและต่อสู้เพื่อบางสิ่งบางอย่างอยู่ ไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหน อูก้าขอเป็นพื้นที่ปลอดภัยในคุณได้พูดคุยปรึกษาทุกปัญหาใจอย่างไม่มีเงื่อนไข เราพร้อมดูแลคุณเสมอ ❤️🧡💛💚💙💜

#OOCAstory #Pride
—————————————————

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/lgbtqstrfb
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

Read More
เครียด ซึมเศร้า พบจิตแพทย์

“สารพัดสิ่งที่คนวัย 30 ต้องมี” เวิร์กจริงไหม ? ใครกำหนด ?

บ้าน รถ ที่ดิน การศึกษา งานที่มั่นคง เงินเก็บ มีแฟน แต่งงาน มีลูก ตอบแทนพ่อแม่
สิ่งที่ยกตัวอย่างมากสำหรับแต่ละคนมีน้ำหนักมากน้อยต่างกัน
แต่ก็นับเป็นปัจจัยที่หลายคนรู้สึกว่า “จำเป็นต้องมี”

นอกจากความฝันและเป้าหมายในชีวิตที่เราพยายามก้าวไป
ธงที่เราปักไว้ว่าต้องทำให้สำเร็จก่อนเข้าวัย 30 ก็มีเยอะมากกก
แล้วสิ่งที่เราคิดเป็นสิ่งที่จำเป็นกับเราจริง ๆ เพราะมันสำคัญ
หรือเราแค่คิดว่า “ต้องมี” เพื่อเติมเต็มอะไรบางอย่างในใจ

ถ้าเราทำได้ = ประสบความสำเร็จในฐานะมนุษย์คนนึง
แล้วถ้าเราไม่มีสิ่งที่ว่านี้ เราจะกลายเป็นคนล้มเหลวเลยหรือเปล่า ?

ใครริเริ่มความคิดที่ว่าอายุ 30 ต้องมีอะไรบ้าง ?

เราเห็นกระทู้ซักถามเรื่องนี้เยอะมาก เช่น อายุ 30 ควรมีเงินเก็บเท่าไหร่ ? ผ่อนบ้านด้วยเงินเดือนเท่านี้เป็นไปได้ไหม ? ฯลฯ อีกมากมาย แล้วก็มีหลายคอนเทนต์สร้างแรงบันดาลใจที่บอกเราว่าก่อนอายุ 30 เราควรมีอะไรเป็นของตัวเองบ้าง หากถามว่าการเผยแพร่ข้อมูลลักษณะนี้ก็น่าจะเป็นไปด้วยเจตนาดีที่อยากให้เราผลักดันตัวเอง มีแรงบันดาลใจในการตั้งเป้าหมาย เตรียมพร้อมกันการวางแผนชีวิตอย่างรอบคอบ

ในบางมุมเรารู้สึกกดดันไหมกับเสียงรอบข้างที่คอยบอกเราให้เป็นแบบนั้น แบบนี้
ถึงจะเรียกว่า “ดี” ตามบรรทัดฐานที่คนส่วนใหญ่มอง
หลายคนรับมือได้ ไม่เก็บมาใส่ใจ แถมยังรู้สึกท้าทายจากแรงกระตุ้นดังกล่าว
แต่บางคนก็บอบช้ำกับการกดดันตัวเอง ชีวิตที่ถูกคาดหวังไม่ใช่เรื่องสนุกเสียทีเดียว

เมื่ออายุแตะเลข 3 หลายคนรู้สึกว่านี่คือเส้นแบ่งของความสนุกกับความเป็นจริง
เข้าสู่การเป็น “ผู้ใหญ่” เต็มตัว เราต้องจริงจังและต่อยอดความมั่นคงให้ชีวิตตัวเองได้แล้ว
เพราะอีกครึ่งทางก็คือคำว่า “วัยเกษียณ”
จริง ๆ แล้วเราอาจจะกำลังถูก “การวางแผนอนาคต” วิ่งไล่หลัง
การเตรียมพร้อม เตรียมพร้อมและเตรียมพร้อม กำลังหลอกหลอนเรา

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขและความสุขของชีวิต ก็มาจากรูปแบบการใช้ชีวิตของเราเอง
เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับใคร หรือต้องมีให้ได้เท่าใคร
สำคัญที่เราไม่หยุดเดินไปหาเป้าหมายของตัวเอง ย้ำ ! เป้าหมายของเราเอง
ไม่ใช่เราไปยึดเป้าหมายที่คนอื่นบอก โดยที่เราไม่มีแรงใจจะขับเคลื่อนให้ไปถึง

การตระหนักรู้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการคือ “คำตอบ”
และความฝัน ควรสอดคล้องกับ ความเป็นจริง
นั่นถึงจะเรียกว่าเรามองโลกในแบบที่มันเป็น ไม่ใช่การฝันล้ม ๆ แล้ง ๆ หรือกดดันตัวเองจนเกินไป
ดังนั้นก่อนจะวางแผนว่าเราต้องมีอะไร ตอนอายุเท่าไหร่ ลองทำความรู้จักกับตัวเองให้ดีเสียก่อน

