ให้นักจิตวิทยาฮีลใจ ในวันที่ต้องมูฟออนต่อไปโดยไม่มีเขา

ผลวิจัยจากอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2021 ระบุว่าประชากรกว่า 80% เคย “อกหัก” มาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต! เพราะอาการอกหักเป็นเรื่องปกติที่มักตามมาหลังพบเจอรักที่ไม่สมหวังแบบนี้ 

คนเราเลยอาจคิดว่า “แค่อกหักไม่จำเป็นต้องถึงมือนักจิตวิทยาหรอก” หรือ “อกหักเดี๋ยวก็หายเองได้” จริงอยู่ที่ในหลายๆ ครั้ง ความเศร้าหลังอกหักจะลดน้อยลงไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังมีเพื่อนๆ อีกหลายคนที่ไม่สามารถ “มูฟออน” หรือก้าวออกมาจากความสัมพันธ์ครั้งก่อนได้ด้วยตัวเองจนกลายเป็นปัญหาสะสมในระยะยาว เพราะฉะนั้นแล้ว เพื่อนๆ ที่กำลังรู้สึกอกหักอยู่ หากนานไปแล้วยังไม่รู้สึกดีขึ้น อูก้าไม่อยากให้นิ่งนอนใจนะ!

สภาวะ “อกหัก” คืออะไรกันแน่

เวลาคนเราสูญเสียคนที่เรารัก ก็ย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความรู้สึกเศร้าตามมา ความรู้สึกเศร้าหลังอกหักนั้นเกิดจากการที่สมองสั่งไม่ให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขที่เราอาจคุ้นๆ ชื่อกันดีออกมา ไม่ว่าจะเป็น เซโรโทนิน โดพามีน หรือเอ็นโดรฟิน ในทางกลับกันยังผลิตสารแห่งความเครียดอย่าง “คอร์ติซอล” ออกมาแทนที่เป็นจำนวนมาก สารแห่งความเครียดนี้นอกจากจะทำให้รู้สึกเศร้าแล้ว ยังก่อให้เกิดความผันผวนทางอารมณ์ตามมาอีกหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความสับสน ความกังวลใจ หรือกระทั่งความต้องการกลับไปคืนดีกับคนรักที่เลิกกันมา ทั้งหมดนี้คืออารมณ์ที่คนที่ตกอยู่ในสภาวะอกหักมักพบเจอ เราจึงอาจรู้สึกว่าตัวเองเอาแต่วนเวียนอยู่กับอารมณ์เหล่านี้จนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน และไม่สามารถเอาตัวเองออกมาจากความเศร้าได้

นักจิตวิทยาสามารถช่วยเราจากสภาวะอกหักได้อย่างไรบ้าง

เมื่อสังเกตตัวเองได้ว่ารู้สึกอกหักแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น การได้พูดคุยเพื่อระบายความรู้สึกที่อัดอั้นออกมาให้ผู้อื่นฟังจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะการเก็บความทุกข์ไว้กับตัวเองนั้นอาจส่งผลให้เพื่อนๆ คิดมากและเกิดผลเสียกับสุขภาพจิตมากกว่าเดิม นอกจากการเล่าเรื่องราวให้เพื่อนและครอบครัวฟังแล้ว การอธิบายความรู้สึกไม่ดีในใจให้นักจิตวิทยาฟังก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี อูก้าอยากให้เพื่อน ๆ มองนักจิตวิทยาเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ปลอดภัยที่พร้อมจะร่วมทำความเข้าใจกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นหลังเกิดสภาวะอกหักไปด้วยกัน อีกทั้งยังสามารถเสนอวิธีรับมือกับความรู้สึกเศร้าดังกล่าวได้อย่างเชี่ยวชาญ รวมไปถึงคอยไกด์แนวทางการมูฟออนจากสภาวะอกหักได้อีกด้วย คุณกอบุญ เกล้าตะกาญจน์ นักจิตวิทยาการปรึกษาจากแอปฯ อูก้า กล่าวว่า เมื่อเพื่อนๆ ตัดสินใจมาพูดคุยกับนักจิตวิทยา นักจิตวิทยาจะช่วยเพื่อนๆ สำรวจตัวเองและปัญหาผ่าน 3 ขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

1. ความเข้าใจกับสภาพจิตใจของตัวเอง – ในเบื้องต้นนักจิตวิทยาจะช่วยซักถามให้เพื่อนๆ ได้สำรวจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง เพื่อดูว่าเรารู้สึกเศร้าจากสภาวะอกหักมากน้อยแค่ไหน และตอบสนองต่อความเศร้านั้นอย่างไรบ้าง
2. ทำความเข้าใจกับสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา – ต่อมานักจิตวิทยาจะชวนมองย้อนไปยังปัญหาและสาเหตุของปัญหา ซึ่งจะช่วยให้เพื่อนๆ ยอมรับสภาพของปัญหา และนำไปสู่การรับมือกับสภาวะอกหักได้ดีขึ้น
3. ทบทวนสถานการณ์ความรักและหาทางออก – ในตอนท้าย นักจิตวิทยาจะช่วยประเมินและพิจารณาทางเลือกที่เกิดขึ้นเมื่อความสัมพันธ์จบลง ว่าเหมาะสมกับสิ่งที่เพื่อนๆ ต้องการหรือไม่ และส่งผลดีต่อสภาพจิตใจของเพื่อนๆ หรือไม่ เพื่อสร้างกำลังใจให้สามารถมูฟออนต่อไปได้

ทั้งนี้ คุณกอบุญยังได้เน้นย้ำว่า การให้คำปรึกษาจะเป็นแบบ Client-centered หรือให้ความสำคัญกับผู้ที่มาปรึกษาเป็นหลัก ตามนโยบายของอูก้า กล่าวง่ายๆ คือ บทบาทของนักจิตวิทยาจะเป็นเหมือน “เพื่อนคู่คิด” ที่คอยชวนเพื่อนๆ ทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้น และช่วยกันประเมินทางเลือกที่ดีที่สุด โดยคำนึกถึงความสบายใจ ความสามารถ และความต้องการของเพื่อนๆ เป็นหลัก

สุดท้ายนี้ คุณกอบุญยังได้กล่าวให้กำลังใจเพื่อนๆ ที่กำลังอกหักว่า การหาคนพูดคุยด้วยเกี่ยวกับสภาวะอกหักไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย เนื่องจากคนเราต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เป็นปกติอยู่แล้ว สภาวะอกหักก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่นักจิตวิทยาพร้อมรับฟังและเสนอแนวทางที่จะช่วยให้เพื่อนๆ มูฟออนต่อไปได้ และที่สำคัญ นักจิตวิทยาจะทำงานโดยยึดจรรยาบรรณและความเป็นส่วนตัวของเพื่อนๆ เป็นหลัก เพราะฉะนั้น อูก้าจึงอยากให้เพื่อนๆ รู้สึกสบายใจและปลอดภัยที่จะเข้ามาพูดคุยกับนักจิตวิทยานะ

เพราะการได้ระบายความรู้สึกด้านลบในใจออกมาให้ใครสักคนฟัง นอกจากจะช่วยรับฟังเรื่องความสัมพันธ์ครั้งก่อนได้แล้ว ยังสามารถช่วยต่อยอดโครงสร้างความคิดที่เหมาะสมต่อการสร้างความสัมพันธ์ครั้งใหม่ของเพื่อนๆ ได้ด้วย อูก้าเป็นกำลังใจให้นะ! – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

.

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #mentalhealth #อกหัก #heartbreak  #ความสำเร็จ #ฮีลใจ #OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

อ้างอิง

[1] https://www.psychologytoday.com/intl/blog/finding-new-home/202105/the-most-common-causes-heartbreak

[2] https://mywellbeing.com/therapy-101/breakup

Read More

รับบท Introvert ไม่อะไรกับใคร หรือกำลังตกอยู่ใน “ภาวะสิ้นยินดี”? 

