โควิด เครียด ฆ่าตัวตาย

เมื่อโควิดทำให้คนคิด..ฆ่าตัวตาย สัญญาณอันตรายที่ต้องระวัง!

สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 นำมาซึ่งความรู้สึกวิตกกังวลและความรู้สึกสิ้นหวังของใครหลาย ๆ คน จนทำให้เราได้ยินข่าวเศร้าของคนที่ตัดสินใจ “ฆ่าตัวตาย” จากสถานการณ์อันน่าหดหู่ใจที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งเหตุผลในการเลือกจากไปก็มีความเชื่อมโยงกับ “โควิด” ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง หวาดกลัวที่จะป่วยหรือจะกลายเป็นภาระของคนรอบข้าง ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโควิดไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เพียงร่างกาย แต่ส่งผลกระทบต่อจิตใจในระดับที่ทำให้หลายชีวิตต้องจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

“ความเครียดพุ่งสูง ยอดฆ่าตัวตายเพิ่ม สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง”

ย้อนไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นข่าวของการฆ่าตัวตายที่มีเหตุผลเกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิดอยู่หลายครั้ง ซึ่งสิ่งที่น่าเศร้าคือโควิดทำให้เกิดความเครียดที่พุ่งสูงขึ้น สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง จนทำให้หลายคนเกิดความเครียดสะสม และเมื่อรู้สึกว่าไม่เห็นทางออกใด ๆ การฆ่าตัวตายจึงกลายมาเป็นทางออก

ซึ่งปัญหาอัตราการฆ่าตัวตายในช่วงสถานการณ์โควิดนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก และตัวเลขกำลังไต่ระดับขึ้นสูงอย่างน่าตกใจ จุดเริ่มต้นของปัญหานี้หลัก ๆ มาจากความเครียดที่พัฒนาไปเป็นความกังวล ความสิ้นหวัง และความรู้สึกแตกสลายจากการที่โควิดพรากเอาทั้งหน้าที่การงาน ครอบครัว และชีวิตความเป็นอยู่ให้เปลี่ยนไปตลอดกาล นับว่าเป็นอีกวิกฤตหนึ่งที่เราควรเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในประเทศไทยที่กำลังมีตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายในปีหลัง ๆ สูงขึ้นเช่นกัน

“ยิ่งโควิดระบาดยาวนาน คนที่ได้รับผลกระทบและเสี่ยงฆ่าตัวตายยิ่งขยาย”

โดยอธิบดีกรมสุขภาพจิต พญ.พรรณพิมล วิปุลากร เคยให้ข้อมูลการติดตามอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยกับทางไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ไว้ว่า คนไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายที่ค่อย ๆ ไต่ระดับสูงขึ้น โดยในปี 2563 มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงถึง 7.3 คนต่อแสนประชากร โดยกลุ่มเสี่ยงที่ฆ่าตัวตายมีปัจจัยมาจากกลุ่มผู้มีปัญหาความสัมพันธ์ส่วนบุคคลในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด กลุ่มผู้เจ็บป่วยเรื้อรังหรือมีปัญหาสุขภาพจิต หรือมีภาวะซึมเศร้า และกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ

ซึ่งในช่วงปี 2563 กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเป็นกลุ่มที่ต้องเพิ่มการเฝ้าระวังมากขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้เราอาจจะเรียกได้ว่า “ยิ่งโควิดยาว ยิ่งทำให้กลุ่มขยาย” เพราะคนกลุ่มนี้คือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หลายคนกลายเป็นคนว่างงาน หลายคนสถานะการเงินไม่ดีอยู่แล้วก็ยิ่งโดนเหยียบซ้ำไปใหญ่ สุดท้ายก็กลายเป็นหนึ่งคนที่เลือกการฆ่าตัวตายเป็นคำตอบให้ตัวเอง

สัญญาณที่บ่งบอกว่าคนรอบข้างอาจคิด ‘ฆ่าตัวตาย'”

ในสถานการณ์โควิดแบบนี้ การสังเกตสัญญาณอันตรายสู่การฆ่าตัวตายจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นอย่างมาก โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงสัญญาณของการฆ่าตัวตายที่สามารถสังเกตได้ เช่น

