ทำไมคนรอบข้างไม่เข้าใจเรา

OOCAstory ทำไมเราถึงไม่อ่อนโยน กับเขาให้มากกว่านี้

“ฉันเริ่มคิดเกี่ยวกับสิ่งที่คนอื่นมองฉันแล้วก็เริ่มกลัว ฉันสู้ด้วยตัวเอง ขนาดฉันบอกออกไปว่ากำลังต่อสู้ดิ้นรนอยู่ แต่กลับไม่มีใครฟังเลย ฉันยื่นมือออกมาขอความช่วยเหลือแล้ว แต่ไม่มีใคร…สักคนที่จะมาช่วยฉัน นั่นคือตอนที่ข้างในฉันแตกเป็นเสี่ยงๆ” บทสัมภาษณ์ของซอลลี่ที่เล่าถึงความเจ็ปปวดจากการถูกบูลลี่มาเป็นระยะเวลาหลายปี

พูดถึง “การฆ่าตัวตาย” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาประเทศเกาหลีใต้สูญเสียคนในวงการไปหลายคน สำหรับคนที่เติบโตมาพร้อมกับกระแส kpop ฟีเวอร์ต้องรู้จักจงฮยอน วง SHINee , คูฮารา วง KARA และซอลลี่ เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีคนอื่นๆ อีก เช่น โซจิน ศิลปินฝึกหัดของ DSP Entertainment นักแสดงตลกพัคจีซอน

ท่ามกลาง spotlight ที่สวยงาม พวกเขาถูกประเมินคุณค่าแทบจะตลอดเวลา ทั้งเรื่องหน้าตา ความสามารถ นิสัย การแสดงออก เรียกได้ว่ามีคนจับตามองทุกฝีก้าว ต่อให้มีแฟนคลับมากมาย แต่หากทำผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย คุณก็อาจจะถูกตำหนิจากชาวเน็ตเกาหลี (เรียกว่า เนติเซน) หรือ “แอนตี้แฟน” ได้ เมื่อไรก็ตามที่กระแสตกลง ค่ายจะกดดันศิลปินอย่างมากและคุณอาจถูกลอยแพได้ง่ายๆ

เมื่อความเจ็บปวดรุมเร้าอาการป่วยทางใจจึงเกิดขึ้น เช่น โรคซึมเศร้า โรคตื่นตระหนก โรควิตกกังวล โรคบูลิเมีย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันที่คนดังจำนวนมากที่ออกมาเปิดเผยถึงสุขภาพใจของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น IU , ซูจี , แทยอน SNSD , ฮยอนอา , G-dragon Bigbang , มินะ TWICE , คังแดเนียล และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้ามองภายนอกพวกเราไม่มีทางรู้เลยว่าพวกเขาทุกข์ทรมาณขนาดไหน เพราะพวกเขาต่างยิ้มแย้มและทำงานอย่างต่อเนื่อง

Cyber-bullying ที่เกาหลีน่ากลัวขนาดไหน

เนติเซนส่วนหนึ่งเชื่อว่าการจะเป็นคนดังต้องทนรับกับความคิดเห็นได้ทุกแบบ “คุณจะดังได้ยังไง ถ้ามีจิตใจที่อ่อนแอขนาดนั้น คุณต้องแสดงต่อหน้าผู้คนตั้งมากมาย”

ทำไมเราถึงต้องทดสอบความแข็งแรงของจิตใจคนอื่นด้วยล่ะ จำเป็นด้วยหรือที่จะต้องพูดจาร้ายๆ กับใครสักคนเพียงเพราะเราคิดว่าอีกฝ่ายควรได้รับมัน “เวลาที่ได้รับข้อความ ฉันไม่รู้อารมณ์ของพวกคุณมันเลยน่ากลัว ถ้าอ่อนโยนกับฉันอีกสักหน่อยก็คงดีนะ” นี่คือสิ่งที่ซอลลี่เคยพูดขณะไลฟ์คุยกับแฟนๆ

และเมื่อทราบข่าวการจากไปของคนดังเนติเซนได้ออกมาพูดว่า “ผมไม่คิดว่าเธอจะมีช่วงเวลาที่แย่จากคอมเมนต์คุกคามทางเพศ ผมคิดว่าคนดังต้องเข้าใจว่าไม่ได้จะมีแต่คนรักและชื่นชม พวกเขาต้องทนต่อคอมเมนต์แย่ๆ ให้ได้เหมือนกัน เพราะพวกเขาก็ได้สิ่งแลกเปลี่ยนเป็นชีวิตดีๆ ไม่ใช่เหรอ พวกเขามีเสื้อผ้าดีๆ ใส่ มีรถแพงๆ ขับ แล้วก็มีทุกอย่างที่ดูดี” เรียกได้ว่าคนทั่วไปยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการถูกบูลลี่

การถูกบูลลี่เป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความเจ็บปวดให้คนดังมากมาย นอกจากนี้พวกเขายังเติบโตมาในสังคมและระบบฝึกหัดที่เข้มงวด การแบกความฝันและความคาดหวังตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้พวกเขาสะสมความเครียดเอาไว้ กว่าจะเป็นคนดังที่ประสบความสำเร็จ ข้างใจก็ถูกทำลายจนเปราะบางเสียแล้ว

