“Headline Stress Disorder” ภาวะเครียดยุคดิจิทัล…  เสพข่าวเด็ดคดีดัง! อาจทำใจพังไม่รู้ตัว 

เคยรู้สึกกันหรือเปล่า? นั่งติดตามข่าวเด่นประเด็นร้อนบนโซเชียล จู่ ๆ กลับรู้สึกเครียด หดหู่ เหมือนตัวเองตกอยู่ในห้วงความเศร้าไม่อยากทำอะไร ทั้ง ๆ ที่ข่าวนั้นไม่ใช่เรื่องของตัวเองแต่ทำไมเราถึงอินจนแยกตัวเองออกมาไม่ได้… อาการเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นแล้วหายไป แต่ถึงอย่างนั้นมันเป็นสัญญาณบอกว่าใจเรากำลังไม่ไหว ตกอยู่ในภาวะ “Headline Stress Disorder” 

“Headline Stress Disorder” เป็นภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลที่สื่อออนไลน์ ที่ข่าวสารหรือข้อมูลความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของสังคมเผยแพร่ได้ง่ายดาย ซึ่งข้อดีของมันนอกจากความรวดเร็วทันใจในการเสนอข่าวแล้ว ยังเป็นพื้นที่ไร้ข้อจำกัดทั้งในเรื่องของพื้นที่และเวลา ทำให้เราสามารถรับข่าวสารในแต่ละวันได้จำนวนมหาศาล ภาวะดังกล่าวเป็นความรู้สึกเกิดจากพติกรรมการรับข้อมูลมากเกินไปจนก่อให้เกิดผลกระทบในระดับจิตใจ ทำให้รู้สึกเครียด หดหู่ กังวล ฯลฯ 

จากการพูดคุยกับ กอบุญ เกล้าตะกาญ นักจิตวิทยาของ OOCA ได้ให้คำอธิบายในถึงภาวะดังกล่าวเพิ่มเติมโดยสรุปได้ว่า

“ภาวะ Headline Stress Disorder มาจากการรับ ‘ชุดคำบางคำ’ ที่ทำให้เรารู้สึก trigger หรือกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกในเชิงลบซ้ำ ๆ จนมันส่งผลที่ทำให้เราเครียด หดหู่ ไม่สบายใจ ที่เราพบเห็นบนหน้าสื่อออนไลน์ หรือสื่ออื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยชุดคำเหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็นสองแบบ คือ

  1. ชุดคำในเชิงบวก เช่น โพสต์ซื้อรถยนตร์คันใหม่ของเพื่อนใน Facebook, โพสต์ข้อความเล่าความสำเร็จ ชีวิตความเป็นอยู่หรูหรา 
  2. ชุดคำในเชิงลบ เช่น ข่าวภัยธรรมชาติ ข่าวการระบาดของภาวะ Covid-19 เรื่องราวโศกนาฏกรรม ”

จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่า ภาวะ Headline Stress Disorder เป็นภาวะที่ยากเกินจะหลีกเลี่ยง เพราะในวิถีชีวิตของเราในปัจจุบัน ต้องยอมรับกันตามตรงว่าเราแทบจะแยกตัวเองออกจากโลกออนไลน์ไม่ได้ อย่างไรก็ตามเราอาจจะสงสัยว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราตกอยู่ในภาวะดังกล่าว อาการบ่งชี้ที่แน่ชัดมีข้อสังเกตอะไรบ้าง? ซึ่งนักจิตวิทยาจากแอปพลิเคชัน OOCA ได้ให้คำตอบกับเราไว้ว่า

“วิธีการสังเกตตัวเองเราสมารถแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือทางร่างกาย เราอาจจะรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่สดใส ไม่อยากกิน ไม่อยากนอน ไปจนถึงการเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่อยากเข้าสังคม สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากความเครียด และเชื่อมโยงมาในส่วนที่สองคือ ทางจิตใจ ที่อาจมีความวิตกกังวลเกินจำเป็น ไม่มีสมาธิทำงาน ความเศร้า หดหู่ เป็นต้น ซึ่งภาวะนี้จะเกิดได้ในช่วงประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้ามากเกินกว่านี้อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่นำไปสู่โรคซึมเศร้าได้”

แล้วเราจะทำอย่างไร? หากไม่อยากใจพังจากการเสพข่าว จนตกอยู่ในภาวะ Headline Stress Disorder นักจิตวิทยาจากอูก้าได้ให้แนวทางการป้องกันการเกิดภาวะนี้ไว้ว่า

“เรารู้แล้วว่าภาวะนี้มาจากอะไร ดังนั้นจุดเริ่มต้นอย่างแรกเลยคือ 

1) การงดหรือรับชุดข้อมูลที่เราอ่านแล้วรู้สึกไม่สบายใจในระดับพอดี 

2) ให้เลือก Platform ช่องทางกับรับข่าวสารที่มีคุณภาพ 

3) เข้าใจความจริง ตระหนักคุณค่าของตัวเองหากเจอ Headline ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับตัวเอง 

และ 4) การพาตัวเองไปอยู่ในสังคมดี ๆ หรือหากิจกรรมอื่น ๆ ทำเพื่อเอาตัวเองห่างออกจากการรับสื่อมากเกินความจำเป็น”

ทราบวิธีการปกป้องดูแลใจตัวเองแล้ว ไม่ได้แปลว่าเราจะรอดพ้นหรือหลีกเลี่ยงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะภาวะดังกล่าวถือเป็นเรื่องใกล้ตัวและอาจเกิดขึ้นเมื่อได้เมื่อเราเผลอรับข่าวสารจากโลกออนไลน์มากเกินไป ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลพร้อมกับการพูดคุยกับนักจิตวิทยา ได้แนะนำแนวทางในการเยียวยารักษาใจสำหรับบุคคลที่รู้แล้วว่าตนเองตกอยู่ในภาวะดังกล่าว โดยมีวิธีการดังนี้

  1. รู้เท่าทันตัวเอง ให้รู้ตัวว่าชุดข้อมูลแบบไหนยิ่งกระตุ้นให้ไม่มีความสุข ให้ถอยออกมา และรับให้น้อยที่สุด
  2. สร้าง Self-esteem หาจุดยืนของตัวเอง ชุดข้อมูลบางอย่างอาจทำให้เราเกิดความรู้สึกด้อยค่าตัวเอง พยายามหาคุณค่าของตัวเองจากสิ่งที่เราทำได้ และสร้างความเข้าใจกับตัวเองว่า เส้นทางความสำเร็จหรือความสามารถของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน
  3. การตีความข้อมูลอย่างมีวิจารณญาน พยายามรับข้อมูลอย่างมีสติมากที่สุด บางครั้งความคิดของเราอาจนำไปก่อนในยามที่เผชิญกับภาวะนี้ อาจลองถอยสักหนึ่งก้าวและตีความให้รู้เท่าทันว่าชุดข้อมูลนั้นมีเจตนาอะไรในการนำเสนอ
  4. อยู่กับความเครียดให้เป็น การมีภาวะเครียดหลังรับข้อมูลวิกฤติต่าง ๆ ที่อาจกระทบกับตัวเรานั้นเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นหากรู้สึกเครียด ให้รับรู้มันตามที่ควรเป็น และไม่จมกับมันนานเกินไป
  5. หาพื้นที่ปลอดภัยทันที หากรู้สึกไม่สบายจนรับมือเองไม่ไหวควรที่ปรึกษาที่สมารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยกับเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พ่อ-แม่ คนรัก หรือนักจิตบำบัด

สื่อออนไลน์มีทั้งประโยชน์และโทษ และในยุคดิจิทัลที่ข่าวสารต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายอยู่แค่ปลายนิ้วของเรา นอกจากคลังข้อมูลมหาศาลอาจยังนำพาภาวะความเครียดต่าง ๆ มาสู่ใจเราได้ สำหรับภาวะ  Headline Stress Disorder ถือเป็นภาวะความเครียดที่มาจากบริบทของสังคมที่สื่อออนไลน์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เพราะฉะนั้นก่อนสุขภาพใจเราจะพัง การรับข่าวสารอย่างมีสติจะช่วยเราได้ แต่ถ้าหากรู้ตัวว่าไม่ไหว การปรึกษาพูดคุยกับนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ยังคงเป็นทางออกที่จะช่วยเยียวยาจิตใจของเราได้เสมอค่ะ

อูก้าเป็นกำลังใจให้นะ! – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #mentalhealth #อกหัก #heartbreak #ความสำเร็จ #ฮีลใจ #OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

อ้างอิง

https://theconversation.com/is-headline-stress-disorder-real-yes-but-those-who-thrive-on-the-news-often-lose-sight-of-it-178251

https://www.nm.org/healthbeat/healthy-tips/5-ways-to-cope-with-the-news

https://www.bangkokbiznews.com/health/992195

Read More

เมื่อฤดูกาลส่งผลต่อใจ ช่วงปลายปีจึงน่าเศร้าสำหรับใครหลายคน

เวลามีคนถามว่าชอบฤดูไหนที่สุด อูก้าเชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนน่าจะมีคำตอบในใจอยู่แล้วว่า “ก็ฤดูหนาวยังไงล่ะ!” เพราะนอกจากอากาศจะเย็นสบายแล้ว ยังมีแต่เทศกาลเฉลิมฉลองน่าสนุกต่างๆ เต็มไปหมด แต่ทำไมพอถึงช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนเป็นฤดูหนาวที่หลายคนรอมาทั้งปีเข้าจริงๆ แล้ว เราบางคนถึงกลับรู้สึกเศร้าและเหงาอยู่ในใจลึกๆ กันนะ

หากใครกำลังรู้สึกแบบนี้กับหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึงอยู่ล่ะก็ ตามหลักจิตวิทยาแล้วอาจกำลังตกอยู่ในภาวะ “SAD” (Seasonal Affective Disorder) ก็ได้นะ วันนี้อูก้าจึงอยากจะพาเพื่อนๆ มาทำความรู้จักและหาวิธีรับมือกับภาวะนี้กัน หน้าหนาวปีนี้เราจะได้ไม่ซึมจนเกินไป!