🙅🏻‍♂️ เริ่มแยกตัวออกจากสังคม อยู่โดดเดี่ยว

🤐 ไม่พูดกับใคร ไม่ติดต่อกับใคร

😩 มีอาการนอนไม่หลับเป็นเวลานาน

😰 หน้าตาเศร้าหมอง อมทุกข์อยู่ตลอดเวลา

🤯 มีความวิตกกังวลถึงสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่สามารถปล่อยวางได้

😭 ชอบพูดว่าอยากตายหรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรือบางครั้งก็โพสต์ข้อความสั่งเสีย

😤 บางรายอาจจะมีอารมณ์ที่แปรปรวน เช่น จากที่เคยเศร้ามานาน ก็กลายเป็นสบายใจอย่างผิดหูผิดตา

“คนใกล้ชิดช่วยได้ เป็นที่พักใจให้เบื้องต้น”

สัญญาณการฆ่าตัวตายเหล่านี้ หากญาติพี่น้องหรือคนสนิทพบเจอจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นหากเราพบสัญญาณการคิดฆ่าตัวตายจากคนใกล้ตัว เราอาจจะให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ดังนี้

  1. แสดงความเต็มใจช่วยเหลือ

สิ่งแรกที่เราสามารถทำได้คือการแสดงความเต็มใจช่วยเหลือ เพราะสิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้คนอยากฆ่าตัวตายตัดสินใจทำให้สำเร็จ ก็คือความรู้สึกเป็นภาระต่อคนรอบข้าง หลายคนที่ฆ่าตัวตายคิดว่าสิ่งนี้จะช่วยจบปัญหาให้กับเขาและคนรอบข้างได้ ย่ิงในสถานการณ์โควิดความรู้สึกสิ้นหวังก็ยิ่งสูงขึ้น ปัญหาอันเนื่องมาจากโควิดก็มากขึ้น ทำให้คนอยากฆ่าตัวตายอาจจะมีมากขึ้นตามไปด้วย

  1. ตั้งใจรับฟัง

ถ้าเราเจอกับสถานการณ์คนใกล้ตัวอยากฆ่าตัวตายแล้วไม่รู้ว่าจะต้องพูดอย่างไร ให้เราตั้งใจรับฟัง สนใจกับสิ่งที่เขาพูดอย่างจริงจังโดยไม่ตัดสินไปว่าปัญหานั้นเล็กหรือใหญ่ หลาย ๆ คนที่เผชิญกับสถานการณ์ที่คนใกล้ตัวคิดอยากฆ่าตัวตายอาจจะไม่รู้ว่าควรจะพูดอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่คุณทำได้ก็คือ “การฟัง” ให้อีกฝ่ายได้ระบายปัญหาโดยมีเรารับฟังอย่างจริงใจ

  1. ถามให้เล่า ชวนสะท้อนความคิด

ใช้วิธีการทวนคำพูดของพวกเขา เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราตั้งใจรับฟัง ตั้งใจรับรู้ความรู้สึกและพยายามที่จะเข้าใจเขา พยายามให้เขาพูดเล่าเรื่องราว ความรู้สึกคับข้องใจที่เกิดขึ้นว่าเพราะอะไรที่ทำให้เขาอยากฆ่าตัวตาย สิ่งใดที่ป้องกันไม่ให้เขาฆ่าตัวตาย

4. ภาษากายนั้นสำคัญ

แสดงความเห็นอกเห็นใจผ่านทั้งสีหน้าและภาษากายว่าเราตั้งใจฟังเขาจริง ๆ ไม่ตัดสิน ไม่สั่งสอน ไม่พูดปัดความรู้สึกของคนที่อยากฆ่าตัวตายว่าเป็นเรื่องที่เล็กน้อย

5. ระวังคำพูดท่ีใช้

เช่น “ดูสิว่าคนนั้นยังผ่านไปได้” ซึ่งจะกลายเป็นการตัดสินว่าคนที่อยากฆ่าตัวตายไม่เข้มแข็งพอ “อย่าไปคิดมากเลย” ซึ่งกลายเป็นว่าเขาผิดใช่ไหมที่คิดมากไปจนอยากฆ่าตัวตาย ให้โอกาสเขาได้ระบายความทุกข์ ที่ทำให้เขาได้ปลดปล่อยความคิดอยากฆ่าตัวตายออกมา และทำให้รู้สึกว่ายังมีคนรับฟังและเคียงข้างเขา

“ช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ต้องติดต่อแหล่งช่วยเหลืออย่างจริงจัง เพื่อป้องกันและยับยั้งการฆ่าตัวตายสำเร็จ”