ชวนมารู้จักภาวะที่เริ่มส่งสัญญาณเตือนปัญหาใจ ว่าด้วย “ภาวะสิ้นยินดี” หรือ Anhedonia เป็นปัญหาสุขภาวะทางจิตอย่างหนึ่ง ที่มีลักษณะเฉพาะคือ บุคคลที่ตกอยู่ในภาวะนี้จะเกิดความรู้สึกขาดความสนใจหรือขาดความเพลิดเพลิน อันเป็นอาการที่สะท้อนถึงการขาดดุลของสารโดปามีน (Dopamine) ในสมองที่ทำหน้าควบคุมอารมณ์และความรู้สึกพึงพอใจ 

ผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าว อาจลืมตาตื่นขึ้นมาพร้อมกับความว่างเปล่า ไม่ยินดียินร้าย จนถึงขนาดเฉื่อยชากับทุกสรรพสิ่งรอบตัว อาการเหล่านี้หลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงความเบื่อหน่ายชีวิตปกติทั่วไป จึงเลือกละเลยที่จะให้ความสนใจจนรู้ตัวอีกทีกลับพบว่าตัวเองใช้ชีวิตกับภาวะนี้จนชินชาเป็นเวลานาน โดยคาดไม่ถึงว่าสิ่งที่เป็นอยู่คืออาการบ่งชี้ของปัญหาสุขภาพใจ

ภาวะดังกล่าวจะส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการประเมินคุณค่า การตัดสินใจ การคาดหวัง และการมีแรงจูงใจ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะสิ้นยินดีของแต่ละบุคคลย่อมมีหลายปัจจัยประกอบแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นผลจากความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ความวิตกกังวล ความเครียดสะสม ตลอดจนเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ซึมเศร้า อารมณ์สองขั้ว พาร์กินสัน เบาหวาน บุคคลผู้มีประวัติการใช้สารเสพติด เป็นต้น 

อาการของภาวะสิ้นยินดีอาจมีความคล้ายคลึงกับอารมณ์ความเบื่อหน่าย หรือแม้กระทั่งบางครั้งอาจเกิดความสับสนกับการมีบุคลิกภาพเก็บตัว (Introvert) จากการพูดคุยกับ อาจารย์นงนุช จําปารัตน์ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของ OOCA ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวว่า

“อาการนี้มันจะต้องมีความผิดปกติ หมายถึงเราไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน หรือมีระยะเวลานาน โดยปกติคนทั่วไปจะอยู่ในสภาวะอารมณ์ไม่สุขไม่ทุกข์ ว่างเปล่า แต่ภาวะนี้จะดิ่งลงไปเรื่อย ๆ และไม่สามารถที่จะมีความสุข ยินดียินร้ายได้ ไม่สุขไม่ทุกข์ เจ็บปวดในความว่างเปล่า…

…บางคนอาจหงุดหงิดง่าย แปรปรวนง่าย บางคนอาจจะฝืนในการแสดงอารมณ์ ไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์หรือการกระทำ เฉยชา… ”

อาจารย์นงนุชยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า ภาวะสิ้นยินดีไม่เพียงแต่เป็นอาการไร้ความรู้สึกทุกข์หรือสุข แต่ยังรวมถึงการปฏิเสธการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนหรือการเข้าสังคม มีความรู้สึกหมดไฟในการทำงานอดิเรกที่ชอบ ไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมที่สนใจ 

อาการในลักษณะดังกล่าวจะมีความแตกต่างจากบุคลิกภาพเก็บตัว ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ชอบการเข้าสังคม แต่คนที่มีบุคลิกภาพดังกล่าวจะยังคงหลงไหลในกิจกรรมที่ตนเองชอบอยู่ ขณะเดียวกันภาวะนี้จะกินระยะเวลายาวนานติดต่อกันเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ซึ่งจะแตกต่างกับอารมณ์เบื่อหน่ายที่ผ่านไประยะหนึ่งก็จะสามารถหลุดจากอารมณ์นั้นได้ด้วยการหากิจกรรมอื่นมาทดแทน

อย่างไรก็ตามภาวะดังกล่าวในแต่ละบุคคลจะมีอาการแตกต่างกันออกไป แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองกำลังตกอยู่ในภาวะสิ้นยินดี และอยู่ในขั้นที่ต้องการความช่วยเหลือจากนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์? จากการค้นคว้าข้อมูลเอกสารร่วมกับการพูดคุยกับอาจารย์นงนุชสามารถสรุปได้ว่า เราสามารถสังเกตอาการของภาวะสิ้นยินดีได้สองส่วน

1) ด้านลักษณะทางร่างกาย เช่น ไม่รับรู้รสชาติของอาหาร สีหน้าไม่สามารถแสดงออกความรู้สึกใด ๆ ได้ การสัมผัสทางกายไม่ส่งผลต่อความรู้สึกที่ดีขึ้น รวมถึงการเฉยชาต่อความสุขบนเตียงกับคู่รัก 

2) ด้านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น การปลีกตัวออกจากสังคม ไม่สนใจการพัฒนาความสัมพันธ์ใหม่ ๆ เริ่มตีตัวออกห่างจากเพื่อฝูงที่มีอยู่ หลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจ รวมถึงการขาดแรงจูงใจที่จะใช้ชีวิตกับผู้คน

ลักษณะอาการดังกล่าวคือข้อสังเกตง่าย ๆ ที่เราสามารถสำรวจตนเองหรือคนรอบข้างได้ นอกจากนี้อาจารย์นงนุชยังให้คำแนะนำทิ้งท้ายว่า

“ถ้าหากเราพบว่ามีอาการติดต่อกันเป็นเวลานานในทุก ๆ วัน ประมาณสองสัปดาห์ หรือเป็นเดือนขึ้นไป เราควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ แต่ถ้ารู้สึกว่ายังไม่พร้อมเราอาจจะปรึกษาเพื่อน หรือคนรอบข้างที่ใกล้ชิดที่เราไว้วางใจ เพื่อให้เขาช่วยสังเกตเราถึงความผิดปกติหรือความเปลี่ยนแปลง หรืออาจจะพูดคุยระบายกับเขาก่อนก็ได้ แต่หากพบว่ามีอาการกินระยะนานมากกว่าหนึ่งเดือนแนะนำว่าต้องไปพบนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ค่ะ”

ภาวะสิ้นยินดีถือเป็นสัญญาณเตือนภัยของการเกิดโรคซึมเศร้าที่หากปล่อยไว้นานอาจส่งผลเสีย ดังนั้นหากคุณลองสำรวจดูตามคำแนะนำแล้วพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น ไม่สดใส ไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกใด ๆ ทั้งยังปลีกตัวจากสังคมล่ะก็ งานนี้ต้องรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อจะได้หาแนวทางในการรักษาเยียวยาได้เร็วขึ้น และป้องกันการทำร้ายตัวเองอนาคตได้อีกด้วย – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

.⠀

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

.

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #mentalhealth #depression #Andohenia #introvert #Dopamine #หมดไฟ #OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

Sources:

  1. https://www.dovepress.com/anhedonia-in-depression-and-schizophrenia-brain-reward-and-aversion-ci-peer-reviewed-fulltext-article-NDT
  2. https://solaramentalhealth.com/anhedonia-symptoms-treatment/
  3. https://www.health.com/mind-body/anhedonia
  4. https://www.talkspace.com/blog/anhedonia-symptoms-signs-causes-what-is/

Read More

Happiness is not always from achievement

“บางครั้งความสุขของเราก็ไปยึดโยงกับการวัดผล, แต่งานบางอย่าง หรือบางสถานการณ์ในชีวิต มันยังไม่ถึงเวลาวัดผล แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะมีความสุขระหว่างทางไม่ได้”

เพื่อนๆ เคยวิ่งไล่ตาม “ความสำเร็จ” กันไหม

ต้องตั้งใจเรียน เพื่อที่จะได้สอบเข้ามหา’ลัยชื่อดังที่ครอบครัวคาดหวังให้ได้

ต้องทำงานให้หนัก เพื่อที่จะได้รับการเลื่อนขั้นและมีเงินเดือนที่สูงกว่าเพื่อนๆ วัยเดียวกัน

ต้องได้แต่งงานก่อนอายุ 30 เพื่อที่จะได้สร้างครอบครัวที่อบอุ่นและสมบูรณ์

สิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่ง “ความสุข” ในชีวิตจริงๆ เหรอ?

ตอนนี้เพื่อนๆมีเป้าหมายที่อยากจะไปให้ถึงไหมนะ อาจจะเป็นเรื่องงาน ว่าอยากจะได้เลื่อนตำแหน่ง เรื่องเงินว่าอยากมีบ้านดีๆสักหลัง หรือแม้แต่เรื่องความรักที่อยากจะชนะใจเธอ/เขา คนนั้นให้ได้ หากว่าเราสามารถทำสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เราจะมีความสุขจริงๆหรือ?ความสุขในแบบหลายคนคุ้นเคยกันเป็นการ นำความสุขของเราก็ไปยึดโยงกับผลลัพธ์ ถ้าออกมาดี เราจึงจะมีความสุข แต่งานบางอย่าง หรือบางสถานการณ์ในชีวิต ไม่จำเป็นจะต้องรอจนรู้ผลลัพธ์ก็สามารถมีความสุขได้ ความสุขเหล่านี้คือความสุขระหว่างทางเดินไปสู่เป้าหมาย

ตามหลักจิตวิทยาเชิงบวกแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความสำเร็จ” และ “ความสุข” นั้นมีความเกี่ยวข้องกันอยู่จริงๆ แต่นั่นก็ทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิดว่า ที่ปลายทางของความสำเร็จนั้นจะนำมาซึ่งความสุขเสมอ จนทำให้ผู้คนตั้งเป้าหมายและจดจ่ออยู่กับการบรรลุเป้าหมายในชีวิต

