“กะเทย = คนตลก” เป็นตัวตนตามธรรมชาติหรือสังคมเรายึดติดคิดไปเอง

“มีคนบอกว่าฉันนิสัยเหมือนกะเทย เพราะฉันตลก” นี่คือประโยคที่เพื่อนมาเล่าให้เราฟัง มันบอกว่าไม่ได้รู้สึกดีหรือไม่ดีกับคำพูดนั้น แต่พวกเรากลับรู้สึกว่าน่าสนใจมากกว่า จนต้องมานั่งคิดกันต่อว่า แล้วตุ๊ดหรือกะเทยต้องมีนิสัยยังไง ? ในเมื่อพวกเขาก็คือมนุษย์ที่มีความหลากหลาย มีนิสัยแตกต่างกันเหมือนกับคนอื่น แต่ทำไมจึงเป็นกลุ่มที่มักถูกมองในลักษณะเหมารวม (Stereotype) แทบจะตลอดเวลา 🙄

ความลำบากใจของเพื่อนที่เป็นตุ๊ด กะเทยหรือ LGBTQ+ ที่เคยได้ฟังมา บ่อยครั้งจะเกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่คนยึดติด ยกตัวอย่างเพื่อนคนหนึ่งเป็นคนใจเย็นมาก เรียบร้อยและพูดจาสุภาพ บอกว่าอึดอัดเพราะที่ทำงานชอบบังคับให้ออกไปเต้นหรือโชว์เวลามีงานเลี้ยงหรือทำอะไรตลก ๆ เพียงเพราะว่าเป็น “ตุ๊ด” ทุกคนเลยคิดว่าน่าจะเก่งเรื่องกิจกรรมรื่นเริง แถมหลายคนยังชมในเชิงว่า “เป็นตุ๊ดที่เรียบร้อยจัง ปกติเจอแต่แนวโวยวายเสียงดัง” เพื่อนเราก็สงสัยเช่นกันว่า ทุกคนมีนิสัยแตกต่างกันก็ถูกต้องแล้วไม่ใช่เหรอ ?

ลักษณะนิสัย (traits) ที่แสดงออกก็มาจากบุคลิกภาพ (Personality) หรือตัวตนที่เราสร้างมาตั้งแต่วัยเด็ก Erik Erikson นักจิตวิทยาได้อธิบายทฤษฎีพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ตลอดช่วงชีวิตออกเป็น 8 ขั้น ซึ่งเริ่มพัฒนาตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเราเจอกับปัญหาหรือความขัดแย้งบางอย่างแล้วสามารถเอาชนะมันได้ก็ถือว่าเราพัฒนาและเติบโตขึ้นไปอีกขั้น เพราะฉะนั้นตัวตนของเรามักเริ่มจากการสร้างความผูกพัน (attachment) ระหว่างเรากับผู้ที่เลี้ยงดู หลอมรวมกับการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกและประสบการณ์ที่ได้รับ

ขั้นที่เด่นชัดว่าเชื่อมโยงกับการสร้างตัวตนก็คือขั้นที่ 2 ตัวของตัวเอง vs ความรู้สึกสงสัยในตัวเอง (Autonomy vs Shame and Doubt) ในวัย 1 ขวบครึ่งถึง 3 ปี พวกเขาจะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง ชอบสำรวจสิ่งต่าง ๆ การเปิดโอกาสให้เด็กได้มีอิสระในการเรียนรู้จึงสำคัญมาก ๆ แต่ถ้าถูกควบคุมมากเกินไปหรือปล่อยปะละเลยก็จะเกิดความสงสัยและละอายในตนเอง 😓

หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นก็จะพัฒนาขั้นที่ 5 ในเรื่องของเอกลักษณ์ vs ความสับสนในบทบาท (Identity vs Role confusion) นั่นคือจุดที่หลายคนเริ่มสงสัยว่า “ฉันเป็นใคร” มีการวาดภาพชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเป้าหมายคือค้นหาเอกลักษณ์ของตนเอง เรามีอะไรที่พิเศษแตกต่างจากคนอื่น จุดแข็งและความสามารถของเราจะเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจและทำให้เราเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) แต่ถ้าเราไม่ได้คำตอบก็อาจจะรู้สึกสับสน ว่างเปล่า ไปจนถึงซึมเศร้าได้