หลังจากต่อสู้มาอย่างยาวนาน พวกเขาได้เลือกที่จะไปอยู่ในที่ที่สงบกว่าเดิม คงโทษพวกเขาไม่ได้ที่ตัดสินใจแบบนั้น ซอลลี่อธิบายถึงความสับสนในใจที่เธอเฝ้าถามตัวเอง “ฉันเป็นใครกัน แล้วฉันทำอะไรผิดนะ ‘อยากจบทุกอย่าง’ นั่นเป็นสิ่งที่เข้ามาให้หัวบ่อยมาก” มันคงจะดีถ้าก่อนหน้านี้หัวใจที่บอบช้ำของพวกเขาได้รับการเยียวยา “ได้โปรดเอ็นดูฉันด้วย ช่วยอ่อนโยนกับฉันหน่อยนะคะทุกคน”

แม้จะยากแต่เชื่อเถอะว่าเราจะอยู่ได้ด้วความเข้าใจ ชูก้าวง BTS เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมวิตกกังวลและอยู่อย่างโดดเดี่ยวตลอดมา และการที่คุณเลือกจะเป็นเพื่อนกับมัน ก็ต้องการทั้งชีวิตในการทำความเข้าใจ”

อย่าลืมว่าเรื่องของ “ชีวิต” ไม่ใช่สิ่งที่จะวิพากษ์วิจารณ์กันเพื่อความสนุก

ขอมอบบทความนี้ให้ดาวทุกดวงที่ลอยกลับขึ้นไปอยู่บนฟ้าและหวังว่าโลกใบนี้จะอ่อนโยนมากกว่าเดิม

เพราะเราอยากทุกคนรู้สึกสบายใจ หากคุณได้รับความเจ็บปวดจากการถูกบูลลี่หรือมีปัญหาที่อยากเล่าให้เราฟัง อูก้ายินดีเคียงข้างคุณเสมอ สามารถปรึกษาพี่ๆ นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของเราได้ทั้งทางแอปพลิเคชันและเว็บไซต์เลยนะคะ

Read More
Iron girl นักกีฬาโดนบูลลี่

OOCAstory ด้านมืดของระบบที่กดทับ และจบชีวิต Iron Girl

“ถามจริงเถอะ รูปร่างแบบนี้เธอแปลงเพศมาหรือไง” หรือ “เธอเป็นกระเทยหรือเปล่า” ถ้อยคำดูถูกเหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งต้องเจอแทบทุกวัน ในสภาพสังคมที่ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) และเคร่งครัดเรื่องระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง (Seniorism) อย่างประเทศเกาหลีใต้ ด้วยความฝันที่จะคว้าเหรียญทอง นักกีฬาต้องเผชิญความเครียดจากการฝึกซ้อมและการถูกบูลลี่อย่างรุนแรง มันคุ้มค่าหรือไม่กับความสำเร็จที่ได้มา

.

ชเวซุกฮยอนว่าที่นักกีฬาโอลิมปิกวัย 22 ปีตัดสินใจฆ่าตัวตายหลังจากถูกบูลลี่มานานกว่า 4 ปี ตอน 11 ขวบ เธอลงแข่งไตรกีฬาเยาวชนแห่งชาติและคว้าเหรียญทองมาได้จนได้ฉายาว่า “Iron Girl” เธอเล่าว่า ตัวเองฝันไว้ว่าอยากลงแข่งไตรกีฬาชิงแชมป์โลกและดูแลครอบครัวที่มีฐานะยากจนให้สุขสบาย

.

หากอยากติดทีมชาตินักกีฬาต้องเข้าไปอยู่ในสังกัดของสโมสรใหญ่ๆ ที่มีอุปกรณ์ ตารางซ้อมและเงินทุนที่พร้อม ซุกฮยอนจึงเข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของกวางจู ซิตี้ฮอลล์ ที่มีนักไตรกีฬาหญิงเจ้าของเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2010 อย่างจางยุนยองอยู่ด้วย

.

ซุกฮยอนที่เป็นความหวังใหม่ในวัย 19 ปีกับตัวเต็งวัย 28 ปีที่พยายามรักษาตำแหน่งอย่างยุนยอง ท่ามกลางคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นทุกวันแต่ทางเลือกกลับน้อยลง ยิ่งในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ การสร้างชื่อเสียงให้ประเทศก็เหมือนมีใบเบิกทางดีๆ นี่เอง แน่นอนว่ารุ่นพี่ใช้วิธีกดซุกฮยอนเอาไว้ด้วย “การบูลลี่” อย่างรุนแรงทั้งทางร่างกายและคำพูด บางครั้งก็ตบหัว ต่อย ผลัก เรียกคนอื่นให้มาร่วมวงด้วยและทุกคนก็ดูสนุกกับทำแบบนี้

.

สุดท้ายซุกฮยอนเลือกที่จะบอกโค้ช คาดไม่ถึงว่าสิ่งที่โค้ชทำคือเรียกทั้งสองคนมาแล้วให้ซุกฮยอนคุกเข่าขอโทษรุ่นพี่ หลังจากนั้นโค้ชก็บูลลี่เธอด้วย ทั้งตบตี ด่าทอ บังคับให้เธอกินอาหารจนอาเจียน ซุกฮยอนรู้สึกโดดเดี่ยวมาก แม้จะมีคนเห็นใจเธออยู่บ้างแต่ไม่มีใครกล้าพอจะยื่นมือมาช่วยเธอเลย

.

จิตใจที่บอบช้ำทำให้ฟอร์มตกอย่างน่าใจหาย ซึ่งเป็นช่วงที่ยุนยองกวาดเหรียญแทบทุกรายการทั้งในและนอกประเทศ จนขึ้นเป็นเบอร์ต้นๆ ของสโมสรเลยทีเดียว หลังจากพักไป 1 ปี ซุกฮยอนรวบรวมความกล้าเพื่อกลับมาแต่วัฒนธรรมการซ้อมที่เข้มงวดแต่ไหนแต่ไร นักกีฬามีหน้าที่ทำตามคำสั่งของโค้ชและระบบรุ่นพี่รุ่นน้องที่เข้มงวดมาก ทำให้เธอติดอยู่ในวังวนเดิมๆ

.

