Dopamine Detox : เมื่อเสพสุขมากไปจนเป็นทุกข์ ถึงเวลาต้องกำจัดความสุขส่วนเกิน

“Dopamine” หนึ่งในฮอร์โมนความสุขที่ร่างกายจะหลั่งออกมาเมื่อมีความสุข แต่ในบางครั้งความสุขเดิม ๆ ที่เคยมีอาจกลับกลายเป็นสิ่งน่าเบื่อเพราะเราโหยหาความสุขมากเกินไป อูก้าจึงอยากชวนให้ทุกคนหันมาเสพความสุขอย่างพอดีด้วยการรีเซ็ตระบบตอบสนองความสุขโดยวิธี “Dopamine Detox”

หลายคนอาจจะเคยรู้สึกเคยเบื่อสิ่งที่ชอบทำเป็นประจำ เช่นเราอาจจะเคยชอบอ่านหนังสือมากๆ อ่านทั้งวันก็ยังได้แต่อ่านไปนานๆ ก็รู้สึกเบื่อจนไม่อยากอ่าน หรือแม้แต่เพลงเดิมๆ ที่เคยชอบฟัง เปิดทุกวันจนตอนนี้ไม่อยากจะฟังมันอีกต่อไปแล้ว ทั้งๆ ที่เคยเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขมาก ๆ แต่ทำไมตอนนี้กลับไม่เป็นแบบนั้นแล้ว?

ในช่วงที่เรากำลังทำกิจกรรมที่ชอบ สมองจะหลั่งสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า “โดปามีน (Dopamine)” ออกมาทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนคอยกระตุ้นให้รู้สึกตื่นตัวกับสิ่งที่ทำอยู่ ซึ่งความพึงพอใจจากการทำสิ่งที่ชอบทำให้สมองคิดว่าสิ่งนั้นดีต่อตัวเราจึงสั่งการให้หลั่งโดปามีนออกมาจนเรามีความสุข เพื่อกระตุ้นให้เราทำกิจกรรมนั้น ๆ ต่อไป

แต่การทำกิจกรรมที่สร้างความสุขมากๆ จะทำให้เกิดอาการเสพติดได้ และเมื่อทำบ่อยๆ จะเกิดเป็นความเคยชินขึ้นมา ส่งผลให้กิจกรรมเหล่านั้นจึงไม่น่าดึงดูดให้ทำอีกต่อไป โดยในช่วงที่เรากำลังเสพติด การตอบสนองของโดปามีนได้ทำงานอย่างหนักจนเสียสมดุล หลังจากนั้นไม่ว่าจะทำอะไรโดปามีนก็ไม่มีการตอบสนองให้มีความสุข เหมือนเครื่องจักรที่ถูกใช้งานหนักจนพัง นี่จึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมบางทีเราเกิดเบื่อสิ่งที่เคยชอบมากๆอย่างไม่มีเหตุผลขึ้นมาซะงั้น

เราสามารถซ่อมแซมเครื่องจักรที่พังนี้ได้ด้วยการงดใช้มัน งดกระทำการสิ่งใดที่เป็นการกระตุ้นให้โดปามีนตอบสนอง วิธีการนี้เรียกว่า “โดปามีน ดีท็อกซ์ (Dopamine Detox)” ขั้นตอนการทำคล้ายกับการทำโซเชียล ดีท็อกซ์ (Social Detox) แต่มีขอบเขตที่กว้างกว่า โดยโดปามีน ดีท็อกซ์จะหลีกเลี่ยงกิจกรรมทุกอย่างที่สร้างความพึงพอใจให้เราเป็นพิเศษ โดยเป็นสิ่งที่เรามักจะทำเป็นประจำจนเสพติด อย่างเช่นการให้รางวัลตัวเองเล็กน้อยจนก่อให้เกิดความพึงพอใจบ่อย ๆ การทำสิ่งที่ชอบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ  และรวมไปถึงการเล่นโซเชียล