ดร. แพทริเชีย ธอร์นตัน นักจิตวิทยาผู้จบการศึกษาจาก New York University ได้ระบุกับเว็บไซต์ Healthline ว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมทำให้เกิดภาวะวิตกกังวลเป็นเรื่องธรรมดา รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางฤดูกาลที่อาจนำไปสู่ภาวะที่เรียกกันว่าภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล (SAD) ได้เช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วภาวะนี้มักเกิดในช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนเป็นฤดูหนาว เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของปีที่อากาศเย็นลงและท้องฟ้ามืดเร็วขึ้น การที่เราได้รับความอบอุ่นจากแสงอาทิตย์น้อยลงในแต่ละวันจะทำให้ร่างกายหันมาผลิต “เมลาโทนิน” หรือที่รู้จักกันว่า “ฮอร์โมนแห่งการนอนหลับ” มากขึ้น เพราะแบบนี้เราถึงรู้สึกขี้เกียจขึ้นเมื่อหน้าหนาวมาเยือน และความรู้สึกอยากอยู่เฉยๆ นี้นั่นเองที่เป็นต้นเหตุของภาวะ SAD

นอกจากปัจจัยทางสภาพอากาศแล้ว ยังมีปัจจัยทางอารมณ์อย่างการคาดหวังว่า “เราควรมีความสุข” ในช่วงเทศกาลฉลองท้ายปีด้วยเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหน สื่อต่างๆ ก็ล้วนแต่สร้างภาพจำว่าหน้าหนาวเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและการเฉลิมฉลอง หากสุดท้ายแล้วเราไม่มีความสุขเท่าที่คาดไว้ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องหน้าที่การงาน การเรียน คนรอบตัว หรือภาวะสิ้นยินดีของตัวเราเองก็ตาม เหตุผลเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะส่งผลให้เรารู้สึกเศร้าอยู่ลึกๆ ในช่วงเวลานี้ของปี

อย่างไรก็ตาม อูก้ายังไม่อยากให้เพื่อนๆ ตกใจกัน เพราะเป็นเรื่องปกติที่เราต่างอาจต้องพบเจอความเศร้าบ้างเป็นครั้งครา แต่หากใครรู้สึกได้ว่าตัวเองกำลัง “เศร้า เหงา ซึม” เพราะอากาศหนาวที่กำลังจะมาถึงจนไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรในแต่ละวัน คล้ายกับอาการของภาวะซึมเศร้า เช่น การไม่อยากพบเจอผู้คน รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่อยากอาหาร อยากนอนตลอดเวลา เป็นต้น อูก้าอยากให้ลองสังเกตตัวเองกันดูก่อนว่าพบเจออาการตามที่กล่าวมามากน้อยแค่ไหน เพื่อที่เราจะตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและป้องกันไม่ให้ความรู้สึกเหล่านี้อยู่กับเพื่อนๆ นานเกินไปนั่นเอง เพราะว่ากันตามอาการแล้ว เว็บไซต์ของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (NHS) ได้ระบุไว้ว่าภาวะ SAD ก็เป็นภาวะซึมเศร้าประเภทหนึ่งเหมือนกัน

ดังนั้น ถ้าเกิดเศร้าขึ้นมาแล้วทำยังไงดีล่ะ? อาจารย์มณฑิตา พิศเพ็ง นักจิตวิทยาการปรึกษา ooca ได้บอกกับเราถึงวิธีดูแลใจด้วยตัวเอง 5 วิธีง่ายๆ ที่จะสามารถทำให้เพื่อนๆ รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นได้ในช่วงเวลานี้ของทุกปีที่หน้าหนาวใกล้มาเยือน จะมีอะไรบ้างเราลองมาดูกัน

1. รับแสงแดดอ่อนๆ ในแต่ละวัน ช่วยกระตุ้นการสร้างเซโรโทนิน ฮอร์โมนแห่งความสุข

2. กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบตามหลักโภชนาการ แถมผลไม้หน้าหนาวยังอร่อยด้วยนะ

3. ออกไปเดินเล่นหรือออกกำลังกายข้างนอก ใช้อากาศเย็นให้เป็นประโยชน์!

4. ลองหางานอดิเรกใหม่ๆ ทำเพื่อไม่ให้รู้สึกซึม หรือจะนัดสังสรรค์กับคนสนิทของเพื่อนๆ ก็ได้

5. พูดคุยปรึกษากับนักจิตวิทยา เพราะการมีผู้เชี่ยวชาญที่คอยรับฟัง ช่วยคิด ช่วยคุย และพร้อมจะก้าวผ่านหน้าหนาวนี้ไปกับเรานั้นเป็นสิ่งที่ดีเสมอ

วิธีเหล่านี้ไม่เพียงจะช่วยเยียวยาผู้ที่กำลังประสบภาวะ SAD เท่านั้น แต่ยังรวมถึงใครก็ตามที่รู้สึกว่าหลอดพลังงานของตัวเองลดลงเมื่อลมหนาวมาเยือนด้วยเช่นกัน สุดท้ายนี้อาจารย์มณฑิตายังขอฝากข้อความมาบอกเพื่อนๆ ที่รู้สึกไม่ร่าเริงเท่าช่วงที่ผ่านมาของปีว่า

“หากคุณได้พยายามจัดการกับความรู้สึกเศร้าโดยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ทำกิจกรรมใหม่ๆ แต่ก็ยังพบว่าความรู้สึกเศร้านั้นยังคงอยู่และเริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อยากให้คุณพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อช่วยวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกเศร้า จะทำให้คุณเข้าใจตัวเองมากขึ้น สิ่งที่รู้สึกไม่สบายใจนั้นจะได้เบาบางลงค่ะ”

เพราะฉะนั้นแล้ว อูก้าจึงอยากให้หน้าหนาวปีนี้ของเพื่อนๆ ทุกคนเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสุข ความรัก และการเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ และปล่อยให้ลมเย็นที่กำลังจะมาถึงช่วยผ่อนคลายสุขภาพใจเราจากความเครียดที่สะสมมาทั้งปีกันเถอะ

อูก้าเป็นกำลังใจให้นะ! – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #mentalhealth #อกหัก #heartbreak #ความสำเร็จ #ฮีลใจ #OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

อ้างอิง

[1] https://www.healthline.com/health-news/autumn-anxiety#What-can-you-do?

[2] https://www.nhs.uk/mental-health/conditions/seasonal-affective-disorder-sad/overview

[3] https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/seasonal-affective-disorder/symptoms-causes/syc-20364651

Read More

รู้หรือไม่ ประเทศไทยมี 6 จังหวัดที่ไม่มีนักจิตวิทยาเลยสักคน

คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่อาจจะยังตอบง่าย ๆ ไม่ได้ในทันที แต่ข้อมูลเหล่านี้ และข่าวเศร้ามากมายที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมานี้ คงจะเป็นธงแดงที่เตือนให้ “เรา” ควรจะหันมา “เตรียมรับมือ” กับวิกฤติสุขภาพจิตที่กำลังฟักตัวในประชากรทุกช่วงอายุ …. และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวิกฤตินี้ไม่สามารถแก้ได้ในชั่วพริบตา 

.

ปี 2565 รายงานจากกรมสุขภาพจิตระบุว่าประเทศไทยมีจิตแพทย์รวม 845 คน ซึ่งถือว่าเรามีจิตแพทย์ 1.28 คน ต่อประชากรจำนวนหนึ่งแสนคน [1] ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่มีอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรมากที่สุดในโลก จะพบว่าสวิตเซอร์แลนด์มีจิตแพทย์อยู่ที่ที่ 47.17 คนต่อแสนประชากร

.

,

ในขณะที่ถ้าเทียบกับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นลำดับต้น ๆ ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ญี่ปุ่นมีอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อแสนประชากรอยู่ที่ 12.55 และเทียบกับเกาหลีใต้มีอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อแสนประชากรอยู่ที่ 7.91 ซึ่งถือว่ามากกว่าไทยหลายเท่า และในส่วนของนักจิตวิทยา ประเทศไทยมีมีนักจิตวิทยาเพียง 1,037 คนต่อคนทั้งประเทศ คิดเป็น 1.57 คนต่อแสนประชากรด้วยกัน

.

.

หากไม่นับสาเหตุเรื่องระยะเวลาในการเรียนจบด้านจิตแพทย์ (ที่สามารถจ่ายยาได้) ต้องใช้เวลานานกว่าจะจบหลักสูตร แล้วนั้น (9-10 ปี) แม้เราจะโชคดีที่ประเทศไทยยังมีวิชาชีพร่วมทั้ง นักจิตวิทยาคลินิก พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยาให้คำปรึกษา แต่อย่างไรก็ตามการกระจายบุคลากรด้านสุขภาพจิตไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ยังต้องคำนวณจากหลายปัจจัยด้วยกัน 

.

.