ในปัจจุบันที่โลกและชีวิตประจำวันของเราถูกทำให้กลืมกลนไปกับโซเชียลมีเดีย มันเป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะรู้สึก ‘ด้อยค่า’ หรือ ‘กดดัน’ จากการเห็นภาพเพื่อนๆ หรือ คนในวัยเดียวกันประสบความสำเร็จ  บางคนทำงานเบื้องหน้า เริ่มมีชื่อเสียง เริ่มเป็นที่รู้จัก เริ่มเติบโตใน Career Path ของเขาเอง  บางคนมีธุรกิจส่วนตัวและมันก็กำลังไปได้ดีมากๆ  เมื่อเห็นแบบนี้แล้ว เราก็อดที่จะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับพวกเขาไม่ได้ ไม่ใช่ว่าไม่ยินดีกับความสำเร็จของพวกเขานะ แต่พอลองมองย้อนกลับมาที่ตัวเองที่ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันก็รู้สึกน้อยใจ เครียด จนไม่มีความสุขไปเสียอย่างนั้น เลยกลายเป็นว่าหลายๆ คนสร้างเงื่อนไขขึ้นมาว่าต้องประสบความสำเร็จก่อนแล้วถึงจะมีความสุขแบบนั้นบ้าง ดังนั้น ทุกการตัดสินใจเลือกทางเดินในชีวิต เราทุกคนมักจะเลือกทางที่คิดว่าเราจะมีความสุขที่สุดเมื่อเราเดินไปถึงปลายทาง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราทุกคนพลาดไปก็คือ ความจริงที่ว่า ความสุขคือเรื่องของสภาวะจิตใจ (State of mind) ไม่ใช่ จุดหมายปลายทาง 

ในขณะเดียวกัน ความสุขที่มาจากความสำเร็จก็ไม่ได้อยู่กับเรานานขนาดนั้น Richard St. John นักการตลาดและนักวิเคราะห์ความสำเร็จ ได้กล่าวบนเวที TEDtalk ว่า ถ้าจะต้องเป็นคนที่ประสบความสำเร็จเพื่อที่จะได้มีความสุข คุณจะต้องตั้งเป้าหมายใหม่ๆ เพื่อที่จะได้บรรลุมัน เพราะเมื่อคุณทำอะไรสักอย่างสำเร็จแล้วมันก็จะจบแค่นั้น ดังนั้นหากคุณสร้างเงื่อนไขว่าความสำเร็จจะนำมาซึ่งความสุขแล้วล่ะก็ มันจะเหนื่อยมากๆ เลยนะ ดั่งที่คุณกอบุญ เกล้าตะกาญจน์ นักจิตวิทยา จาก OOCA ได้กล่าวไว้ว่า “บางครั้งความสุขของเราก็ไปยึดโยงกับการวัดผล แต่งานบางอย่าง หรือบางสถานการณ์ในชีวิต มันยังไม่ถึงเวลาวัดผล แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะมีความสุขระหว่างทางไม่ได้”

สุดท้ายนี้ ถ้าเราเอาความสุขไปผูกกับความสำเร็จแล้วล่ะก็ มันคงจะเหนื่อยมากๆ ที่ต้องวิ่งไปให้ถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ อย่าลืมว่าความสำเร็จคือ ‘การเดินทาง’ เรื่องราวระหว่างทางนั่นแหละที่จะทำให้เราเจอความสุขที่แท้จริง  ไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพ การได้ทำสิ่งที่ชอบ หรือ การได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  พอคิดแบบนี้แล้ว เราทุกคนสามารถมีความสุขได้ใน “ตอนนี้” เลย  สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่ง คือ การไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเพื่อวัดความสุข หรือ ความสำเร็จของตนเอง ความสุขเป็นเรื่องระดับ “ปัจเจก” หากคุณไล่ตามความคาดหวังของคนอื่น เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในแบบเดียวกัน ที่ปลายทางนั้น คุณอาจจะไม่พบความสุขในแบบที่ตัวเองต้องการก็ได้  

หวังว่าเพื่อนๆ จะได้ข้อคิดดีๆ กลับไปจากบทความนี้ และถ้าใครกำลังสับสนหรือกังวลเกี่ยวกับการเลือกเส้นทางเดินในชีวิต ไม่แน่ใจว่าทางเลือกที่ตัวเองเลือกนั้นจะนำมาซึ่งความสุขจริงๆ หรือเปล่า การปรึกษานักจิตวิทยาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เพื่อนๆ ได้ตกตะกอนทางความคิด และตอบคำถามได้จริงๆ ว่า “สิ่งที่ตัวเองต้องการในชีวิต” นั้นคืออะไร  OOCA ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนๆ ทุกคน หากการเดินทางนี้มันเหนื่อย ก็แวะพักระหว่างทางบ้างก็ได้ ดูแลใจตัวเองกันด้วยนะ! – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

.⠀

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

.

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #mentalhealth #depression #happiness #achievement  #ความสำเร็จ #มีความสุขได้ในตอนนี้ #OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

Sources:
https://positivepsychology.com/hedonic-treadmill/ 

INTRINSIC HAPPINESS: THE SEED INSIDE EACH PERSON (paper)

Read More

4 เทคนิคจัดชีวิตให้มี Work Life Balance

หากช่วงนี้คุณรู้สึกว่า อยู่ๆงานที่เคยทำเสร็จเร็วกลับเสร็จช้าลง, อยากทำงานให้เสร็จ ๆ ไปมากกว่าผลิตงานที่มีคุณภาพ หรืองานที่เคยชอบกลับกลายเป็นงานที่เราไม่อยากแม้แต่จะเริ่มต้น – อาจแปลได้ว่าตอนนี้สมดุลการทำงาน การใช้ชีวิต และการพักผ่อนของเราไม่ได้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม และอาจก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าหรือบ่อนทำลาย self esteem ได้ ถ้าหากเรายังคงใช้ชีวิตแบบเดิมโดยไม่แก้ไข วันนี้อูก้าเลยอยากชวนเพื่อนๆ มาเติมเพลิงแห่งความสุขกับการทำงานของเรากันอีกครั้งผ่าน tips เล็กๆ น้อยๆ ที่จะสร้างสมดุลในชีวิตการทำงานของเรา

.

ก่อนอื่นเรามาลองจัดการปัญหานี้ด้วยวิธีการจด  to do list โดยการเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ อะไรที่ต้องใช้เวลาทำมาก อะไรที่ต้องใช้เวลาทำน้อย จากนั้นเราขอชวนให้เพื่อนๆ ทุกคนมาลองฝึกการบาลานซ์ชีวิตเพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้น โดยอูก้าได้ลองรวบรวมวิธีการเซ็ตสมดุลย์ชีวิตที่น่าจะเป็นประโยชน์มาฝากทุกคนกัน 

หาจุดที่พอดีให้กับตัวเราเอง

ก่อนอื่นอาจต้องปรับเปลี่ยน mind set ของตัวเรากันก่อนว่าการที่เราไม่ได้ทำงานหามรุ่งหามค่ำหรือพักดูหนังสัก 1-2 ชั่วโมงไม่ได้แปลว่าเราไม่ขยัน เช่นเดียวกับการที่เราตอบอีเมล 2-3 รายการในวันหยุดพักผ่อนก็ไม่ถือว่า Work-life Balance ของเราพังลง  ทุกคนสามารถหาจุดที่พอดีของตัวเองได้ตามขอบเขตการรับได้ และไม่ทำให้เรารู้สึกว่ากำลังรบกวนเวลาพักผ่อน ถึงแม้ว่าในความพอดีของเราในวันนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เพราะเราเติบโตขึ้น กิจวัตรบางอย่างอาจทำได้ไม่เหมือนเดิม  ซึ่งเวลาที่เหลือจากการทำงานนั้นขึ้นอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญในเรื่องต่าง ๆ ของตัวเราเองนะ

ทำงานเมื่ออยู่ในเวลางานและให้เวลากับตัวเองเต็มที่เมื่อหมดเวลางาน

หลายคนอาจจะเคยนำเรื่องงานกลับมาคิดที่บ้านซ้ำไปซ้ำมา ทำให้สมองของเราเกิดการหลั่งฮอร์โมนความเครียด และพาลทำให้ทั้งสภาพจิตใจและร่างกายของเรารู้สึกเหมือนไม่ได้รับการพักผ่อน  ดังนั้นเราจึงควรแยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวออกจากกันให้ชัดเจนผ่านการวางขอบเขตการทำงานในแต่ละช่วงเวลาของเรา โดยตั้งใจทำงานเมื่ออยู่ในเวลางาน ขอความช่วยเหลือเมื่อไม่สามารถทำงานนั้นได้ และให้เวลากับตัวเองเยอะ ๆ เพราะร่างกายของเราต้องการพักผ่อนเพื่อเสริมสร้างพลังใจเหมือนกัน