สิ่งใดที่ทำแล้วได้รับความรัก การเติมเต็มหรือถูกมองเป็นคนสำคัญ เราก็มีแนวโน้มจะทำสิ่งนั้นมากขึ้น ไม่ต่างอะไรจากการถูกเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) อารมณ์ขัน (Sense of humor) ก็เป็นหนึ่งในนิสัยที่เรามักแสดงออกเพราะเป็นนิสัยส่วนหนึ่ง แต่หากมีคนเสริมแรงเรา เช่น หัวเราะตาม ชอบใจ หรือยอมรับเราในแง่ของความตลก เราก็มีแนวโน้มจะแสดงความตลกออกมาอีกเรื่อย ๆ ฉะนั้นการสร้างตัวตนของตุ๊ด กระเทยหรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็ไม่ได้ต่างกับคนทั่วไปเลย

เราอาจจะกำลังใช้สกีมา (Schemas) กับกลุ่ม LGBTQ+ เพียงเพราะความตลกโปกฮาเป็นนิสัยที่โดดเด่นและภาพจำของคนกลุ่มนี้ โดย ‘สกีมา’ เป็นรูปแบบความคิดที่เกิดจากความคาดหวังของเราเองทั้งนั้น โดยเชื่อว่าหากใครมีพฤติกรรมแบบหนึ่งก็จะมีพฤติกรรมหรือคุณสมบัติบางอย่างควบคู่กันไปด้วย และเมื่อสกีมาถูกนำไปใช้กับคนทั้งกลุ่มก็จะกลายเป็น stereotype นั่นเอง

เหมือนกับที่คนมองว่าเป็นนางงามต้องรักเด็ก เป็นกะเทยต้องตลก ส่วนหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยกว่าจะมาถึงจุดที่เปิดกว้างมากขนาดนี้ก็เพราะสื่อช่วยผลักดันให้เราเห็นหลากหลายแง่มุมของกลุ่มตุ๊ดหรือกะเทย แต่เพราะภาพความตลกที่ถูกนำเสนออยู่บ่อย ๆ ทำให้เราเคยชินกับ ‘สีสัน’ และเสียงหัวเราะที่พวกเขาสร้างเผลอมองข้ามตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาไป 🙃

ไม่เพียงแค่นั้น…ความตลกยังถูกนำมาเชื่อมโยงกับความสำเร็จเพราะการนำเสนอภาพความตลกทำให้หลายคนเป็นที่ยอมรับและได้รับความรักมากขึ้น เรามักจะเห็นตุ๊ดหรือกระเทยเป็นจุดศูนย์กลางของงานเลี้ยง เป็นคนสำคัญในกลุ่มเพื่อน หรือเป็นคนมีเอกลักษณ์ในที่ทำงาน แต่เบื้องหลังจริง ๆ คือความสามารถ ความพยายามและตั้งใจไม่แพ้ใคร ปัจจัยด้านอื่น ๆ ก็สำคัญไม่แพ้กันและนิสัยตลกขบขันก็ไม่ใช่คำตอบเดียวของทุกอย่าง

ด้วยภาพในความคิดที่ถูกส่งต่อทำให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากมองตุ๊ดหรือกะเทยเป็นต้นแบบ (Model) เพราะเห็นได้ชัดว่าหากอยากเป็นที่ยอมรับ เป็นกลุ่ม LGBTQ+ ที่ประสบความสำเร็จฉันสามารถทำเหมือนเขาได้ หรือถ้าอยากเป็นที่รักของเพื่อน ๆ อยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม (in-group) เราก็ต้องมีความตลกแบบนั้นบ้าง มายาคติเหล่านี้จะไม่มีทางหายไปหากเรายังไม่เข้าใจว่ามนุษย์มีความเป็นปัจเจกบุคคล (Individual) และเราควรจะมองให้ลึกลงไปถึงคุณค่าภายในที่เขามี มากกว่าความเชื่อแบบผิวเผินที่สังคมคิดกันไปเอง