สุดท้าย…ไม่ว่าวัยไหน คุณก็สามารถเบ่งบานได้ในแบบที่คุณเป็น

แล้วอย่าปล่อยให้ความกังวลกดทับใจคุณ แม้จะมีอะไรหลายอย่างต้องเรียนรู้และทำให้คุณต้องลุกขึ้นสู้กับความโหดร้ายของโลกใบนี้ อูก้าพร้อมจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับใจคุณเสมอ สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของเราได้ทุกที่ทุกเวลา หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร มาเปิดใจให้รับฟังก่อนได้นะ

#OOCAstory


ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/30sblog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca.

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา
#mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

Read More
สุขภาพจิต เครียด ซึมเศร้า

ขออยู่เฉยๆได้ไหม ? ฉันไม่อยากเริ่มอะไรเพราะไม่อยาก ‘เฟล’

ตลอดชีวิตของเรา อาจมีความฝันนับร้อยนับพันอย่าง สารพัดเป้าหมายที่เราอยากจะไปให้ถึง แต่พอจะเริ่มออกเดินจริง ๆ กลับรู้สึกไม่มั่นใจ อยากหันหลังกลับ หรือไม่ก็ขออยู่เฉย ๆ แบบเดิมจะดีกว่า เป็นไปได้ไหมว่าที่เราไม่ยอมออกจากพื้นที่ปลอดภัยเป็นเพราะเรากำลัง ‘กลัว’

แม้การไม่ลงมือทำอะไรเลยจะไม่ใช่เรื่องน่ายินดี แต่สำหรับหลาย ๆ คนก็ยังดีกว่าต้องรู้สึก ‘เฟล’ หรือต้องยอมรับว่า ‘ฉันล้มเหลว’

‘ฉันไปไม่ถึงจุดที่ฉันตั้งใจไว้’ แน่นอนว่าการไม่ลงมือทำ หมายถึงโอกาสสำเร็จเป็นศูนย์ แต่อย่างน้อยเราก็มีข้ออ้างให้ตัวเองว่า ‘ฉันยังไม่ได้เริ่มเลย’ เพราะฉะนั้นยังไม่ถือว่าเป็นความล้มเหลว เหมือนเราสร้างเกราะขึ้นมาห่อหุ้มความกลัวของตัวเองและไม่จะยอมให้ตัวเองรู้สึกไม่ดี

เพราะความเฟลมันน่ากลัว … เพราะมนุษย์มีความต้องการ

เราอยากเป็นที่รักของคนอื่น อยากได้รับการยอมรับ อยากเติมเต็มเป้าหมายของตัวเอง

มนุษย์จึงสร้างกลไกปกป้องตัวเองขึ้นมา เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกลบทั้งหลายที่พุ่งเข้ามา ‘การไม่ทำอะไรเลย’ ก็เป็นการ play safe อย่างหนึ่ง

อีโก้ของเรากำลังบอกเราว่าอย่าทำอะไรให้ดูไม่ดีในสายตาคนอื่น อย่าปล่อยให้ตัวเองมีภาพลักษณ์ของผู้แพ้ติดตัว สิ่งเหล่านี้มาจากธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม เรามีตัวตนและเรียนรู้ที่จะสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง เพราะเราแคร์สายตาคนอื่น เมื่อเกิดการเปรียบเทียบระหว่างคนในสังคมเดียวกัน หากเราเป็นคนเก่ง คนดีก็จะทำให้เราได้รับการยอมรับมากกว่า

หากการเดินตามฝันทำให้เราเฉียดใกล้ความล้มเหลว แม้สุดท้ายเราอาจจะทำสำเร็จ แต่แค่เราจินตนาการถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (worst case scenario) ที่เป็นไปได้หรือความเจ็บปวดที่เกิดจากความล้มเหลว แล้วเรารู้ว่าตัวเองไม่สามารถรับมือกับมันได้แน่ ๆ การอยู่เฉย ๆ จึงเป็นทางออกที่เราเลือก

จริง ๆ แล้วเราอาจจะกำลังหวั่นไหวกับเสียงรอบตัวมากเกินไป มนุษย์เรามักรู้สึกเหมือนถูกจ้องมอง ถูกตัดสินจากสังคมตลอดเวลา ทั้งที่ความจริงอาจไม่ได้มีใครมาเพ่งเล็งชีวิตเราขนาดนั้น ถ้าเรากลับมาโฟกัสที่ตัวเองได้ แล้วค่อย ๆ ตั้งเป้าหมาย พยายามเข้าใกล้มันทีละนิด เราอาจพบว่าตัวเองเดินออกจากจุดเดิมมาได้ไกลกว่าที่คิด

