แค่เป็น “ผู้หญิง” ก็ผิดแล้ว Femicide ฆาตกรรมที่เกิดจาก “เพศ” เป็นเหตุ
ความเท่าเทียมทางเพศถูกนำมาโต้แย้งบนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง หลายคนรู้สึกว่าปัญหาการกดขี่ทางเพศไม่เคยหมดไป บ้างถูกบิดเบือนและนำเสนอในแง่โรแมนติก บ้างกลายเป็นตลกร้ายล้อเลียนกันในสังคม แม้จะมีการเรียกร้องและขับเคลื่อนไปทั่วทุกมุมโลก แต่ความรุนแรงทางเพศกลับกลายเป็นอคติที่หยั่งรากลึกในใจมนุษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า บางส่วนมองว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยที่คนบางกลุ่มเรียกร้องจนเกินพอดี
ใครจะรู้ว่าเพศโดยกำเนิดอย่างการเป็น “ชาย” หรือ “หญิง” ก็สามารถจุดชนวนความเกลียดชังในใจได้แล้ว
วันนี้เราอยากเล่าถึงที่มาที่ไปของ Femicide …การฆาตกรรมที่เกิดจาก “เพศ” เป็นเหตุ
มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยถูกกีดกันในแง่ของการใช้ชีวิตเนื่องจากเพศ ความรุนแรงต่อผู้หญิงประกอบด้วยการกระทำที่หลากหลาย ตั้งแต่การล่วงละเมิดทางวาจาและการล่วงละเมิดทางอารมณ์รูปแบบอื่น ๆ ไปจนถึงการล่วงละเมิดทางร่างกายหรือทางเพศในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงถูกฆาตกรรมเพียงเพราะพวกเขาเกิดเป็นผู้หญิง จึงเป็นที่มาของ “Femicide” นั่นเอง
Femicide เป็นการตอบสนองต่อความรู้สึกเกลียด ดูถูก ดูแคลนเพศหญิง โดยฆาตกรมักเป็นเพศชายที่เชื่อว่า “ผู้หญิงเป็นทรัพย์สินที่สามารถครอบครองได้” คำที่ปรากฏให้เห็นตลอดคือ ‘honour’ เมื่อได้แสดงอำนาจเหนือกว่า ทำให้ผู้หญิงอยู่ใต้บังคับบัญชาได้ก็รู้สึกภูมิใจ มีเกียรติ แรงจูงใจของ Femicide ต้องมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เชื่อมโยงกับเพศ หากเป็นการฆ่าตัวตายหรือถูกฆ่าโดยคนเพศเดียวกันไม่นับว่าเป็น Femicide
นอกจาก ‘วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่’ งานวิจัยกล่าวว่าอีกปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือแนวปฏิบัติทางวัฒนธรรมในเรื่อง ‘สินสอดทองหมั้น’ ที่อินเดียมีผู้หญิงที่แต่งงานใหม่ถูกฆ่าตายเพราะจำนวนสินสอดทองหมั้นไม่เพียงพอ ซึ่งมีจำนวนผู้หญิงที่เสียชีวิตมากถึง 7600 คนในปี 2549 ภายหลังคาดการณ์ว่าผู้หญิงที่แต่งงานใหม่มากถึง 25,000 คนถูกฆ่าหรือพิการในแต่ละปีเพราะสินสอดทองหมั้น นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงที่เสียชีวิตจากไฟไหม้มากถึง 163,000 รายเพราะความรุนแรงในครอบครัว
Femicide ส่วนใหญ่มาจากผู้หญิงที่ติดอยู่ในบ่วงของความสัมพันธ์ที่รุนแรง Toxic Relationship และกระทำโดยคนรักทั้งในอดีตและปัจจุบัน หรือแม้แต่การข่มเหงจากคนแปลกหน้าหรือคนรู้จัก ท้ายที่สุดพฤติกรรมทารุณทั้งหลายมักเกิดขึ้นซ้ำ ๆ รูปแบบของการละเมิด เช่น การทำร้ายร่างกาย, ความรุนแรงในครอบครัว, การข่มขืน, ความรุนแรงทางจิตใจ, การขัดขวางอิสระของผู้หญิง, การค้าบริการทางเพศ, การทำให้เสียโฉม ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมี Non-intimate Femicide หรือ Femicide ที่เกิดจากคนที่ไม่สนิทสนม แต่ก็มีต้นตอมาจากเพศเช่นกัน ยกตัวอย่างการ Femicide จากข่าวดังที่ประเทศเกาหลีกรณีผู้ชายคนหนึ่งทะเลาะกับคนรักของตัวเอง เมื่อเห็นผู้หญิงแปลกหน้าเดินผ่านมาจึงเข้าไปทำร้ายเพื่อระบายอารมณ์ หรืออย่างในประเทศญี่ปุ่นที่ฆาตกรชายได้สัมภาษณ์ว่าแรงจูงใจในการฆ่าเหยื่อเป็นเพราะผู้หญิงคนนั้นดูมีความสุขมากเกินไป
นี่อาจเรียกได้ว่า “อาชญากรรมความเกลียดชังทางเพศ”
