ในสถานการณ์โควิด-19 ที่คงอยู่มายาวนานร่วมเกือบสองปีแบบนี้เชื่อว่าหลายคนก็คงเครียดกันไม่น้อย ไหนจะยังมีข่าวสารต่าง ๆ ที่สร้างความหดหู่ตลอดเวลาอีก บางครั้งเราเองก็ไม่รู้ว่าความเครียดที่ตัวเองกำลังเจออยู่กลายเป็นความ ‘เครียดสะสม’ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพใจโดยไม่รู้ตัว
แน่นอนว่าความเครียดสะสมนั้น ย่อมเป็นผลให้เกิดความหมดไฟในการทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งความหมดไฟนี้เองก็อาจนำไปสู่การเกิดอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมมากมาย เช่น การพยายามหลีกเลี่ยงการคิดเรื่องโควิด-19 หรือความรู้สึกเบื่อหน่ายในการทำงาน รวมไปถึงอาการของภาวะซึมเศร้าได้ [รับสาระเกี่ยวกับความเครียดสะสมเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/3zClJTz ]
นอกจากนี้ การสำรวจในสหรัฐอเมริกาหลายแห่งได้ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ต่อสุขภาพจิต โดยผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่าทุกเดือนที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนมากได้รายงานว่าโควิด-19 ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของพวกเขาเป็นอย่างมาก
ยิ่งยอดติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น เราก็ยิ่งเครียดสะสมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เมื่อเราเห็นยอดผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการติดตามข่าวรายวัน จนไม่มีวี่แววว่าจะควบคุมได้เลย แน่นอนว่าเราก็อาจจะเกิดความรู้สึกหวาดระแวงว่าคนรอบข้างจะเป็นผู้ติดเชื้อไหม หรือแม้แต่กังวลว่าตัวเองอาจติดเชื้อแล้วก็ได้แค่ไม่แสดงอาการ ซึ่งความกลัวเหล่านี้เองก็ย่อมทำให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้น บางครั้งก็อาจนำไปสู่ความเครียดได้ และเมื่อเครียดมาก ๆ ก็อาจเป็นผลให้เกิดความเครียดสะสมได้ด้วย
งานวิจัยใน International Journal of Environmental Research and Public Health (2021) ได้ศึกษาเกี่ยวกับความกลัวต่อเชื้อโควิด-19 เพื่อพิสูจน์ว่าความกลัวเหล่านี้ส่งผลต่อความเครียดได้หรือไม่ โดยงานวิจัยนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ความกลัวต่อเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิด ‘ความเครียดสะสม’ ได้จริงตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนในสถานการณ์โควิด-19 เองก็เป็นผลให้เกิดความเครียดสะสมได้เหมือนกัน เพราะการที่ไม่รู้ว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้จะคลี่คลายลงตอนไหน และจะกลับมาสู่สภาวะปกติได้เมื่อไหร่ สร้างความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก ดีไม่ดีก็อาจนำไปสู่ความเครียดสะสมได้ แม้ว่าเราปฏิบัติตามมาตราการของภาครัฐอย่างเคร่งครัด แต่การแพร่ระบาดครั้งนี้ก็ยังไม่มี่วี่แววว่าจะยุติลงในระยะเวลาอันใกล้นี้
ความเป็นอยู่ของประเทศในระยะยาว ก็ทำให้เราเครียดสะสมได้เหมือนกัน
ต้องยอมรับว่าความเป็นอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเครียดสะสมเป็นอย่างมาก เราจะเห็นได้ว่าผู้คนไม่ได้รับความต้องการขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมีเพื่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอด เพราะการทำงานของรัฐที่แทบจะไม่มีการสร้างระบบและพัฒนานโยบายที่เอื้อต่อสุขภาวะของผู้คนในสังคม
และยิ่งในช่วงการระแพร่ระบาดของโควิด-19 แบบนี้ หลายคนเองก็ขาดแคลนด้านปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค หรือแม้แต่ความความมั่นคงปลอดภัยเองที่เราเห็นตามข่าวสารในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็น ภัยพิบัติน้ำท่วมในจังหวัดต่าง ๆ หรือยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เองก็ตาม ถ้ายิ่งเราต้องเจอข่าวสารรายวันที่ผู้คนไม่ได้รับความเป็นอยู่ที่ดีจากรัฐ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะเครียดสะสมกันมากขึ้น
งานวิจัยใน Psychology, Health & Medicine (2021) ได้ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดและความเป็นอยู่ที่ดีในช่วงโควิด-19 ชี้ให้เห็นว่า ความเป็นอยู่ที่ดีช่วยให้ผู้คนมีความวิตกกังวลลดลงและสามารถจัดการกับความเครียดสะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เราจะเห็นได้ว่าความเป็นอยู่ที่ดีเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับสุขภาพกาย ใจ สังคม และปัญญา โดยความเป็นอยู่เองก็ช่วยให้สังคมเข้าใจสุขภาพในความหมายกว้างขวางขึ้นว่า สุขภาพดีไม่จำกัดเฉพาะแค่เรื่องสุขภาพทางกายอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น ถ้าหากความเป็นอยู่ไม่ดี ก็ย่อมทำให้เกิดความเครียดสะสมจนนำไปสู่การบั่นทอนสุขภาพใจให้พังไม่เป็นท่า
การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (CBT) ด้วยตัวเองก็เป็นตัวช่วยในการคลายเครียดที่ดี
ความเครียดสะสมมักจะเกิดจากการที่เรามีเรื่องที่เครียดมาก ๆ มาผสมปนเปกันไปหมดจนไม่สามารถคลี่คลายได้ มันก็เหมือนการถือของหลาย ๆ อย่างในมือของเรา แน่นอนว่าเราไม่สามารถถือของได้ทั้งหมดภายในสองมือนี้ได้ ถ้าหากเราลองวางของลงบนพื้นลงทั้งหมด และลองจัดการหยิบไปทีละอย่างก็ช่วยให้จัดการกับของต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ความเครียดสะสมของเราก็เหมือนกัน หากเราลองคลายเครียดด้วยการสำรวจตัวเองจากการบำบัดความคิดและพฤติกรรมเพื่อให้เข้าใจความคิด ความรู้สึก และปัญหาที่รบกวนใจเรามากขึ้น
“การบำบัดความคิดและพฤติกรรม” คืออะไร?