แรงจูงใจจากภายในสำคัญที่สุด เป็นธรรมดาที่ชีวิตเราจะพบเจอกับเรื่องเฟล ๆ สิ่งสำคัญคือการรับมือและก้าวผ่านความรู้สึกล้มเหลวไปให้ได้ ถ้าเราเข้าใจว่าสิ่งที่เราตั้งใจสำคัญกว่าสายตาของคนอื่นและเราก็เติบโตจากความล้มเหลวได้ เราจะมีความกล้าในการเปิดประตูอีกหลายบานข้างหน้า

สิ่งที่เราทำอาจจะเฟล แต่นั่นไม่ได้วัดคุณค่าที่เรามี ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เราทุ่มเทไปไม่มีความหมาย

เพราะอย่างน้อยเราก็กล้าที่จะออกเดิน เราเอาชนะความกลัวได้

อย่าลืมขอบคุณตัวเองที่ “ฉันได้พยายามแล้ว :)”

วันนี้ถ้ายังไม่พร้อมไม่เป็นไร คุณไม่จำเป็นต้องฝืนใจ หากอยากได้กำลังใจดี ๆ อูก้าพร้อมอยู่ตรงนี้กับคุณเสมอ

#OOCAstory


ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/failblog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา
#mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

Read More
เครียด ซึมเศร้า แพ้ไม่เป็น เอาชนะ

‘แพ้บ้างก็ได้’ แต่ทำไมฉันถึงผลักดันตัวเองอย่างไม่สิ้นสุด

“การเป็นที่หนึ่งว่ายากแล้ว การรักษาตำแหน่งสูงสุดนั้นยากกว่า” เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินประโยคนี้เป็นร้อยเป็นพันครั้ง โดยเฉพาะเวลาที่ต้องแข่งขันหรือมีเป้าหมายบางอย่างที่ต้องทุ่มสุดตัว แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคำว่า ‘ที่หนึ่ง’ หรือคำว่า ‘ต้องชนะ’ เอาแต่หลอกหลอนเรา ทำให้เราต้องผลักดันตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

จริงอยู่ที่บอกว่ามันคือน้ำหนักที่ต้องแบกรับ เป็นตำแหน่งที่ต้องแลกด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง รวมถึง ‘ใจ’ เราด้วย ที่เจอทั้งความเครียด ความกดดัน บางครั้งก็เจ็บปวดกับการผิดหวังซ้ำ ๆ แต่เรากลับไม่เคยถามใจตัวเองเลยว่า ‘ไม่เหนื่อยหรอ ?’

‘ฉันยังไหวหรือเปล่า ?’

หากการเปรียบเทียบกับคนอื่นบ่อย ๆ ทำให้เราบั่นทอนตัวเอง ทั้งโทษ ทั้งตำหนิในความไม่สมบูรณ์แบบ แต่เรากลับลืมไปว่าคุณค่าของคนเราไม่ได้อยู่แค่การ ‘ต้องดีกว่า’ ไม่ใช่แค่ที่หนึ่งเท่านั้นที่จะมีค่า แต่การพ่ายแพ้ก็สอนอะไรเราเหมือนกัน กลับมามองดูตัวเองอีกครั้งว่าเรามีภูมิคุ้มกันสำหรับรับมือกับความพ่ายแพ้หรือเปล่า ? หรือไม่ว่ายังไงเราก็เป็นคนที่ ‘แพ้ไม่เป็น’

‘แพ้ไม่เป็น’ อันตรายต่อใจขนาดไหน ?

จิตใจและความคิดที่ขับเคลื่อนด้วยความกลัวที่จะเป็น “ผู้แพ้” หรือ Loser การแสดงออกของเราจะเชื่อมโยงกับ mindset ที่ว่าถ้าเราไม่สวย/หล่อพอ ไม่ฉลาดพอ หาเงินได้ไม่มากพอ เราก็ไม่มีอะไรดี ตัวตนของเราจะถูกโจมตีด้วยความกลัวเหล่านี้ตลอดเวลา Dr. Karl Albrecht นักเขียนด้าน business, psychology และ self-help ที่มีผลงานมากมาย ได้พูดว่าความกลัวนี้เป็นเรื่องของ “Ego-Death” ซึ่งทำให้คนเราทำอะไรหลาย ๆ อย่างเพียงเพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นเรียกพวกเขาว่า “ผู้แพ้” ยกตัวอย่างของคนที่ถูกขับด้วยความกลัวลักษณะนี้ เช่น

🎯 ไม่สามารถมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายที่แท้จริงได้

👀 มีแนวโน้มที่จะโกหก หรือมีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่ทุจริต