ไม่ใช่แค่ยุนยองและโค้ช แต่รอบนี้ยังมีแพทย์ประจำทีมอย่างอันจูยุน และนักกีฬาชายคิมโดฮวานที่บูลลี่เธอด้วย นอกจากร่างกายที่โดนเตะตีสารพัด โค้ชและหมอยังบอกว่า ซุกฮยอนเป็นโรคทางจิตและชอบทำตัวมีปัญหา เมื่อเสียกำลังกายและใจในการฝึกซ้อม เธอค่อยๆ ห่างไกลจากการติดทีมชาติ ซุกฮยอนตัดสินใจส่งเรื่องไปแจ้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมไตรกีฬาของเกาหลีใต้ สถานีตำรวจกวางจู เพื่อที่จะหยุดความรุนแรงทั้งหมดนี้ แต่เรื่องกลับเงียบหายไป ซ้ำตำรวจยังบอกว่าเธอไม่มีความอดทนมากพอ การซ้อมกีฬาก็เหนื่อยแบบนี้แหละ

.

ซุกฮยอนเริ่มรวบรวมหลักฐาน ทั้งภาพ คลิปที่เธอโดนทำร้ายสารพัด เธอบันทึกลงไดอารี่ว่า “ฉันอยากตาย จะโดนรถชน โดนโจรเอามีดแทงหรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น ฉันไม่อยากอยู่ในโลกนี้แล้ว” เรื่องราวเลวร้ายลงจนวันหนึ่ง โค้ชเรียกแม่ของเธอมาและบังคับให้แม่ตบหน้าลูกตัวเอง โค้ชขู่ว่าจะไล่ออกจากสโมสรถ้าแม่ไม่ทำ จนซุกฮยอนต้องบอกให้แม่ตบเธอ สุดท้ายสองแม่ลูกได้แต่กอดกันร้องไห้

.

ในที่สุดซุกฮยอนตัดสินใจลาออกจากกวางจู ซิตี้ฮอลล์ แต่ด้วยทัศนคติที่คนเกาหลีเชื่อว่านักกีฬาต้องอดทน ทำให้เธอหมดหวังที่จะติดทีมชาติ มองย้อนกลับไปเธอเคยเป็นดาวรุ่งในวงการกีฬา มีทั้งความฝันและความหวัง รวมถึงอยู่ในช่วงวัยที่กำลังเปล่งประกายที่สุด แต่ความกลัวทำให้เธอไม่มีแรงจะพัฒนาตัวเองอีกแล้ว

สายตาที่ทุกคนตัดสินเธอ ทำให้ซุกฮยอนสับสนว่าการบูลลี่นั้นเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอหรือ ?

.

การจากไปของซุกฮยอนทำให้เรื่องราวถูกเปิดเผย แต่โค้ชก็ไม่ได้รู้สึกผิดและยังส่งข้อความไปย้ำกับคนในสโมสรว่า “ซุกฮยอนไม่สามารถเอาชนะปัญหาได้เอง อย่าบอกคนนอกเด็ดขาดว่ามันเกิดอะไรขึ้นในทีม” ด้วยความระแวงว่าตัวเองอาจเป็นเหยี่อเช่นเดียวกับซุกฮยอน คนในทีมจึงเริ่มออกมาพูดเรื่องนี้ จนสังคมเริ่มถกเถียงกันในวงกว้าง

.

ประธานาธิบดีมุนแจอินได้ออกมาพูดถึงประเด็นนี้ว่า ความรุนแรงและฝึกซ้อมอย่างโหดร้ายต้องไม่เกิดขึ้นอีก มันน่าเศร้าที่ทุกคนรับรู้แต่ปล่อยผ่าน หน่วยงานรัฐก็ไม่ทำอะไรเลยทั้งที่มีเรื่องร้องเรียนมานานแล้ว มุนแจอินสั่งให้สืบสวนทันที ซึ่งหลักฐานที่ซุกฮยอนรวบรวมไว้นั้นชัดเจนทุกอย่าง ทำให้โค้ชและยุนยองถูกคณะกรรมการโอลิมปิกเกาหลีใต้และสมาคมไตรกีฬาแห่งชาติ สั่งแบนตลอดชีวิต คนอื่นๆ ถูกตัดสินโทษไปตามสมควร ที่น่าตกใจกว่านั้นคืออันจูยุนเป็นแพทย์ปลอมที่ไม่มีใบประกอบด้วยซ้ำ

.

การฝึกซ้อมด้วยวิธีล้าหลังแบบนี้ยังคงมีอยู่เพราะที่ผ่านมาผลงานเป็นที่น่าพอใจและจับต้องได้ เหมือนเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ผิดๆ ความเครียดและการแข่งขันที่สูงขึ้นทุกวันเหมือนผลักให้คนเข้าใกล้ปากเหวขึ้นทุกที แน่นอนว่าทุกคนอยากดี อยากเก่ง อยากเป็นที่จดจำ แต่บางคนกลับโดดเดี่ยวและรู้สึกว่าไม่เป็นที่ต้องการของใครเลย

.

การสูญเสียแต่ละครั้งมักมีเรื่องราวซ่อนอยู่ คนที่เจ็บป่วยทางใจมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อโดยเฉพาะวัยรุ่นที่เป็นความหวังของประเทศ หลายๆ คนอยากมีชีวิตหรือเติบโตไปเป็นคนดังในเกาหลีใต้ แต่ใครจะรู้ว่าภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้น ทิ้งเบื้องหลังที่แสนเจ็บปวดไว้มากมายขนาดไหน

.

