คุณพ่อคุณแม่มือใหม่กับการดูแลสุขภาพจิตใจในยุคโควิด!
‘ลูกคนแรก’ มักเป็นข่าวดีที่ใครหลายคนอยากได้ยิน แต่สำหรับหลายคนอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่หลายคู่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตครั้งใหญ่ และยิ่งสุขภาพจิตเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยด้วยแล้ว คุณแม่มือใหม่และคุณพ่อป้ายแดงยิ่งต้องทำการบ้านและใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตให้มาก เพื่อสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับลูกรัก
ปัญหาสุขภาพจิตใจที่คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ต้องเผชิญ
หนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่อาจจะรู้จักกันอยู่แล้วคือ “baby blues” หรือ “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” หารู้ไม่ว่าสุขภาพจิตใจอาจได้รับผลกระทบตั้งแต่ ‘เริ่มตั้งครรภ์’ จนเกิดเป็น “ภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์” และในสังคมนี้มีคุณแม่มือใหม่จำนวนมากที่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะซึมเศร้าทั้งระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตร จากสถิติของ The American Congress of Obstetricians and Gynecologists ( AGOG ) เผยให้เห็นว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์จำนวน 1 ใน 4 มีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิตดังกล่าว
แน่นอนว่าไม่ใช่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่จะต้องเผชิญหน้ากับภาวะดังกล่าวทุกคน แต่หากไม่รู้เท่าทันปัญหาสุขภาพจิตและปล่อยปละละเลยจนไม่ได้รับการรักษาเยียวยาหรือดูแลจากผู้เชี่ยวชาญอย่างถูกวิธี อาจเกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิตเรื้อรังอย่าง โรควิตกกังวล (perinatal anxiety) โรคซึมเศร้า (perinatal depression) โรคย้ำคิดย้ำทำ (perinatal OCD) ไปจนถึงโรคจิต (postpartum psychosis) การดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแรงเช่นเดียวกับสุขภาพกายอยู่เสมอจึงเป็นหนึ่งในการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตนี้
สาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตในคุณพ่อและคุณแม่มือใหม่
สาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยเฉพาะกับคุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน อิสระที่เคยมีกลับหายไป จะทำอะไรต้องระมัดระวังและคิดเยอะมากกว่าเดิม และสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างฮอร์โมน ไปจนถึงรูปลักษณ์ภายนอก ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน
หากคุณแม่มีโรคประจำตัว ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เคยมีประวัติโรคซึมเศร้าก่อนตั้งครรภ์ มีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีกับคนในครอบครัว ถูกทำร้ายหรือตั้งครรภ์แบบไม่พึงประสงค์ ก็เป็นอีกสาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตรด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านสังคม เพราะความคาดหวังของสังคมที่ไม่อนุญาตให้คนเป็น ‘พ่อคนแม่คน’ ทำผิดพลาด และอุดมคติของสังคมที่มีต่อ “ความเป็นแม่” กดทับความดีใจของคุณพ่อคุณแม่มือใหม่จนเกิดเป็นความกังวล ความไม่สบายใจ รู้สึกผิดและเกรงกลัวต่อความผิดพลาด อันเป็นบ่อเกิดของปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะปัจจุบันที่ทุกคนกำลังเผชิญกับวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การมีลูกท่ามกลางความไม่มั่นคงเช่นนี้ยิ่งทำให้คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่รู้สึกกังวลและเครียดมากกว่าเดิมหลายเท่า
ผลกระทบของสุขภาพจิตของพ่อและแม่ต่อลูกน้อย
สุขภาพจิตนอกจากจะกระทบถึงการดำเนินชีวิตของคุณพ่อและคุณแม่มือใหม่แล้ว ยังสามารถกระทบต่อพัฒนาการของลูกน้อยด้วยเช่นกัน มีงานวิจัยเผยให้เห็นว่าภาวะซึมเศร้าในช่วงหลายเดือนหลังคลอดบุตรส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกและพัฒนาการของเด็กทั้งด้านกายภาพ พัฒนาการด้านอารมณ์และสติปัญญาด้วยเช่นกัน
หนึ่งในอาการของปัญหาสุขภาพจิตที่กล่าวไปข้างต้นอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่เกิดพฤติกรรมกังวลจนตีตัวออกห่างจากคนรอบข้าง รวมถึงปล่อยปละละเลยลูกน้อย หรือบางกรณีอาจร้ายแรงกว่านั้นเมื่อสุขภาพจิตดำดิ่งจนก่อให้เกิดเป็นโรคจิต ทำให้เกิดอาการเห็นภาพหลอน หรือหูแว่ว ไปจนถึงความพยายามทำร้ายตนเองหรือลูกของตนด้วยเช่นกัน
วิธีการดูแลสุขภาพจิตใจด้วยตนเอง
สุขภาพจิตก็เหมือนสุขภาพกาย มีวิธีป้องกับ รับมือ และรักษาให้หายได้เช่นเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมและความคิดของตนเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อเข้ารับการรักษาเยียวยาอย่างทันท่วงที
วิธีการรักษาสุขภาพจิตก็มีแตกต่างกันไป เริ่มจากกิจกรรมทั่วไปที่สามารถทำได้เองที่บ้างอย่างการออกกำลังกาย หรือดูแลสุขภาพภาพกายให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีการทำจิตบำบัด การพูดคุยปรึกษาปับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป็นระยะ ในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วอาจจะมีการทานยาประกอบกับการทำจิตบำบัดควบคู่กันด้วยก็ได้
การให้กำเนิดอีกหนึ่งชีวิตเป็นเรื่องน่ายินดี ขณะเดียวกันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของคุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ การดูแลสุขภาพจิตใจให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ หากกำลังมองหาที่ปรึกษาในการดูแลสุขภาพใจ มาหาอูก้าได้เสมอ เพราะเรามีผู้เชี่ยวชาญมากมายที่พร้อมรับฟังทุกปัญหาใจ ไม่ว่าจะเป็นด้านความสัมพันธ์ การจัดการความเครียดและอารมณ์ ไปจนถึงพัฒนาการเด็ก เพราะฉะนั้นไม่ว่าที่ไหนหรือเมื่อไร เรื่องของใจให้เรารับฟังนะ
________________________________⠀⠀⠀⠀
ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/t2FB
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ > https://ooca.page.link/oocaservice
พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > http://bit.ly/msgfbooca.⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์
อ้างอิง:
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29331695/
https://www.healthline.com/health/depression/perinatal-depression#prevention
Recent Comments