🤔 ตอบสนองและตัดสินใจด้วยความรู้สึกอยากเอาชนะ/ต่อสู้เสมอ

😡 ไม่โอนอ่อนหรือยืดหยุ่นกับผลลัพธ์ที่ตัวเองไม่พอใจ

😩 หลีกเลี่ยงการมองเห็นความผิดพลาดของตนเอง

😤 สร้างความขุ่นเคืองในใจต่อผู้อื่น

🤑 ใช้คนอื่นเพื่อประโยชน์ของตนเอง

☹️ มองไม่เห็นคุณค่าของการเรียนรู้ที่เกิดจากการแข่งขัน

จากบทความของคุณอณุสรา ทองอุไร อธิบายว่า “โรคแพ้ไม่เป็นนี้จะเพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้นกับผู้ที่มีความรู้ การศึกษาที่สูงกว่า มีตำแหน่งที่สูงกว่า ตอนเป็นเด็กเราวิ่งเข้าเส้นชัยช้ากว่าเพื่อน เราแพ้ เสียใจแค่นั้น พอเป็นผู้ใหญ่เราแพ้เหมือนกัน แต่นอกจากเสียใจยังมีเสียหน้า เสียศักดิ์ศรี ผู้ที่เป็นโรคแพ้ไม่เป็น พอแพ้ขึ้นมาก็จะไม่ยอม จะหาทางเอาชนะให้ได้ และอาจทนไม่ได้ สุดท้ายจึงหาทางออกที่รุนแรง”

เพราะชัยชนะไม่ใช่ตัววัด ‘ความสุข’ เสมอไป

การเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากความผิดหวัง หรือเรียนรู้ความรู้สึกของการเป็นผู้แพ้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และบางครั้งก็อาจทำให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้นด้วยซ้ำ ยอมให้ตัวเองได้ผ่อนคลายและสนุกกับการเติบโตของผู้แพ้บ้าง เพราะนั่นคือความเป็นจริงของโลกใบนี้ ที่มีวันของเราและวันที่ไม่ใช่ของเรา แต่ถ้าเรายังมีความสุขกับเส้นทางของตัวเองได้ก็หมายถึงเรายังพัฒนาตัวเองต่อไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ปิดกั้น นอกจากนี้ถ้าเรายินดีกับชัยชนะของคนอื่นได้ ยิ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชม

‘รักตัวเองให้มาก โดยเฉพาะเวลาที่ล้มเหลว’ ถ้าเราสามารถมอบความรักให้ตัวเองได้แม้ในช่วงเวลาที่เราอ่อนแอที่สุด หรือไม่เพอร์เฟกต์ที่สุด เราจะลดการตำหนิตัวเองและลดความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง เพราะเราได้โอบกอดทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีของตัวเองไว้แล้ว ปลดล็อกความรู้สึก ‘ฉันแพ้ได้ ร้องไห้เป็น’ เพื่อเข้าใจตัวเองให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จะนำไปสู่สุขภาวะทางใจที่แข็งแรงในระยะยาว

อาจจะเป็นเรื่องยากที่ต้องปรับความคิดให้รู้สึกโอเคการความพ่ายแพ้ เพราะขึ้นชื่อว่า ‘ผู้แพ้’ ก็มักจะตีความไปในทางลบเสมอ ทั้งดูอ่อนแอและน่าอาย แต่สิ่งสำคัญคือการก้าวผ่านความรู้สึกร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นต่างหาก หากไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงกับการปรับเปลี่ยนมุมมอง หรือการเริ่มต้นรักตัวเอง ให้อูก้าเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่จะช่วยดูแลสุขภาพใจให้คุณ เรื่องของใจให้เรารับฟังนะ

#OOCAstory


ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/scolblog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

.#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://get-kalm.com/en/2019/04/26/driven-to-win-or-scared-of-losing/

https://www.bangkokhospital.com/content/lost-some

Read More
extrovert ซึมเศร้า พบจิตแพทย์

Extrovert ขอพักใจ “ฉันเองก็เหนื่อยได้ ร้องไห้เป็น”

หลังจากพูดในมุมของ Introvert กันไปแล้ว วันนี้อูก้าขอส่งเสียงแทนใจชาว Extrovert ท่ีดูจะแฮปปี้กับการมี activity รอบตัว แต่ใครเลยจะรู้ว่า Extrovert ก็มีมุมส่วนตัวไว้พักใจในวันที่เหนื่อยล้าเหมือนกัน อาจเพราะความร่าเริงและเข้ากับคนอื่นได้ดี ปรับตัวเก่ง ทำให้ภาพจำของเหล่า Extrovert คือคนที่เอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์ด้วยสีหน้าร่าเริง

ลึก ๆ แล้วเราเชื่อว่าคงไม่มีใครที่ไม่เคยเป็นทุกข์หรือเสียน้ำตาเลย เพียงแต่ความคิดของ Extrovert ไม่ได้ซับซ้อนมากนัก มักจะแสดงออกตรง ๆ (เป็นส่วนใหญ่) จึงทำให้มีทักษะในการเข้าสังคมสูง เหมาะจะเป็นผู้นำและจุดรวมความสนใจ ลักษณะเด่น ๆ ที่กล่าวมา อาจจะไม่ได้มีใน Extrovert ทุกคน แต่ก็เป็นสิ่งที่คนภายนอกคาดหวังเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ จนคิดว่าพวกเขาต้องทำทุกอย่างได้ดีและกระตือรือร้นอยู่เสมอ