ความท้าทายในการกระจายการให้บริการ สะท้อนผ่านข้อมูลที่ว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา ยโสธร กลายเป็นจังหวัดที่ไม่มีจิตแพทย์เลยสักคน (เพิ่งมีเพิ่ม 2 คนในปีที่ผ่านมา) ส่วนนักจิตวิทยา ยังมีอีก 6 จังหวัดที่ไม่มีนักจิตวิทยาเลยสักคน (ได้แก่ตราด แพร่ สมุทรสงคราม สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอ่างทอง)

.

.

ยิ่งเมื่อเจอกับวิกฤติโรคระบาด เศรษฐกิจ อัตราความเสี่ยงฆ่าตัวตาย และความต้องการที่จะเข้ารับการรักษาก็มีสูงขึ้นทั่วโลก ในขณะที่การผลิตบุคลากรในด้านนี้ต้องใช้เวลาเตรียมล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 5 ปี – คำถามคือ แล้วโลกปรับตัวเพื่อหาทางบรรเทาทุกข์นี้อย่างไร ?

.

.

เนื่องใน #วันสุขภาพจิตโลก #WorldMentalHealthDay2022 อูก้าจึงได้รวบรวมแนวคิดที่น่าสนใจจากทั่วโลก เช่นว่า แพทย์ในกรุบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยมจ่ายยาด้วยการให้ผู้ใช้บริการไปเข้าพิพิธภัณฑ์ในเมือง [2] / นักวิจัยทั่วโลกได้สร้างความร่วมมือกันสร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมที่ครอบคลุมความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากขึ้น [3] / การใช้ปัญญาประดิษฐ์คัดกรองเนื้อหาหรือคำศัพท์ที่นำไปสู่การกระตุ้นให้คนทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย [4] / การใช้แพทย์ทางไกล (Telehealth) มาช่วยให้บริการผู้ป่วยนอกในช่วงโรคระบาดโควิด [5] และอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นการเฝ้าระวังหรือป้องกันก่อนจะสาย เช่น การปรับวัฒนธรรมองค์กรให้ยืดหยุ่นและเป็นมิตรต่อผู้ที่กำลังรักษาอาการทางจิตเวชให้มากขึ้น

.

.

นอกจากนี้เทรนด์การใช้แอพลิเคชันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกัน / ประเมิน / เรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือรับบริการสุขภาพจิต ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก โดยในปัจจุบันนี้ ใน App Store และ Play Store มีแอพลิเคชันด้านสุขภาพจิตมากกว่า 10,000+ แอพลิเคชันด้วยกัน ส่งผลให้องค์กรอย่าง Onemind, Health Navigator และ World Economic Forums เริ่มที่จะพัฒนาการคัดกรองมาตรฐานและให้ “การรับรอง” ในแง่จริยธรรมในการให้บริการ, ผ่านการทดสอบทางคลินิก, ความปลอดภัย และความมีประสิทธิภาพ [6]

.

.

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่านวัตกรรมต่อไปนี้ได้เกิดขึ้น (มาสักระยะแล้ว) แต่จะ “ใช้ได้จริง” เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการให้บริการได้อย่างไร ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ทั้งสังคมต้องบูรณาการร่วมกันนอกเหนือไปจากส่วนของผู้ให้บริการด้านสุขภาพ เช่น

.

–  เราจะสั่งยาให้คนไข้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไรหากจังหวัดนั้น ๆ ไม่มีพื้นที่สาธารณะ หรือไม่มีพิพิธภัณฑ์ที่สร้างแรงบันดาลใจ? 

.

– ปัญญาประดิษฐ์ที่อ่านข้อความภาษาไทยถูกส่งเสริมและถูกนำไปใช้ประโยชน์มากแค่ไหน? 

.

– ผู้มีรายได้น้อยจะเข้าถึงบริการสุขภาพจิตผ่านสวัสดิการต่าง ๆ ได้อย่างไร ? เราจะป้องกันให้ประชากรเกิดความเสี่ยงทางสุขภาพจิตน้อยลงตั้งแต่ตอนอายุน้อยได้ไหม เพราะในปีที่ผ่านมานี้ ข้อมูลจากยูนิเซฟระบุว่า เด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน และ วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ [7] ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

.

– ฯลฯ

.

.

คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่อาจจะยังตอบง่าย ๆ ไม่ได้ในทันที แต่ข้อมูลเหล่านี้ และข่าวเศร้ามากมายที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมานี้ คงจะเป็นธงแดงที่เตือนให้ “เรา” ควรจะหันมา “เตรียมรับมือ” กับวิกฤติสุขภาพจิตที่กำลังฟักตัวในประชากรทุกช่วงอายุ …. และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวิกฤตินี้ไม่สามารถแก้ได้ในชั่วพริบตา 

.

.

การฝ่าปัญหานี้ จะต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และอูก้าเชื่อว่า เราทุกคนสามารถเป็นส่วนร่วมในการให้ความรู้ที่ถูกต้อง การสร้างความตระหนัก และการส่งเสียงให้เกิดการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพจิตให้กับผู้ที่ต้องการ

.

.

สุขสันต์วัน #วันสุขภาพจิตโลก #WorldMentalHealthDay2022 โดยอูก้าขอเชิญชวนมาคุยกันกับ ‘อิ๊ก’ กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้ก่อตั้ง Ooca แพลตฟอร์มให้บริการด้านสุขภาพจิต ในหัวข้อ “ถอดรหัสอนาคตสุขภาพจิตคนไทย” โดยเล่าจากประสบการณ์บริหารแพลตฟอร์มอูก้ามาตั้งแต่ปี 2017 จนมาถึงปัจจุบันที่อูก้าได้ให้บริการด้านสุขภาพจิตแก่หน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชน ดูแลผู้ใช้บริการหลายหมื่นคน รวมถึงได้ขยายผลไปยังการให้บริการทางสังคมผ่านโครงการ Wall of Sharing ที่ช่วยดูแลสุขภาพใจให้กับนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปในยามวิกฤติ ผ่านทาง Twitter Space ในวันที่ 10 ตุลาคม 2022 เวลา 20.00 เป็นต้นไป

.

-ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อจะได้หาแนวทางในการรักษาเยียวยา – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy .

– สนใจปรึกษานักจิตวิทยา ดาวน์โหลดได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

.

.

#OOCAitsOK #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

——- 

[1] https://data.go.th/dataset/specialist และข้อมูลรวบรวมโดย Rocketmedialab

[2] https://www.weforum.org/videos/doctors-in-brussels-prescribe-free-museum-visits-to-boost-mental-health

[3] https://www.weforum.org/agenda/2022/09/diverse-genetic-data-tools-factors-causing-mental-illness/

[4] https://www.scientificamerican.com/article/mining-social-media-reveals-mental-health-trends-and-helps-prevent-self-harm/

[5] https://news.ohsu.edu/2022/04/04/pandemic-drives-use-of-telehealth-for-mental-health-care

[6] https://www.scientificamerican.com/article/how-consumers-and-health-care-providers-can-judge-the-quality-of-digital-mental-health-tools/

[7] https://www.unicef.org/thailand/th/press-releases/ยูนิเซฟและกรมสุขภาพจิตชี้สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยน่าเป็นห่วง

Read More

เหตุใดความเฉยชาจึงน่ากลัวกว่าปัญหาวุ่นวายใจ

“มีงานวิจัยจิตวิทยาสังคมที่พบว่า ในระยะแรกเริ่มคนที่ถูกลอตเตอรี่จะมีความสุขสุดๆ แต่ 18 เดือนผ่านไป ระดับความสุขของพวกเขาจะค่อย ๆ ลดลงจนเท่ากับระดับความสุขของคนที่ไม่ถูกลอตเตอรี่”
.
คำพูดนี้ประยุกต์ใช้ได้อย่างไรกับความสุขในที่ทำงาน ?
.
เพื่อน ๆ เคยรู้สึกไหม เริ่มต้นสัปดาห์มาด้วยความสดใส แต่ไม่กี่วันผ่านไป อยู่ดีๆ ไฟแห่งการทำงาน ก็มอดลงเสียดื้อ ๆ อาการเหล่านี้ไม่ใช่ความขี้เกียจแต่อย่างใด แต่ในทางจิตวิทยา อาการนี้ เรียกว่า อาการหมดกำลังใจในการทำงาน (Work Slump) วันนี้อูก้าจะชวนเพื่อนๆมาทำความรู้จักอาการนี้และบอกเคล็ดลับดี ๆ ที่จะช่วยเรียกพลังใจให้เพื่อน ๆ กลับมาทำงานด้วยพลังเต็มเปี่ยมกันอีกครั้งกัน !
.
อาการหมดกำลังใจในการทำงาน หรือ Work Slump เป็นสภาวะหมดพลังใจ มีอาการเบื่องาน ไม่อยากทำอะไร กายและใจอ่อนล้า ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานได้ โดยในทางจิตวิทยา กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งของอาการหมดกำลังใจในการทำงานนั้น มาจาก ภาวะ Hedonic Adaptation หรือ การที่สภาวะในจิตใจที่โดยธรรมชาติจะแปรเปลี่ยนความสุขหรือความทุกข์ให้เป็นความรู้สึก “เฉย ๆ”
..

