OOCAissues : ทำไมใครๆ ก็ชอบบอกให้ฉันเลิกเป็น “ติ่ง”
“จะเป็นติ่งไปถึงเมื่อไร” และ “ทำไมถึงทำตัวไม่ค่อยสมกับวัยเลย” เคยถามคำถามนี้กับตัวเองไหม?
ด้วยความที่เราเองก็เป็นติ่งมาหลายปี เลยเริ่มสงสัยเรื่องนี้จากคำถามที่เกิดขึ้นในงาน “ #SAVEMYSELF เอาความสุขของเราคืนมา” ที่อูก้าได้มีโอกาสร่วมงานกับทาง Brandthink เจ้าของเรื่องเล่าว่าตัวเองอยู่ในวัยทำงานและมีความเจริญก้าวหน้าในระดับหนึ่งที่มีงานอดิเรกคือการเป็น “ติ่ง” แต่ด้วยวัยใกล้สามสิบทำให้ครอบครัวและคนรอบข้างตั้งคำถามเกี่ยวกับการเป็น “ติ่ง” แรกๆ เจ้าตัวไม่ได้รู้สึกเครียดอะไร ออกจะพอใจที่การติ่งทำให้เรามีความสุข แต่ไปๆมาๆ ก็เริ่มคิดแล้วว่าหรือเราโตเกินไปแล้วจริงๆ ควรจะหันมาโฟกัสชีวิตตัวเองให้มากขึ้น หรือแคร์สายตาคนรอบข้างไหมน
แล้วสิ่งใดที่เป็นตัววัดว่าเราต้องใช้ชีวิตแบบไหน อายุเท่านี้เหมาะกับกิจกรรมอะไรบ้าง แล้วอะไรที่ทำได้ถ้าเป็นวัยรุ่น แต่ห้ามทำถ้าเข้าวัยทำงาน มันสามารถแบ่งแยกกันได้ชัดเจนเลยหรือเปล่า หรืออยู่ที่วิจารณญาณของเราเองและสังคมที่เราอยู่ หากจะบอกว่าคำพูดของคนรอบข้างไม่มีอิทธิพลเลยก็คงจะโกหก เพราะเรายังต้องทำงานต้องเข้าสังคม ในบางอาชีพภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือนั้นสำคัญมาก แต่ถ้าจะให้ความคิดคนอื่นมีน้ำหนักมากกว่าความสุขของเรา คงต้องชั่งใจดูอีกทีว่าผลกระทบมันมากเสียจนเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงความชอบของตัวเองด้วยเหรอ
#คำแนะนำจากทีมงานอูก้า
ถ้าเรารับผิดชอบหน้าที่ได้ดี ไม่ต้องสนใจหรอกว่างานอดิเรกหรือความชอบเราจะทำให้ใครเข้าใจผิด ต่อให้เรากังวลว่าคนอื่นอาจจะตัดสินเราหรือมองเราเปลี่ยนไป แต่อย่าลืมว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราได้รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร และใครทำให้เรามีความสุข สิ่งนี้คือเกราะป้องกันเราในวันที่อ่อนแอหรือท้อแท้
บอกตัวเองว่าความสุขไม่ต้องเลือกอายุ ไม่ใช่แค่เรื่องติ่งเท่านั้น แต่ถ้าเราอินกับอะไรมากๆ จนเกิดเป็นความผูกพันอยากให้รักษาสิ่งนั้นไว้ ตราบใดที่เรารับผิดชอบชีวิตตัวเองและดูแลใส่ใจคนรอบข้าง หากเราจะมีกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเข้ามาเพื่อให้ตัวเองมีรอยยิ้มมากขึ้นก็ขอจงเก็บมันไว้เป็นพลังใจ
#คำแนะนำจากนักจิตวิทยาของอูก้า