หรือมนุษย์ยึดติดกับการจัดกลุ่มคนเป็นประเภทต่าง ๆ มากเกินไป ทั้งที่เราอาจไม่จำเป็นต้องนิยาม

เพราะสุดท้ายแล้วคนเราก็คือเหรียญสองด้าน มีทั้งความ Introvert และ Extrovert อยู่ในตัว ถ้าเราติดภาพว่าคน Extrovert มีอะไรจะต้องแสดงออก เป็นคนเปิดเผย แก้ปัญหาเก่ง แล้ววันหนึ่งหากเขาไม่เป็นแบบนั้น ความเข้าใจของเราอาจถูกบิดเบือนจากอคติก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นเราเคยเห็นเพื่อนที่จับไมค์ร้องเพลง ทำให้เวลาปาร์ตี้ทุกคนจะร้องเรียกให้คน ๆ นี้ขึ้นเวทีตลอด แต่วันหนึ่งเขาอาจจะไม่พร้อมหรือไม่สบายใจที่จะร้องเพลง หลายคนกลับแปลกใจ สับสนที่เพื่อนปฏิเสธและอยากจะนั่งอยู่เฉย ๆ

หากทบทวนดูแล้ว ทำไมทุกคนต้องมองว่าสิ่งที่เกิดเป็นเรื่อง “แปลก” ทั้งที่อาจจะเป็นคนรอบข้างเองก็ได้ที่ไปยึดติดว่าทุกงานรื่นเริงคน ๆ นี้จะต้องขึ้นมาแสดงอะไรสักอย่าง ซึ่งไม่ใช่เขาที่เปลี่ยนไปหรือไม่เป็นตัวเอง เพียงแต่นั่นคืออีกด้านหนึ่งของเขาหรือเป็นวิธีที่เขาเลือกรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ต่างหาก ดังนั้นอย่าเพิ่งรีบปักธงว่า Extrovert ต้องเฮฮา อยู่ในงานสังคมตลอดเวลา Extrovert บางคนก็ชอบเป็นผู้ตามและรับฟังได้ดี พวกเขาสามารถใช้เวลาอยู่กับตัวเองได้เหมือนกัน

แล้วในวันที่เสียใจ เหนื่อยล้า พวกเขาเป็นอย่างไร ?

ต้องบอกว่าเหมือนคนทั่วไปที่ต้องใช้เวลา ไม่มีวิธีตายตัวว่า Introvert ทุกข์ใจแล้วจะเก็บตัว ส่วน Extrovert ต้องอยากออกไปเจอผู้คน มีคนอยู่ด้วยเวลาเสียใจ ทุกคนคือมนุษย์ธรรมดาที่เสียใจได้ ร้องไห้เป็น แล้วทำไมเราถึงมองว่าถ้า Extrovert ร้องไห้มันดูเป็นเรื่องใหญ่และหนักหนากว่า ทั้งที่เราต่างมีมุมอ่อนแอกันทั้งนั้น ไม่ผิดเลยถ้าเราอยากรับมือกับความเสียใจด้วยการอยู่คนเดียว ปลดปล่อยอารมณ์หรือร้องไห้ดัง ๆในวันที่เหนื่อยล้าเราก็แค่เลือกสิ่งที่เราทำแล้วสบายใจ หรือหาทางออกให้ตัวเองในแบบที่เราโอเคที่สุด ซึ่งการอยู่กับตัวเองอาจจะดูเหมือนทำได้ง่าย แต่จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่หลายคนต้องเรียนรู้ วันนี้เราจึงมีเทคนิคเล็กน้อยมาฝากกัน เพื่อช่วยในการปรับตัวและหาจุดสมดุลของใจให้ตัวเอง ได้แก่

🧐 ตั้งเป้าหมายที่อยู่บนความเป็นจริง

✍🏻 จัดลำดับของชีวิต มีเวลาให้สิ่งที่ชอบ

🤔 หมั่นสำรวจอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง

🤗 ขจัดความคิดลบที่เข้ามา หลีกเลี่ยงความ ‘ไม่ดี’

💪🏻 พักผ่อน ออกกำลังกาย ห้ามลืมนะ !