Phillip Brickman และคณะได้อธิบายปรากฎการณ์ Hedonic Adaptation ผ่านงานวิจัยจิตวิทยาสังคม โดยเปรียบเทียบระดับความสุขของคนที่ถูกลอตเตอรี่และคนที่ไม่ถูก ในวารสาร Journal of Personality and Social Psychology ไว้ว่า แม้ว่าในระยะแรกเริ่มคนที่ถูกลอตเตอรี่จะมีความสุขสุดๆ แต่ 18 เดือนผ่านไป ระดับความสุขของพวกเขาจะค่อย ๆ ลดลงจนเท่ากับระดับความสุขของคนที่ไม่ถูกลอตเตอรี่ เช่นเดียวกัน ในแง่ของการทำงาน เมื่อเวลาผ่านไป ความสนุกในทำงาน เมื่อถึงจุดหนึ่งก็กลายเป็นความเฉยๆ จนถึงรู้สึกหมดแรงใจในที่สุด
.
นอกจากนี้ สารเคมีในสมองที่มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึกอย่าง โดปามีน (Dopamine) ก็เป็นอีกสาเหตุของอาการ Work Slump เช่นกัน โดยสถาบันวิจัย Asociación RUVID ในสเปน เผยว่า สารโดปามีน นอกจากจะหลั่งเมื่อเกิดความรู้สึกพึงพอใจแล้ว สารนี้ยังหลั่งเมื่อร่างกายเกิดความเครียดเช่นกัน และโดปามีนมักจะหลั่งเพื่อให้ร่างกายทำตามสิ่งที่ต้องการให้สำเร็จ ดังนั้น เมื่อเราเริ่มรู้สึกคุ้นเคยกับงาน ไม่ได้รู้สึกว่างานนี้ท้าทาย หรือน่าตื่นเต้นอีกต่อไป ก็อาจมีแนวโน้มที่โดปามีนจะลดต่ำลง เพราะร่างกายไม่เกิดการกระตุ้น ส่งผลให้เรารู้สึกเอื่อยเฉื่อย เบื่อหน่าย และหมดกำลังใจที่จะทำงานเช่นกัน
.
แล้วเราจะเรียกแรงใจกลับมาอย่างไรดี?
.
อูก้ามีเคล็ดลับดี ๆ จาก Fastcompany ที่จะช่วยเรียกพลังใจของเพื่อน ๆ กลับมา รับรองว่าเป็นวิธีที่ไม่ยากและสามารถนำไปปรับใช้กับทุกคนได้อย่างแน่นอน
.
ตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของงาน
เมื่อเพื่อน ๆ หลายคนทำงาน เพื่อน ๆ อาจโฟกัสแค่ว่างานของเราจะเสร็จไหม หรือจะสามารถพัฒนาโปรเจกต์นี้ได้อย่างไรบ้าง แต่หลาย ๆ ครั้ง เพื่อนๆ อาจหลงลืมไปว่า งานทุกชิ้นที่เราทำนั้นมีคุณค่าและสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นอยู่เสมอ การตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของงานที่เราทำ ว่างานของเราจะมอบความสะดวกสบายและสร้างคุณประโยชน์ให้กับใครบ้าง จะช่วยเรียกขวัญกำลังใจในการทำงาน และทำให้เพื่อน ๆ สามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่ได้
.
ลองเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ
บางครั้งเพื่อน ๆ อาจจะรู้สึกว่า ทำงานมานานแค่ไหน ก็ไม่ก้าวหน้าสักที จนทำให้หมดกำลังใจที่จะไปต่อ แต่จริง ๆ แล้ว เป็นเพราะว่าเรารู้สึกว่าไม่มีอะไรให้เรียนรู้แล้วต่างหาก ดังนั้นการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เช่น สมัครคอร์สเรียนออนไลน์เพื่อพัฒนาสกิลต่าง ๆ หรือ เข้าร่วมเวิร์กช็อปของที่ทำงาน ทั้งหมดนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะเรียกไฟในการทำงานกลับมาอีกครั้ง
.
สร้างเป้าหมายในแต่ละวัน
ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเลือกที่งานที่ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง หลายคนต้องทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งอาจทำให้เพื่อน ๆ รู้สึกสูญเสียการควบคุม ดังนั้นการสร้างเป้าหมายของงานจะช่วยให้เพื่อน ๆ สามารถฝึกการแก้ไขปัญหาและรับรู้ถึงความสำเร็จของตน แม้ว่าจะเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ความสำเร็จเหล่านี้ก็ช่วยสร้างความภาคภูมิใจที่เป็นเหมือนพลังให้เพื่อน ๆ กลับมาทำงานอย่างมีความสุขในวันต่อ ๆ ไป
.
พูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน
เมื่อรู้สึกหมดพลังใจในการทำงาน เพื่อน ๆ อาจจะรู้สึกห่างเหินกับเพื่อนร่วมงานด้วยเช่นกัน การเข้าไปนั่งคุยกับเพื่อนร่วมงาน เล่าถึงสภาวะหมดพลังใจให้พวกเขาฟัง ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยได้ เพราะนอกจากที่จะทำให้พวกเขาเข้าใจถึงสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่และรู้สึกผิดน้อยที่ลงกับความรู้สึกไม่อยากทำอะไร เพื่อน ๆ อาจพบว่า จริงแล้ว ๆ พวกเขาก็อาจเคยพบเจอกับสภาวะหมดพลังใจเช่นกัน การแชร์ปัญหาเหล่านี้ให้คนอื่นฟัง ทำให้เรารู้ว่า เรายังมีคนที่พร้อมอยู่เคียงข้างในทุกปัญหาเสมอ
.
ภาวะหมดพลังใจ อาจทำให้เรารู้สึกเหมือนรถที่กำลังออกเดินทางไปบนท้องถนน แต่อยู่ดี ๆ เชื้อเพลิงก็หมดลงก่อนที่จะไปถึงปลายทาง จนทำให้ไปต่อไม่ได้
.
ลองหาเวลาดับเครื่องยนต์ แล้วเติมเชื้อเพลิงสักนิด ก่อนที่จะออกเดินทางต่อ เผลอ ๆ รถของเราอาจจะวิ่งได้ไกลกว่าเดิม เช่นกัน หากเพื่อน ๆ รู้สึกอ่อนล้า อูก้าจะขอชวนเพื่อน ๆ มาพักกายใจกันสักนิด ก่อนที่จะออกเดินทางกันต่อ ไม่ว่าจะหมดแรงใจสักกี่ครั้ง อูก้าจะคอยรับฟังและอยู่เคียงข้างตรงนี้เสมอ!

.
ติดตามสิทธิพิเศษมากมายที่เราคัดมาให้ทุกคนเลือกสรร พร้อมไม่พลาดเนื้อหาสาระสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องจิตวิทยา – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy
.⠀
สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD
.

OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #mentalhealth #depression #workslump #หมดไฟ #หมดพลังในการทำงาน #OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

,
Sources:
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/690806/
https://www.forbes.com/sites/carolinecastrillon/2020/01/12/how-to-get-out-of-a-work-slump/?sh=12c6af0b75e2
https://www.fastcompany.com/90738302/5-ways-to-get-out-of-a-work-slump

Read More

ชวนโอบกอดความคิด (ไม่) สั้น

“เหลือเชื่อเหมือนกันว่ายังคงมีชีวิตอยู่จนถึงตอนนี้ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว และกำลังเกิดขึ้นอยู่จริงๆ”
.
ขอชวนโอบกอดความคิด (ไม่) สั้น เพราะวันนี้คือวันป้องกันการฆ่าตัวตายสากล (World Suicidal Prevention Day) ซึ่งเป็นวันสำคัญที่องค์กรอนามัยโลกและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะจิตกำหนดให้มีการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ⛅
.
สถิติระบุว่าในทุก ๆ วัน มีคนที่เลือกจะจบชีวิตด้วยตนเองวันละ 11-12 ราย นอกจากนี้ จากสำรวจของกรมสุขภาพจิต ยังพบว่า สาเหตุหลักของการฆ่าตัวตาย มาจากปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด (48.7%) ซึ่งในหลายครั้ง ความสูญเสียก็เกิดขึ้นโดยที่หลายๆ คน อาจไม่ทันได้ตั้งรับ และสังคมรวมถึงสื่อยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการมองว่า การฆ่าตัวตาย คือการ “คิดสั้น”

.

ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือสาธารณชน มักจะมองว่าการฆ่าตัวตาย คือ “การคิดสั้น” แต่แท้จริงแล้ว การฆ่าตัวตายมีกระบวนการถึง 3 ขั้นตอนก่อนจะนำมาสู่การตัดสินใจจบชีวิต อันได้แก่

.

  1. Suicidal Thought หรือ ความคิดทำร้ายตนเอง

2.Suicidal Plan คือ ขั้นตอนการวางแผนและหาวิธีที่จะทำร้ายตนเอง

3.Suicidal Attempt หรือ ขั้นตอนการพยายามฆ่าตัวตาย หรือ ทำร้ายตนเอง

.

ดังนั้น การจบชีวิตด้วยตนเอง เป็นกระบวนการที่ผ่านการคิดมาอย่างถี่ถ้วน และต้องตัดสินใจอยู่หลายตลบกว่าจะปะทุไปสู่ขั้นตอนสุดท้าย ยิ่งไปกว่านั้น การแปะป้ายว่า “การฆ่าตัวตาย = การคิดสั้น” เป็นการมองข้ามต้นตอของปัญหาและอาจสร้างภาพจำผิด ๆ แก่บุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือ

.

⛅ อาจารย์สิริพร เอมอ่อน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากแอพลิเคชันอูก้า เผยว่า การฆ่าตัวตายนั้น ในทางจิตวิทยาได้อธิบายว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่

.

1) ปัจจัยทางชีวภาพ (biological factors) เช่น สารเคมีในสมอง เช่น สารเซโรโทนิน ฮอร์โมนคอร์ติซอล อยู่ในสภาวะที่ไม่สมดุล

.