นอกจากนี้ การจัดโต๊ะทำงานหลังเลิกงานยังช่วยให้แยกพื้นที่การทำงานกับการพักผ่อนออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้เราไม่รู้สึกเหมือนต้องทำงานตลอดเวลา สำหรับเพื่อน ๆ ที่ต้อง Work From Home เรามาลองจัดมุมใดมุมหนึ่งของห้องให้เป็นสถานที่ทำงาน โดยพยายามเลือกที่สงบ จัดโต๊ะให้เหมือนกับโต๊ะที่ออฟฟิศและใช้มุมนี้ตลอด หากเปลี่ยนมุมไปเรื่อย ๆ จะทำให้ชีวิตส่วนตัวและชีวิตในการทำงานปะปนกัน เมื่อถึงเวลาเลิกงานแล้ว ก็ชัตดาวน์คอมพิวเตอร์ ยืดเส้นยืดสายสักเล็กน้อย หาของอร่อย ๆ กิน ดูซีรี่ส์ที่ยังดูค้างไว้บนที่นอนของเรากันดีกว่า นอกจากนี้อย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง และทานอาหารให้ให้ครบ 5 หมู่ กันด้วยนะ

พูดปฏิเสธในเรื่องที่ไม่สามารถทำได้

เป็นเรื่องปกติที่เราอาจถูกไหว้วานจากเพื่อนร่วมงานและงานบางอย่างที่ได้รับการไหว้วานอาจเป็นงานที่เราไม่ได้อยากทำ ซึ่งการปฏิเสธที่จะช่วยไม่ใช่เรื่องผิด ในทางกลับกัน เราสามารถลองชั่งน้ำหนักดูว่าสิ่งนั้นอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบเรามากเกินไปไหม จะทำให้เรากดดันหรือเครียดหรือเปล่า เราสามารถปฏิเสธอย่างนุ่มนวลได้ เพื่อไม่ให้มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานในภายหลัง และเพื่อดูแลจิตใจไม่ให้ต้องแบกรับความเหนื่อยล้ามากเกินไปของเราได้พร้อมๆ กัน

ใจดีกับตัวเองบ้าง

สิ่งสำคัญที่ควรปกป้องและรักษาไว้คือใจของตัวเราเอง เวลาที่รู้สึกว่าไม่ไหวควรฟังเสียงในใจตัวเองและหยุดพัก พยายามไม่ฝืน มันไม่ใช่เรื่องผิดอะไรถ้าเราจะหยุดพักทำในสิ่งที่ชอบ ถึงแม้ว่าการทำงานหนักในตอนนี้อาจยังไม่ส่งผลต่อสุขภาพกายและใจมากนัก แต่ถ้าสะสมนาน ๆ ไปก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาวได้เช่นกัน ทั้งนี้ เราสามารถหาแหล่งเพิ่มพลังงานให้ตัวเอง จากกิจกรรมเล็ก ๆ ที่เราชอบได้  เช่น การอยู่คนเดียวในที่เงียบ ๆ เพื่อทำให้ใจสงบ การขับรถชมวิวหลังเลิกงาน เป็นต้น

👩🏻‍⚕️💙

นอกจากนี้ อ.สลิลทิพย์ มาตรา นักจิตวิทยาคลินิกจากอูก้าก็อยากจะฝากกำลังใจเล็กน้อย ๆ ให้เพื่อน ๆ ทุกคนว่า “ของขวัญที่ดีที่สุดที่เราสามารถให้ตัวเองได้คือความสุขจากการพักผ่อนอย่างเพียงพอ มาเริ่มต้นมีความสุขด้วยการบาลานซ์ชีวิตของเรากันนะคะ”

.

ถ้าเพื่อน ๆ รู้สึกว่าปัญหาแต่ละอย่างมันหนักเกินจะรับไหว  รู้สึกว่ามีเรื่องราวอื่น ๆ ที่อยากระบาย หรือต้องการเพื่อนไว้รับฟังและคอยปลอบโยนอยู่ข้าง ๆ เวลาเหนื่อยและสับสน ทางอูก้ายินดีให้คำปรึกษาและพร้อมรับฟังเสมอ เพราะทุก ๆ เรื่องจากคุณสำคัญที่สุดสำหรับเรานะคะ

.

รับพลังบวกในแต่ละวันและนัดคุยกับผู้เชี่ยวชาญผ่านแอปพลิเคชันอูก้า

ดาวน์โหลดเลย: https://ooca.page.link/ZHMD

หรือติดตามสิทธิพิเศษมากมายที่เราคัดมาให้ทุกคนเลือกสรร

.

แอดเลย Line Official:

https://lin.ee/6bnyEvy

.

อ้างอิง

https://experience.dropbox.com/th-th/resources/work-life-balance

https://medium.com/the-logician/work-to-live-or-live-to-work-c8a1f6761e

#OOCAitsOK#WeWillListen#เรื่องของใจให้เรารับฟัง #OOCAissues

#mentalhealth #stigma #selflove #expectation #WORKLIFEBALANCE #OOCAfeelings #OOCAreminder #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

Read More

เซโรโทนินต่ำเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า จริงหรือ…?

เพื่อน ๆ เคยได้ยินประโยคที่ว่า “เป็นซึมเศร้าเพราะเซโรโทนินต่ำ” กันบ้างไหม บทความจิตวิทยาหลายชิ้น งานวิจัยหลายฉบับ รวมทั้งรูปแบบการศึกษาที่อ้างอิงกับงานวิจัยในทฤษฎีซึมเศร้าดั้งเดิม มักจะพยายามหาวิธีเพื่อที่จะรักษาสมดุลของเจ้าฮอร์โมนนี้ และหาวิธีลดอัตราการเกิดของโรคซึมเศร้า แต่เพื่อน ๆ รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว เซโรโทนินต่ำไม่ได้ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า วันนี้อูก้าจะมาพาทุกคนมาไขคำตอบกันว่า เซโรโทนินต่ำเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า จริงหรือ…?

.

โดยทั่วไปแล้ว เรามักจะได้ยินกันว่า อาการซึมเศร้าสัมพันธ์กับความผิดปกติของสารเคมีในสมองโดยเฉพาะสารที่ชื่อ “เซโรโทนิน” หรือสารเคมีแห่งอารมณ์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนและสารสื่อประสาทที่เชื่อมโยงกับร่างกายและการควบคุมอารมณ์ โดยทฤษฎีดังกล่าวได้เป็นที่แพร่หลายในวงการแพทย์และจิตวิทยามาจนถึงปัจจุบัน  อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีดังกล่าวเริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งมีผู้รวบรวมข้อโต้แย้งเหล่านั้นมาเป็นงานวิจัย ที่อูก้าจะพาพวกเราจะไปค้นหาคำตอบกันในวันนี้

.

งานวิจัย umbrella review ของ Joanna Moncrieff และคณะ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Psychology เมื่อปี 2022  ได้สำรวจงานวิจัยในช่วงเวลา 10 ปีที่มาผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเซโรโทนิน ยาต้านซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า ทางทีมวิจัยศึกษาประเด็นดังกล่าวโดยพิจารณาจาก 

1. ระดับสารเซโรโทนินและเซโรโทนินเมตาโบไลต์ 5-HIAA ในโรคซึมเศร้า

2. การเปลี่ยนแปลงของการจับตัวบนผิวเซลล์ของเซโรโทนินในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 

3. ระดับของยีน SERT หรือตัวขนส่งเซโรโทนินในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 

4. ระดับของตัวขนส่งเซโรโทนิน ซึ่งจะทำให้การรับส่งเซโรโทนินที่ปลายประสาทลดลง

5. งานวิจัยเกี่ยวกับภาวะการขาดทริปโตเฟน ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ช่วยรักษาสมดุลทางอารมณ์และการกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้า 

6. ความสัมพันธ์ของยีน SERT กับความเครียดในโรคซึมเศร้า 

.

เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์ต่าง ๆ แล้ว งานวิจัยพบว่า งานวิจัยทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเซโรโทนินและเมตาบอไลต์ชี้ให้เห็นว่า การทำงานที่ลดลงของสารเซโรโทนินและโรคซึมเศร้าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน นอกจากนี้ งานวิจัยเกี่ยวกับภาวะการขาดทริปโตเฟน และการกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้ายังแสดงหลักฐานที่น้อยมากเกี่ยวกับการทำงานที่ลดลงของเซโรโทนิน ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากผลในภาพรวมของกลุ่มงานวิจัยดังกล่าว เราจะเห็นได้ว่า ความเข้มข้นของเซโรโทนินกับโรคซึมเศร้าไม่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งตรงกันข้ามทฤษฎีดั้งเดิมของโรคซึมเศร้า

.

นอกจากนี้ ตัวงานวิจัยยังตั้งคำถามกับความเชื่อที่ว่า โรคซึมเศร้าเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ซึ่งเป็นองค์ความรู้จากการใช้ยาต้านเศร้า โดยที่งานวิจัยเผยข้อโต้แย้งที่น่าสนใจว่า การใช้ยาต้านเศร้า (antidepresssants) ในระยะยาวกลับส่งผลให้การหลั่งสารเซโรโทนินลดต่ำลง ดังนั้น หากจะกล่าวว่าการลดลงของสารเซโรโทนินเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าอาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว

.