แล้วตัวเราเป็นใครในเรื่องนี้ เป็นคนลงมือ เป็นคนต่อต้าน เป็นคนซ้ำเติมผู้ที่ถูกกระทำ หรือเป็นคนที่ชี้นิ้วหาคนผิด หรือเราเป็นแค่ bystanders ที่รับรู้ แต่ไม่ลงมือทำอะไรเลย เรื่องราวอาจไม่บานปลายขนานี้ หากมีใครสักคนช่วยรับฟังและปกป้องเธอ

.

เรามาทำความเข้าใจกับปัญหาการบูลลี่ให้มากขึ้นเถอะนะ อูก้าอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าของตัวเองและกล้าที่จะขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ คุณสามารถพูดคุยนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ของอูก้าได้เสมอนะคะ เรื่องของใจให้เรารับฟัง

อ้างอิงจาก

https://www.facebook.com/jingjungfootball/photos/a.1763433500538559/2566322330249668/

Read More
เราจะแอบรักใครสักคนได้นานแค่ไหน

OOCAinsights คนเราจะแอบรักใครสักคนได้นานแค่ไหน ?

คนเราจะแอบรักใครสักคนได้นานแค่ไหน ?

“มีใครกำลังเป็นแบบเดียวกับฉันไหม มีใครในใจที่แอบรักจนวันนี้

มีเพียงคนเดียวและเป็นเขาอยู่ทุกที แต่ก็ยังไม่เคยจะกล้าพูดออกไป”

พล็อตคลาสสิกของหนังรักต้องมีสถานการณ์ “แอบรัก” ที่ลงเอยด้วยการสมหวังหรือผิดหวัง ซึ่งมักจะเชื่อมโยงกับคนดูได้ดี เพราะชีวิตจริงเราต่างเคยแอบชอบแอบรู้สึกดีกับใครสักคน ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวหรือคนไกลตัว ความรู้สึกหวานปนขมที่แฝงอยู่ในนั้นกลายเป็นความทรงจำในเวลาต่อมา

บางคนเชื่อว่าการ “แอบรัก” เป็นรูปแบบความรักที่บริสุทธิ์ แค่ได้เจอหน้า เห็นรอยยิ้มก็มีความสุขแล้ว แต่จริงๆ แล้วความรู้สึกที่ถูกเก็บไว้อาจกลายเป็นความเจ็บปวดในที่สุด เมื่อเราหยุดความรู้สึกตัวเองไม่ได้เราคงต้องเลือกว่าจะหยุดหรือไปต่อ แต่สถานะแอบรักไม่เคยมีอะไรแน่นอน หลายคนเลยเอาชนะความกลัวไม่ได้ กลัวที่สุดคือกลัวทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป ถ้าถูกปฏิเสธแล้วต้องเจ็บ เรายอมอยู่ในสถานะสุขปนเศร้าแบบนี้ยังจะดีกว่า

“มีคำพูดนับร้อยในใจที่ต้องการจะบอก

แต่พอได้เจอกับเธอ ก็เป็นอย่างเดิมเสมอ

ไม่รู้ฉันต้องทำตัวแบบไหน อยากรู้ทำไมเป็นอย่างนี้”

ทั้งที่รู้แบบนี้แล้วทำไมเราถึงแอบรักคนๆ นึงได้อย่างไม่รู้จบ บางคนแอบรักเขามาเป็นสิบๆ ปี กว่าจะตัดใจอย่างจริงจังก็คือวันที่อีกฝ่ายมีแฟนเป็นตัวเป็นตนหรือแต่งงานไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนเราถูกสร้างความ Romanticize มาจากเพลง หนัง ละคร จนเราเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นความรักที่จะคงอยู่ตลอดไป เพราะภาพของการทุ่มเทให้ความรัก มันตราตรึงใจและฝังอยู่ในความทรงจำ เราถึงรู้สึกว่าความรักควรจะเป็นแบบนั้น

อะไรที่เป็นความเจ็บปวดหรือเป็นความรู้สึกทางลบ สื่อก็สามารถทำให้มันกลายเป็นความสวยงามได้ด้วยตอนจบแบบ happy ending กลายเป็นความทุกข์ทรมานที่ผ่านมาเป็นเพียงบททดสอบของความรักเท่านั้นเอง ซึ่งคนที่แอบรักอาจรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติที่เราต้องเจ็บปวดกันบ้าง เพื่อให้ได้รับความรักที่มีค่า

“คนเราจะต้องนั่งรอใครสักคนไปอีกนานแค่ไหน

แล้วฉันต้องรักเธอข้างเดียวถึงเมื่อไร ก็ไม่รู้ทำไมฉันถึงต้องเป็นแบบนี้”

แล้วอาการแอบรักมีวันหมดอายุไหม? บางคนชอบที่จะอยู่ในสถานะแอบรักมากกว่าที่จะมีความสัมพันธ์แบบคนรักจริงๆ เพราะเราชอบความรู้สึกที่มันเกิดขึ้น แต่สุดท้ายมันอาจเป็นความผูกพัน ความมั่นคงทางใจสำหรับเรา ทำให้แอบชอบเขาได้ถึง 5 ปี 10 ปี โดยไม่ได้คิดจะมองคนอื่น แต่ถ้าเราเริ่มมองมันอย่างจริงจังแล้วพบว่าเป็นไปไม่ได้ ความรู้สึกแอบรักคงเบาบางลงและเมื่อวันเวลาผ่านไปเราอาจหยุดรักคนๆ หนึ่งได้ แต่แน่นอนว่าเราไม่มีทางลืมในช่วงหนึ่งเราเคยรู้สึกกับเขายังไง