2) ปัจจัยทางจิตวิทยา (psychological factors) ได้แก่ พฤติกรรมและบุคลิกภาพ เช่น คนที่มีนิสัยเป็น perfectionist ก็จะมีแนวโน้มกลัวความผิดพลาด และมีโอกาสเครียดง่ายกว่าคนกลุ่มอื่น

.

3) ปัจจัยทางสังคม (sociological factors) คือปัญหาที่มาจากสังคมภายนอกและสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ สภาวะทางเศรษฐกิจ หรือความตึงเครียดจากภาระงาน เป็นต้น

.

ทั้งนี้ อาจารย์สิริพรยังเสริมอีกว่า ปัญหาการแม้ว่าจะมีปัจจัยไม่ครบทั้งสามด้าน เพียงแค่ปัจจัยเดียว ก็มากพอที่จะกระตุ้นให้คนหนึ่งคน เกิดความคิดทำร้ายตนเอง ดังนั้น การเฝ้าระวังและตระหนักถึงปัจจัยทาง 3 ด้าน อย่างถี่ถ้วน เป็นวิธีที่สำคัญที่จะป้องกันเพื่อน ๆ และคนรอบข้าง จากความคิดทำร้ายตัวเองซึ่งนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด

.

โดยที่อาจารย์สิริพรยังได้มอบคำแนะนำดี ๆ ที่จะช่วยให้เราสามารถสังเกตอาการคนใกล้ชิดของเรา ผ่านการจับสัญญาณจาก 2 จุดหลัก ๆ ได้แก่ สัญญาณ verbal หรือ คำพูด และ สัญญาณ non-verbal หรือ ภาษากายและพฤติกรรม

.

⛅ หากเป็นสัญญาณ verbal เราอาจสังเกตว่า คนนั้นมักจะบ่นหรือระบายว่า “เบื่อโลก หรือ ท้อแท้” นอกจากนี้ การใช้โซเชียลมีเดียถี่ขึ้นผิดปกติ การโพสต์สเตตัสระบาย หรือ การแชร์ข้อความหรือเพลงเศร้า ๆ ก็นับเป็นอีกสัญญาณที่ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเช่นกัน
.

⛅ ในส่วนของสัญญาณ non-verbal อาจสังเกตได้ว่า คนใกล้ชิดของเรา มีอาการซึมเศร้า ไม่มีแรง หรือมีพฤติกรรมแยกตัวจากผู้อื่นอย่างผิดปกติหรือไม่ นอกจากนี้ หากพบรอยแผลตามร่างกายของคนนั้น ก็นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณสำคัญว่า เขากำลังต้องการความช่วยเหลือจากใครสักคนอยู่ก็เป็นได้

.

⛅ นอกจากนี้ อาจารย์สิริพรยังแนะนำว่า เมื่อไหร่ที่หลุดเข้าไปอยู่ในห้วงความเศร้าเป็นระยะเวลานาน จนไม่สามารถหาทางออกมาจากความรู้สึกเหล่านั้นได้ด้วยตนเอง หากเราเริ่ม รู้เท่าทันความรู้สึกตัวเอง และตระหนักอยู่เสมอว่าความเศร้าจะไม่อยู่กับเราไปตลอด เราก็อาจมีโอกาสหาทางออกให้กับชีวิตได้

.

⛅ แม้ว่าการตกอยู่ในภวังค์แห่งความเศร้า จะเหมือนกับการว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรโดยมองไม่เห็นชายฝั่ง แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความช่วยเหลืออีกมากมายในโลกนี้ที่รอให้เราเดินเข้าไปหา ไม่ว่าจะจากคนแปลกหน้า คนที่เรารัก หรือผู้เชี่ยวชาญ

.

💙💙 โดยเนื่องในเดือนป้องกันการฆ่าตัวตายสากลนี้ ผู้ใช้บริการปรึกษาปัญหาใจกับอูก้าครั้งแรก จะได้รับส่วนลด 5% เมื่อจองนัดหมายและกรอกรหัส OOCACARES ผ่านแอปพลิเคชัน ooca 💙💙 ซึ่งสามารถดาวน์โหลดแอปได้ที่ https://ooca.page.link/fbnewcomer2 และใช้โค้ดได้ถึง 30 กันยายน 2565 (*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด ) ⛅

Read More

รู้ไหมว่าความผิดพลาดนั้นไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดกาล

“ถ้าเจออุปสรรคขนาดนี้ ล้มเลิกดีกว่าไหม?” ประสบการณ์เหล่านี้ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า Setbacks หรือ อุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้งานสักงานหนึ่งไปถึงได้ตามเป้าหมาย โดยน่าสนใจว่ามีการทดลองหนึ่งในอดีตเผยว่า “อุปสรรคที่ทำให้งานเชื่องช้าและไม่ก้าวหน้า” ส่งผลต่อการหมดหวังหมดกำลังใจมากกว่า “อุปสรรคที่สร้างความเสียหายโดยตรง”

.

James Beck, Abigail Scholer และ Jeffrey Hughes ได้ทำการวิจัยเพื่อหาข้อมูลมาสนับสนุนความคิดดังกล่าว พวกเขาได้ออกแบบการทดลองขึ้น 2 การทดลอง โดยแยกประเภทของ อุปสรรคเป็น 2 ประเภท คือ

1.อุปสรรคที่ทำให้งานไม่ก้าวหน้า (distance setbacks) ทำให้สูญเสียความก้าวหน้าในการทำงานต่าง ๆ ซึ่งเพื่อน ๆ อาจจะเคยเจอเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น คอมพิวเตอร์ดับหรือเสียระหว่างกำลังทำรายงานที่ต้องส่งภายในวันนี้และงานที่ทำมาทั้งหมดถูกลบหายไป ทำให้เราต้องทำงานใหม่ทั้งหมดในระยะเวลาอันน้อยนิด

2.อุปสรรคที่ฉุดรั้งให้งานช้าลง (velocity setbacks) คือลักษณะของอุปสรรคที่ลดอัตราความก้าวหน้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความคืบหน้าที่เป็นอยู่ของงาน ณ ปัจจุบันยังไม่ได้หายไป แต่จะเกิดความล่าช้าในอนาคตได้ เช่น คอมพิวเตอร์ของเพื่อน ๆ ติดไวรัส ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ช้าลง

ในการทดลองนี้ ผู้เข้าร่วมการทำลองจะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มด้วยการสุ่ม เพื่อจะได้เจอประสบการณ์อุปสรรคที่ทำให้งานไม่ก้าวหน้า หรือ อุปสรรคที่ฉุดรั้งให้งานช้าลง ผลจากการทดลองพบปฏิกิริยาลบในตอนแรก ทั้ง 2 ประเภทของอุปสรรค

.

โดยผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งสองกลุ่มมีความอึดอัดคับข้องใจ นอกจากนี้ยังขาดความกระตือรือร้นที่จะทำงาน แต่ความแตกต่างคือ

>> กลุ่มที่ประสบกับอุปสรรคที่ทำให้งานไม่ก้าวหน้า (distant setbacks) มีแนวโน้มที่จะสามารถกลับมาลุกขึ้นสู้ทำงานจนบรรลุเป้าหมายได้อีกครั้งเมื่อถึงช่วงจบการทดลอง 

>> ส่วนกลุ่มที่ประสบกับอุปสรรคที่ฉุดรั้งให้งานช้าลง (velocity setbacks) มีความอึดอัดคับข้องใจมากขึ้นและมีความกระตือรื้อร้นต่ำเป็นเวลานาน แม้เวลาจะผ่านไปแล้วก็ตาม 

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า อุปสรรคที่ฉุดรั้งให้งานช้าลง (velocity setbacks) เป็นตัว “หน่วงความก้าวหน้า” ได้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอุปสรรคที่ทำให้งานไม่ก้าวหน้า (distant setbacks)

.

แล้วเราจะจัดการกับอุปสรรคที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าของงานนี้ยังไงดีล่ะ? 

แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ได้มีสูตรสำเร็จที่ตายตัวเสียทีเดียว นักจิตวิทยาคลินิกจากอูก้าได้ช่วยให้ข้อมูลต่าง ๆ และคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ ทุกคนสามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน

  1. “เรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้น”

เพราะการที่เราวิ่งหนีปัญหาไม่ว่าจะวิ่งให้ไกลสักเพียงใด ปัญหาเหล่านั้นก็ไม่มีวันหายไปไหนเลย การที่เรายิ่งรับรู้ได้เร็วว่า “ตอนนี้โปรเจกต์มีปัญหาเรื่องนี้อยู่นะ” เราจะยิ่งสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น และถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถทำได้ดี 100% ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะเราได้พยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว ในทางกลับกัน หากเรากลัวที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา ทุกอย่างอาจจะสายเกินแก้ และจะกลายเป็นว่า ทุกอย่างยังอยู่ที่ 0%

.

  1. “เจ้าความผิดพลาดจะไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดกาล”

ทุกความพลาดพลั้งในหน้าที่การงานอาจทำให้เรารู้สึกแย่ หรือไม่กล้าที่จะทำอะไรอีกเลย แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วได้มองย้อนกลับไปในอดีต เราจะค้นพบว่าในเวลานี้ เราจะมีทางลัดที่ง่ายกว่าเดิม เพราะเราได้เรียนรู้และเติบโตจากบทเรียนแห่งความล้มเหลวที่ว่านี้นั่นเอง

.