🥰 ใช้เวลาเพื่อรู้จักตัวเองมากขึ้นและยอมรับในสิ่งที่เป็น

🎁 ให้รางวัลตัวเองบ้าง

💙 หาสมดุลให้ใจ ใช้ทั้งอารมณ์และเหตุผลไปด้วยกัน

ธรรมชาติของคนหนึ่งคน ประกอบขึ้นจากหลายสิ่งหลายอย่าง ประสบการณ์ ทัศนคติ วิธีการมองโลก ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุขและสบายใจ ลองฝึกให้ตัวเองสามารถหาจุดกึ่งกลางของชีวิต เพื่อให้สุขภาพใจเราแข็งแรงอยู่เสมอ

หากใครมีเรื่องรบกวนใจ อยากเทขยะในใจทิ้งไปบ้าง แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ให้อูก้าเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการดูแลความรู้สึก สามารถปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาของเราได้ตลอดเวลา สะดวกทุกที่เพียงแค่มีอูก้าไว้เป็นเพื่อนคุย เรื่องของใจให้เรารับฟัง

#OOCAstory

———————————————————–
ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/etvblog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา

อ้างอิงจาก

https://faithandbacon.com/living-with-yourself/

Read More
introvert ซึมเศร้า พบจิตแพทย์

แปลกตรงไหนที่ Introvert จะโหยหาคนอื่นบ้าง?

“เป็น introvert หรอ แบบนี้ก็ชอบอยู่คนเดียวหน่ะสิ”

มนุษย์เราชอบการแบ่งพรรคจัดกลุ่มมาแต่ไหนแต่ไร ใช้สารพัดวิธีในการรวมคนที่เหมือนกันเข้าด้วยกัน ตามเชื้อชาติบ้าง ศาสนาบ้าง ความชอบบ้าง ปัจจุบันเราก็นิยมการทำแบบทดสอบ MBTI เพื่อบอกว่าคนนี้นิสัยพื้นฐานเป็นแบบนี้เหมาะกับอาชีพอะไร ใครเข้ากับใครได้บ้าง จนเกิดคำถามยอดฮิตว่า “คุณเป็น introvert หรือ extrovert ?”

.

อธิบายง่าย ๆ ลักษณะ introvert จะรักสันโดษ ชอบความสงบ แสดงออกในแบบพอดี มักจะคิดก่อนทำ ชาร์จพลังด้วยการอยู่คนเดียวหรือการทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนกลุ่มนี้เกลียดการเข้าสังคมหรือขี้อาย เพียงแต่สบายใจกับการคิดและอยู่กับตัวเอง คน introvert นั้นใส่ใจคนรอบตัวและอ่อนไหวลึกซึ้ง ตรงกันข้ามคนที่เป็น extrovert นั้นกล้าแสดงออก เติมพลังด้วยการพบปะผู้คน ชอบเข้าสังคมและเป็นมิตร

.

ดูเผิน ๆ จึงคิดว่าการเป็นเพื่อนกับคน introvert น่าจะยากกว่าเพราะนิยามของคนทั้งสองประเภทดูเหมือนจะเป็นขั้วตรงข้าม หลายคนเลยปักใจเชื่อแบบสุดโต่งกว่า introvert เป็นคนเก็บตัว เย็นชา ไม่สนใจใคร ส่วน extrovert เป็นสายปาร์ตี้ เพื่อนเยอะ ต่อมาก็มีการพูดถึง ambivert ที่อยู่ตรงกลางระหว่างคนสองประเภทอีก ก่อนอื่นเราอยากให้คุณทำลายอคติและความเชื่อเกี่ยวกับนิยามของ introvert และ extrovert ไปก่อน

.

เพราะเราสามารถเป็นแบบไหนก็ได้และบุคลิกภาพของเราก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด

.

“ฉันเป็น introvert แต่ทำไม work from home นาน ๆ แล้วอยากออกไปเจอเพื่อนจัง” รู้ตัวอีกที เราก็เป็นฝ่ายโทรชวนเพื่อนออกไปกินข้าวก่อน หาเรื่องออกนอกบ้าน ไปเดินห้างฯ หรือทำอะไรก็ได้ที่ได้เจอผู้คน ถ้าเราคิดแบบนี้หรือเราจะเปลี่ยนไปเป็น extrovert หรอ ?

จะบอกว่าไม่ใช่…ลองนึกภาพมือถือที่ชาร์จแบตทิ้งไว้นาน ๆ เต็มแล้วก็ทิ้งไว้อย่างนั้นไม่ถอดปลั๊ก สุดท้ายกลายเป็นเครื่องร้อน ส่งผลเสียมากกว่าดี คนอยู่บ้านนาน ๆ ก็แบบนั้นแหละ สุดท้ายก็ต้องออกไปเจอ พูดคุยกับผู้คนบ้างนาน ๆ ครั้ง แต่หากถามว่าจะกลายเป็น extrovert เลยไหม ก็คงไม่ถึงขนาดนั้น

.