จุดที่ใจบอกเราว่าต้องไปต่อ… ไม่มีใครบอกให้เราหยุดความรู้สึกนี้ได้ นอกจากเราจะปลดปล่อยบางสิ่งบางอย่างออกไป ถามตัวเองให้แน่ใจว่าสิ่งที่หลงเหลืออยู่คือความรัก ความทรงจำ หรือความค้างคา

ความรักไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยการบอกรัก แต่คือการที่เราตอบตัวเองได้ว่าเราต้องการอะไรจาก “ความรู้สึกที่มีต่อคนๆนี้” สุดท้ายอาจจะฟังดูใจร้าย แต่คำตอบของคำถามที่ว่า “คนเราจะแอบรักใครสักคนได้นานแค่ไหน ?” มันก็ขึ้นอยู่กับใจเราจะบอกตัวเองให้พอเมื่อไร

“เพิ่งได้รู้ความอดทนฉันมีมากมายแบบนี้ แต่ดันใช้มันไปให้ใครที่ไม่เคยมองมา…”

ฟังเพลงได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=gDTDFz0PL78

ถ้ารู้สึกไม่สบายใจ อยากบอกให้ใครสักคนรับรู้ นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของอูก้าพร้อมรับฟังคุณทุกที่ทุกเวลา สามารถปรึกษาเราได้ทุกเรื่องเลยนะ

Read More
ไซเบอร์บูลลี่ คืออะไร

OOCAknowledge: อีกกี่ชีวิตที่ต้องเสียไปเพราะ Cyber-bullying

เรื่องของ Amanda Todd วัย 15 ปี จากบริติชโคลัมเบียที่ตัดสินใจหนีจากหลุมดำในชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายหลังจากที่ทิ้งเรื่องราวของเธอไว้บน youtube

ชายคนหนึ่งเข้ามาทำความรู้จัก Amanda ทางออนไลน์เมื่อไม่กี่ปีก่อน จากนั้นเขาได้ขอให้เธอถ่ายรูปวาบหวิว ด้วยความที่ยังเด็ก เธอเชื่อใจและส่งรูปเขาอย่างง่ายดาย ทั้งคู่ได้ติดต่อกันทางอินเทอร์เน็ตเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปีจน Amanda เริ่มรู้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นอันตรายและเขาเป็นเพียงคนแปลกหน้า เธอจึงพยายามถอยห่างจากเขา แต่ดูเหมือนจะสายเกินไปเพราะเขาได้ติดต่อเพื่อนร่วมชั้นของ Amanda ใน Facebook แล้วส่งรูปถ่ายให้เพื่อน ๆ 

เพื่อหลีกหนีจากความเจ็บปวดและจัดการกับความวิตกกังวลของเธอ Amanda หันไปพึ่งยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อนร่วมชั้นของเธอก็บูลลี่และร่วมกันบอยคอตต์ นำไปสู่การพยายามฆ่าตัวตายสองสามครั้งก่อนที่เธอจะจากโลกนี้ไปตลอดกาล

เราสามารถเรียกกรณีนี้ว่า “Cyber-bullying” ได้หรือไม่

ผลการวิจัยจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่ทำการสำรวจเด็กวัยรุ่นใน 14 ประเทศทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าเด็กไทยเกิน 80% เคยถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต โดย 66% ถูกรังแกสัปดาห์ละครั้งและ 12% โดนมากกว่าสัปดาห์ละครั้ง น่าแปลกใจที่ 45% ของนักเรียนไทยเคยถูกกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งสูงกว่าจำนวนที่รายงานในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นถึง 4 เท่า การอ้างถึงสถิติยังคงสูงมาก สวนทางกับการอภิปรายหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าที่ควร อย่างไรก็ตามเหตุใดคนไทยจึงไม่ตระหนักว่าควรระวังเรื่อง Cyber-bullying

Cyber-bullying คืออะไร?

Cyber-bullying หมายถึงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตเพื่อกลั่นแกล้งคนอื่น ซึ่งรวมทั้งการปล่อยข่าวลือ โพสต์หลอกลวง ใช้คำหยาบคายหรืออัปโหลดข้อความและวิดีโอโดยไม่ได้รับอนุญาต ในโลกออนไลน์ที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน Cyber-bullying จึงกลายเป็นการกลั่นแกล้งประเภทหนึ่งที่แพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบันและเกิดขึ้นกับคนทั่วโลก

Cyber-bullying มีผลต่อเราอย่างไร?

Cyber-bullying เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความนับถือตนเองลดลงและมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กวัยรุ่น Cyber-bullying อาจเป็นสาเหตุหลักของพฤติกรรมต่อต้านสังคมและสร้างความยากลำบากในการสร้าง relationship ที่น่าตกใจกว่านั้น Cyber-bullying อาจเป็นสาเหตุของการคุกคามทางเพศ

เราจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันตัวเองจาก Cyber Bullying?

