Deep Listening เพราะการฟังให้เข้าใจ ไม่ใช่แค่ได้ยิน
ความทุกข์ ไม่ได้เกิดเฉพาะเวลาที่ปัญหาพุ่งเข้ามาใส่ แต่บางครั้งเราเหนื่อย โกรธ เสียใจเพราะไม่ได้รับ “การรับฟัง” ที่เหมาะสมต่างหาก เมื่อเสียงของเราไม่มีน้ำหนัก ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข อาจนำไปสู่ภาระทางใจที่ต้องเก็บไว้คนเดียว
ในยุคที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความทันสมัย เราทุ่มเทเวลาในการพัฒนาทักษะและความสามารถต่าง ๆ การติดต่อสื่อสารเชื่อมโลกเข้าด้วยกัน เส้นแบ่งระหว่างคน เชื้อชาติ ศาสนาลดน้อยลง แต่ดูเหมือนว่าเราจะทุ่มเทเวลาในการรับฟังกันและกันน้อยลงทุกที
เพราะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (Effective communication) เริ่มต้นจากการฟัง แต่การฟังที่แท้จริงกลายเป็นของขวัญที่หายาก เราสามารถฝึกฝนทักษะนี้ได้ตั้งแต่ยังเด็ก โดยมีครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเด็กให้รู้จักรับฟังและใส่ใจผู้อื่น เมื่อโตขึ้นเราจะมีทักษะด้านการฟัง รู้จักแก้ปัญหา พัฒนาความเข้าใจที่มีต่อโลกใบนี้ จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะหากฟังเป็นนั่นหมายถึงความเข้าใจผิดก็น้อยลง เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ช่วยรักษาความสัมพันธ์ ประหยัดเวลา และช่วยในเรื่องสุขภาวะทางใจที่ดีด้วย
แต่หลายคนไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อนเลยว่าการเป็นผู้ฟังที่ดี (Be a Good Listener) ต้องทำอย่างไร
1. มองหน้าและสบตาผู้พูด
การพูดคุยกับใครบางคนในขณะที่อีกฝ่ายนั่งจ้องมือถือ หรือหันไปสนใจสิ่งรอบ ๆ คงทำให้อีกฝ่ายเกิดคำถามว่าเราเข้าใจเขามากน้อยแค่ไหน อาจจะแค่ 10 – 20 % หรือเปล่า ? ในวัฒนธรรมตะวันตกส่วนใหญ่การสบตาถือเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของการสื่อสารที่มีประสิทธิผล เป็นภาษากายที่ได้รับการยอมรับ หากมีการเคลื่อนไหว ลุกเดินก็สามารถมองตามหรือแสดงท่าทีสนใจได้ ยกเว้นบางบริบทที่ไม่ควรสบตา เช่น ด้านวัฒนธรรม หรือสถานการณ์ตึงเครียดมาก ๆ
2. เอาใจใส่ แต่ผ่อนคลาย
ให้โฟกัสที่ “การมีส่วนร่วม” อยู่กับปัจจุบัน สนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ตัดเสียงรบกวนหรือความคิดในหัวออกไปก่อน อย่าเพิ่งให้อคติหรือความเห็นส่วนตัวทำงาน “ฉันไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เธอทำ” พยายามควบคุมตัวเองให้เปิดใจรับฟังเต็มที่ก่อน ผ่อนเบาแม้ในเรื่องที่ไม่เห็นด้วย ถ้าเราชะลอความเร็วในการโต้ตอบลงอีกนิด เราจะค้นพบประสิทธิภาพการฟังที่แท้จริง นี่ถือเป็นความเอาใจใส่ที่เรามีต่ออีกฝ่าย การขัดจังหวะ บอกปัดหรือตัดบทอาจทำให้อีกฝ่ายเกิดคำถามว่า “เธออยากฟังฉันเล่าหรือแค่อยากสอนกันแน่ ?”