จากที่เคยคิดว่า introvert ต้องชอบอยู่คนเดียวตลอดเวลา ปลีกวิเวก โลกส่วนตัวสูงเท่ากำแพงเมืองจีนก็ไม่เสมอไป ต่อให้เราจะหวงพื้นที่ส่วนตัวแค่ไหน แต่ถ้าเราอยู่คนเดียวนานไปก็ไม่แปลกเลยที่เราจะโหยหาผู้คนเหมือนกัน เพียงแต่วิธีปฏิสัมพันธ์หรือรูปแบบการเข้าสังคมอาจไม่เหมือนกับ extrovert รวมถึงระดับความ introvert อาจทำให้บางคนเคยชินกับการอยู่คนเดียวนาน ๆ ไม่ชอบเป็นจุดสนใจ แต่พวกเขาไม่ได้เกลียดผู้คน กลับกัน extrovert ก็ใช่ว่าจะชอบเรียกร้องความสนใจหรืออยู่ท่ามกลางผู้คนได้ตลอดเวลา ด้วยไลฟ์สไตล์ ช่วงวัย และปัจจัยอื่น ๆ ก็มีส่งผลต่อบุคลิกภาพเช่นกัน สุดท้ายเราก็ต้องหาสมดุลชีวิตที่เหมาะกับตัวเอง

.

เพราะมนุษย์นั้นมีหลากหลายแง่มุมในตัวเอง บุคลิกภาพก็แตกต่างกัน นิสัยแบบนี้นิด อารมณ์แบบนั้นหน่อยฉะนั้นเราไม่ควรตีกรอบว่างานสังสรรค์จะชวนแต่เพื่อนที่เป็น extrovert เพราะพวก introvert ต้องปฏิเสธอยู่แล้ว หรือถ้ามีปัญหาอยากปรึกษาเพื่อน ควรเลือกคนที่เป็น introvert มากกว่า ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ introvert คือหลายคนเชื่อว่า introvert มักวิตกกังวล แปลกแยกเวลาเข้าสังคม ไปจนถึงมีปัญหาในเชิงบุคลิกภาพ แต่ที่จริง introvert ก็คือคนทั่วไปที่เดินสวนกับเรานี่แหละ บางคนอาจเป็นคนพูดเก่ง เป็นมิตรด้วยซ้ำ

.

ไม่ว่าจะ introvert หรือ extrovert เราต่างต้องการที่พึ่งทางใจ (emotional support) และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Interaction) ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ทุกคนมีความรู้สึกเหงา แม้แต่คนที่อยู่ท่ามกลางสปอร์ตไลท์ มีเพื่อนมากมายก็ยังเหงาได้ introvert อาจจะมีส่วนร่วมโดยการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมแต่ไม่ได้ต้องการทำอะไรมาก พวกเขาก็รู้สึกเชื่อมต่อกับคนอื่น ๆ และมีความสุขแล้ว สิ่งสำคัญคือการรักษาความสัมพันธ์ระดับลึกมากกว่า การพบปะเพื่อนกลุ่มเล็ก ๆ และมีบทสนทนาที่ลึกซึ้งก็เพียงพอที่จะช่วยให้หายเหงาได้แล้ว

.

การโหยหาผู้คนไม่ได้มีข้อจำกัด ไม่มีใครถูกหรือผิด ทุกคนต่างมีอารมณ์ความรู้สึก ถ้าหากสบายใจที่จะอยู่คนเดียวเราก็แค่ใช้เวลาเพียงลำพัง แต่ถ้าเมื่อไหร่อยากออกไปเจอผู้คนก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ไม่ต้องรู้สึกหนักใจหรือไปยึดติดกับคำพูดคนอื่นให้มากมาย “ความสุข” ควรมาจากตัวเราที่เลือกให้ตัวเอง

จะบุคลิกแบบไหน เราก็มีความเหงา ความเครียดด้วยกันทั้งนั้น หากคุณต้องการใครสักคนคอยรับฟังและเป็นที่พึ่งพิงทางใจ ให้อูก้าช่วยคุณได้ เราพร้อมบริการทุกที่ทุกเวลาเพียงแค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันอูก้าหรือเข้าเว็บไซต์ของเรา ก็พบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้เลย

#OOCAstory

————————————————————————

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล ฯ นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/itvblog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ > https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง

Read More
เครียด ซึมเศร้า พบจิตแพทย์

ภาระทางใจของความเป็นผู้ใหญ่ “เรื่องแบบฉันนี้บอกใครไม่ได้”

“เราเหนื่อยไม่เป็นไร แต่ครอบครัวห้ามลำบาก” นี่เป็นสิ่งที่ผู้เป็น “หัวหน้าครอบครัว” คิดไว้เสมอ โดยเฉพาะเวลาแบบนี้มากกว่าครั้งไหน ๆ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว เหลือแค่เราที่ต้องปรับตัวตามมันให้ทัน

.