– ระวังการกระทำในโลกดิจิทัลเช่นเดียวกับที่เราทำในโลกแห่งความเป็นจริง
– กำหนดระยะเวลาในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต คอยสังเกตตัวเองไม่ให้อินกับมันมากเกินไป
– เก็บข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นส่วนตัวและกรองข้อมูลก่อนโพสต์และแชร์
– รู้ว่าถ้าถูกรังแกจะ report อย่างไร สามารถพูดคุยขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้าง

หากคุณกำลังเผชิญกับ Cyber Bullying อยู่ แล้วไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร ให้อูก้าคอยอยู่เคียงข้างคุณ สามารถทักมาพูดคุยกับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของเราได้ตลอด เรื่องของใจให้เราช่วยรับฟังนะคะ

อ้างอิงจาก

https://www.nbcnews.com/storyline/harvey-weinstein-scandal/weinstein-company-investigated-possible-civil-rights-violations-n813356

https://www.newyorker.com/culture/culture-desk/the-story-of-amanda-todd

https://brandinside.asia/stop-bullying-thailand-top5/

(สามารถรับชมวิดีโอต้นฉบับได้ที่นี่ ****https://www.youtube.com/watch?v=vOHXGNx-E7E&bpctr=1597307886)

Read More
เริ่มต้นใหม่กับคนเดิมได้ไหม

OOCAinsight: ได้ไหม? ถ้าอยากเริ่มต้นใหม่กับคนเดิม

“อยากเริ่มต้นใหม่กับคนเดิม ขอได้ไหมขอเริ่มต้นใหม่ เพราะฉันไม่พร้อมรักใคร นอกจากเธอ”

เคยเจอความสัมพันธ์ที่มูฟออนเป็นวงกลมไหม? ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ มีความรักครั้งไหนที่เราอยากขอโอกาสอีกสักครั้งไหม หรืออยากกลับไปแก้ไขให้มัน “ใช่” หรือเปล่า?

เพราะความรักไม่ได้จบที่คำว่า “จากลา” หรือ “เลิกกัน” เสมอไป บางคนเมื่อได้รู้จักแล้วจะตัดยังไงก็ไม่ขาด การที่เขาหายไปจากชีวิตเราจึงเป็นเรื่องน่าเศร้า โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่เราไม่ได้อยากให้มัน “จบ” แต่เป็นเพราะวันนั้นเราไม่ทันได้คิดว่าต้องเสียเขาไปจริงๆ เวลาที่ความสัมพันธ์เปราะบางลง คำพูดจะมีน้ำหนักมากขึ้นและทำให้เจ็บปวดกว่าเดิม สุดท้ายคำพูดที่ไม่ตรงกับหัวใจอาจกลายเป็นความเสียใจในวันนี้

“ที่บอกเลิกวันนั้น ฉันไม่ได้ตั้งใจ

ที่ตอนนั้น ฉันพลั้งพูดไป เพราะใจร้อน

ที่บอกเลิกวันนั้น รู้ไหมฉันเสียใจ”

“เลิกกันเลยไหมล่ะ”

คนพูดไม่ได้หมายความอย่างนั้น แต่ถ้าใครได้ยินก็เสียใจมากเหมือนกันนะ ประโยคที่เหมือนว่าไม่แคร์กันอีกต่อไปแล้ว จะไปไหนก็ไป ไม่ว่าจะเผลอพูดไปเพราะน้อยใจ เสียใจ ประชดหรือโกรธ อยากให้อีกฝ่ายง้อ รู้สึกผิดหรือปรับปรุงตัว แต่ความหมายมันไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจาก “ฉันไม่ต้องการเธอแล้ว”

“ถ้าเบื่อกัน อยากเลิกก็ได้นะ” ที่พูดออกไปเพราะไม่คิดว่าเขาจะเดินจากไปจริงๆ เพราะต่อให้บอกเลิกกี่ครั้งเขาก็ไม่เคยไปไหน เราเลยรู้สึกเหมือนเขาจะอยู่ตรงนี้เสมอ

แต่ไม่มีใครทนอยู่ในที่ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าได้ตลอดไปหรอกนะ เขาอาจไม่ได้ไปตั้งแต่ครั้งแรกที่เราพูดเป็นเพราะความรักความอดทน จนวันที่แผลเดิมถูกตอกย้ำซ้ำๆ เขาอาจจะตัดสินใจในครั้งที่สิบก็ได้ สุดท้ายถ้าไม่แคร์ใจกันเลยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคงเลือกที่จะเดินออกไปจากความสัมพันธ์ที่มันบั่นทอนนี้

“ฉันผิดไปแล้ว ตอนนั้นที่พูดอะไรไม่ทันคิด

จะขอแก้ตัวก็คงไม่มีสิทธิ์ มันก็ถูกแล้วใช่ไหม ที่ต้องคร่ำครวญแบบนี้”

มาวันนี้เลยเป็นฝ่ายต้องนั่งเสียใจ ได้แต่โทษตัวเองว่าเป็นความผิดของเราที่ใช้อารมณ์มากไป สิ่งที่ทำพลาดไปแล้วจะขอย้อนกลับไปแก้ไขก็ทำไม่ได้ ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนก็อาจจะรั้งเขาไว้ไม่ได้ ทำได้แค่จินตนาการว่าถ้ามีโอกาสอีกครั้งจะทำให้ดีกว่าเดิม จะรักษาเขาไว้ให้ดี

“ฉันเข้าใจแล้ว ว่าฉันนั้นรักเธอมากกว่าที่คิด

ถ้าขอคืนดีไม่รู้ว่ามีสิทธิ์ อยู่ไหมต้องทำอย่างไร ให้เธอคนเดิมกลับมา”

หากมันต้องจบลงไปด้วยคำบอกเลิกที่มาจากอารมณ์ชั่ววูบคงเป็นปัญหาค้างคาใจ

เพราะถ้าไม่เผลอพูดไปแบบนั้น วันนี้เราคงยังรักกันอยู่ใช่ไหม?