  1. “ถอดบทเรียนที่ได้ เพื่อนำไว้ใช้ในอนาคต”

ทุกความผิดพลาดกลายเป็นครูของเราได้หากเราถอดบทเรียนจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้น โดยนำมาพิจารณาว่า แผนงานของตนเองมีช่องโหว่ตรงไหนที่เราสามารถอุดรอยรั่วได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำเหมือนในอดีต และยิ่งเข้าใจอดีตที่ผิดพลาดได้มากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เรากล้าเผชิญกับความท้าทายในอนาคตได้มากขึ้น

.

  1. “อย่าคิดลบกับตัวเอง”

ถ้าเพื่อน ๆ คิดว่า “ฉันไม่เก่งเอาเสียเลย” “ทำไมฉันถึงทำได้แย่ขนาดนี้” จะยิ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานแย่ลงตามความคิดที่เราบอกกับตัวเองในหัว เสียงวิจารณ์ภายในตัวเราทำให้เรากลัวที่จะ “ลองดูอีกสักครั้ง” หรือกลัวที่จะ “ลุกขึ้นสู้อีกสักหน่อย” ถ้าเราลองเปลี่ยนเสียงวิจารณ์ภายในให้กลายเป็นคำชื่นชมปลอบประโลมหัวใจของเราให้กลับมาสดใส และมี energy ที่จะฝ่าฟันทุกอุปสรรคที่เข้ามา การทำงานโดยภาพรวมก็จะดีขึ้นด้วย

  1. “ปรับความคาดหวังให้เหมาะกับสถานการณ์”

เมื่อเกิดอุปสรรคขึ้น โดยเฉพาะในแบบที่ฉุดรั้งให้งานช้าลง หากเรามองเห็นว่าอุปสรรนั้นมาจากภายนอกตัวเราที่เหนือการควบคุม การปรับความคาดหวังใหม่ หรือ การปรับแผนงานใหม่ ให้สอดคล้องกับสถการณ์ที่เกิดขึ้นจะช่วยลดกดดัน ความเครียดที่จะต้องทำงานให้เสร็จภายในกำหนดเส้นตาย และเพิ่มไฟในการทำงานให้กลับขึ้นมาได้เร็วขึ้น หากพยามฝืนทำตามแผนเดิมต่อไปจะยิ่งทำให้กำลังในการทำงานลดลงลงเรื่อยๆ  

  1. “ขอความช่วยเหลือเมื่อคุณต้องการ”

หากต้องการความช่วยเหลือ ให้ส่งเสียงออกมา เพราะเพื่อน ๆ ไม่ได้เผชิญหน้ากับความท้าทายอยู่คนเดียว อย่าลืมว่ายังมีเพื่อนร่วมงานที่คอยช่วยกันนำพาโปรเจกต์ต่าง ๆ ไปสู่ความสำเร็จ ยังมีครอบครัว หรือคนที่คุณรักคอยเป็นกำลังใจอยู่ข้าง ๆ และท้ายที่สุด ยังมีอูก้าที่อยู่ตรงนี้เสมอ คอยรับฟังทุกเรื่องราว และคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจให้ทุก ๆ คนเพื่อให้จัดการอุปสรรคไปได้

.

หากเพื่อน ๆ หกล้มระหว่างทางแห่งความสำเร็จจนได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะแผลเล็ก หรือแผลใหญ่ อูก้าก็จะคอยเป็นยาใจรักษาแผลให้เพื่อน ๆ จนหายดี มูฟออนและกลับมาลุกขึ้นเดินหน้าต่อไป…อีกครั้ง

ติดตามสิทธิพิเศษมากมายที่เราคัดมาให้ทุกคนเลือกสรร พร้อมไม่พลาดเนื้อหาสาระสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องจิตวิทยา – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

.⠀

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

#OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues

#นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

Sources:

Read More

เมื่ออาการทางกาย หลายครั้งสัมพันธ์กับอาการทางใจ

อ.สลิลทิพย์ มาตรา นักจิตวิทยาของอูก้า เล่าให้เราฟังว่า “หลายๆ คน เลือกที่จะเพิกเฉยกับความเครียดหรือความเจ็บปวดทางใจ จนกว่าอาการดังกล่าวจะถึงจุดพีคแล้วค่อยเข้ามาหาผู้เชี่ยวชาญ” แต่จริงๆ แล้ว เราสามารถมาหาผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อคลี่คลายความเครียดและความกังวลก่อนที่ทุกอย่างจะสายและพังทลายลงมา

.

โดยเราสามารถเริ่มต้นสังเกต “สัญญาณเตือน” ได้ว่า เรามีอาการเจ็บกายที่เกิดขึ้นจากการทำงานหรือไม่ เช่น ปวดหลัง ปวดท้อง หรืออาการปวดหัว ซึ่งอาการเหล่านี้มักถูกมองข้ามเพราะคิดว่าเป็นผลปกติที่เกิดจากการทำงานหนัก แต่ที่จริงแล้ว อาการดังกล่าวก็เป็นเสียงสะท้อนของร่างกายที่กำลังบอกใบ้ว่าจิตใจของเรากำลังเหนื่อยล้าและเสียสมดุล

.

ดังนั้น ถ้ารักษาทางกายแล้วไม่ยอมหาย บางทีปัจจัยทางใจก็ต้องถูกเอามาพิจารณาด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งเราสามารถระบายความรู้สึกเหล่านี้ได้กับคนที่เราไว้ใจอย่างเพื่อน ครอบครัว หรือแฟน แต่ถ้าบางเรื่องเราไม่อยากเล่าให้คนรู้จักหรือคนที่เกี่ยวข้องฟัง การปรึกษากับนักจิตวิทยาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเยียวยาใจเราได้เช่นกัน

.

โดยเฉพาะในระยะหลังมานี้ การให้จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพจิตของบุคลากรในองค์กร ก็เป็นอีกส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางใจให้และเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าใจ “ธรรมชาติ” ของตนเองได้ดียิ่งขึ้น เพื่อหาทางออกให้รู้สึกเหนื่อยล้าน้อยลงและพัฒนาตัวเราไปสู่เวอร์ชั่นที่มีความสุขกับชีวิตมากกว่าเดิม

.

อูก้าเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ แต่ถ้าเพื่อนๆรู้สึกว่ายังต้องการหาใครสักคนมาร่วมทางเพื่อฝ่าฟันปัญหาไปด้วยกัน อูก้าก็พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างทุกคน และหวังว่าจะช่วยคลายความเหนื่อยล้าทางใจของเพื่อน ๆ ได้ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม

.

เพราะไม่ว่าใครก็ต้องการจุดพักใจที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับตัวเอง

.

รับพลังบวกในแต่ละวันและนัดคุยกับผู้เชี่ยวชาญผ่านแอปพลิเคชันอูก้า

ดาวน์โหลดเลย : https://ooca.page.link/ZHMD

หรือติดตามสิทธิพิเศษมากมายที่เราคัดมาให้ทุกคนเลือกสรร

แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

รับพลังบวกในแต่ละวันและนัดคุยกับผู้เชี่ยวชาญผ่านแอปพลิเคชันอูก้า

ดาวน์โหลดเลย : https://ooca.page.link/ZHMD

หรือติดตามสิทธิพิเศษมากมายที่เราคัดมาให้ทุกคนเลือกสรร

แอดเลย Line Official :

https://lin.ee/6bnyEvy

Read More

4 เทคนิคจัดชีวิตให้มี Work Life Balance

หากช่วงนี้คุณรู้สึกว่า อยู่ๆงานที่เคยทำเสร็จเร็วกลับเสร็จช้าลง, อยากทำงานให้เสร็จ ๆ ไปมากกว่าผลิตงานที่มีคุณภาพ หรืองานที่เคยชอบกลับกลายเป็นงานที่เราไม่อยากแม้แต่จะเริ่มต้น – อาจแปลได้ว่าตอนนี้สมดุลการทำงาน การใช้ชีวิต และการพักผ่อนของเราไม่ได้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม และอาจก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าหรือบ่อนทำลาย self esteem ได้ ถ้าหากเรายังคงใช้ชีวิตแบบเดิมโดยไม่แก้ไข วันนี้อูก้าเลยอยากชวนเพื่อนๆ มาเติมเพลิงแห่งความสุขกับการทำงานของเรากันอีกครั้งผ่าน tips เล็กๆ น้อยๆ ที่จะสร้างสมดุลในชีวิตการทำงานของเรา

.