โดปามีน ดีท็อกซ์สามารถทำได้ทุกที่ สิ่งแวดล้อมไม่มีผลต่อการบำบัด สิ่งสำคัญคือ การงดทำกิจกรรมที่เสพติด ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่เคยทำแล้วมีความสุขจนต้องใช้เวลากับสิ่งนั้นนาน ๆ ทั้งการเล่นโซเชี่ยล การดูซีรีส์ หรือการอ่านหนังสือ ระยะเวลาในการดีท็อกซ์เลือกทำได้ตามความสะดวก จะใช้เวลาเพียง 3-4 ชั่วโมง หรือลากยาวไปจนถึง 4-5 วันก็ได้  ด้วยความที่เป็นวิธีการที่ทำง่ายและใช้เวลาไม่นาน จึงเป็นวิธีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย

แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีความสุขเลยในช่วงดีท็อกซ์ เพราะเราไม่สามารถบังคับให้ร่างกายหลั่งโดปามีนได้ตามใจชอบ ดังนั้นแม้ว่าจะไม่ได้ทำสิ่งที่ชอบแล้วเราก็สามารถมีความสุขได้ตามความพึงพอใจที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และความสงบก็สามารถสร้างความสุขได้เช่นกัน เพียงแค่รู้จักแบ่งเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ เท่ากัน พักผ่อนให้มากพอกับช่วงเวลาที่ทำงานหนัก ก็จะสร้างสมดุลให้กับอารมณ์และความรู้สึกของเราได้ ลองใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายไปสักพัก โดปามีนในร่างกายก็จะเคยชินกับความเรียบง่ายอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อกลับไปใช้ชีวิตปกติและกลับไปทำสิ่งที่ชอบ หากได้รับสิ่งเร้ากระตุ้นแล้ว โดปามีนก็จะมีการตอบสนองก่อให้เกิดความสุขกับสิ่งที่ทำอีกครั้ง

ถึงแม้ว่าโดปามีน ดีท็อกซ์จะมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับแน่ชัดว่าวิธีการนี้ช่วยรีเซ็ตการตอบสนองของการหลั่งโดปามีน เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าร่างกายหลั่งโดปามีนออกมาอัตโนมัติตามที่สมองสั่งการ จิตใจของเราไม่สามารถสั่งการได้ อย่างไรก็ตามวิธีการนี้กลับส่งผลดีจนเกิดการนำไปใช้กันอย่างกว้างขวาง

พญ.ศิริลักษณ์ ลอดทอน นักจิตวิทยาจากอูก้า อธิบายว่าวิธีการนี้มีหลักการคล้ายกับ CBT (Cognitive Behavioral Therapy) การบำบัดจิตรูปแบบหนึ่งที่เชื่อว่าความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมมีความสำพันธ์กัน หากปรับเปลี่ยนความคิดจะส่งผลให้อารมณ์และพฤติกรรมของคนเราเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้บำบัดผู้ป่วยที่มีอาการเสพติด 

โดปามีน ดีท็อกซ์ อาศัยความสัมพันธ์ของความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม มาเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยวิธีการนี้จะเลือกเปลี่ยนพฤติกรรมแทนความคิด และให้การเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลไปยังอารมณ์และความคิด การปรับพฤติกรรมเสพติดความสุข โดยการงดรับความสุข จึงมีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่ทำการดีท็อกซ์

แต่โดปามีน ดีท็อกซ์ก็ยังมีข้อเสียอยู่บ้าง พญ.ศิริลักษณ์กล่าวว่าบางคนอาจเข้าใจคอนเซปต์ของการดีท็อกซ์นี้ผิดไปว่าเป็นการหลีกเลี่ยงทุกอย่างที่สร้างความสุขไปเลย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราไม่มีทางตั้งค่าระบบการหลั่งโดปามีนได้อยู่แล้ว คอนเซปต์ของวิธีการนี้คือ รีเซ็ตให้เป็นปกติ ไม่ใช่การ set zero ที่สำคัญการหลีกเลี่ยงความสุขจนเกินไป แทนที่จะทำให้เรากำจัดความสุขส่วนเกิน จะกลายเป็นสร้างความทุกข์ขึ้นมาแทน จึงต้องควบคุมระยะเวลาและพฤติกรรมในช่วงดีท็อกซืให้พอดี           