อูก้าเข้าใจว่า สำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังต่อสู้อยู่กับโรคซึมเศร้าต้องใช้แรงกายแรงใจ เพื่อที่จะฝ่าฟันและข้ามผ่านมันไปได้ แม้จะต้องใช้เวลานานมากแค่ไหน อูก้าจะคอยอยู่เคียงข้างและเปลี่ยนให้ทุก ๆ วันเป็นวันที่สดใสสำหรับทุกคนนะ 

.

ติดตามสิทธิพิเศษมากมายที่เราคัดมาให้ทุกคนเลือกสรร พร้อมไม่พลาดเนื้อหาสาระสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องจิตวิทยา – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

.⠀

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง

#mentalhealth #depression #ซึมเศร้า #เซโรโทนิน #scientificNEWS 

#OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues

#นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

Resource:

Moncrieff, J., Cooper, R.E., Stockmann, T. et al. The serotonin theory of depression: a systematic umbrella review of the evidence. Mol Psychiatry (2022). https://doi.org/10.1038/s41380-022-01661-0

Read More

ศาสนา vs จิตวิทยา เมื่อความเชื่อและวิทยาศาสตร์มาบรรจบกัน

ในช่วงนี้ #พระมหาไพรวัลย์ และ #พระมหาสมปอง เรียกได้ว่ากำลังเป็นกระแสในโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก จนทำให้ผู้คนหันกลับมาให้ความสนใจกับศาสนากันมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ผู้คนแทบไม่ให้ความสำคัญกับศาสนาสักเท่าไหร่ เนื่องจากศาสนาในสังคมไทยเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมมากเกินไป และเปราะบางเกินกว่าแตะต้องได้ อีกทั้งยังมีเรื่องของไสยศาสตร์ที่เข้ามามีบทบาทจนส่งผลให้ศาสนาดูเป็นเรื่องไกลตัวคนรุ่นใหม่

แต่กระแสจากไลฟ์สอนธรรมะผ่านเฟซบุ๊กของทั้งสองพส.กลับเป็นจุดเปลี่ยนให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจถึงแก่นแท้ของคำสอนในพุทธศาสนาที่สอนให้เข้าใจถึงเรื่อง ‘ทุกข์’ และแนวทางในการดับทุกข์ที่คอยมารบกวนจิตใจของเรา อีกทั้งยังช่วยปลอบประโลมใจของใครหลายคนให้มองชีวิตบนความเป็นจริง หันมาใช้ศาสนาช่วยฟื้นฟูจิตใจในช่วงที่จมดิ่งไปกับความคิดในแง่ลบให้กลับมาสู่สภาวะปกติได้เป็นอย่างดี

ศาสนากับการเยียวยาสุขภาพใจมนุษย์

ตอนที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้คำตอบในเรื่องชีวิตของมนุษย์ได้ คนสมัยก่อนก็ต้องหาเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจมาตอบคำถามในเรื่องที่อธิบายไม่ได้อย่างปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ภัยทางธรรมชาติ ศาสนาจึงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอนในชีวิต และสิ่งเหล่านี้ทำให้ศาสนาฝังลึกและครอบคลุมทุกมิติในชีวิตมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็น ร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ อีกทั้งยังเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของเราเป็นอย่างมาก รวมไปถึงความเป็นอยู่ และสุขภาพทั้งกายและใจของเราเองก็ตาม

วิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ อย่างเช่นจิตวิทยาเองก็ได้พยายามศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและความเป็นมนุษย์ในแง่ของจิตใจ พบว่า ในความเป็นจริงแล้วศาสนาถือว่าเป็นรากฐานในการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจเลยก็ว่าได้ เพราะการกำเนิดโรงพยาบาลแห่งแรก หรือแม้แต่การฝึกสอนบุคลากรทางแพทย์เองก็เกิดจากสถาบันศาสนาทั้งสิ้น ไม่แปลกเลยที่งานวิจัยในเรื่องศาสนาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า ศาสนาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก เนื่องจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางศาสนาล้วนส่งเสริมให้ผู้คนรับมือกับภาวะสุขภาพจิต และช่วยจัดการกับความเครียดกับปัญหาต่าง ๆ ที่รบกวนจิตใจได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศาสนาก็ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตเช่นกัน หากปล่อยให้กรอบความคิดของศาสนาเข้ามามีผลต่อความเชื่อจนไม่มีความหยืดยุ่นในความคิดของตัวเอง หรือใช้ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจจนศรัทธาอยู่เหนือเหตุผล ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพใจต่าง ๆ เช่น ความวิตกกังวลทางสังคม ความหวาดระแวง ความหลงใหล รวมไปถึงการย้ำคิดย้ำทำจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ สิ่งที่ดีที่สุดเมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ คือ การปรับความคิดว่าเราสามารถตั้งคำถามกับศาสนาได้ และไม่ควรปล่อยให้ความเชื่อสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองหรือผู้อื่น

ศาสนา x จิตวิทยากับการนำไปใช้เพื่อการพัฒนาใจมนุษย์

****หลายครั้งที่เราเห็นว่าจิตวิทยาที่เป็น ‘ศาสตร์แห่งโลกตะวันตก’ และพุทธศาสนาที่เป็น ‘ศาสตร์ของโลกตะวันออก’ มีความเกี่ยวข้องกัน แม้ว่าจิตวิทยาและศาสนาจะอยู่คนละศาสตร์ แต่ทั้งสองศาสตร์ก็ล้วนกำลังอธิบายถึงความเป็นมนุษย์ในแง่ของจิตใจเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้จิตวิทยาหันมาใช้การศึกษาจิตใจและพฤติกรรมของมนุษย์โดยองค์รวมด้วยการขยายความสนใจในพุทธศาสนามากขึ้น เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงสภาวะทางจิตใจและพฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง หรือที่เรียกว่า ‘จิตวิทยาแนวพุทธ (Buddhist Psychology)’

“ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้คนมองโลกในแง่บวก แต่สอนให้คนมองโลกตามความเป็นจริง” – #พระมหาไพรวัลย์

จากคำสอนของพระมหาไพรวัลย์จะเห็นได้ว่าแก่นแท้ของคำสอนในพุทธศาสนาไม่ได้ต้องการให้ผู้คนมีความสุขโดยการพยายามละทิ้งความทุกข์ แต่ต้องการให้ผู้คนได้เข้าใจถึงสาเหตุของทุกข์ และแนวทางในการดับทุกข์บนพื้นฐานของความเป็นจริง นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจิตวิทยาจึงใช้ศาสนาที่เป็นศาสตร์ของโลกตะวันออกมาขยายจุดมุ่งหมายในการบำบัดทางจิตวิทยาตะวันตกให้กว้างออกไปมากขึ้น เพราะแค่จิตวิทยาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้ผู้คนได้เข้าใจถึงความหมายของชีวิตอย่างลึกซึ้งได้เท่าที่ควร

ดังนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้เข้ามาช่วยเติมเต็มในส่วนที่จิตวิทยาขาดหายไปด้วยการเป็นเหมือนแสงสว่างส่องทางให้นักจิตวิทยาเห็นถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่รบกวนจิตใจของคนไข้ และสามารถช่วยเหลือพวกเขาในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การเยียวยาจิตใจคนที่เคยเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง ไปจนถึงการนำไปใช้พัฒนาคุณภาพจิตใจให้แก่คนทั่วไปในทางที่ดีขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อในศาสนาใดก็ตาม ทุกศาสนาล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เราได้ยกระดับคุณภาพจิตใจไปในทางที่ดีขึ้นทั้งสิ้น และไม่มีความเชื่อของศาสนาไหนที่ผิดหรือถูก เพราะเรามีสิทธิเสรีภาพในความเชื่อของตัวเอง เพียงแต่อย่าให้ความเชื่อของเราไปทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายคนอื่น และความเชื่อเหล่านี้เองก็ต้องพัฒนาตัวเราให้ไปในทางที่ดีขึ้นด้วย อูก้าก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กับทุกความเชื่อ หากรู้สึกว่าต้องการใครสักคนในช่วงเวลาที่รู้สึกว่าไม่มั่นคงในชีวิต อย่าลืมให้เราเยียวยาใจของคุณนะ 😊💙

________________________________⠀⠀⠀⠀⠀

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/6XLZ⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀

#MindPleasureLIVEtalk #OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

อ้างอิงข้อมูลจาก:

APA: https://bit.ly/2XrO812

Psychology Today: https://bit.ly/39e7klR

THE STANDARD: https://bit.ly/3zpusbn

UTCC: https://bit.ly/2XtxGh2

verywellmind: https://bit.ly/3lxCf29

WIRED: https://bit.ly/3nE45MS

Read More

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องไปหาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา?

การดูแลสุขภาพใจเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพใจมากกว่าที่เคยเป็นมา แต่หลายคนก็ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเข้ารับบริการด้านสุขภาพใจกันว่าระหว่าง ‘จิตแพทย์’ กับ ‘นักจิตวิทยา’ จะรู้ได้ไงว่าต้องไปหาใครถึงจะเหมาะสมกับปัญหาใจของเรา 🤔

ทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยาล้วนสามารถประเมิน บำบัด และรักษาโรคทางจิตเวชได้ การทำงานจึงค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกันจนเราสับสนว่าทั้งคู่มีความแตกต่างกันอย่างไร เพราะดูเหมือนว่าทั้งคู่ก็สามารถดูแลสุขภาพใจของเราได้ ในทางกลับกัน ทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเองมีมุมมองในการรักษาใจที่แตกต่างกัน โดยจิตแพทย์จะทำการรักษาด้วยการใช้ยาเข้ามาช่วยเป็นหลัก และนักจิตวิทยาจะทำการรักษาด้วยการพูดคุยและการทำจิตบำบัดเข้ามาช่วยให้ดีขึ้นนั่นเอง

อยากพูดคุย, จัดการอารมณ์และความรู้สึก หรือประเมินสุขภาพใจให้ ‘นักจิตวิทยา’ เป็นผู้ช่วยของคุณ

เมื่อคุณมีความรู้สึกไม่สบายใจหรือเครียดกับปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามารุมเร้าจนการใช้ชีวิตประจำวันยากลำบากขึ้น หากมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยจัดการปัญหาให้คลี่คลายลงได้ก็คงจะดีไม่น้อย นักจิตวิทยาก็เป็นตัวช่วยที่ดีในการจัดการกับปัญหาที่รบกวนใจของคุณได้ เพราะนักจิตวิทยามีความเชี่ยวชาญในการเยียวยาใจให้ดีขึ้นพร้อมกับจัดการอารมณ์และความรู้สึก และยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้คุณสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ‘นักจิตวิทยา’ มีหลากหลายสาขามาก ไม่ว่าจะเป็น นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาอุตสาหากรรมและองค์กร นักจิตวิทยาการปรึกษา หรืออื่น ๆ มากมาย แต่ในวงการสุขภาพใจส่วนใหญ่แล้วเราต้องเจอกับนักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยาปรึกษาเป็นหลัก บางครั้งนักจิตบำบัดเองก็เข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพใจด้วยเหมือนกัน

ส่วนใหญ่แล้วนักจิตวิทยาให้ความสำคัญกับพฤติกรรม อารมณ์และความคิดที่ส่งผลต่อใจของเรา การรักษามักจะเน้นที่การบำบัดด้วยการพูดคุยที่ให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น พร้อมทั้งรับฟังเรื่องราวและช่วยให้คำปรึกษาโดยไม่ชี้แนะว่าต้องทำแบบไหนถึงจะดี แต่จะพูดคุยสะท้อนเนื้อความ (Reflecting Content) และสะท้อนความรู้สึก (Reflecting Feeling) ให้เราคิดตามและเข้าใจสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเราในระหว่างที่พูดคุยกันเพื่อให้เราได้รู้สึกเหมือนมีเพื่อนที่คอยรับฟังและพร้อมที่เข้าใจปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตโดยไม่ตัดสิน ไม่ตีตราและพยายามหาทางช่วยให้เราจัดการกับปัญหาที่รบกวนใจให้หมดไป

แม้ว่านักจิตวิทยาไม่สามารถสั่งจ่ายยาในการรักษาโรคเหมือนจิตแพทย์ได้ แต่นักจิตวิทยาก็มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยามาประเมินปัญหาสุขภาพใจของเราเพื่อเป็นแนวทางในการรักษาให้ตรงจุด อีกทั้งนักจิตวิทยายังสามารถใช้ทฤษฎีต่าง ๆ มาปรับพฤติกรรม อารมณ์ และความคิดที่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของเราให้สามารถก้าวเดินไปข้างหน้าต่อไปได้

อยากวินิจฉัยและรักษาโรคทางใจ ‘จิตแพทย์’ ช่วยคุณได้

หากคุณมีอาการ เศร้า วิตกกังวลหรือเครียดมากเกินไปจนรู้สึกควบคุมตัวเองหรือสิ่งต่าง ๆ ได้ยาก ในบางครั้งอาจมีอาการผิดปกติทางร่างกายหรือสมองร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น

🤒 มีปัญหาการนอนไม่หลับ

🤒 สมาธิในการทำงานน้อยลงมาก

🤒 ป่วยกายโดยไม่ทราบสาเหตุอย่างแน่ชัด เช่น ปวดหัว ปวดท้อง เป็นต้น

🤒 เศร้า หรือวิตกกังวลจนหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม

เมื่ออาการดังกล่าวนี้ส่งผลเสียจนรบกวนการใช้ชีวิตของคุณมากเกินไป การไปหาจิตแพทย์จึงเป็นตัวช่วยที่เหมาะกับปัญหาใจของคุณที่สุด เพราะจิตแพทย์เข้าใจอาการผิดปกติทางใจที่ส่งผลต่อร่างกายและสมองได้ดี อีกทั้งยังมีความเชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยและรักษาโรคทางใจ ว่าอาการดังกล่าวนี้ต้องประเมินการรักษาอย่างไรให้ตรงจุดที่สุด

จิตแพทย์ให้ความสำคัญกับอาการผิดปกติทางใจจากการทำงานของร่างกาย สมองและระบบประสาทส่วนกลางเป็นอย่างมาก การรักษามักจะเน้นที่วินิจฉัยและรักษาโรคทางจิตเวช เช่น โรคไบโพลาร์ โรคซึมเศร้า หรือโรคทางใจอื่น ๆ ด้วยการใช้ยาเข้ามาช่วยควบคุมระดับสารเคมีในสมอง นอกจากนี้ จิตแพทย์เองก็ยังรักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองด้วย และก็ยังสามารถให้คำปรึกษาและทำจิตบำบัดเหมือนกับนักจิตวิทยาได้อีกด้วย

ถึงแม้ว่าจิตแพทย์กับนักจิตวิทยามีมุมมองในการรักษาที่แตกต่างกัน แต่ทั้งคู่ก็ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมเสมอ โดยปกติแล้ว จิตแพทย์เป็นด่านแรกในการประเมินและวินิจฉัยเบื้องต้นแล้วส่งต่อให้กับนักจิตวิทยาได้ทำการดูแลอย่างต่อเนื่องด้วยการบำบัดด้วยการพูดคุยนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ไม่มีสายงานไหนที่มีความเชี่ยวชาญมากหรือน้อยกว่ากัน เพราะถ้าหากขาดสายงานใดสายงานหนึ่งไป สุขภาพใจของเราก็จะไม่ได้เข้ารับการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาล้วนมีความสำคัญในการดูแลสุขภาพใจไม่แพ้กัน

การไปหาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาไม่ใช่เรื่องน่าหวาดกลัว หากคุณต้องการพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์แต่ยังไม่รู้ว่าจะต้องไปที่ไหนและจะต้องเริ่มต้นอย่างไร ให้อูก้าเป็นจุดเริ่มต้นของคุณ ทีมนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ยินดีรับฟังเรื่องราวของคุณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่เราพร้อมอยู่เคียงข้างคุณเสมอ

🥰💙


ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/XEK8
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ > https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > http://bit.ly/msgfbooca.⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

อ้างอิงข้อมูลจาก:

Psychology Today: https://bit.ly/3BBcXaF

Choosing Therapy: https://bit.ly/3y6iZ0K

POBPAD: https://bit.ly/2TEYhWS

Read More

มากอดกันไหม ? วันที่ใจเราต่างเหนื่อยล้า

‘ถ้าเราหายไปก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง’ 😢

เคยรู้สึกแบบนี้เหมือนกันไหม ? เหมือนเราเป็นเพียงเศษเสี้ยวแสนไร้ค่าเมื่อเทียบกับผู้คนมากมายที่ต่างเดินหน้าไปถึงไหนต่อไหน ยิ่งนานวันไปก็ยิ่งรู้สึกว่าตนเองนั้นเล็กเสียจนหายไปก็คงไม่มีใครรู้

“เหนื่อยมาก เหนื่อยจัง เหนื่อยจริงๆ”

ท่อนหนึ่งจากบทเพลง Hug (กอด) – Seventeen ศิลปินชาวเกาหลีใต้ ทำเอาน้ำตาไหลลงมาโดยที่ไม่รู้ตัว ราวกับเสียงสะท้อนที่อยู่ในใจถูกขับขานออกไปผ่านคำร้องและทำนองที่แสนอ่อนโยน ชวนให้หันกลับไปมองแต่ละก้าวเดินที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ เรากำลังใจร้ายกับตัวเองอยู่หรือเปล่านะ ?