ก่อนอื่นเรามาลองจัดการปัญหานี้ด้วยวิธีการจด  to do list โดยการเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ อะไรที่ต้องใช้เวลาทำมาก อะไรที่ต้องใช้เวลาทำน้อย จากนั้นเราขอชวนให้เพื่อนๆ ทุกคนมาลองฝึกการบาลานซ์ชีวิตเพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้น โดยอูก้าได้ลองรวบรวมวิธีการเซ็ตสมดุลย์ชีวิตที่น่าจะเป็นประโยชน์มาฝากทุกคนกัน 

หาจุดที่พอดีให้กับตัวเราเอง

ก่อนอื่นอาจต้องปรับเปลี่ยน mind set ของตัวเรากันก่อนว่าการที่เราไม่ได้ทำงานหามรุ่งหามค่ำหรือพักดูหนังสัก 1-2 ชั่วโมงไม่ได้แปลว่าเราไม่ขยัน เช่นเดียวกับการที่เราตอบอีเมล 2-3 รายการในวันหยุดพักผ่อนก็ไม่ถือว่า Work-life Balance ของเราพังลง  ทุกคนสามารถหาจุดที่พอดีของตัวเองได้ตามขอบเขตการรับได้ และไม่ทำให้เรารู้สึกว่ากำลังรบกวนเวลาพักผ่อน ถึงแม้ว่าในความพอดีของเราในวันนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เพราะเราเติบโตขึ้น กิจวัตรบางอย่างอาจทำได้ไม่เหมือนเดิม  ซึ่งเวลาที่เหลือจากการทำงานนั้นขึ้นอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญในเรื่องต่าง ๆ ของตัวเราเองนะ

ทำงานเมื่ออยู่ในเวลางานและให้เวลากับตัวเองเต็มที่เมื่อหมดเวลางาน

หลายคนอาจจะเคยนำเรื่องงานกลับมาคิดที่บ้านซ้ำไปซ้ำมา ทำให้สมองของเราเกิดการหลั่งฮอร์โมนความเครียด และพาลทำให้ทั้งสภาพจิตใจและร่างกายของเรารู้สึกเหมือนไม่ได้รับการพักผ่อน  ดังนั้นเราจึงควรแยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวออกจากกันให้ชัดเจนผ่านการวางขอบเขตการทำงานในแต่ละช่วงเวลาของเรา โดยตั้งใจทำงานเมื่ออยู่ในเวลางาน ขอความช่วยเหลือเมื่อไม่สามารถทำงานนั้นได้ และให้เวลากับตัวเองเยอะ ๆ เพราะร่างกายของเราต้องการพักผ่อนเพื่อเสริมสร้างพลังใจเหมือนกัน

นอกจากนี้ การจัดโต๊ะทำงานหลังเลิกงานยังช่วยให้แยกพื้นที่การทำงานกับการพักผ่อนออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้เราไม่รู้สึกเหมือนต้องทำงานตลอดเวลา สำหรับเพื่อน ๆ ที่ต้อง Work From Home เรามาลองจัดมุมใดมุมหนึ่งของห้องให้เป็นสถานที่ทำงาน โดยพยายามเลือกที่สงบ จัดโต๊ะให้เหมือนกับโต๊ะที่ออฟฟิศและใช้มุมนี้ตลอด หากเปลี่ยนมุมไปเรื่อย ๆ จะทำให้ชีวิตส่วนตัวและชีวิตในการทำงานปะปนกัน เมื่อถึงเวลาเลิกงานแล้ว ก็ชัตดาวน์คอมพิวเตอร์ ยืดเส้นยืดสายสักเล็กน้อย หาของอร่อย ๆ กิน ดูซีรี่ส์ที่ยังดูค้างไว้บนที่นอนของเรากันดีกว่า นอกจากนี้อย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง และทานอาหารให้ให้ครบ 5 หมู่ กันด้วยนะ

พูดปฏิเสธในเรื่องที่ไม่สามารถทำได้

เป็นเรื่องปกติที่เราอาจถูกไหว้วานจากเพื่อนร่วมงานและงานบางอย่างที่ได้รับการไหว้วานอาจเป็นงานที่เราไม่ได้อยากทำ ซึ่งการปฏิเสธที่จะช่วยไม่ใช่เรื่องผิด ในทางกลับกัน เราสามารถลองชั่งน้ำหนักดูว่าสิ่งนั้นอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบเรามากเกินไปไหม จะทำให้เรากดดันหรือเครียดหรือเปล่า เราสามารถปฏิเสธอย่างนุ่มนวลได้ เพื่อไม่ให้มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานในภายหลัง และเพื่อดูแลจิตใจไม่ให้ต้องแบกรับความเหนื่อยล้ามากเกินไปของเราได้พร้อมๆ กัน

ใจดีกับตัวเองบ้าง

สิ่งสำคัญที่ควรปกป้องและรักษาไว้คือใจของตัวเราเอง เวลาที่รู้สึกว่าไม่ไหวควรฟังเสียงในใจตัวเองและหยุดพัก พยายามไม่ฝืน มันไม่ใช่เรื่องผิดอะไรถ้าเราจะหยุดพักทำในสิ่งที่ชอบ ถึงแม้ว่าการทำงานหนักในตอนนี้อาจยังไม่ส่งผลต่อสุขภาพกายและใจมากนัก แต่ถ้าสะสมนาน ๆ ไปก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาวได้เช่นกัน ทั้งนี้ เราสามารถหาแหล่งเพิ่มพลังงานให้ตัวเอง จากกิจกรรมเล็ก ๆ ที่เราชอบได้  เช่น การอยู่คนเดียวในที่เงียบ ๆ เพื่อทำให้ใจสงบ การขับรถชมวิวหลังเลิกงาน เป็นต้น

👩🏻‍⚕️💙

นอกจากนี้ อ.สลิลทิพย์ มาตรา นักจิตวิทยาคลินิกจากอูก้าก็อยากจะฝากกำลังใจเล็กน้อย ๆ ให้เพื่อน ๆ ทุกคนว่า “ของขวัญที่ดีที่สุดที่เราสามารถให้ตัวเองได้คือความสุขจากการพักผ่อนอย่างเพียงพอ มาเริ่มต้นมีความสุขด้วยการบาลานซ์ชีวิตของเรากันนะคะ”

.

ถ้าเพื่อน ๆ รู้สึกว่าปัญหาแต่ละอย่างมันหนักเกินจะรับไหว  รู้สึกว่ามีเรื่องราวอื่น ๆ ที่อยากระบาย หรือต้องการเพื่อนไว้รับฟังและคอยปลอบโยนอยู่ข้าง ๆ เวลาเหนื่อยและสับสน ทางอูก้ายินดีให้คำปรึกษาและพร้อมรับฟังเสมอ เพราะทุก ๆ เรื่องจากคุณสำคัญที่สุดสำหรับเรานะคะ

.

รับพลังบวกในแต่ละวันและนัดคุยกับผู้เชี่ยวชาญผ่านแอปพลิเคชันอูก้า

ดาวน์โหลดเลย: https://ooca.page.link/ZHMD

หรือติดตามสิทธิพิเศษมากมายที่เราคัดมาให้ทุกคนเลือกสรร

.

แอดเลย Line Official:

https://lin.ee/6bnyEvy

.

อ้างอิง

https://experience.dropbox.com/th-th/resources/work-life-balance

https://medium.com/the-logician/work-to-live-or-live-to-work-c8a1f6761e

#OOCAitsOK#WeWillListen#เรื่องของใจให้เรารับฟัง #OOCAissues

#mentalhealth #stigma #selflove #expectation #WORKLIFEBALANCE #OOCAfeelings #OOCAreminder #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

Read More

Baby (makes me) Blue ฝนตกในใจหลังกลายเป็นแม่

“ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องน่ายินดีเพราะจะได้เห็นหน้าลูกน้อย แต่กลับรู้สึกเศร้าหมองเหมือนกับวันฝนพรำ”

“กังวลใจเหลือเกิน กลัวว่าจะเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ”

เพื่อน ๆ ที่มีลูกเคยรู้สึกแบบนี้บ้างไหม?

หรือเคยเห็นคนรู้จักมีอาการซึมเศร้าหลังคลอดลูกหรือเปล่า?

.

เมื่อไม่กี่ปีก่อน นิยายเรื่อง “คิมจียอง เกิดปี 82” เขียนโดยโชนัมจู ได้สร้างปรากฏการณ์ talk of the town ไปทั่วโลก “คิมจียอง เกิดปี 82” ได้ยกประเด็นเรื่อง “ภาวะและโรคซึมเศร้าหลังคลอด” ผ่านตัวละครเอกอย่าง “คิมจียอง” โดยอาการนี้ได้เปลี่ยนทั้งทัศนคติ และมุมมองที่มีต่อคนรอบตัวของเธอ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดพลิกผันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเธอก็ว่าได้ เนื่องในโอกาสวันแม่ อูก้าอยากชวนเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับอาการ “baby blues” หรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เพื่อที่จะได้เข้าใจทั้งตัวละครคิมจียองมากขึ้น และคุณแม่มือใหม่ในชีวิตของเพื่อน ๆ กัน

.

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ baby blues เป็นอาการที่พบบ่อยถึง 50-75% ในหมู่คุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูก  โดยภาวะซึมเศร้านี้ จะทำให้มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายกว่าปกติ ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มาจากฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน จึงส่งผลให้เกิดความเครียด ความเหนื่อยหน่ายกับชีวิตและสิ่งที่เคยสนใจ ความวิตกกังวลต่าง ๆ เช่น กังวลว่าตัวเองจะไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ดีพอ รู้สึกไม่มั่นใจกับบทบาทการเป็นแม่ของตนเอง รู้สึกว่าตนไม่ผูกพันกับลูก

.

นอกจากนี้บางคนอาจรู้สึกห่างเหินกับคนรอบข้าง บางครั้งอาจเกิดอาการน้อยใจ  รู้สึกท้อแท้ และสิ้นหวังในชีวิต บางครั้งก็ร้องไห้ออกมาโดยไม่มีเหตุผล แพทย์หญิงศิริลักษณ์ ลอดทอน จิตแพทย์จากแอปอูก้ายังเสริมอีกว่า นอกจากอาการทางใจแล้ว อาจมีอาการทางกายควบคู่ไปด้วย เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง จนกระทบชีวิตประจำวันของเหล่าคุณแม่ได้ โดยภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ baby blues จะมีระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าฮอร์โมนจะกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ

.