เวลาที่เราได้ฟังคำพูดของครอบครัวหรือคนรอบข้างแล้วทำให้เครียด กดดัน อยากชวนให้ทุกคนเปิดใจและรับรู้ความรู้สึกและความต้องการของคนๆ หนึ่งที่อยากให้คนอื่นเข้าใจมุมมองหรือสิ่งที่เขาชอบมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่รู้สึกอึดอัดจนเกินไป คำพูดบางคำที่เราไม่ทันระวัง แม้มีเจตนาพูดด้วยความห่วงใย แต่ทำให้ผู้ฟังรับรู้ไปในเชิงถูกตัดสินว่า “ความคิดและตัวตนที่เขาเป็นนั้นไม่ดีไม่โอเค ไม่เหมาะสมกับวัยวุฒิ” จึงอยากให้ผู้พูดตระหนักถึงการพูดคุยในเชิงบวก ยอมรับและไม่ตัดสินตัวตนที่เขาเป็น ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ
1. ความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราคงนำบรรทัดฐานของตนเองไปกำหนดหรือนิยามความสุขของคนอื่นไม่ได้ เป็นเรื่องปกติที่คนอื่นจะมีความเห็นที่แตกต่างกับเรา แต่เราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยยอมรับและเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง
2. เราคงไม่ไปกำหนดหรือขัดขวางในสิ่งที่เขาเลือก สิ่งที่เขารักซึ่งเหมาะกับตัวเขา แต่ละบุคคลมีสิทธิที่เลือกวิถีชีวิตตนเองตามใจปรารถนา เพราะแต่ละบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในการเลือก ตราบใดที่สิ่งที่เขาเลือกไม่ได้ส่งผลเสียต่อตัวเขาเองและคนอื่น ไม่ได้ขัดต่อหลักกฎหมายและศีลธรรมอันดีแต่อย่างใด ดังนั้นความสัมพันธ์ที่มีสุขภาวะ (Healthy) ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การกำหนดหรือครอบงำโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
3. คนรอบข้างเองก็ไม่ควรไปเดือดเนื้อร้อนใจเป็นห่วง หรือกำหนดวิถีชีวิตของคนอื่นนั้นมากจนเกินไป เพราะทุกคนต่างก็สามารถดูแลและรับผิดชอบในสิ่งที่ได้เลือกแล้ว
สุดท้ายนี้อยากให้ทุกคนสำรวจตัวเองและตระหนักรู้อยู่เสมอว่า คำพูดหรือการแสดงออกของเรามีผลทำให้คนใกล้ตัวรู้สึกเครียดไม่สบายใจหรือไม่ เพราะความหวังดีที่มีต่อคนอื่นมักเป็นไปตามความคาดหวังของเราทั้งสิ้น ซึ่งอาจทำให้คนที่เรารักไม่มีความสุขได้เหมือนกัน
อาจพูดได้ว่า “การติ่ง” ไม่ใช่แค่ความรู้สึกชื่นชอบธรรมดา แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คนบางคนหรือสิ่งของบางอย่างมีคุณค่าต่อจิตใจอย่างที่ไม่มีคำบรรยาย แล้วถ้าการติ่งคือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวเราไว้ เป็นพลังใจที่ทำให้เรามีแรงสู้ในทุกๆวัน เราควรจะทะนุถนอมความรู้สึกที่มีค่านี้ไว้มากกว่า เพราะถ้าวันหนึ่งความสุขในชีวิตเกิดขาดหายไป การเป็นติ่งก็ทำให้เรารู้ว่า “ยังมีสิ่งดีๆ คนดีๆ ที่ช่วยหล่อเลี้ยงใจเราอยู่”
โดยส่วนตัวเราคิดว่าทางออกอาจไม่ใช่การเลิกติ่ง ถ้าเรารู้ว่าสิ่งไหนที่ทำแล้วเป็นความสุข อูก้าอยากให้ทุกคนกอดมันเอาไว้ให้แน่นๆ เลยนะ แล้วถ้ารู้สึกไม่สบายใจเรามาช่วยกันหาทางดีลกับความทุกข์นั้นกันดีกว่า เรื่องของใจให้อูก้าช่วยรับฟังได้เสมอ สามารถนัดมาปรึกษาได้ตลอดนะคะ
Recent Comments