การบำบัดความคิดและพฤติกรรม หรือ Cognitive Behavior Therapy (CBT) ดั้งเดิมแล้วเป็นศาสตร์ที่ใช้กับโรคซึมเศร้า แต่ปัจจุบันนี้สามารถบำบัดกับภาวะอารมณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงความเครียดเองก็ตาม โดยมีกระบวนการที่ปรับความคิด หรือการรู้คิดของเราให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวกมากขึ้น และก็ยังมีการปรับพฤติกรรมบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม
แล้วเราสามารถใช้การบำบัดความคิดและพฤติกรรมด้วยตัวเองได้ไหม?
หลายคนอาจจะคิดว่าการบำบัดความคิดและพฤติกรรมต้องเข้ารับการบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ความจริงแล้วเราสามารถทำได้ด้วยตัวเองแบบพื้นฐาน โดยการเขียนลงบนกระดาษเพื่อสำรวจความคิด ความรู้สึกหรือปัญหาที่กำลังรบกวนใจของเราว่ามีอะไรบ้าง? พอเราเห็นถึงปัญหาแล้วก็มาดูต่อว่าเราสามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ด้วยวิธีไหนได้บ้าง? และลองเขียนตัวเลือกในการจัดการความเครียดสะสมของเรา เช่น ฟังเพลง วาดรูป หรือแม้แต่ขอคำปรึกษาจากเพื่อนก็ยังได้ แล้วลองทำดูว่าสิ่งที่เราเขียนลงไปบนกระดาษนี้ พอเราทำไปแล้วมันได้ผลสำหรับเราหรือไม่ ถ้าทำแล้วยังไม่ได้ผลหรือว่าไม่ช่วยให้เราคลายเครียดเลย ก็แค่ตัดออกไปและลองทำวิธีอื่นดูไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอวิธีการจัดการที่ใช่สำหรับเรา
แม้ว่าความเครียดจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับทุกคน แต่พอเราเครียดสะสมมากเข้าก็อาจทำให้สุขภาพใจพังไม่เป็นท่าได้ และยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ ก็ยิ่งทำให้เราเครียดสะสมจนส่งกระทบทั้งสุขภาพกายและใจได้เป็นอย่างมาก ดังนั้น เมื่อเรารู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับความเครียดสะสมอยู่ก็ควรรีบสำรวจตัวเองว่าปัญหาที่เรากำลังคิดและรู้สึกอยู่เป็นอย่างไร? และมีวิธีไหนที่เราสามารถจัดการกับปัญหาได้บ้าง? ก็ช่วยให้เราคลายเครียดจากความวุ่นวายรอบตัวได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
หากใครที่กำลังมองหาตัวช่วยในการจัดการกับความเครียด อูก้าพร้อมเป็นผู้ช่วยของคุณเสมอ ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มาพร้อมแบบทดสอบความเครียดให้ทุกคนสามารถสำรวจระดับความเครียดด้วยตนเองได้อย่างไม่เสียค่าใช้จ่าย และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพใจ อย่างจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่พร้อมรับฟังและให้คำปรึกษาทุกทุกปัญหา มั่นใจได้ว่าทุกอย่างจะเป็นความลับ ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ที่ไหนเวลาใดก็มาหาเราได้เสมอ เรื่องของใจให้เรารับฟังนะ 😊💙
รับแบบทดความความเครียดฟรี ! ที่มาพร้อมกับโปรโมชั่นและสารพัดวิธีดูแลใจตนเองอีกมากมายได้ที่ Line Official 👉🏻 https://lin.ee/6bnyEvy
หรือดาวน์โหลดเลย ได้ทั้ง IOS และ Android 👉🏻 https://ooca.page.link/WvEw
อ้างอิงข้อมูลจาก:
Dymecka, Joanna, Rafał Gerymski, and Anna Machnik-Czerwik. “How does stress affect life satisfaction during the COVID-19 pandemic? Moderated mediation analysis of sense of coherence and fear of coronavirus.” Psychology, Health & Medicine (2021): 1-9.
Koçak, Orhan, Ömer Erdem Koçak, and Mustafa Z. Younis. “The psychological consequences of COVID-19 fear and the moderator effects of individuals’ underlying illness and witnessing infected friends and family.” International journal of environmental research and public health 18.4 (2021): 1836.
Healthline: https://bit.ly/3ynPlU0
The 101.World: https://bit.ly/3gJHN89
Recent Comments