เคยไหมที่เรารู้สึกว่าอยากลองเปิดใจให้เพื่อนใหม่ดู แต่ก็ไม่กล้าเพราะเคยถูกเพื่อนหักหลังมาก่อนจนไม่สามารถเชื่อใจใครได้อีกเลย สุดท้ายก็เลือกที่จะสร้างกำแพงและไม่ยอมสนิทกับคนอื่นง่าย ๆ เพราะกลัวตัวเองต้องเจ็บปวดเหมือนที่เคยผ่านมา 💔

ทุกความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คนรัก แม้กระทั่งเพื่อนก็ตามล้วนมีความเชื่อใจเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ แต่ถ้าหากว่าความเชื่อใจของเราถูกทำลายลง ไม่ว่าจะด้วยการที่เพื่อนพูดถึงเราในทางที่ไม่ดีลับหลัง การที่เพื่อนเอาความลับที่เราเล่าให้ฟังไปบอกคนอื่น หรือการมีปัญหากับเพื่อนในรูปแบบอื่น ๆ ก็สร้างความเจ็บปวดให้กับเราเป็นอย่างมากจนอาจจะกลายเป็นบาดแผลทางใจเลยก็ว่าได้ พอมีความสัมพันธ์ใหม่เข้ามาแล้วอยากลองเปิดใจให้เพื่อนใหม่สักคนก็ดันกลัวว่าจะลงอีหรอบเดิมซะงั้น เป็นเพราะอะไรกัน ?

เราอาจจะเคยเห็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “Attachment Theory” กันผ่าน ๆ มาบ้าง โดย Bartholomew และ Horowitz (1991) ได้แบ่งความผูกพันในความสัมพันธ์ออกเป็น 4 แบบ ได้แก่

  • ความผูกพันแบบมั่นคง (Secure Attachment)
  • ความผูกพันแบบหมกมุ่น (Preoccupied Attachment)
  • ความผูกพันแบบหลีกเลี่ยงเชิงปฏิเสธ (Dismissing Avoidant Attachment)
  • ความผูกพันแบบหลีกเลี่ยงเชิงหวาดกลัว (Fearful Avoidant Attachment)

ทฤษฎีทางจิตวิทยานี้อธิบายเหตุผลของคนที่เคยถูกเพื่อนหักหลังแล้วไม่กล้าเปิดใจให้กับเพื่อนใหม่ไว้ว่าอย่างไรบ้าง?

เมื่อต้องเริ่มต้นความสัมพันธ์หรือเปิดใจให้กับเพื่อนใหม่สักคน เราจะเกิดความผูกพันแบบหลีกเลี่ยงเชิงหวาดกลัว (Fearful Avoidant Attachment) กล่าวคือ เราจะรู้สึกวิตกกังวลมากขึ้นเพราะมักจะมองตัวเองและคนอื่นในเชิงลบเสมอ คิดว่าตัวเองไม่ดีพอ อีกทั้งยังคิดว่าคนอื่นไม่ชอบตัวเอง ไม่น่าไว้วางใจ เข้าหาตัวเองเพื่อผลประโยชน์ และคอยเชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตไปในแง่ร้ายเสมอ เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับเพื่อนมาก่อน เราเลยเลือกที่จะสร้างกลไกการป้องกันตนเองด้วยการหลีกเลี่ยง จะได้ไม่ต้องมาวิตกกังวลกับความสัมพันธ์ว่าอีกฝ่ายจะทำไม่ดีกับเราเหมือนคนก่อน

ถึงแม้ว่าการหลีกเลี่ยงจะช่วยให้หายวิตกกังวลกับความสัมพันธ์ก็จริง แต่มันก็ทำให้เราเผลอปล่อยโอกาสของตัวเองที่จะรับเพื่อนใหม่เข้ามาในชีวิตและไม่ได้พบเจอกับความสัมพันธ์ใหม่จากเพื่อนใหม่ จนในท้ายที่สุดเราก็ไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ในระยะยาวได้สักที

เราจะสามารถกลับไปเปิดใจให้เพื่อนใหม่ได้อย่างไร?

อย่างที่รู้กันว่าทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดได้ ถึงแม้ว่ารอบตัวของเราจะรายล้อมไปด้วยเพื่อนที่ดีแค่ไหน แต่บางครั้งเราก็ต้องเจอกับปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับเพื่อนอยู่ดี เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นความสัมพันธ์แล้วก็ย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ การให้เวลาซึ่งกันและกันจึงมีความสำคัญ เมื่อเราไม่มั่นใจกับความสัมพันธ์ครั้งนี้ ลองเริ่มเปิดใจให้พวกเขาจากเรื่องเล็ก ๆ ที่ยังไม่ต้องเป็นส่วนตัวมาก เช่น การพูดคุยกันถึงเรื่องไลฟ์สไตล์ทั่วไปของกันและกัน พยายามเข้าใจเขาแล้วก็ต้องเข้าใจตัวเองด้วย ค่อย ๆ ทลายกำแพงที่สร้างไว้ลงทีละเล็กทีละน้อย และปล่อยให้เวลาได้พิสูจน์ว่าเราสามารถเปิดใจให้พวกเขาอย่างเต็มที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การเปิดใจให้เพื่อนใหม่จะเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้นหากเรายอมรับและเห็นคุณค่าของตัวเอง ลองพยายามมองตัวเองในด้านดีบ่อย ๆ ปล่อยให้ความเจ็บปวดในอดีตเป็นประสบการณ์ทางความรู้สึกที่สอนให้เราเข้าใจตัวเองหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่ดีกว่าเดิม และคิดไว้เสมอว่า “เราดีพอที่จะมีเพื่อนคอยอยู่เคียงข้าง”

อูก้าขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังเริ่มต้นความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่และต่อสู้กับความกลัวของตัวเองอยู่ ไม่ว่าจะยากแค่ไหน เราก็จะขอเป็นเพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้างและรับฟังทุกปัญหาของคุณเสมอ 💙

#OOCAknowledge

________________________________⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/34yM
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ > https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > http://bit.ly/msgfbooca.⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

อ้างอิงข้อมูลจาก:

Social Pro: https://bit.ly/3yllmfN

Social Pro: https://bit.ly/36arP1h

Simply Psychology: https://bit.ly/3heIFlG

Psychology Today: https://bit.ly/2UiIVqW

PSYCHOLOGIST WORLD: https://bit.ly/2V8r4n5