ดังนั้นแล้วใครที่รู้สึกว่าอารมณ์ของตนเองกำลังไม่คงที่ รู้สึกเบื่อหน่ายไปกับสิ่งที่เคยทำเป็นประจำ หรือกำลังเสพติดสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกินไป แนะนำให้หันมาปรับพฤติกรรมของตัวเองง่าย ๆ โดยการทำโดปามีน ดีท็อกซ์ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ใช้เวลาไม่นาน และไม่ต้องออกไปไหนไกล 

เพื่อประโยชน์ในระยะยาว พญ.ศิริลักษณ์ แนะนำว่าให้ทำควบคู่ไปกับการทำสมาธิ เพื่อช่วยฝึกเราให้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ได้นาน ๆ ไม่เป็นคนเบื่อง่าย สามารถทำสิ่งชอบได้บ่อย ๆ และที่สำคัญยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อีกด้วย   

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความทุกข์ อะไรที่มันมากเกินไปมักจะไม่ดีเสมอ ปรับให้ทุกอย่างอยู่ในความพอดี ไม่มากไม่น้อย เมื่อความสุขเสมอความทุกข์ เราก็ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อให้อารมณ์คงที่ เพราะความสุขและความทุกข์ได้คานอำนาจกันโดยสมบูรณ์แล้ว

อูก้าเป็นกำลังใจเพื่อนๆเสมอนะ!

– แอดเลย Line Official : https://lin.ee/6bnyEvy

สนใจปรึกษานักจิตวิทยาแบบนั่งคุยจากที่บ้าน ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลยที่ : https://ooca.page.link/ZHMD

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #mentalhealth #อกหัก #heartbreak #ความสำเร็จ #ฮีลใจ #OOCAissues #OOCAask #oocadiscussion #OOCAissues #นักจิตวิทยา #จิตแพทย์ #สุขภาพใจ #mentalhealth #onlinementalhealth #จิตแพทย์ออนไลน์ #นักจิตวิทยาออนไลน์

อ้างอิง

https://my.clevelandclinic.org/health/articles/22581-dopamine

https://www.medicalnewstoday.com/articles/dopamine-detox#health-benefits

https://timesofindia.indiatimes.com/life-style/health-fitness/de-stress/heard-about-dopamine-fasting-it-could-be-the-way-to-make-your-brain-work-hard/articleshow/77392150.cms

https://www.health.harvard.edu/blog/dopamine-fasting-misunderstanding-science-spawns-a-maladaptive-fad-2020022618917

https://www.bamae.com/blogs/mindful-thoughts/everything-you-need-to-know-about-a-dopamine-detox

https://www.deprocrastination.co/blog/how-to-do-dopamine-detox-the-right-way

https://www.pobpad.com/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81-cognitive-behavioral-therapy-%E0%B8%9A%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%9B

Read More

แค่ไหนถึงควรพบจิตแพทย์ ?

บางคนอาจจะเข้าใจว่า การที่จะพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ต้องมีปัญหาทางจิตใจแบบขั้นหนักเท่านั้น แต่วันนี้พวกเราจะมาบอกว่า ใครๆก็สามารถพบได้ ! เพราะบางที เราอาจจะมีเรื่องในใจที่ทำให้เรารู้สึกแย่ เครียด กังวล แต่ไม่แน่ใจว่าควรทำยังไงถึงจะหายซะที
.
แล้วมันต้องถึงระดับไหนกันนะ ที่เราควรจะต้องพิจารณาเรื่องการหาความช่วยเหลือ วันนี้เรามีสัญญาณง่ายๆ ให้ทุกคนได้ลองเช็คสภาพจิตใจตัวเองดูค่า 🙂

Read More