วิธีการ 5 ข้อที่เราแนะนำเป็นเป็นเพียงสิ่งที่เราสามารถทำเองได้เพื่อยับยั้งการฆ่าตัวตายเบื้องต้น แต่อีกสิ่งที่สำคัญคือการติดต่อหาแหล่งช่วยเหลืออย่างจริงจัง เพราะความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายไม่ใช้สิ่งที่เกิดขึ้นและจะหายไปเองได้ตลอด ซึ่งเราสามารถช่วยเหลือต่อไปได้ดังนี้

1. พาไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

ผู้ที่คิดฆ่าตัวตายทุกรายต้องได้รับการตรวจประเมินสภาพจิต เพราะอาจจะเกิดจากการป่วยเป็นโรคจิตเวชบางประการ เช่น โรคซึมเศร้า ไบโพล่าร์ ซึ่งต้องได้รับการบำบัดรักษาและดูแลอย่างต่อเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญ

2. กระตุ้นให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

ผู้เชี่ยวชาญอาจจะแนะนำให้คนใกล้ตัวชวนผู้ที่มีความคิดฆ่าตัวตาย เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตบางอย่างให้ดียิ่งขึ้น เช่น ชักชวนให้ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ได้ติดต่อสื่อสารกับผู้คน เน้นการดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น

3. ติดตามการรักษา

หลังจากที่ได้พบแพทย์และได้รับยาหรือวิธีการบำบัดมา คนใกล้ชิดก็ควรจะช่วยตรวจสอบว่าเขาได้ทำตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ หากอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบแจ้งแพทย์ทันที

“ไม่ได้มีความคิดอยากฆ่าตัวตายก็พบจิตแพทย์ได้”

รู้ไหมว่า คนทั่วไปก็สามารถเข้ารับการปรึกษากับจิตแพทย์ได้ด้วยเช่นกัน เพราะการเข้าพบจิตแพทย์ช่วยให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้นได้ ทำให้เรามีความเข้าใจใจตนเองมากขึ้น ผ่านการพูดคุยกับจิตแพทย์ที่จะทำหน้าที่สะท้อนความรู้สึกของเรา ทำให้เรามองเห็นตัวเอง ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น

ซึ่งการยอมรับตัวเอง นับว่าเป็นด่านแรกของการแก้ไขปัญหา และยังทำให้คนรอบข้างเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น การยอมรับตัวเองของคนที่คิดฆ่าตัวตายก็จะนำไปสู่การบำบัดและรักษาที่จะทำให้อาการบรรเทาลง ถึงแม้ว่าความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายอาจจะไม่ได้หายไปในทันทีทันใด แต่ก็อาจจะทำให้รู้สึกทุกข์ทรมานน้อยลง เพราะได้ผู้รับฟังที่เชี่ยวชาญในการดูแลใจคอยอยู่เคียงข้าง

ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ยากลำบากนี้ หากคุณ หรือคนใกล้ตัวกำลังเป็นอีกคนที่รู้สึกทุกข์ใจจนเคยคิดอยากฆ่าตัวตาย อูก้าขอจับมือคุณไว้แน่น ๆ และขอโอบกอดให้กำลังใจ คุณสามารถติดต่อเรามาได้เสมอ อูก้าและทีมนักจิตวิทยาแลทีมจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมรับฟังคุณจากหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ทำให้ใจของคุณหนักแค่ไหน ให้เราได้ช่วยคุณบรรเทาความรู้สึกตรงนี้ลงนะคะ คุณมีเราเคียงข้างเสมอ


ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/sccovid19blog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์ #COVID19

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.moph.go.th/index.php/news/read/222

https://www.cigna.co.th/health-wellness/tip/jigsawforgoodlife-ep4

https://www.hfocus.org/content/2019/09/17809

https://www.thairath.co.th/news/society/2025792

https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1134

https://www.facebook.com/740509479323038/posts/3345507885489838/

Read More
บีทีเอส lifegoeson bts เศร้า สุขภาพจิต

“Life goes on” จาก BTS จงใช้ชีวิตต่อไปแม้โลกใบนี้จะใจร้ายกับเรา

“จู่ๆ วันหนึ่งโลกทั้งใบก็หยุดหมุน หยุดโดยที่ฉันไม่ทันได้ตั้งตัว

ฤดูใบไม้ผลิไม่รีรอ มาถึงตามเวลาของมันเหมือนเคย

รอยเท้าบนถนนเหมือนกับถูกลบเลือนไป ฉันล้มลงตรงนี้

แต่กาลเวลายังคงเดินต่อไปตามปกติ โดยไม่มีแม้แต่คำขอโทษให้กัน”

.