สิ่งรอบตัวมากมายกำลังบีบอัดเราให้เล็กลงไปเรื่อย ๆ จนความรู้สึกของเราแตกสลายไปพร้อมกับหัวใจที่เก็บไว้แต่ความเจ็บปวด รู้ตัวอีกทีก็ลืมไปแล้วว่าความสุขเป็นอย่างไร ในตอนนั้นหากมีใครสักคนมากอดเราและถามว่า “เหนื่อยไหม” หัวใจดวงน้อยคงรับไม่ไหวจนเผลอแสดงความอ่อนแอออกไปให้ใครต่อใครได้เห็น

อยากจะบอกออกไปให้ใครต่อใครได้รู้ว่าแต่ละวันที่ผ่านไปมันแสนจะลำบากยากเย็นเพียงใด ว่าหัวใจดวงนี้กำลังจะรับอะไรต่อไปไม่ไหวแล้ว แต่สุดท้ายก็ทำได้แค่เก็บคำพูดเหล่านั้นไว้ในใจ เพราะมองออกไปก็เห็นแต่คนที่พยายามอย่างหนักเช่นเดียวกัน ยิ่งเห็นแบบนั้นมากเท่าไร ยิ่งเข้าใจความเหนื่อยล้านั้นมากเท่าไร ยิ่งพูดออกไปไม่ได้เท่านั้น

ขอโทษนะที่เป็นคนอ่อนแอ

ขอโทษนะที่เป็นคนไม่เอาไหน

ขอโทษนะที่เป็นคนไม่เก่ง

ขอโทษนะที่เกิดมา

ได้แต่ตะโกนร้องอยู่ในใจ เพราะความคาดหวังมากมายให้เราต้องโตขึ้น ต้องพัฒนามากกว่านี้ ต้องเก่งมากกว่านี้ แต่นานวันเข้าความกดดันกลับเข้ามาแทนที่จนเผลอรู้สึกผิดที่ตนเองไม่เดินหน้าต่อไปไหนเสียที หากใครที่กำลังรู้สึกแบบเดียวกัน ลองกดเปิดเพลงนี้ขึ้นฟังแล้วปล่อยให้ใจได้รับคำปลอบโยนดูสักครั้ง

“ไม่ต้องรู้สึกผิดหรอกนะ

ไม่ต้องกังวลอะไร

ไม่ต้องกลัวนะ”

ความอ่อนแอไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ไม่เป็นอะไรเลยหากจะมีสักวันที่เหนื่อยล้าหรือท้อแท้ ไม่เป็นไรเลยที่ไม่ได้เก่งเหมือนคนอื่นเขา เพราะแค่มีชีวิตอยู่ก็พอแล้ว ขอเพียงยังหายใจ วันพรุ่งนี้และการเริ่มต้นใหม่จะมาอีกครั้ง ถึงตอนนั้นไม่ต้องกลัวไป มาจับมือกันเอาไว้ แล้วเผชิญหน้ากับมันไปด้วยกันนะ

“เพราะสำหรับฉัน เธอนั้นสำคัญมากกว่าใคร”

“แด่เธอ…ที่ผ่านแต่ละวันอย่างยากลำบาก ฉันอยากบอกบางอย่างกับเธอไว้

ว่าเธอยังมีฉัน ว่าเธอทำได้ดีมากแล้ว ว่าฉันรักเธอนะ

และฉันจะกอดเธอไว้เอง”

เช่นเดียวกับชื่อมินิอัลบั้มที่มาในธีม ‘YOU MADE MY DAWN’ ที่ส่งผ่านเสียงสะท้อนของหัวใจมากพร้อมกับความห่วงใยและคำปลอบโยน หวังว่าเพลงนี้จะส่งไปถึงคนที่กำลังฟังอยู่และทำให้อีกหนึ่งวันที่แสนเหนื่อยล้าจบลงไปพร้อมกับความรู้สึกดี ๆ

💎 ฟังเพลง Hug – Seventeen ได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=j69PEX9bzRY

ใครที่เห็นเพื่อนกำลังเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด ก็ลองส่งเพลงนี้ให้เป็นกำลังใจ แทนข้อความว่า ‘ฉันจะอยู่ข้างเธอเสมอ’ หรือใครที่กำลังเหนื่อยล้าทั้งกายและใจจากการทำงานมาทั้งวัน ก็ลองเปิดเพลงขึ้นขึ้นมาฟังและอนุญาตให้ตนเองได้ร้องไห้ ระบายความอึดอัดที่เก็บมาตลอดออกไปบ้างสักครั้ง และหากใครที่เหนื่อยกายท้อใจ หันไปทางไหนก็มืดมน อยากได้ใครสักคนคอยรับฟังเรื่องราวและก้าวผ่านวันนี้ไปด้วยกัน อูก้ายังคงอยู่ตรงนี้ พร้อมรับฟังและจับมือทุกคนไว้ ไม่ว่าเมื่อไรก็ติดต่อมาได้เสมอเลยนะ 💚💙

#OOCAinsight

________________________________⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/2zqc
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ > https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > http://bit.ly/msgfbooca.⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