กะเทยต้องสวย ตุ๊ดต้องตลก…หรือมายาคติใด ๆ ก็ตามที่สั่งสมมา หวังว่าวันนี้เราจะได้ฉุกคิดกันเล็กน้อยถึงเรื่องของตัวตนและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เริ่มต้นที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย ให้พื้นที่แก่กันและกัน เพื่อให้ทุกคนได้มีความสุขกับการเป็นตัวของตัวเอง อูก้าขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนมอบความอ่อนโยนให้โลกใบนี้ ถ้าอยากมีเพื่อนที่คอยรับฟังและช่วยดูแลสุขภาพใจ อย่าลืมนึกถึงอูก้าก่อนใครนะ ❤️🧡💛💚💙💜

#OOCAknowledge #ShareWithPride

—————————————————

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/vtYL
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

อ้างอิงจาก

หนังสือจิตวิทยาทั่วไป โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คัคนางค์ มณีศรี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Read More

การตีตราที่สวนทางกับประโยค “สมัยนี้เราควรมองข้ามเรื่องเพศกันได้แล้ว”

ทำไมการตีตราหรือคำดูถูกถึงชอบมาพร้อมกับ ‘เพศ’ ? 🤔

ไม่ว่าจะของเล่นในวัยเด็ก เสื้อผ้าที่เราใส่ ไปจนถึงภาษาที่ใช้ ชีวิตประจำวันเราถูกสอดแทรกด้วยการแบ่งเพศ การจะถอดถอนวิถีปฏิบัติที่ฝังอยู่ในสังคมวัฒนธรรมหรือแม้แต่ศาสนาย่อมเป็นเรื่องยาก แม้ homosexuality หรือ ‘รักเพศเดียวกัน’ จะถูกตัดออกจากกลุ่ม ‘ความผิดปกติทางจิต’ ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders-DSM) ไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1974 แล้ว แต่ความหลากหลายทางเพศก็ยังผูกติดกับ ‘ความผิดปกติ’ เพียงเพราะเราไม่สามารถจำแนกออกเป็นชายหรือหญิงได้

แน่นอนว่าความแตกต่างก็นำไปสู่ ‘ความแตกแยกทางความคิด’ ขณะเดียวกันมนุษย์เราก็ไม่อยากเป็นคนใจแคบในยุคที่สังคมเปิดกว้าง กลายเป็นพฤติกรรม ‘เหยียดหยาม’ ที่สวนทางกับคำพูดว่า ‘ยอมรับ’ ไปจนถึงการนำเสนอแบบผิด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนิยาม ‘เพศ’ ในเชิงเพศสภาพ (gender) เพศวิถี (sexuality) หรือเพศสรีระ (sex) สุดท้ายก็วกกลับมาที่ประเด็น “คุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนเราเท่ากันจริงหรือไม่ ?”

สมัยนี้ (ที่อาจยังมาไม่ถึง) เราควรมองข้ามเรื่องเพศกันได้แล้ว 🙂

เราได้ยินประโยคนี้จนชินแต่สุดท้ายก็เผลอปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไม่เหมาะสม เพราะอะไร ? ส่วนหนึ่งมันคือการไหลตามของกระแสสังคม มีการวิจัยในหัวข้อการศึกษาเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศสถานะ และการแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศในสื่อ นำทีมโดยอาจารย์กังวาฬ ฟองแก้ว ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ใช้เวลา 1 ปีในการเก็บตัวอย่างข่าวที่เกี่ยวกับคนหลากหลายทางเพศ จากการสุ่มเลือกตัวอย่างสื่อทั้งหนังสือพิมพ์ และสื่อโทรทัศน์มาทั้งหมดราว 870 ข่าว พบว่า 65% มีการเผยแพร่ข่าวในเชิงกระตุ้นอารมณ์แต่เนื้อหาไม่ได้ก่อให้เกิดความสำคัญใด ๆ ต่อสังคม โดยเฉพาะหมวดบันเทิง มีเพียง 1 ใน 3 ของข่าวที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ศิลปวัฒนธรรม และการศึกษา ซึ่งล้วนเป็นข่าวต่างประเทศทั้งสิ้น