วง BTS ได้ปล่อยเพลงไตเติ้ลของอัลบั้ม BE ชื่อเพลง “Life goes on” เพื่อบอกเล่าถึงช่วงเวลาที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับโควิด ทำให้เราเห็นภาพความเคว้งคว้าง ความเหงาในการใช้ชีวิต ไม่มีใครเตรียมใจมาก่อนเลยว่าโลกนี้จะหยุดอยู่กับที่ แต่ฤดูกาลก็ยังหมุนเวียนไปตามปกติ ในขณะที่เราไม่สามารถทำอะไรที่เคยทำได้ นอกจากหายใจเพื่อมอบความอบอุ่นให้ตัวเอง

.

ไม่ใช่แค่สถานการณ์โควิดที่พาเราดำดิ่งไปกับความรู้สึกล้มเหลว สิ้นหวัง แต่หลายๆ คนเคยมีช่วงเวลาแบบนี้ในชีวิต เหมือนเราติดอยู่ในหลุมใดหลุมหนึ่งแบบที่หาทางออกไม่ได้เลย ทั้งที่รอบๆ ตัวมีแต่คนก้าวไปข้างหน้า มีแต่คนที่ดีกว่าและสมบูรณ์แบบกว่าเรา ทำไมเราถึงจมอยู่ตรงนี้ หรือโลกใบนี้ใจร้ายแค่กับเราคนเดียว ?

.

แต่ชีวิตเรามีวันที่เลวร้ายมากมาย เหมือนฝนที่เทกระหน่ำลงมา ฉันพยายามต่อสู้กับมันเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ บางครั้งเราแค่ต้องใช้ชีวิตต่อไปแบบนั้น…แบบที่สั่นไหวและมองไม่เห็นทางออก อย่างท่อนแร็ปในเพลงนี้บอกกับเราว่า

“ฉันคิดว่าถ้าวิ่งให้เร็วยิ่งกว่าเมฆฝนพวกนั้นจะเพียงพอ

แต่ก็เหมือนทำอะไรไม่ได้อยู่ดี

คงเพราะว่าฉันเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง

ฉันอยู่ในโลกของความเจ็บปวดและความหนาวเหน็บที่โลกมอบให้

กระตุ้นให้ฉันปัดฝุ่นหนาที่ปกคลุมออกไป

และฉันก็เต้นไปแบบนั้น แม้ว่าสุดท้ายจะล้มลง”

.

“ฉันมองไม่เห็นทางออกเลย เรื่องต่างๆ เหล่านี้พอจะมีทางออกบ้างไหม ? ฉันก้าวเท้าไปไหนไม่ได้เลย”

นี่คงเป็นประโยคที่แทนความรู้สึกใครหลายคนไม่ใช่แค่โควิด แต่บางเหตุการณ์ในชีวิตก็เหมือนพาเราไปยืนที่ปากเหว ไม่อยากจะถอยหลัง แต่ก็เดินต่อไปไม่ได้ ในใจเราอาจได้แต่ภาวนาให้ใครซักคนพาเราออกไปจากตรงนี้…จากความรู้สึกที่มืดมิดนี้

.

“Like a echo in the forest วันเวลากำลังจะหวนมา

ราวกับว่าไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น Life goes on”

.

ท่อนนี้มีความหมายลึกซึ้งเชิงปรัชญา โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากคำถามที่ว่า

“If a tree falls in the forest and no one is there, does it makes a sound ?”

ต้นไม้ที่ล้มลงในป่าแต่ไม่มีใครอยู่ตรงนั้นหรือได้ยินเสียงมันล้ม ถ้างั้นแปลว่ามันมีเสียงเกิดขึ้นจริงๆ ไหม?

เขาก็นำมาเปรียบเปรยว่าต่อให้ไม่มีใครได้ยิน ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะจบลง เพราะเรามองไม่เห็น แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มีจริง หลังจากที่สถานการณ์คลี่คลาย ทุกอย่างจะวนกลับไปเหมือนเดิมราวกับที่ผ่านมาไม่มีอะไรเกิดขึ้น เนื้อเพลงกำลังพูดถึงชีวิตที่ดำเนินต่อไปแบบนั้น หลังจากนี้ทุกอย่างจะดีขึ้น

.