แม่เราเป็นผู้จัดการธุรกิจที่บ้านทั้งหมด 2 ธุรกิจ ซึ่งกำลังค่อย ๆ กลายเป็นธุรกิจที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนยุคนี้อีกแล้ว ยิ่งเศรษฐกิจชะลอตัวอยู่ในสภาพที่มันเป็นอยู่ ทุกสัปดาห์เป็นการต่อสู้ที่ต้องฝ่าฟันไปให้ได้ ไม่ว่าจะจากยอดขาย ทั้งจากลูกค้ารายใหญ่และรายย่อยที่ลดลงเรื่อย ๆ และการต้องคิดหาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อการปรับตัวระยะยาว ซึ่งยังไม่รวมกับการต้องดูแลคนงานอีกหลายชีวิตในโรงงานอีกด้วย ไหนจะต้องดูแลลูก ๆ ที่ยังเพิ่งเป็นเด็กจบใหม่ ยังหางานทำไม่ได้ และแมวอีกสามตัว

.

ถ้าเราอยู่ในจุดเดียวกันกับเขา เราคิดว่าคงไม่มีทางแบกความรับผิดชอบแบบนี้ไหวแน่นอน แค่การเรียน การทำงาน การดูแลสุขภาพกายและใจไปพร้อม ๆ กันก็เป็นเรื่องยากแล้ว หัวหน้าครอบครัวเขาทำได้ยังไง โดยแทบจะไม่เอ่ยปากบ่นเลย ?

.

จริง ๆ แล้วบ่อยครั้งการเป็นหัวหน้าครอบครัวนี่แหละคือคำตอบ ว่าทำให้คนรุ่นพ่อแม่เราหลาย ๆ คนไม่ค่อยพูดเรื่องภายในใจเลย หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบทำให้เขาเลือกที่จะก้มหน้าทำงานหนักต่อไป “ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่รู้สึกถึงความหนักหน่วง เหมือนอย่างที่เรารู้สึก”

.

Tracy Ross นักสังคมสงเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการบำบัดคู่รักและครอบครัวกล่าวว่า สำหรับคนรุ่น Baby Boomer มองเรื่องการไปหาจิตแพทย์ว่าเป็นเรื่องที่ควรเก็บไว้เป็นความลับและเป็นเรื่องน่าละอาย “พวกเขาเชื่อมโยงปัญหาทางใจกับการเป็นคนอ่อนแอและความล้มเหลว รวมไปถึงการเป็นจุดด่างพร้อยของครอบครัว เรียกว่าเฟลทั้งชีวิตส่วนตัวไปจนถึงระดับสังคม และจะไม่ไปปรึกษาแพทย์จนกว่าจะไม่มีทางเลือกอื่น”

.

โดยเธอกล่าวอีกว่าคนรุ่นพ่อแม่มักใช้การเข้าสังคมเพื่อกดทับความคิดแง่ลบภายในเอาไว้แทน ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าตั้งแต่มี Covid-19 เข้ามาและเจอกับการกักตัวเป็นระยะๆ วิธีนี้จึงไม่ใช่ตัวเลือกอีกต่อไป นอกจากนั้นหลาย ๆ คนยังเชื่อว่าการออกไปพบจิตแพทย์เป็นเรื่องที่สิ้นเปลือง กับการเสียเงินเพื่อไปนั่งคุยกับหมอ ทั้งที่ปัญหาเกิดขึ้นที่เราก็ควรจะจบที่เรา

.

แต่ไม่ได้แปลว่าการคุยเรื่องปัญหาชีวิตของพ่อแม่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพียงการคุยเพื่อทำลายกำแพงที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นหลายสิบปีนั้นต้องเริ่มจากคนใกล้ตัวและใช้เวลาในการทำความเข้าใจ เราอาจยกตัวอย่างเคสผู้ใหญ่ที่ไปได้รับคำปรึกษาแล้วดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เข้าหาเขาด้วยความรักความเข้าใจ ให้เขาได้รู้ว่าเรื่องของการดูแลตนเองเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับการใส่ใจสุขภาพจิตที่ดีไม่ถือว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเวลา รวมถึงเปิดใจเล่าประสบการณ์ของตัวเองให้เขาฟัง

.

เพราะคนแต่ละวัยมีความเชื่อและค่านิยมที่แตกต่างกันไป อยากให้เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่สามารถยอมรับได้หากเข้าใจว่าประสบการณ์และวิธีการมองชีวิตของคนเรานั้นไม่เหมือนกันเลย มันมาจากความเชื่อที่ถูกปลูกฝังโดยไม่รู้ตัว จากรุ่นสู่รุ่น วิวัฒนาการ การเติบโตขึ้น การศึกษาเกี่ยวกับจิตใจมนุษย์ทุกวันนี้ก็ทั่วถึงและครอบคลุมกว่าเดิม ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว เหลือแค่เราที่ต้องปรับตัวตามมันให้ทัน เช่นเดียวกันกับการดูแลจิตใจของตัวเอง

ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนมีความเครียด อยากพูดคุยกับใครสักคน สามารถนัดกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาของอูก้าได้เลย ไม่ว่าจะปัญหาอะไรเราก็พร้อมดูแลใจทุกคนเสมอ ให้อูก้าได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกับทุกคนนะ

#OOCAstory


ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/adstrblog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK#WeWillListen#เรื่องของใจให้เรารับฟัง

Read More