Read More
แก้ปัญหาหมดไฟทำงาน เครียดจากการทํางาน ความเครียดในการทํางาน

พนักงานก็คือคนเหมือนกัน ทุกคนมีเรื่องส่วนตัวที่ต้องใส่ใจ

“We are human after all” 
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
#สุดท้ายแล้วพนักงานก็คือคนเหมือนกัน
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
เคยสงสัยไหมว่า ทั้งถูกโค้ชงาน ทั้งตั้ง KPI กับหัวหน้าก็แล้ว แต่ทำไมเรายังทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพสักที ทำงานก็ไม่มีความสุข บอกให้ว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ ‘ที่ทำงาน’ แน่ๆ 
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
ก็เพราะในความเป็นจริง ชีวิตเราไม่ได้มีแต่การทำงาน แต่ยังมีเรื่องส่วนตัวที่ต้องพิชิตและมีจิตใจที่ต้องดูแล ซึ่งสมการของความสุขนี้ง่ายๆ ก็คือการที่เราได้ใช้ชีวิตในการทำงาน และดูแลชีวิตส่วนตัวนอกที่ทำงานได้อย่างสมดุล นั่นคือ ‘Work life balance’ นั่นเอง
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
จริงไหมเราไม่ได้ทำงานเพียงเพื่อให้ได้เงินเลี้ยงชีพเท่านั้น แต่มีปัจจัยภายในตนเองที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งความต้องการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายได้ทำสิ่งที่รักและถนัด สมหวังในการใช้ชีวิตแล้วมีประโยชน์ต่อคนรอบข้างและสังคมด้วย เรียกได้ว่า ดำเนินชีวิตส่วนตัวได้อย่างราบรื่นและภายในไม่รู้สึกว่างเปล่า
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
แต่จะว่าไปในความโชคร้ายก็ยังมีเรื่องดีๆ เพราะเมื่อโลกเราต้องมาเผชิญวิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชากรโลกหันมาให้ความสนใจเรียนรู้วิชาจิตวิทยา และคุยปรึกษาเพื่อดูแลสุขภาพใจตนเองและคนรอบข้างกันเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและมุ่งสู่วิถีชีวิตใหม่ด้านการดูแลสุขภาพใจ (new normal) เพราะจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเกือบครึ่งหนึ่ง ของพนักงานยอมรับว่า ‘ปัญหาที่ไม่ใช่การทำงาน (non-work)’ ปัญหาส่วนบุคคลของพวกเขา บางครั้งมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพและผลการทำงาน แล้วแต่อาจส่งผลเสียต่อสมาชิกในทีม และในที่สุดปัญหาส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับการดูแล จะลุกลามกลายเป็นปัญหาของทีมทั้งหมด
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
เรากำลังพูดถึงเรื่อง ’ความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานโดยส่วนรวม (The total life space)’ แล้วการเรียนรู้เรื่องนี้ จะทำให้ชีวิตคนทำงานอย่างเราๆ ดีขึ้นได้อย่างไร เรามาดูไปพร้อมๆ กัน…
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
The total life space คือ การทำงานที่ได้รับมอบหมายโดยไม่รู้สึกกดดันจนเกินไป มีชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม ไม่คร่ำเคร่งกับงานจนไม่มีเวลาพักผ่อน หรือได้ใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างเพียงพอ ทำงานได้อย่างสบายใจโดยไม่กังวลกับปัญหาส่วนตัวที่รบกวนใจมากเกินไป
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
เรื่องนี้สอดคล้องกับการทำการบ้านจากบริษัทชั้นนำ 10 อันดับแรกของประเทศไทยที่คนอยากเข้าทำงานมากที่สุด เพราะบริษัทเหล่านั้นไม่ได้มีเพียงปัจจัยสำคัญในเรื่องโอกาสความก้าวหน้า ผลตอบแทน และความมั่นคงเท่านั้น แต่มีเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีส่วนตัวและการทำงานและสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ที่สำคัญที่ไม่แพ้กันเลยสักนิด ดังนั้น การที่หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานที่ใส่ใจเรื่องราวจิตใจของเพื่อนร่วมงาน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาส่วนบุคคลของพนักงาน และการเรียนรู้จะอยู่กับวิกฤตที่เข้ามา จึงจำเป็นไม่แพ้เรื่องไหนๆ ในการทำงาน
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
อย่างที่บอกว่าเพราะพนักงานก็คือคนเหมือนกัน ทุกคนมีเรื่องส่วนตัวที่ต้องใส่ใจดูแล การทำงานจึงไม่ได้มีเฉพาะแต่เรื่องงานอีกต่อไป และเพื่อช่วยให้งานได้ผล และซึ้งใจคน เราจึงมีพื้นฐานการดูแลใจเชิงจิตวิทยา ที่เพื่อนสามารถสนับสนุนกันและกันยามเพื่อนเผชิญปัญหา รับรองว่าทำตามได้ง่ายๆ และสบายใจ
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
1. #เป็นเพื่อนที่พูดภาษาเดียวกัน
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
ไม่จำเป็นที่ต้องเป็นคนบ้านเดียวกันเท่านั้น เพื่อนที่พูดภาษาเดียวกัน หมายถึง การเปิดใจยอมรับ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ มีเพื่อนสนิทไว้แบ่งปันความคิด ความสุข ความทุกข์ในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เป็นเพื่อนที่ช่วยทำให้เพื่อนอีกคนสบายใจที่ได้อยู่ด้วย เมื่อเราสามารถพัฒนาความรู้สึกสนิทสนมและผูกพันกับผู้อื่นได้ เราเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง มีกำลังใจมากขึ้นเมื่อเผชิญปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เพื่อนๆอย่าลืม ให้คำพูดดีๆ ที่เพื่อนของเราฟังแล้วรู้สึกดี (words of affirmation) บ่อยๆ
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
2. #เป็นเพื่อนที่มองเห็นคุณค่า
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
เพราะคนไม่ใช่วัตถุสิ่งของ แต่มีชีวิตจิตใจให้ดูแล ในหนังสือ ‘ทางเลือกที่3 ประสานพลังความคิดพิชิตปัญหาทุกรูปแบบ’ ของ แฟรงคลิน โควีย์ บอกว่า สำหรับฉันแล้ว เพื่อนไม่ใช่วัตถุสิ่งของ ไม่ใช่เครื่องมือที่ฉันนำมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเอง การตีความว่าผู้อื่น คือท่าน มีข้อดี มีคุณค่าและความสามารถพิเศษเฉพาะตัว ชวนให้เราเกิดท่าทียกย่อง นับถือ แสดงออกถึงความใกล้ชิด เปิดเผย และไว้ใจ ขณะที่การตีค่าผู้อื่นเป็นวัตถุ หรือเป็นแค่ทรัพยากรอย่างหนึ่ง แสดงออกถึงความรู้สึกห่างเหิน เมินเฉย และเกิดการเอาเปรียบ ดังนั้น หากเพื่อนพบปัญหา เราเป็นคนหนึ่งที่อาจช่วยกระตุ้นให้เขามองเห็นข้อดีและรับรู้ความสามารถแท้จริงในตนเองช่วยให้รับมือปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้นะ
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
3. #เป็นเพื่อนที่เคารพในคนอื่นและตนเอง
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
เป็นเพื่อนที่เคารพ ให้เกียรติ และทำตัวเสมอกัน เราคงอึดอัดใจไม่น้อย ถ้าเพื่อนบางคนคอยตำหนิวิจารณ์เราอยู่ร่ำไป อันนี้ก็ไม่ได้ อันนั้นก็ไม่ดี ไม่สนใจสิทธิของผู้อื่นบ้างเลย การเคารพในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การไปมาลาไหว้ผู้ใหญ่เพื่อน แต่คือการเคารพในความเป็นส่วนตัว ในความเป็นตัวตนของเพื่อน ไม่วิจารณ์ล้อเลียนเพื่อนในสิ่งที่เพื่อนเป็น (bullying) ทางจิตวิทยาเรียกว่า การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข ยอมรับในฐานะที่เขาเป็นคนๆ หนึ่งที่มีศักดิ์ศรี ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ไม่ประเมินหรือตัดสินเพื่อนว่าดีหรือไม่ดี เรายอมรับเพื่อนอย่างที่เป็นอยู่ อย่างไม่แปรเปลี่ยนไม่ว่าเพื่อนทำพฤติกรรมอย่างไร เราก็ยังเห็นคุณค่าของเขาตลอดเวลา
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
4. #เป็นเพื่อนที่พร้อมรับฟังและมีเวลาให้
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
เป็นเพื่อนที่คอยรับฟังเพื่อน ในเวลาที่เพื่อนมีความสุขหรือทุกข์ใจ มีเวลาให้กับเพื่อนในเวลาที่เพื่อนต้องการเท่าที่เราจะให้ได้ เพื่อนรู้สึกดีใจ เราก็ควรดีใจด้วย เพื่อนมีปัญหาก็รับฟังได้ แม้เราจะไม่ใช่นักจิตวิทยาให้การปรึกษาก็ตาม ซึ่งการรับฟังควรเป็นไปอย่างไม่ตัดสิน โดยเรารับฟังในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเพื่อน หรือต่อชีวิตของเขา พร้อมแสดงออกถึงความใส่ใจในสิ่งที่เพื่อนพูด ส่งผลให้เพื่อนรับรู้ถึงความจริงใจ เอาใส่ใจ เข้าใจ และไม่ตัดสิน เกิดภาวะที่ทางจิตวิทยาเรียกว่า Empathy คือ ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นและเข้าใจความยากลำบากของผู้อื่นนั่นเอง
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
5. #เป็นเพื่อนที่แนะนำบริการให้การปรึกษา
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
การเป็นเพื่อนที่สนับสนุนและแนะนำสิ่งดีๆ ให้กับเพื่อน ในเวลาที่ครอบครัวและเพื่อนอย่างเราๆ มีข้อจำกัดในการช่วยเพื่อนเผชิญวิกฤติเป็นสิ่งที่มีมิตรไมตรี
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
แต่หลายครั้ง การปรึกษาคนรอบข้างแล้วแทนที่จะได้คำตอบที่เวิร์ค ก็ทำให้เพื่อนเราสับสนและเครียดหนักกว่าเดิมได้ เพราะเรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องส่วนตัวและไม่อยากเปิดเผยให้คนใกล้ตัวรับรู้ การแนะนำให้เพื่อนมีโอกาสพบกับ ‘นักจิตวิทยาการให้การปรึกษา’ ที่สามารถพูดคุยปัญหาได้อย่างสะดวกใจและปลอดภัยเพราะเป็นความลับ และสามารถช่วยเขาสำรวจและประเมินทางเลือกต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้เชี่ยวชาญสามารถช่วยตอบคำถามยากๆ ไม่ว่าจะเป็น “ ฉันเศร้ามากหรือซึมเศร้าหรือไม่” หรือ“ ฉันจะควบคุมอารมณ์และหยุดตะโกนใส่คนอื่นอย่างไร” หรือ“ ฉันจะขจัดความกังวลใจและดูแลอาการทางกายที่เกิดขึ้นจากใจอย่างไร?” ซึ่งปัญหาเหล่านี้คนใกล้ตัวและเพื่อนอาจมีข้อจำกัดสำหรับคำแนะนำที่ดี
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
ดังนั้น ปัญหาของเพื่อนพนักงานสามารถส่งผลกระทบต่อทีมงานทั้งหมดได้ การได้ช่วยเหลือเพื่อนของคุณแก้ปัญหาในขอบเขตความสามารถที่ทำได้ทั้งเรื่องที่ทํางานและที่บ้าน และแนะนำส่งต่อผู้เชี่ยวชาญ เป็นการช่วยเพื่อนทํางานได้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
เห็นไหมว่า ‘เพราะพนักงานก็คือคนเหมือนกัน ทุกคนมีเรื่องส่วนตัวที่ต้องใส่ใจ’
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
______________

เพราะพนักงานควรได้รับการ “ดูแลใจ” ไม่ต่างกัน
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
🏙 ให้องค์กรของท่านมีบริการดูแลใจพนักงาน > https://www.ooca.co/corporate
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/OWPpersonallife
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
#OOCAitsOK#WeWillListen#พร้อมดูแลใจพนักงานองค์กร#mentalhealth

Read More
แก้ปัญหาหมดไฟทำงาน เครียดจากการทํางาน ความเครียดในการทํางาน

ปัญหาในการทำงานของคุณคืออะไร?

ไม่ว่าใครก็ต้องเคยมีปัญหากันทั้งนั้น ยิ่งกับที่งานที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่มากกว่าที่บ้าน ยิ่งมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นแน่นอน แล้วปัญหาของคุณล่ะคืออะไร ลองเล่าให้เราฟังได้นะ
________
ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวีดีโอคอล ฯ นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/get
.
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca
________
#OOCAitsOK#WeWillListen#เรื่องของใจให้เรารับฟัง#mentalhealth

Read More