หลังความเจ็บปวดเราได้เห็นวันใหม่ปรากฎขึ้น เพราะฉะนั้นถึงเราจะต้องหยุดเดินหรือเจออุปสรรคอะไร เราก็อย่ามัวจมอยู่กับความเศร้า ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดหรือหลบอยู่ในเงามืดหรอกนะ ยังไงแสงสว่างก็จะส่องมาอีกครั้งและอีกครั้ง แม้ความสุขจะผ่านเราไปอย่างรวดเร็วแต่ความทุกข์ก็ไม่ได้คงอยู่ตลอดไปเช่นกัน

“ใช่ ชีวิตต้องเดินต่อไป”

ฟังเพลง Life goes on – BTS ได้ที่ > https://www.youtube.com/watch?v=-5q5mZbe3V8

ถ้าหากตอนนี้เรารู้สึกเหมือนเพลงนี้อยู่ ลองเปิดโอกาสให้อูก้าได้ดูแลใจและเป็นเพื่อนที่รับฟังความรู้สึกของคุณเสมอ เราอยากช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพใจที่แข็งแรงและพร้อมใช้ชีวิตต่อไป แบบที่บทเพลงนี้กำลังเยียวยาเราอยู่ มาพยายามไปด้วยกันนะ

#OOCAinsight


ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/lgoblog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca.

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

Read More
เครียด ซึมเศร้า อยากตาย พบจิตแพทย์

OOCAstory : ไม่ได้อยาก ‘จากไป’ แต่ก็ไม่ได้ชอบการ ‘มีอยู่’ ของตัวเอง

ทำไมต้องรู้สึกผิดทุกครั้งที่เผลอคิดว่า “ไม่อยากอยู่แล้ว” จะพูดออกไปให้ใครได้ยินก็ไม่ได้

กลัวเขาจะตัดสินว่าเราเป็นคนอ่อนแอ คิดสั้น กลัวเขาทุกข์ใจถ้ารู้ว่าเราคิดอะไรแบบนี้

กลัวจะทำให้คนอื่นดาวน์ไปด้วย แต่เราก็ห้ามไม่ให้ตัวเองไม่รู้สึกแย่ไม่ได้

บางทีที่รู้สึก “ไม่ไหว” เหมือนความรู้สึกเหนื่อยที่ไม่มีจุดจบ แต่ถามใจตัวเองดีๆ เราก็ไม่ถึงกับ “อยากตาย”

อาจจะแค่อยากพัก อยากเว้นพื้นที่ระหว่างตัวเองกับคนอื่น

ประมาณว่า “ไม่ได้อยากตาย แต่ก็ไม่อยากตื่นขึ้นมาในตอนเช้า”

ความเหนื่อยล้าที่สะสมมา ทำให้เราไม่มีแรงจะลุกขึ้นมาสู้กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

และเราก็เคยชินกับการเก็บมันไว้คนเดียว พยายามอดทน บอกตัวเองว่าเรารับไหว

.

ไม่รู้จะมีเช้าไหนไหมที่ทำให้รู้สึกดี กว่าจะรวบรวมใจให้พร้อมรับมือกับเรื่องวันนี้นั้นแสนยาก

คิดวนเวียนว่า “ขอให้ฉันผ่านไปได้อีกวัน” หรือ “หวังว่าวันนี้จะไม่แย่มากนะ”

สุดท้ายตอนเย็นก็โล่งนิดๆ ที่หมดวัน แต่วันที่รู้สึกเฟลก็มีไม่น้อย

ไม่ใช่เราคนเดียวใช่ไหมที่มีชีวิตเหนื่อย ๆ หม่น ๆ แบบนี้

.

เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไรกัน ? หลายคนบอกว่า เพื่อตามหาความหมายของการมีชีวิตอยู่

เพื่อเรียนรู้ เพื่อสร้างสิ่งดีๆ เพื่อชดใช้กรรม และอีกสารพัดคำนิยาม

ต่างคนต่างความเชื่อ แต่โดยส่วนตัวเรายังไม่พบคำตอบเหมือนกัน

แต่อย่างน้อยในวันที่ยังตื่นขึ้นมา เราอยากมีความสุข อยากมีคุณค่า อยากใช้ชีวิตในแบบที่ชอบ

เราอยาก…มีชีวิตอยู่

.