3. พยายามจับประเด็นและนึกภาพตาม
ประเด็นสำคัญของเรื่องคืออะไร ? เขาอยากให้เราเข้าใจเรื่องไหน ? จำลองภาพความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเราเผชิญสถานการณ์เดียวกัน จะรู้สึกอย่างไร ? การฟังต้องใช้สมาธิ เราจะเข้าใจมากขึ้นถ้าเราจดจ่อและเห็นว่าสิ่งที่กำลังฟังนั้นสำคัญ อย่ามัวแต่คิดว่าฉันจะพูดอะไรต่อไปดี แต่คิดถึงใจอีกฝ่ายให้มาก
4. ไม่รีบพุ่งไปที่ “วิธีแก้ปัญหา”
เมื่อรับฟังเรื่องบางอย่างเรามักคาดหวังกับตัวเองว่า “ฉันต้องช่วยเธอหาทางออกให้ได้” ไม่จำเป็นเสมอไป บางคนอาจเดินเข้ามาพร้อมคำตอบในใจอยู่แล้ว เพียงแต่อยากจะระบายให้ใครสักคนที่ไว้ใจได้ฟัง อยากมีเพื่อนนั่งข้าง ๆ และอินไปด้วยกัน การที่เราขีดเส้นว่าปลายทางต้องมีคำตอบ อาจเป็นการพยายามสกัดน้ำที่กำลังไหลเชี่ยวก็ได้ วิธีแก้ปัญหาอาจกลายเป็นการบอกอีกฝ่ายว่า “ฉันไม่สนใจหรอกว่าเธอรู้สึกยังไง แต่สิ่งที่ฉันคิดนั้นถูกต้องหรือตรงประเด็นกว่า” หรือ “เล่าไปก็เสียเวลา เธอต้องรีบแก้ไขตามที่ฉันบอก” นำ ‘ความเงียบ’ มาใช้คั่นจังหวะให้คนเล่าได้หายใจและคิดตามบ้าง สุดท้ายเวลาอาจช่วยเขาโดยที่เราไม่ต้องพูดอะไรเลยก็ได้
5. เราเข้าใจตรงกันไหม ?
เพราะเราทุกคนคิดและพูดในจังหวะที่แตกต่างกัน หากเราเป็นคนคิดเร็วและพูดไว ก็เป็นหน้าที่เราในการผ่อนคลายจังหวะสำหรับการสนทนา ยิ่งถ้าเรามีความเป็นตัวของตัวเองสูง เมื่อฟังแล้วให้สื่อสารช้าลงและรอบคอบมากขึ้น ไตร่ตรองคำถามในหัวก่อนถามออกไป เพราะบางครั้งคำถามอาจนำไปสู่การแตกประเด็น ทำให้เรื่องลุกลามและกลายเป็นทั้งสองฝ่ายโฟกัสผิดจุดไป พยายามกลับเข้าประเด็นเมื่อสังเกตว่าเรื่องที่พูดกันเริ่มสร้างบาดแผลใหม่ โดยที่ยังไม่ได้เคลียร์ใจในเรื่องเดิม
6. เขารู้สึกอย่างไร สำคัญกว่า “ทำไม…”
เรียกว่าเป็นขั้นใช้ ‘ใจ’ ใส่ empathy ลงไปในการสื่อสาร ปล่อยให้จิตใจทำงาน หากเรารู้สึกเศร้าเมื่อคนที่คุยด้วยแสดงความเศร้าออกมา มีความสุขเมื่ออีกฝ่ายแสดงความดีใจ หวาดกลัวเมื่อเขาอธิบายความกลัวที่เกิดขึ้นและถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านั้นผ่านทางสีหน้าและคำพูดของเราออกไป เราจะมั่นใจได้ว่าประสิทธิภาพของเราในฐานะผู้ฟัง การเอาใจใส่ และความเข้าใจของเราน่าจะอยู่ในขั้นที่มีการรับฟังที่ดี
ในการสัมผัสกับความเห็นอกเห็นใจ (empathy) เราต้องทำให้ตัวเองอยู่ในสถานที่ของอีกฝ่ายและปล่อยให้ตัวเองรู้สึกว่าการเป็นเขาในขณะนั้นเป็นอย่างไร ? นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ ต้องใช้พลังงานและสมาธิ แต่เป็นสิ่งที่ควรทำด้วยความใจกว้าง ดึงความอ่อนโยนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อเปิดทางให้การสื่อสารราบรื่น
ใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หากอยากเรียนรู้การเป็นผู้ฟังที่ดีมากขึ้น อูก้ากำลังจะมี online workshop ในเรื่องของการฟังอย่างลึกซึ้ง( Deep Listening ) สำหรับ #อาสาสมัคร ที่เข้าร่วมเป็น deep listener staff ในโปรเจค ARAMAROM ที่อูก้าทำร่วมกับ Eyedropper Fill ณ งาน Bangkok Design Week 2021 นี้ ใครสนใจอยากเรียนรู้การเป็นผู้ฟังที่ดีมากขึ้นและเป็นอาสาสมัครเพื่อร่วมงานกับเรา กดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมตรงนี้ได้เลย >> https://bit.ly/3gXcUhi
ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/dltnblog
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca
#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา
อ้างอิงข้อมูลจาก
Forbes : https://bit.ly/33cC3N1
Medium : https://bit.ly/3h4AIjp
Recent Comments