แล้วถ้าเราสัญญาว่าจะไม่ทำร้ายจิตใจเธอด้วยคำพูดแย่ๆ อีก เธอจะกลับมาได้ไหม เพราะเราอยากเริ่มต้นใหม่กับคนเดิมอีกครั้ง แต่ยังพอจะมีโอกาสบ้างไหมก็ขึ้นอยู่กับว่าทั้งสองคนรู้สึกว่าต้องการกันและกันอยู่ไหม

“เธอรู้ไหม ที่ฉันยังไม่รักใคร

ที่จริงแล้ว ฉันนั้นพร้อมเริ่มต้นใหม่

แต่ฉันอยากเริ่มต้นใหม่กับคนเดิม”

อย่างไรก็ตามเราไม่ใช่คนเดียวที่เป็นฝ่ายตัดสินใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้ จริงอยู่ที่เขาอาจจะรับรู้ว่าเราเสียใจขนาดไหนและยังรักเขาอยู่เหมือนเดิม แต่ท้ายที่สุดเราอาจพบว่าเขาเดินไปไกลเกินกว่าจะย้อนกลับมาแล้ว ในขณะที่เรายังนั่งโทษตัวเองอยู่กับสิ่งที่พูดไปวันนั้นและวันนี้กลายเป็นเราที่เจ็บปวดอยู่ที่เดิม

ทำทุกๆวันให้ดีที่สุด จะได้ไม่เสียใจ เราขอให้ทุกคนได้เจอกับความรักที่คู่ควรและโอบกอดมันไว้ให้นานเท่าที่จะทำได้ เรื่องของใจให้เรารับฟัง สามารถทักมาหาอูก้าได้เสมอเลยน้า

ขอบคุณแรงบันดาลใจจากเพลง “อยากเริ่มต้นใหม่กับคนเดิม”

สามารถฟังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=IS6Z61ht2P8

Read More
ทำไมต้องเลิกเป็นติ่ง

OOCAissues : ทำไมใครๆ ก็ชอบบอกให้ฉันเลิกเป็น “ติ่ง”

“จะเป็นติ่งไปถึงเมื่อไร” และ “ทำไมถึงทำตัวไม่ค่อยสมกับวัยเลย” เคยถามคำถามนี้กับตัวเองไหม?

ด้วยความที่เราเองก็เป็นติ่งมาหลายปี เลยเริ่มสงสัยเรื่องนี้จากคำถามที่เกิดขึ้นในงาน “ #SAVEMYSELF เอาความสุขของเราคืนมา” ที่อูก้าได้มีโอกาสร่วมงานกับทาง Brandthink เจ้าของเรื่องเล่าว่าตัวเองอยู่ในวัยทำงานและมีความเจริญก้าวหน้าในระดับหนึ่งที่มีงานอดิเรกคือการเป็น “ติ่ง” แต่ด้วยวัยใกล้สามสิบทำให้ครอบครัวและคนรอบข้างตั้งคำถามเกี่ยวกับการเป็น “ติ่ง” แรกๆ เจ้าตัวไม่ได้รู้สึกเครียดอะไร ออกจะพอใจที่การติ่งทำให้เรามีความสุข แต่ไปๆมาๆ ก็เริ่มคิดแล้วว่าหรือเราโตเกินไปแล้วจริงๆ ควรจะหันมาโฟกัสชีวิตตัวเองให้มากขึ้น หรือแคร์สายตาคนรอบข้างไหมน

แล้วสิ่งใดที่เป็นตัววัดว่าเราต้องใช้ชีวิตแบบไหน อายุเท่านี้เหมาะกับกิจกรรมอะไรบ้าง แล้วอะไรที่ทำได้ถ้าเป็นวัยรุ่น แต่ห้ามทำถ้าเข้าวัยทำงาน มันสามารถแบ่งแยกกันได้ชัดเจนเลยหรือเปล่า หรืออยู่ที่วิจารณญาณของเราเองและสังคมที่เราอยู่ หากจะบอกว่าคำพูดของคนรอบข้างไม่มีอิทธิพลเลยก็คงจะโกหก เพราะเรายังต้องทำงานต้องเข้าสังคม ในบางอาชีพภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือนั้นสำคัญมาก แต่ถ้าจะให้ความคิดคนอื่นมีน้ำหนักมากกว่าความสุขของเรา คงต้องชั่งใจดูอีกทีว่าผลกระทบมันมากเสียจนเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงความชอบของตัวเองด้วยเหรอ

#คำแนะนำจากทีมงานอูก้า

ถ้าเรารับผิดชอบหน้าที่ได้ดี ไม่ต้องสนใจหรอกว่างานอดิเรกหรือความชอบเราจะทำให้ใครเข้าใจผิด ต่อให้เรากังวลว่าคนอื่นอาจจะตัดสินเราหรือมองเราเปลี่ยนไป แต่อย่าลืมว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราได้รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร และใครทำให้เรามีความสุข สิ่งนี้คือเกราะป้องกันเราในวันที่อ่อนแอหรือท้อแท้

บอกตัวเองว่าความสุขไม่ต้องเลือกอายุ ไม่ใช่แค่เรื่องติ่งเท่านั้น แต่ถ้าเราอินกับอะไรมากๆ จนเกิดเป็นความผูกพันอยากให้รักษาสิ่งนั้นไว้ ตราบใดที่เรารับผิดชอบชีวิตตัวเองและดูแลใส่ใจคนรอบข้าง หากเราจะมีกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเข้ามาเพื่อให้ตัวเองมีรอยยิ้มมากขึ้นก็ขอจงเก็บมันไว้เป็นพลังใจ