จะโอเคไหม ถ้าเรายอมรับว่าบางครั้งเราไม่ชอบสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่สามารถเอาชนะความคิดลบๆ ได้เพียงลำพัง

หันไปหาคนรอบข้างที่คอยบอกเราว่า “มีอะไรเล่ามาได้นะ” กับการที่เขาอยู่ข้างๆ เสมอ

ค่อยๆ เปิดประตูความรู้สึกของเรา จากที่ไม่เคยพูดสิ่งที่อยู่ในใจลึกๆ ให้หันมาระบายมันออก

.

การพึ่งพิงใครสักคนมันช่วยได้มากเลยนะ เก็บไว้ทั้งเหนื่อยทั้งหนัก และเจ็บปวด…

ไม่ต้องรักตัวเองทุกวันก็ได้ บางวันจะคิดลบบ้างก็ได้ การบังคับตัวเองให้ร่าเริงสดใสไม่มีประโยชน์

ถ้านั่นไม่ใช่สิ่งที่เรารู้สึกจริงๆ ขอแค่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองรู้สึกและไม่ต้องรู้สึกผิดกับอารมณ์พวกนั้น

วันนี้ถ้าเหนื่อยเกินไปจนไม่อยากตื่น ก็รับรู้ว่าฉันไม่พร้อมและฉันคงต้องหันกลับมาดูแลใจตัวเอง

.

อย่าละเลยที่จะรักษาสุขภาพใจ ถ้ากำลังสับสน อึดอัดและไม่โอเคกับสิ่งที่เผชิญอยู่ นอกจากการพูดคุยกับเพื่อนหรือคนใกล้ชิดแล้ว ลองมาปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็ช่วยได้ดีเช่นกัน เพราะเราต่างมองหาการรับฟังโดยไม่ตัดสิน ถ้าอยากให้คนรับฟังอย่างเข้าใจ อูก้าขอชวนมาพูดคุยผ่านแอปพลิเคชันอูก้าได้เลย ⠀⠀⠀⠀

#OOCAstory

———————————–

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/idwtdblog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

⠀⠀⠀⠀

Read More
พูดคนเดียว selftalk สุขภาพจิต พบจิตแพทย์ เครียด

ฉันไม่ได้เพี้ยน แค่ชอบพูดคนเดียวอยู่บ่อย ๆ

“ฉันพูดคนเดียวบ่อย ๆ แปลกหรือเปล่านะ ?”

อยู่หน้ากระจกแล้วอดคุยกับตัวเองไม่ได้ หรือแม้แต่เพื่อนข้าง ๆ บางทีก็เห็นว่าเราชอบนั่งพึมพำอะไรไม่รู้คนเดียว นี่เราเป็นแบบนี้คนเดียวหรือคนอื่นก็เป็นเหมือนกัน

.

ถ้าสังเกตดีๆ คนเรามักพูดคนเดียวตลอดเวลา ต่อให้ไม่ได้เปล่งเสียงออกมา แต่ในใจเราก็คุยกับตัวเอง ซึ่งเรียกว่า ‘Self-talk’ นักจิตวิทยาการปรึกษาของอูก้า คุณกอบุญ เกล้าตะกาญจน์ได้อธิบายว่า “การคุยกับตัวเอง (Self-talk) คือ เสียงภายในหรือการพูดคุยด้วยตนเอง เป็นการรวมกันของความคิดที่มีสติ ความเชื่อและอคติที่ไม่รู้สึกตัวเข้าด้วยกัน เป็นวิธีที่สมองตีความและประมวลผลประสบการณ์” แค่เรามองข้ามไปว่าการนึกในใจ การคิดอะไรไร้สาระก็เป็นการสื่อสารกับตัวเองรูปแบบหนึ่ง เพียงเพราะเราไม่รู้ตัว บางคน Self-talk แบบเปล่งเสียงออกมาจนคนรอบข้างเห็นว่าเรามีนิสัยชอบพูดคนเดียว แต่ถ้ามองในแง่ดีอาจเป็นการช่วยฝึกทักษะการปฏิสัมพันธ์ ช่วยสร้างจินตนาการและทำให้เราได้ฝึกสะท้อนความคิดตัวเองออกมา

.