การยุติ Femicide มักถูกสั่นคลอนด้วยภาพมายาและกรอบความคิดที่เลวร้าย การสนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายที่อนุญาตให้ก่ออาชญากรรมประเภทนี้เป็นสิ่งสำคัญ หลายประเทศหันมาปลุกจิตสำนึกในแง่ของอาชญากรรมทางเพศให้กับสาธารณชน ใช้การอ้างอิงเครื่องมือสิทธิมนุษยชนและการปกป้องสิทธิสตรี
แต่เรายังต้องการกฎหมายที่คุ้มครองได้จริง รวมถึงสิ่งที่จะช่วยยืนยันได้ว่า ‘honour’ นั้นไม่มีอยู่จริง เราควรช่วยกันสร้างความตระหนักรู้และตอบสนองที่เหมาะสมต่อความคิดที่บิดเบือนว่าเพศใดเพศหนึ่งมีอำนาจสิทธิ์ขาด เพราะไม่มีใครควรถูกทำร้ายหรือฆาตกรรมจากสถานะทางเพศเป็นเหตุ
ดร. เจน มังก์ตัน สมิธ จาก University of Gloucestershire ได้ศึกษาคดีฆาตกรรมผู้หญิงจำนวนมากในอังกฤษ ในการสังหาร 372 ครั้งมีจุดสังเกตที่เชื่อมโยงกับความเป็นไปได้ที่ใครคนหนึ่งจะฆ่าคนรักของตัวเอง คือ พฤติกรรมที่ชอบควบคุมบงการ เขาเสนอรูปแบบ 8 ขั้นตอนที่ช่วยในการระบุ “ลำดับเวลาฆาตกรรม” สิ่งนี้จะทำให้เหยื่อถูกช่วยชีวิตได้ทัน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bbc.in/3kMwP2Z)
Femicide ไม่เพียงแต่ร้ายแรงที่สุดจากความรุนแรงที่เกิดในคู่รัก แต่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและยาวนานต่อสภาพแวดล้อมของผู้หญิง อย่างเช่น ผู้หญิงที่ตกอยู่ใน Toxic Relationship เป็นเวลานานอาจมีปัญหาสุขภาพตามมามากมาย เด็กหลายคนสูญเสียแม่ในคดีฆาตกรรมที่เกิดจากพ่อ และกลายเป็นปัญหาในการปรับตัวหรือสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนใหม่ ๆ
เราต่างรู้ดีว่า ‘การฆาตกรรม’ เป็นเรื่องผิด แต่เมื่อ Femicide เกิดกับตัวเองหรือคนใกล้ตัว หลายคนกลับปล่อยผ่านและยอมรับ ราวกับความเท่าเทียมทางเพศ ปัญหาการล่วงละเมิดและความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงนั้นเป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้ นักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยามีบทบาทอย่างมากในการช่วยเยียวยาสุขภาพใจของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่ถูกทำร้ายหรือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากผู้ใหญ่
นี่อาจเป็นเสียงเล็ก ๆ ที่อยากพูดถึงประเด็นละเอียดอ่อนที่ให้เกิดได้กับทุก ๆ เพศ เราไม่อยากให้ใครต้องเจอกับการเลือกปฏิบัติ การใช้ความรุนแรงอย่างที่แล้วมา ไม่ว่าจะเพศไหน สถานะอะไร เราไม่ควรขัดแย้งกันเพื่อความเหนือกว่า แต่อยากให้มองถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์แล้วทำลายกำแพงและอคติเพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับ ‘มนุษย์ทุกคน’
หากต้องการใครสักคนที่เคียงข้างและรับฟังทุกเรื่องราว อย่าลืมว่าอูก้าเป็นแอปพลิเคชันที่มีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเป็นเสมือนเพื่อนรู้ใจอยู่ใกล้ ๆ คุณ จะที่ไหน เมื่อไร เรื่องอะไร ให้อูก้าช่วยแบ่งเบาภาระทางใจให้คุณนะ 💙
________________________________⠀⠀⠀⠀
ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/4Xjb
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ > https://ooca.page.link/oocaservice
พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > http://bit.ly/msgfbooca
#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์
อ้างอิงจาก
WHO : https://bit.ly/3gUmcd1
BBC : https://bbc.in/3kMwP2Z
สารานุกรม titanica : https://bit.ly/3jFtPWN
Recent Comments