#คำแนะนำจากนักจิตวิทยาของอูก้า

เวลาที่เราได้ฟังคำพูดของครอบครัวหรือคนรอบข้างแล้วทำให้เครียด กดดัน อยากชวนให้ทุกคนเปิดใจและรับรู้ความรู้สึกและความต้องการของคนๆ หนึ่งที่อยากให้คนอื่นเข้าใจมุมมองหรือสิ่งที่เขาชอบมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่รู้สึกอึดอัดจนเกินไป คำพูดบางคำที่เราไม่ทันระวัง แม้มีเจตนาพูดด้วยความห่วงใย แต่ทำให้ผู้ฟังรับรู้ไปในเชิงถูกตัดสินว่า “ความคิดและตัวตนที่เขาเป็นนั้นไม่ดีไม่โอเค ไม่เหมาะสมกับวัยวุฒิ” จึงอยากให้ผู้พูดตระหนักถึงการพูดคุยในเชิงบวก ยอมรับและไม่ตัดสินตัวตนที่เขาเป็น ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

1. ความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราคงนำบรรทัดฐานของตนเองไปกำหนดหรือนิยามความสุขของคนอื่นไม่ได้ เป็นเรื่องปกติที่คนอื่นจะมีความเห็นที่แตกต่างกับเรา แต่เราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยยอมรับและเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง

2. เราคงไม่ไปกำหนดหรือขัดขวางในสิ่งที่เขาเลือก สิ่งที่เขารักซึ่งเหมาะกับตัวเขา แต่ละบุคคลมีสิทธิที่เลือกวิถีชีวิตตนเองตามใจปรารถนา เพราะแต่ละบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในการเลือก ตราบใดที่สิ่งที่เขาเลือกไม่ได้ส่งผลเสียต่อตัวเขาเองและคนอื่น ไม่ได้ขัดต่อหลักกฎหมายและศีลธรรมอันดีแต่อย่างใด ดังนั้นความสัมพันธ์ที่มีสุขภาวะ (Healthy) ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การกำหนดหรือครอบงำโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

3. คนรอบข้างเองก็ไม่ควรไปเดือดเนื้อร้อนใจเป็นห่วง หรือกำหนดวิถีชีวิตของคนอื่นนั้นมากจนเกินไป เพราะทุกคนต่างก็สามารถดูแลและรับผิดชอบในสิ่งที่ได้เลือกแล้ว

สุดท้ายนี้อยากให้ทุกคนสำรวจตัวเองและตระหนักรู้อยู่เสมอว่า คำพูดหรือการแสดงออกของเรามีผลทำให้คนใกล้ตัวรู้สึกเครียดไม่สบายใจหรือไม่ เพราะความหวังดีที่มีต่อคนอื่นมักเป็นไปตามความคาดหวังของเราทั้งสิ้น ซึ่งอาจทำให้คนที่เรารักไม่มีความสุขได้เหมือนกัน

อาจพูดได้ว่า “การติ่ง” ไม่ใช่แค่ความรู้สึกชื่นชอบธรรมดา แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คนบางคนหรือสิ่งของบางอย่างมีคุณค่าต่อจิตใจอย่างที่ไม่มีคำบรรยาย แล้วถ้าการติ่งคือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวเราไว้ เป็นพลังใจที่ทำให้เรามีแรงสู้ในทุกๆวัน เราควรจะทะนุถนอมความรู้สึกที่มีค่านี้ไว้มากกว่า เพราะถ้าวันหนึ่งความสุขในชีวิตเกิดขาดหายไป การเป็นติ่งก็ทำให้เรารู้ว่า “ยังมีสิ่งดีๆ คนดีๆ ที่ช่วยหล่อเลี้ยงใจเราอยู่”

โดยส่วนตัวเราคิดว่าทางออกอาจไม่ใช่การเลิกติ่ง ถ้าเรารู้ว่าสิ่งไหนที่ทำแล้วเป็นความสุข อูก้าอยากให้ทุกคนกอดมันเอาไว้ให้แน่นๆ เลยนะ แล้วถ้ารู้สึกไม่สบายใจเรามาช่วยกันหาทางดีลกับความทุกข์นั้นกันดีกว่า เรื่องของใจให้อูก้าช่วยรับฟังได้เสมอ สามารถนัดมาปรึกษาได้ตลอดนะคะ

Read More
cardigan

cardigan รักวัยเด็กที่จำไม่ลืม

วันนี้อูก้าอยากชวนเพื่อนๆ มาฟังและวิเคราะห์เพลง Cardigan ผลงานชิ้นใหม่ล่าสุดของนักร้องสาว Taylor Swift ที่บอกเล่าเรื่องราวความรักในวันวาน ซึ่งมีบทเรียนต่างๆ ที่เคยพบเจอมา แต่สุดท้ายก็ยังมีใครบางคนเข้ามาปลอบและกอดเราเบาๆ เหมือนกับเสื้อ Cardigan ตัวโปรดของเขา https://youtu.be/K-a8s8OLBSE

Read More
วิธีฮีลใจหลังจากทำงานพลาด

วิธีฮีลใจหลังจากทำงานพลาด

ในช่วงถามตอบเรื่องปัญหาทางบ้าน ในหัวข้อเรื่อง ฮีลตัวเองเวลาทำงานผิดพลาด
อูก้ามองว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆที่บางทีจะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันตัวเองได้
ทางเราจึงได้รวบรวมคำตอบจากทั้งนักจิตวิทยาและทีมงานอูก้ามาให้น้า

Read More