สิ่งที่สำคัญกว่าคือเนื้อหาของสิ่งที่เราพูดถึงต่างหาก ถ้าทบทวนเราอาจได้เห็นว่าเรามองตัวเองอย่างไร คิดเป็นบวกหรือลบมากกว่ากัน เช่น เราพูดให้กำลังใจตัวเอง “วันนี้งานออกมาดีจัง” หรือเรากล่าวโทษตัวเองบ่อยๆ “ไม่ได้เรื่องเลย ทำไมแค่นี้ถึงทำพลาด” บางทีเราก็พูดกับตัวเองเพื่อเตือนสติ อย่างการพูดทวนย้ำ ๆ ว่าวันนี้ต้องส่งงานอะไรบ้าง แม้แต่การพูดกับสัตว์ สิ่งของ หรือการทำเสียงแปลก ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด

.

อาการพูดคนเดียวเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขและต้องเฝ้าระวังหรือเปล่า ?

#คำตอบจากนักจิตวิทยาของอูก้า

คุณกอบุญ เกล้าตะกาญจน์ นักจิตวิทยาการปรึกษาจากแอปฯ อูก้า บอกกับเราว่า การ ‘พูดคนเดียว’ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร เพราะการพูดคุยเกี่ยวกับตัวเองของเราสามารถทำให้เกิดกำลังใจ หรือมองโลกในแง่ลบเพื่อเอาชนะตัวเองได้ Self-talk จะเป็นประโยชน์เมื่อพูดในเชิงบวก ผ่อนคลายความกลัวและเสริมสร้างความมั่นใจ

สรุปแล้วอาการพูดคนเดียวเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวชหรือไม่ ?

ในแต่ละวันไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้คนต่างก็มีส่วนร่วมในการพูดคุยกับตนเอง ความคิดของเรามีผลกระทบที่ส่งผลต่ออารมณ์ แรงจูงใจและความสำเร็จที่อาจเกิดขึ้น น่าเสียดายที่ธรรมชาติของมนุษย์มักจะพูดในแง่ลบกับตัวเองรวมถึงการตอกย้ำตัวเอง เช่น “ฉันทำอะไรก็ไม่ถูก” หรือ“ ฉันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง”

.

การวิจัยแสดงให้เห็นว่าการพูดถึงตัวเองส่วนใหญ่ของมนุษย์เป็นไปในเชิงลบ ดังนั้นจึงอาจบั่นทอนจิตใจมากกว่าที่จะพัฒนาตัวเรา ความคิดเชิงลบสร้างความรู้สึกโกรธเคือง หงุดหงิด สิ้นหวังและผิดหวัง นำไปสู่อาการวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งการพูดคนเดียวหากอยู่ในระดับที่พอดีก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามากเกินไปก็เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังและแก้ไข เพราะข้อดีของนิสัยพูดคนเดียวที่เป็นคำพูดเชิงบวกคือ เป็นเพื่อนคลายเครียดให้กับตนเอง บ่งบอกว่าเรามีสติและตระหนักรู้ (Self-awareness) จะได้ตรียมความพร้อมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า ที่สำคัญเป็นสัญญาณให้เราสำรวจและคลี่คลายความรู้สึกสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจ

.

ลองสังเกตสิ่งที่เราพูดคุยหรือคิดเกี่ยวกับตนเอง ฝึก Self-talk ด้วยวิธีการใหม่ ๆ เรียนรู้วิธีระบุคำพูดเชิงลบและเชิงบวก และฝึกทักษะการเปลี่ยนมุมมองความคิดเป็นการพูดในเชิงบวกด้วยตนเอง เมื่อมีการพูดถึงตนเองในแง่ลบ ให้เราฝึกฝนปฏิกิริยาตอบสนองใหม่ ๆ และพยายามเปลี่ยนสถานการณ์นั้นดู

.

จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการฝึกฝนทำให้เกิดทักษะการควบคุมตนเองได้โดยด้วยการพูดคุยกับตนเองในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการคุยกับตัวเองแง่ลบมากเกินไปจนรู้สึกจัดการไม่ได้ ความคิดเราทำร้ายตัวเองจนยากจะควบคุม แนะนำให้เข้ารับบริการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ

.

#OOCAissue

.

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล ฯ นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/selftalkblog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca..
.

#OOCAitsOK#WeWillListen#เรื่องของใจให้เรารับฟัง#แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา#mentalhealth#สุขภาพจิต#เครียด#ซึมเศร้า#พบจิตแพทย์

Read More