สิ่งที่น่ากังวลคือการนำเสนอข่าวได้สร้างภาพบางอย่างหรือการตีตราที่ติดตัวกลุ่ม LQBTQ+ ไปด้วย ผลวิจัยของอาจารย์กังวาฬ มองว่า ถ้อยคำที่รุนแรงที่ใช้คือการคุกคามและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยกตัวอย่างกลุ่มหญิงรักหญิง (Lesbian) มักมีคำว่า ดนตรีไทย ลดตัวคบทอม กลิ่นเลสเบี้ยนโชย ฯลฯ พร้อมทั้งภาพที่แฝงนัยยะทางเพศให้คนไปตีความต่อหรือวิจารณ์กันสนุกปาก ทางด้านเกย์ (Gay) ก็ต้องเจอกับการพ่วงด้วยภาพของกลุ่มที่หมกมุ่นเรื่องเพศ มีโรคเอดส์ การเสพยาและอาชญากรรม หรือเป็นการตีตราเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของคนที่เป็นข่าวด้วย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) และอีกมากมายที่ถูกตั้งฉายาจนเราเคยชินและลืมไปว่านี่คือการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน

เพราะเราขาดความรู้ความเข้าใจ หรือลึก ๆ แล้วเราต่างมีอคติอยู่ ? 🤭

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จัดทำงานวิจัยที่ชื่อว่า ‘รับได้แต่ไม่อยากสุงสิง: การสำรวจระดับชาติเกี่ยวกับประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ และทัศนคติของสังคมที่มีต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย’ ผลลัพธ์น่าสนใจมาก ๆ ตรงนี้คนส่วนใหญ่บอกว่าการยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่นอกครอบครัวมากกว่าที่จะยอมรับคนในครอบครัวตัวเอง และถึงแม้ทัศนคติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจะเป็นบวก รวมถึงเข้าใจและอยากผลักดันให้เกิดความเท่าเทียม แต่การยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังเป็นเรื่องยากสำหรับคนใกล้ตัว อย่างครอบครัว กลุ่มเพื่อน และในชนบท

เรอโนด์ เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทยพูดถึงประเด็นนี้ว่า “ถึงแม้สังคมไทยจะมีการยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และเป็นที่รู้จักมากขึ้นในพื้นที่สื่อและสังคม แต่ยังมีคนที่มีความหลากหลายทางเพศอีกไม่น้อยที่ถูกคุกคามเพียงเพราะตัวตนของพวกเขา”

คุณเต้-ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก ผู้อำนวยการบริษัท กันตนา กรุ๊ปและนักผลิตรายการชื่อดังมากมายเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเขาถูกจัดอยู่ในกลุ่ม L, G, B, หรือ T มาหมดแล้วแต่หากถามใจแล้วก็ไม่ได้อยากถูกจำกัดอยู่ในคำไหนเลย เพราะมองตัวเองเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าจะเพศใด มีไลฟ์สไตล์แบบไหนก็มีความสามารถ มีคุณค่าความเป็นมนุษย์และควรมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน 🌈

นี่อาจจะถึงเวลาที่เราต้องมองข้ามเรื่องเพศ แล้วหันมามองกันที่ความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น 🙂

ไม่ว่าเราจะเป็นอย่างไร ใครจะตัดสินเราแบบไหน สิ่งที่ห้ามลืมก็คือการรับรู้ตัวตนและคุณค่าของตัวเองคือสำคัญที่สุด บางครั้งแค่เราชอบตัวเองและพร้อมจะโอบกอดมันเอาไว้ก็เพียงพอแล้ว อูก้าเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังต่อสู้กับเสียงรอบตัว หากมีเรื่องราวอยากพูดคุยปรึกษาก็สามารถดาวน์โหลดแอปฯหรือเข้าเว็บไซต์ของอูก้าได้เพื่อนัดกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาของเราได้เลย สะดวกทุกที่ทุกเวลา พร้อมดูแลสุขภาพใจให้คุณเสมอ ❤️🧡💛💚💙💜

#OOCAknowledge

—————————————————

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/WS1i
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

อ้างอิงจาก

https://www.posttoday.com/politic/report/402619

https://thematter.co/thinkers/homophobia-with-in-words/68832

https://www.facebook.com/watch/?v=10157883620684848

https://www.thaipbspodcast.com/podcast/genderfocus/EP61-สังคมตีตรา_ร้ายกว่า_เอชไอวี

https://www.undp.org/content/undp/en/home/librarypage/democratic-governance/tolerance-but-not-inclusion.html

Read More