ทั้งนี้ เพื่อน ๆ อาจสงสัยว่า แล้วอาการ baby blues  ต่างจากโรคซึมเศร้าอย่างไร แพทย์หญิงศิริลักษณ์ได้ให้คำตอบไว้ว่า  แม้ทั้งสองจะมีพื้นฐานของอาการที่คล้ายคลึงกับอาการโรคซึมเศร้าหลังคลอด หรือ Postpartum Depression  แต่โรค Postpartum Depression ซึ่งในไทยพบประมาณ 16.8% (ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต) ของคุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกมีอาการยาวกว่า 2 สัปดาห์ และมีอาการที่รุนแรงกว่า เช่น มีความคิดต้องการทำร้ายตัวเองและลูก ประสาทหลอน มีอาการฉุนเฉียวสลับกับคึกคักคล้ายไบโพลาร์ หรืออาการทางกาย เช่น นอนไม่หลับ น้ำหนักลด เป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยโรคนี้จำเป็นที่จะต้องพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัย อีกทั้งต้องมีการทำจิตวิทยาบำบัดไปพร้อม ๆ กัน และรับประทานยาเพื่อรักษาอาการของโรคซึมเศร้า

.

แต่ถ้าเป็นระยะแรกเริ่มอย่างภาวะ baby blues  สามารถบรรเทาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวัน เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเบา ๆ ทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่อดอาหาร เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด เพราะหากระดับน้ำตาลในเลือดตก อาจทำให้อารมณ์ไม่สมดุลได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การเข้าใจกับสภาวะที่ตนกำลังเผชิญ ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้มองโลกในแง่บวก งดรับข่าวสารที่จะทำให้เกิดความเครียด และอย่าปล่อยให้ตัวเองอยู่คนเดียวด้วยการพูดคุยกับคนใกล้ชิด หรือคุณแม่คนอื่น ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่กับภาวะ baby blues เหมือนกัน การปรับเปลี่ยนทั้งพฤติกรมและทัศนคติเช่นนี้ จะช่วยทำให้ฟื้นตัวจากภาวะซึมเศร้าได้เร็วขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

.

ทั้งนี้ แพทย์หญิงศิริลักษณ์  ยังได้ฝากกำลังใจให้แก่คุณแม่มือใหม่ทุกคนว่า

“อยากจะให้คุณแม่เชื่อในตัวเองว่า อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีวิธีการรักษาและสามารถหายไปได้ ขอให้คุณแม่ทุกคนเชื่อในตัวเองว่ามีความสามารถในการเลี้ยงลูก พยายามมองโลกในแง่บวก อีกทั้งยังควรระลึกว่า ตนไม่ได้เผชิญปัญหานี้อยู่คนเดียว แต่ยังมีคนรอบข้างที่คอยมอบความรักและความห่วงใยอยู่เสมอ”

.

หากใครที่ได้อ่านเรื่องคิมจียอง จะเห็นว่า คิมจียองดีขึ้นจากภาวะนี้ได้ เพราะว่ามีสามีของเธอที่พยายามทำความเข้าใจและดูแลอยู่เคียงข้างเธอเสมอ ดังนั้น ทั้งภาวะ baby blues และโรคซึมเศร้าหลังคลอด ยาใจสำคัญที่จะทำให้คุณแม่มือใหม่ทุกคนสามารถผ่านพ้นความยากลำบากนี้ และกลับมามีรอยยิ้มที่สดใสอีกครั้งคือ  “กำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้าง”

.

เนื่องในโอกาสวันแม่ปีนี้ อูก้าจึงอยากชวนเพื่อน ๆ มาขอบคุณคุณแม่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ของเพื่อน ๆ เอง หรือคนรอบตัวที่กำลังเป็นคุณแม่ อูก้าเข้าใจดีว่าการเป็นแม่นั้นต้องผ่านอะไรมามากมาย อูก้าขอขอบคุณคุณแม่ทุกคนที่คอยดูแลพวกเราด้วยความรักตลอดมา และแน่นอนว่าอูก้าพร้อมรับฟังทุกเรื่องราวที่คุณแม่กำลังรู้สึกกังวลหรือไม่สบายใจอยู่เสมอ เพื่อร่วมกันฝ่าฟันวันฝนพรำอันหนาวเหน็บนี้ไปด้วยกัน

ติดตามสิทธิพิเศษมากมายที่เราคัดมาให้ทุกคนเลือกสรร พร้อมไม่พลาดเนื้อหาสาระสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องจิตวิทยา – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

.⠀

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง

#mentalhealth #depression #ซึมเศร้า #babyblue #PostpartumDepression #ซึมเศร้าหลังคลอด

#OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues

#นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

Sources:

Read More

เซโรโทนินต่ำเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า จริงหรือ…?

เพื่อน ๆ เคยได้ยินประโยคที่ว่า “เป็นซึมเศร้าเพราะเซโรโทนินต่ำ” กันบ้างไหม บทความจิตวิทยาหลายชิ้น งานวิจัยหลายฉบับ รวมทั้งรูปแบบการศึกษาที่อ้างอิงกับงานวิจัยในทฤษฎีซึมเศร้าดั้งเดิม มักจะพยายามหาวิธีเพื่อที่จะรักษาสมดุลของเจ้าฮอร์โมนนี้ และหาวิธีลดอัตราการเกิดของโรคซึมเศร้า แต่เพื่อน ๆ รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว เซโรโทนินต่ำไม่ได้ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า วันนี้อูก้าจะมาพาทุกคนมาไขคำตอบกันว่า เซโรโทนินต่ำเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า จริงหรือ…?

.

โดยทั่วไปแล้ว เรามักจะได้ยินกันว่า อาการซึมเศร้าสัมพันธ์กับความผิดปกติของสารเคมีในสมองโดยเฉพาะสารที่ชื่อ “เซโรโทนิน” หรือสารเคมีแห่งอารมณ์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนและสารสื่อประสาทที่เชื่อมโยงกับร่างกายและการควบคุมอารมณ์ โดยทฤษฎีดังกล่าวได้เป็นที่แพร่หลายในวงการแพทย์และจิตวิทยามาจนถึงปัจจุบัน  อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีดังกล่าวเริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งมีผู้รวบรวมข้อโต้แย้งเหล่านั้นมาเป็นงานวิจัย ที่อูก้าจะพาพวกเราจะไปค้นหาคำตอบกันในวันนี้

.

งานวิจัย umbrella review ของ Joanna Moncrieff และคณะ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Psychology เมื่อปี 2022  ได้สำรวจงานวิจัยในช่วงเวลา 10 ปีที่มาผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเซโรโทนิน ยาต้านซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า ทางทีมวิจัยศึกษาประเด็นดังกล่าวโดยพิจารณาจาก 

1. ระดับสารเซโรโทนินและเซโรโทนินเมตาโบไลต์ 5-HIAA ในโรคซึมเศร้า

2. การเปลี่ยนแปลงของการจับตัวบนผิวเซลล์ของเซโรโทนินในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 

3. ระดับของยีน SERT หรือตัวขนส่งเซโรโทนินในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 

4. ระดับของตัวขนส่งเซโรโทนิน ซึ่งจะทำให้การรับส่งเซโรโทนินที่ปลายประสาทลดลง

5. งานวิจัยเกี่ยวกับภาวะการขาดทริปโตเฟน ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ช่วยรักษาสมดุลทางอารมณ์และการกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้า 

6. ความสัมพันธ์ของยีน SERT กับความเครียดในโรคซึมเศร้า 

.

เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์ต่าง ๆ แล้ว งานวิจัยพบว่า งานวิจัยทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเซโรโทนินและเมตาบอไลต์ชี้ให้เห็นว่า การทำงานที่ลดลงของสารเซโรโทนินและโรคซึมเศร้าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน นอกจากนี้ งานวิจัยเกี่ยวกับภาวะการขาดทริปโตเฟน และการกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้ายังแสดงหลักฐานที่น้อยมากเกี่ยวกับการทำงานที่ลดลงของเซโรโทนิน ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากผลในภาพรวมของกลุ่มงานวิจัยดังกล่าว เราจะเห็นได้ว่า ความเข้มข้นของเซโรโทนินกับโรคซึมเศร้าไม่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งตรงกันข้ามทฤษฎีดั้งเดิมของโรคซึมเศร้า

.

นอกจากนี้ ตัวงานวิจัยยังตั้งคำถามกับความเชื่อที่ว่า โรคซึมเศร้าเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ซึ่งเป็นองค์ความรู้จากการใช้ยาต้านเศร้า โดยที่งานวิจัยเผยข้อโต้แย้งที่น่าสนใจว่า การใช้ยาต้านเศร้า (antidepresssants) ในระยะยาวกลับส่งผลให้การหลั่งสารเซโรโทนินลดต่ำลง ดังนั้น หากจะกล่าวว่าการลดลงของสารเซโรโทนินเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าอาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว

.

อูก้าเข้าใจว่า สำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังต่อสู้อยู่กับโรคซึมเศร้าต้องใช้แรงกายแรงใจ เพื่อที่จะฝ่าฟันและข้ามผ่านมันไปได้ แม้จะต้องใช้เวลานานมากแค่ไหน อูก้าจะคอยอยู่เคียงข้างและเปลี่ยนให้ทุก ๆ วันเป็นวันที่สดใสสำหรับทุกคนนะ 

.

ติดตามสิทธิพิเศษมากมายที่เราคัดมาให้ทุกคนเลือกสรร พร้อมไม่พลาดเนื้อหาสาระสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องจิตวิทยา – แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

.⠀

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง

#mentalhealth #depression #ซึมเศร้า #เซโรโทนิน #scientificNEWS 

#OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues

#นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

Resource:

Moncrieff, J., Cooper, R.E., Stockmann, T. et al. The serotonin theory of depression: a systematic umbrella review of the evidence. Mol Psychiatry (2022). https://doi.org/10.1038/s41380-022-01661-0

Read More